โรคมะเร็งเต้านม เป็นโรคมะเร็งอันดับหนึ่งที่พรากชีวิตผู้หญิงทั่วโลกไป รวมถึงในประเทศไทยด้วย ผู้หญิงไทยทุกคนจึงต้องเข้ารับการตรวจหาความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งชนิดนี้กันทุกคน
อีกทั้งหลายคนที่กำลังเผชิญหน้ากับโรคนี้ ก็ต้องเสียค่ารักษาไปเป็นปริมาณมากเพื่อประคองอาการของโรคไม่ให้ลุกลาม เพื่อป้องกันให้ความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งเต้านมมีน้อยที่สุด เราจึงควรรู้ว่า ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร และดูแลสุขภาพแบบไหน จึงจะช่วยให้โอกาสเป็นโรคมะเร็งเต้านมลดลงได้
วิธีลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งเต้านม
1. ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม
การรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่เสี่ยงเกิดภาวะอ้วน จะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งได้หลายประเภท ไม่ใช่แค่โรคมะเร็งเต้านมเท่านั้น
เพราะปริมาณไขมันในร่างกายที่เพิ่มสูงขึ้นมีส่วนทำให้ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วยและส่งผลให้ระดับสารอินซูลินในร่างกายเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ทั้งนี้ฮอร์โมนเอสโตรเจน และสารอินซูลิน ล้วนเป็นสิ่งที่ส่งผลทำให้เกิดโรคมะเร็งเต้านมได้
ผู้หญิงวัยที่ควรรักษาน้ำหนักให้ดีเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเต้านมมากที่สุดคือ ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน และผู้หญิงวัยผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักเกินซึ่งเป็นวัยที่อาจยากต่อการลดน้ำหนักเมื่อเทียบกับวัยรุ่น
หากคุณกำลังมีน้ำหนักเกินเกณฑ์อยู่ หรือมีภาวะอ้วน ให้พยายามออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมัน และน้ำตาลสูง เพื่อลดน้ำหนักให้ลงมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ
2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
การออกกำลังกายเป็นประจำเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้สุขภาพดี ไม่แค่ป้องกันโรคมะเร็งเต้านมเท่านั้น โดยการออกกำลังกายไม่จำเป็นต้องไปออกในยิม หรือจ้างเทรนเนอร์ส่วนตัวให้เสียเงินมากๆ ก็ได้
เพียงแค่วิ่ง หรือเดินเร็วตามสวนสาธารณะ ก็เป็นการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพได้
สำหรับความถี่ในการออกกำลังกายของคนปกติควรอยู่ที่ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมงต่อวัน ประมาณ 3-5 วันต่อสัปดาห์ แต่สำหรับผู้ที่มีน้ำหนักเกินและต้องการลดน้ำหนัก ควรออกกำลังกายทุกวันจะดีที่สุด
3. ระมัดระวังในการใช้ยาคุมกำเนิด
การใช้ยาคุมกำเนิด และห่วงคุมกำเนิดมีข้อดีตรงที่ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ได้ และช่วยป้องกันการเกิดเนื้องอกในอวัยวะส่วนอื่นได้
อย่างไรก็ตาม ยาคุมกำเนิด และห่วงคุมกำเนิดก็มีส่วนทำให้เกิดโรคมะเร็งเต้านมได้ หากใช้อย่างผิดวิธี
ทางที่ดีควรใช้ยาคุมกำเนิดและห่วงคุมกำเนิดเมื่อยามจำเป็นเท่านั้น และควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสม หรือหากไม่มั่นใจการใช้อุปกรณ์คุมกำเนิดเหล่านี้ ให้ปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ
ปัจจุบันมีบริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์เกี่ยวกับการใช้ยาคุมกำเนิดและการคุมกำเนิดแล้ว ซึ่งเป็นบริการที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ไม่มีเวลาไปพบแพทย์ด้วยตนเอง สามารถใช้บริการได้ทั้งรุปแบบวิดีโอคอลและโทรศัพท์ปรึกษา
4. ระมัดระวังในการรักษาโดยใช้ฮอร์โมนบำบัด
ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่กำลังเข้ารับการบำบัดด้วยฮอร์โมน (Hormone Replacement Therapy: HRT) มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็งเต้านมได้มากกว่าปกติ โดยเฉพาะในผู้หญิงที่บำบัดทั้งจากฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone)
หากคุณเป็นผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนแล้วร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลจนกระทบต่อการใช้ชีวิต ให้ปรึกษาแพทย์ว่า มีทางรักษาอาการอย่างไรบ้าง ที่ไม่ทำให้เกิดความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งเต้านม
5. รับประทานอาหารที่มีส่วนช่วยป้องกันโรคมะเร็งเต้านม
โดยตัวอย่างอาหารที่ช่วยให้ร่างมีภูมิต้านทาน และลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งเต้านมได้ ได้แก่
- ผลไม้รสเปรี้ยว (Citrus fruits) ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวจะมีวิตามินซี สารโฟเลต สารแคโรทีนอยด์ สารต้านอนุมูลอิสระหลายอย่าง เช่น สารนารินจีนิน สารเคอร์ซิติน (Quercetin) ซึ่งมีส่วนช่วยต้านการก่อโรคมะเร็งเต้านมได้
- กรดไขมันปลา (Fatty fish) เช่น ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรล เพราปลาเหล่านี้มีกรดไขมันโอเมกา-3 (Omega-3) ซึ่งลดโอกาสเกิดโรคมะเร็งเต้านมได้
- ผลเบอร์รี (Berry) ผลเบอร์รีไม่ได้มีส่วนช่วยลดการเกิดโรคมะเร็งเต้านมเท่านั้น แต่ยังช่วยลดการเกิดโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ ด้วย เพราะสารต้านอนุมูลอิสระในผลเบอร์รีมีส่วนป้องกันการเกิดเซลล์มะเร็งในร่างกายได้ และยังช่วยลดการลุกลามของเซลล์มะเร็งไปอวัยวะอื่นด้วย
- พืชตระกูลแอลเลียม (Allium) เช่น กระเทียม กระเทียมต้น หัวหอม โดยพืชตระกูลนี้มีสารต้านมะเร็งชั้นดี และยังมีสารต้านอนุมูลอิสระอย่างสารฟลาโวนอยด์ และวิตามินซีซึ่งช่วยให้ลดโอกาสการเกิดโรคมะเร็งได้
- พืชตระกูลกะหล่ำ (Cruciferous vegetables) เช่น บร็อคโคลี ดอกกะหล่ำ ซึ่งพืชตระกูลนี้อุดมไปด้วยสารกลูโคซิโนเลตส์ (Glucosinolates) โดยเมื่อบริโภคเข้าไป ร่างกายเราจะสามารถเปลี่ยนสารนี้เป็นสารโมเลกุลชื่อ สารไอโซไธโอไซยาเนต (Isothiocyanates) ซึ่งเป็นสารป้องกันมะเร็งชั้นดีได้
6. ไปตรวจความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งเต้านม
นอกจากดูแลสุขภาพแล้ว คุณยังควรไปตรวจสุขภาพทั่วไปทุกๆ ปีเพื่อหาความเสี่ยงและเช็คการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายด้วยว่า มีอวัยวะส่วนใดเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งหรือไม่ รวมถึงที่เต้านมด้วย
โดยเฉพาะหากคุณเป็นผู้หญิงที่อยู่ในช่วงอายุ 25-39 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเต้านม ควรไปตรวจหาความเสี่ยงโรคมะเร็งเต้านมอย่างน้อย 3 ปีต่อครั้ง หรือควรไปตรวจทุกปีเพื่อความมั่นใจ
หากคุณอายุ 40 หรือเริ่มเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ควรรับการตรวจหาความเสี่ยงโรคมะเร็งเต้านมบ่อยขึ้นตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อให้รู้เท่าทันถึงโอกาสการเกิดโรค หากเกิดโรคมะเร็งเต้านมขึ้นมาจริงๆ จะได้สามารถหาทางรักษาได้ทันเวลา
นอกจากนี้หากมีผู้ใกล้ชิดทางสายเลือด หรือมีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคมะเร็งเต้านม นั่นถือว่า คุณมีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งเต้านมมากกว่าคนทั่วไป
ดังนั้นคุณจึงต้องไปตรวจคัดกรองหาความเสี่ยงโรคมะเร็งเต้านมเมื่อถึงเวลา เพื่อจะได้หาทางรักษาโรคนี้ได้ทันเวลา
7. หมั่นสังเกตตนเอง
เพราะผู้หญิงเกือบทุกคนล้วนมีความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งเต้านมได้ทั้งนั้น นอกจากดูแลตนเองและรับการตรวจคัดกรองความเสี่ยงแล้ว คุณยังต้องสังเกตร่างกายตนเองด้วยว่า มีอาการ หรือลักษณะคล้ายกับเป็นโรคมะเร็งเต้านมหรือไม่ เช่น
- พบก้อนเนื้อที่หน้าอก
- พบก้อนเนื้อที่ใต้รักแร้ เหนือไหปลาร้า หรือใกล้กับแขน
- ขนาดหน้าอกเปลี่ยนไป หรือมีรูปทรงแปลกไปจากเดิม
- มีอาการเจ็บหัวนม หรือกดเจ็บที่หน้าอก รวมถึงอาจมีเลือดไหลออกมาจากหัวนม
- มีอาการคันระคายเคืองหัวนม รวมถึงอาจมีผื่นแดงขึ้น ซึ่งจะเริ่มขยายตัวขึ้นในภายหลัง
- หน้าอกบวม รู้สึกอุ่น หรือร้อนวูบวาบผิดปกติ
วิธีตรวจหาก้อนมะเร็งด้วยตนเอง
นอกจากนี้คุณควรรู้วิธีตรวจหาก้อนมะเร็งด้วยตนเองด้วย โดยมีวิธีต่อไปนี้
1.การสำรวจดูเต้านม ให้ยืนหน้ากระจก ปล่อยแขนแนบข้างลำตัว แล้วยกมือเท้าสะเอว จากนั้นยกมือขึ้น 2 ข้างเหนือศีรษะ จากนั้นให้สังเกตลักษณะเต้านมดังต่อไปนี้
- หัวนม ต้องมีรูปร่างคล้ายกับ สีผิวเหมือนกันทั้ง 2 ข้าง ไม่มีแผลถลอก หรือแผลก้อนนูนแตก หัวนมอยู่ในระดับเดียวกัน ไม่มีบางอย่างดึงรั้งให้บุ๋มลง หรือเอนไปข้างใดข้างหนึ่ง และไม่ควรมีน้ำเหลือง หรือน้ำเลือดไหลออกจากหัวนมด้วย
- ปานนม สีต้องต้องเสมอเหมือนกัน ไม่ควรเป็นรอยนูน หรือรอยบุ๋มซึ่งเกิดจากเชื้อมะเร็งดึงรั้งลงไป รวมถึงไม่ควรมีแผลถลอก หรือก้อนนูนแตกออกมา
- ผิวเต้านม ควรมีสีที่เหมือนและเสมอเท่ากัน ไม่มีรอยบวมหนา หรือรอยบุ๋ม ไม่ควรมีสีแดงคล้ำ หรือเป็นสีส้ม อีกทั้งไม่ควรมีรอยแผลแตกที่ผิวหนัง นอกจากนี้ต้องไม่มีน้ำหนอง หรือน้ำเหลืองไหลออกมาจากผิวเต้านมด้วย
- ขนาด และระดับของเต้านม ขนาดเต้านมควรใกล้เคียงกันทั้ง 2 และอยู่ในระดับเดียวกันทั้งคู่
2. การคลำ โดยการคลำเต้านมจะคลำ 2 ส่วนด้วยกัน ได้แก่
- การคลำรักแร้กับเหนือไหปลาร้า โดยให้นั่งตัวตรง วางแขนข้างที่ต้องการตรวจบนโต๊ะ ใช้ปลายนิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางของแขนอีกข้างคลำเข้าไปในรักแร้ข้างที่ต้องการตรวจ รวมถึงคลำต่อมน้ำเหลืองที่ไหปลาร้าด้วย ระหว่างคลำให้สังเกตว่า มีก้อนที่คลำเจอบริเวณดังกล่าวหรือไม่
- การคลำเต้านม ทำได้ทั้งท่ายืนและนอน โดยท่ายืนให้ชูแขนข้างที่ต้องการตรวจเหนือศีรษะ ส่วนท่านอนให้นอนหงายหนุนหมอนเตี้ยๆ แล้วใช้ผ้าหนุนไหล่ ยกแขนข้างที่ตรวจเหนือศีรษะเช่นกัน แล้วปลายนิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนางกดลงที่ผิวหนังจนสัมผัสกระดูกซี่โครง
วิธีการคลำให้คลำทั้งเป็นวงกลมจากหัวนมตามเข็มนาฬิกา หรือคลำจากเต้านมส่วนนอกวนตามเข็มนาฬิกาเข้ามาหาหัวนม คลำไล่ขึ้นลงจากใต้เต้านมถึงกระดูกไหปลาร้า หรือคลำแบบรัศมีจากหัวนมออกไปยังบริเวณด้านนอกก็ได้
อย่าประมาทต่อความเสี่ยงของโรคมะเร็งเต้านม ถึงแม้คุณจะอยู่ในกลุ่มผู้มีความเสี่ยงต่ำก็ตาม เพราะโรคมะเร็งสามารถเกิดได้จากปัจจัยภายนอกด้วย
อย่างไรก็ตาม หากคุณพบความผิดปกติบริเวณเต้านม อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่า ตนเองเป็นโรคมะเร็งเต้านม แต่ให้ไปพบแพทย์เพื่อขอรับการตรวจวินิจฉัยให้แน่ใจ เพื่อจะได้รีบทำการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. วรพันธ์ พุทธศักดา