รู้ทุกเรื่องเกี่ยวกับหมอนรองกระดูก scaled

รู้ทุกเรื่องเกี่ยวกับหมอนรองกระดูก

หมอนรองกระดูก เป็นหนึ่งในโครงสร้างสำคัญของร่างกายที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเคลื่อนไหวของร่างกายให้เคลื่อนไหวไปในทิศทางต่างๆ ได้มากและลื่นไหล

นอกจากนี้หมอนรองกระดูกยังมีลักษณะพิเศษ ทั้งในเรื่องโครงสร้างและองค์ประกอบ ความผิดปกติของหมอนรองกระดูกสามารถส่งผลให้เกิดความยากลำบากในการประกอบกิจวัตรประจำวัน หรือจนถึงขั้นพิการได้ การทำความเข้าใจถึงวิธีการดูแลหมอนรองกระดูกอย่างเหมาะสมจึงเป็นเรื่องสำคัญ

หมอนรองกระดูกคืออะไร?

หมอนรองกระดูก คือโครงสร้างที่แทรกอยู่ระหว่างข้อต่อเป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดหนึ่ง มีหน้าที่หลักคือรองรับและลดแรงกระแทก (Absorbing) ที่เกิดขึ้นกับข้อต่อนั้นๆ

อย่างไรก็ตาม หมอนรองกระดูกในแต่ละข้อต่อมีโครงสร้าง รูปร่าง และกลไกการทำงานที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน เพราะแท้จริงแล้วหมอนรองกระดูกเป็นคำภาษาไทยที่ถูกนำมาใช้เรียกโครงสร้างที่ทำหน้าที่ดังกล่าวข้างต้นโดยรวม

แต่เมื่อย้อนกลับไปดูที่คำศัพท์ที่ใช้ในทางการแพทย์ที่เป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาละติน จะพบว่าหมอนรองกระดูกของแต่ละส่วนในร่างกายมีชื่อเรียกเฉพาะ ทั้งนี้รวมถึงเมื่อพิจารณาถึงโครงสร้างแล้วจะยิ่งเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน เช่น

  • หมอนรองกระดูกสันหลัง (Disc) เป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันแบ่งเป็นสองชั้นใหญ่ๆ ชั้นนอกมีลักษณะเป็นแผ่นเรียงซ้อนกันไปมาหลายชั้นจนมีลักษณะแข็ง ชั้นในเป็นของกึ่งเหลวลักษณะคล้ายวุ้น
  • หมอนรองข้อเข่า (Meniscus) เป็นโครงสร้างพิเศษมีลักษณะเหมือนกระดูกอ่อน (Cartilaginous tissue) ส่วนปลายเชื่อมกับเส้นเอ็นในข้อเข่า มี 2 ชิ้น ด้านในเป็นรูปตัวโอ (O shape) ด้านนอกเป็นรูปตัวซี (C shape) อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าหมอนรองกระดูกสันหลังและหมอนรองข้อเข่าจะมีโครงสร้างที่แตกต่างกัน แต่ก็มีหน้าที่หลักคือการรองรับและลดการกระแทกให้แก่ข้อต่อนั้นๆ เหมือนกัน

หมอนรองกระดูกที่สำคัญในร่างกายอยู่ที่ไหนบ้าง?

โดยทั่วไป ทุกข้อต่อในร่างกายมนุษย์มีโครงสร้างที่ทำหน้าที่รองรับและลดแรงกระแทกหลายอย่าง เช่น ผิวข้อต่อ (Articular surface) เยื่อหุ้มข้อต่อ (Joint capsule) เป็นต้น

มีเพียงบางข้อต่อที่ต้องการการเคลื่อนไหวมากๆ หรือต้องรองรับแรงกระแทกจากน้ำหนักของร่างกาย หรือการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันมากกว่าข้อต่ออื่นๆ มักจะมีโครงสร้างที่ได้รับบาดเจ็บบ่อยๆ โดยเฉพาะหมอนรองกระดูก จึงมีการศึกษาและให้ความสำคัญเป็นพิเศษ

หมอนรองกระดูกที่บาดเจ็บบ่อยและมีความสำคัญกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย 3 อันดับแรกมีดังนี้

  1. หมอนรองกระดูกสันหลัง มีด้วยกันหลายชิ้น แทรกตัวอยู่ระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อตั้งแต่ระดับคอลงไปถึงเอว นอกจากจะช่วยรับแรงกระทำต่อกระดูกสันหลังแล้ว ยังช่วยให้ร่างกายสามารถเคลื่อนไหวไปในทิศทางต่างๆ มากกว่าข้อต่ออื่นๆ ด้วย ท่าทางที่ทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังเสี่ยงต่อการบาดเจ็บมากที่สุดคือ บิดและก้มลำตัวร่วมกับออกแรงยกของหนักๆ
  2. หมอนรองข้อเข่า ข้อเข่าเป็นข้อต่อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย ต้องรับน้ำหนักของร่างกายเกือบจะตลอดเวลา ทั้งขณะยืน เดิน วิ่ง โดยเฉพาะขณะออกกำลังกายที่มีการกระโดด หรือมีแรงกระแทกเยอะๆ ท่าทางที่หมอนรองกระดูกเข่าบาดเจ็บง่ายที่สุดคือท่าทางที่มีการบิดเฉือนอย่างรวดเร็ว เช่น การถูกเสียบแย่งฟุตบอลขณะเล่นฟุตบอล นอกจากนี้หมอนรองกระดูกเข่าบาดเจ็บยังเป็นสาเหตุหลักของข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยด้วย
  3. หมอนรองกระดูกขากรรไกร หรือ หมอนรองกระดูกกราม (Temporomandibular joint disc)  ขากรรไกรเป็นข้อต่อหนึ่งที่ถูกใช้งานแทบจะตลอดเวลา เช่นในขณะพูดหรือบดเคี้ยวอาหาร ความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกรอาจจะเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของกล้ามเนื้อใบหน้า หรือกล้ามเนื้อที่ใช่ในการบดเคี้ยว
    การฉีดสารโบทอกซ์เพื่อความงาม การใช้งานขากรรไกรมากเกินไป หรือการใช้งานขากรรไกรผิดวิธี ทำให้หมอนรองขากรรไกรที่คอยกระจายแรงและเคลื่อนไหวอย่างเป็นจังหวะ เคลื่อนไหวผิดปกติ เกิดเสียงขณะเคลื่อนไหว หรือขากรรไกรค้าง เป็นต้น ในปัจจุบันคนไข้กลุ่มนี้มีมากขึ้นเรื่อยๆ และทันตแพทย์ก็มักจะส่งผู้ป่วยไปรับการฟื้นฟูจากนักกายภาพบำบัด

หน้าที่ของหมอนรองกระดูกมีอะไรบ้าง? 

ถึงแม้หมอนรองกระดูกแต่ละชนิดจะมีโครงสร้างและกลไกการทำงานที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม หมอนรองกระดูกทุกชิ้นยังมีหน้าที่ร่วมกันดังนี้

  1. รองรับแรงกระแทกที่เกิดขึ้นในข้อต่อนั้น ดูดซับ และส่งผ่านไปยังกระดูกที่ติดต่อกับข้อต่อนั้นๆ อย่างนิ่มนวล
  2. ช่วยให้การเคลื่อนไหวข้อต่อราบรื่นขึ้น ไม่ให้ติดขัด
  3. เสริมความมั่นคงแข็งแรงให้ข้อต่อ

นอกจากนี้ยังมีหน้าที่พิเศษอื่นๆ เช่น หมอนรองกระดูกสันหลังช่วยเพิ่มทิศทางการเคลื่อนไหวให้แก่กระดูกสันหลัง เป็นต้น

วิธีการดูแลรักษาหมอนรองกระดูกทำได้อย่างไรบ้าง?

เนื่องจากธรรมชาติของหมอนรองกระดูกสันหลังเป็นโครงสร้างที่รองรับแรงกระแทกอยู่แล้ว จึงทำให้บาดเจ็บได้บ่อยๆ เมื่อต้องรับแรงกระทำที่มากเกินไป การปรับพฤติกรรม หรือกิจวัตรประจำวันที่ทำเป็นประจำจึงช่วยลดความเสี่ยงต่อหมอนรองกระดูกบาดเจ็บได้ ดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีแรงกระแทกเยอะๆ เช่น การวิ่ง การกระโดด โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่หมอนรองต่างๆ มีความเสื่อมอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม กิจกรรมดังกล่าวก็มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของกระดูกในเด็กอยู่ด้วย จึงควรทำในปริมาณที่เหมาะสม
  2. หลีกเลี่ยงการอยู่ในท่าที่มีการลงน้ำหนักนานๆ เช่น การนั่ง หรือยืนติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ควรเปลี่ยนท่าทางทุก 30 นาที
  3. เลือกอุปกรณ์กีฬาหรืออุปกรณ์ป้องกันการบาดเจ็บจากการทำงานที่เหมาะสม เช่น เลือกรองเท้าให้เหมาะสมกับชนิดของกีฬาที่ทำเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูงและแข็ง เป็นต้น
  4. ดื่มน้ำให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย เพราะหมอนรองกระดูกมีน้ำเป็นองค์ประกอบ เมื่อร่างกายขาดน้ำจะทำให้ข้อต่อ ผิวข้อ และหมอนรองกระดูกเสียดสีกันมากขึ้น ส่งผลให้หมอนรองกระดูกเสียดสีกันมากขึ้นส่งผลให้หมอนรองกระดูกเสื่อมก่อนวันอันควร มีผลการรศึกษายืนยันชัดเจนว่า เมื่อวัดความสูงคนตอนเช้าหลังตื่นนอนเปรียบเทียบกับตอนเย็น จะพบว่ามีความแตกต่างกันเล็กน้อย ซึ่งเชื่อว่าเป็นผลจากการสูญเสียน้ำออกไปจากกระดูกสันหลังระหว่างวัน เนื่องจากหมอนรองกระดูกสันหลังต้องรองรับน้ำหนักตัวตลอดทั้งวัน
  5. เลือกการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับตัวเอง เพราะการออกกำลังกายมีประโยชน์กับบุคคลทุกวัย แต่หากเลือกไม่เหมาะสมอาจจะทำให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ได้ เช่น ในผู้สูงอายุที่มีข้อเข้าเสื่อมอยู่แล้วควรงดการออกกำลังกายที่มีการลงน้ำหนักที่ข้อเข่ามากๆ เช่นการวิ่ง หรือการกระโดดเชือก ควรเปลี่ยนมาอกกกำลังกายในน้ำจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงของร่างกายโดยส่งผลเสียต่อข้อเข่าน้อยกว่าการออกกำลังกายบนบก เป็นต้น

หมอนรองกระดูกเป็นโครงสร้างที่มีความสำคัญต่อร่างกายมาก นอกจากการเสื่อมตามวัยแล้ว กิจกรรมที่ทำในชีวิตประจำวันก็ส่งผลอย่างมากต่อหมอนรองกระดูก การทำความเข้าใจถึงความสำคัญ กลไกลการทำงาน และการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อการกระตุ้นให้หมอนรองกระดูกเสื่อมก่อนวัยอันควร จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดเพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที


เขียนบทความและตรวจสอบความถูกต้องโดย กภ. ธีรวิทย์ วิโรจน์วิริยะกุล


ที่มาของข้อมูล

  • Hochberg MC, Altman RD, Brandt KD, Clark BM, Dieppe PA, Griffin MR, et al. Guidelines for the medical management of osteoarthritis. Part II. Osteoarthritis of the knee.American College of Rheumatology. Arthritis Rheum 1995; 38 : 1541-6.
  • Honkamp NJ ea. Delee and Drez’s Orthopaedic Sports Medicine: Principles and Practice, 3rd ed 2010. Philadelphia: Saunders Elsevier.pp. 1644-76 p.
  • Makris EA, Hadidi P, Athanasiou KA. The knee meniscus: structure-function, pathophysiology, current repair techniques, and prospects for regeneration. Biomaterials. 2011;32(30):7411–7431. doi:10.1016/j.biomaterials.2011.06.037
Scroll to Top