ยาย้อมผม เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบหลายอย่าง ที่อาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อหนังศีรษะหรือผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นผิวหนังอักเสบได้
ส่วนใหญ่มักเกิดผื่นจากปฏิกิริยา ภูมิแพ้สัมผัส (allergic contact dermatitis) ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาการแพ้ต่อสารชนิดหนึ่งในยาย้อมผมคือ paraphenylenediamine (PPD)
PPD เป็นสารเคมีที่พบได้ในหมึกที่ใช้สักผิวหนังแบบชั่วคราว หมึกพิมพ์ และแก๊สโซลีน ซึ่งน้ำยาย้อมผมที่ดีมักจะแยกมาในขวดเฉพาะ เมื่อผสมกับสารที่ทำหน้าที่ออกซิเดชั่นจะห้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นบางส่วน และทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ต่อผิว
ผู้ที่เคยมีประวัติสักผิวหนังมาก่อน โดยเฉพาะการสักสีดำ มีโอกาสที่ผิวหนังเคยได้รับสาร PPD มาก่อน และทำให้เกิดการกระตุ้นภูมิในร่างกาย เมื่อย้อมผมโดยเฉพาะสีดำที่มีสาร PPD เข้มข้นสูง ก็มีโอกาสเกิดอาการแพ้ได้มากและรวดเร็วขึ้น
สารบัญ
แพ้ยาย้อมผม อาการเป็นอย่างไร?
หากคุณมีอาการแพ้ยาย้อมผม อาการที่แสดงอาจมีตั้งแต่ระดับน้อยจนถึงรุนแรง อาจจะแสดงทันทีหรือเริ่มแสดงหลังจากสัมผัสกับยาย้อมผมประมาณ 48 ชั่วโมง ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นมีได้หลายอย่างดังนี้
- คันระคายเคืองบริเวณหนังศีรษะ หน้า หน้าผาก หู รอบดวงตา หรือลำคอ
- บวมที่บริเวณศีรษะและหน้า รอบดวงตาหรือริมฝีปาก
- มีผื่นแดงคัน หรือตุ่มน้ำ
- ผิวหนังแห้งแตก หรือหนาตัว
แพ้ยาย้อมผม อันตรายหรือไม่?
การแพ้ยาย้อมผมแบบรุนแรง (anaphylaxis) ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินที่ควรพบแพทย์โดยด่วน โดยอาการแพ้แบบรุนแรงนี้พบอาการได้ตั้งแต่
- มีผื่นคันบวมแดง
- บวมที่บริเวณรอบดวงตา ริมฝีปาก มือ เท้า ลิ้นและช่องคอ
- หายใจลำบาก หรือหายใจแล้วมีเสียงหวีด
- รู้สึกคล้ายจะเป็นลม
- คลื่นไส้อาเจียน
ควรปฏิบัติตนอย่างไรเพื่อลดความเสี่ยงในการแพ้ยาย้อมผม
ควรทดสอบก่อนที่จะใช้ยาย้อมผม โดยการทาผลิตภัณฑ์จำนวนเล็กน้อยที่บริเวณหลังใบหู หรือบริเวณต้นแขนด้านใน แล้วสังเกตอาการว่ามีการเกิดผื่นแพ้ใดๆ หรือไม่ ในระยะเวลาประมาณ 48 ชั่วโมง
นอกจากนี้ยังสามารถทดสอบว่าแพ้ยาย้อมผมจริงหรือไม่ ด้วยการทำการทดสอบปฏิกิริยาภูมิแพ้ที่ผิวหนัง (patch test) โดยแพทย์ผิวหนังเฉพาะทาง
หากไม่ได้มีอาการแพ้ เมื่อย้อมผมควรปฏิบัติดังนี้
แม้ว่าจะทดสอบอาการแพ้ด้วยวิธีเบื้องต้นแล้ว การปฏิบัติตนขณะย้อมผมเพื่อป้องกันอาการแพ้ระดับน้อยดังนี้
- ไม่ทิ้งยาย้อมผมบนศีรษะในระยะเวลาเกินกว่าที่แนะนำ
- ใส่ถุงมือเมื่อทำการย้อมผม
- หลังย้อมผม ล้างทำความสะอาดเส้นผมและหนังศีรษะให้ทั่ว
- ปฏิบัติตามคำแนะนำในการใช้ยาย้อมผม
หากแพ้ยาย้อมผม ต้องทำอย่างไร?
หากคุณมีอาการแพ้เกิดขึ้นทันทีหลังเริ่มย้อมผม ควรปฏิบัติตามข้อแนะนำดังนี้
- กรณีที่อาการไม่รุนแรง ให้รีบล้างยาย้อมผมออกทันที โดยใช้น้ำผสมสบู่อ่อนๆ หรือแชมพูอ่อนๆ
- ทาครีมให้ความชุ่มชื้นบำรุงบริเวณที่เกิดผื่น
- หากมีอาการคัน สามารถรับประทานยาแก้แพ้เพื่อลดอาการคันได้
สำหรับยาทาที่ใช้รักษาควรจ่ายโดยแพทย์ และควรตรวจประเมินอาการก่อน เพื่อจัดยาตามรูปแบบและอาการที่เหมาะสม ส่วนใหญ่มักใช้ยาทาลดการอักเสบกลุ่มสเตียรอยด์ในช่วงสั้นๆ และไม่ควรทาที่บริเวณใกล้ตาหรือปาก
ส่วนประกอบในยาย้อมผมที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้
ส่วนประกอบในยาย้อมผมที่มักทำให้เกิดอาการแพ้คือสารที่เรียกว่า PPD โดยอาจใช้ชื่อที่หลากหลาย สามารถตรวจสอบที่ฉลากผลิตภัณฑ์ด้วยชื่อต่างๆ เหล่านี้ เช่น
- phenylenediamine
- paraphenylenediamine
- PPD
- PPDA
- p-diaminobenzene
- p-phenylenediamine
- 4-phenylenediamine
- 4-aminoaniline
- 1,4-diaminobenzene
- 1,4-benzenediamine
สาร PPD นี้มักมีความเข้มข้นสูงที่สุดในยาย้อมผมสีดำหรือสีน้ำตาลเข้ม นอกจากนี้สารอื่นๆ ที่เป็นส่วนประกอบในยาย้อมผมก็อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ เช่น ammonia, resorcinol, peroxide เป็นต้น
นอกจากนี้หากมีการแพ้ยาย้อมผมที่มีสาร PPD ยังมีตัวเลือกอื่นๆ ทดแทน คือยาย้อมผมที่เป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ เช่น henna หรือใช้ยาย้อมผมชนิดกึ่งถาวรอื่นๆ ทดแทน
หากมีประวัติแพ้ยาย้อมผมที่มีส่วนประกอบของ PPD ก็อาจมีความเสี่ยงในการแพ้ยาชาบางชนิดด้วย จึงควรบอกประวัติเหล่านี้แก่แพทย์หรือทันตแพทย์หากจะต้องมีการฉีดยาชา
เขียนบทความโดย พญ. นันทิดา สาลักษณ