ใครที่กำลังกังวลกับปัญหาผมร่วง ผมบาง ศีรษะล้าน ไม่มั่นใจว่าปัญหาหนังศีรษะของเราสามารถแก้ไขได้ด้วยการปลูกผมหรือเปล่า บอกเลยว่าหายห่วง!
HDmall.co.th ร่วมกับ แพทย์หญิงอริยาภรณ์ (จรัสนัฐ) หล่อธราประเสริฐ หรือ หมอเจิน แพทย์ประจำ Vital Glow Skin & Aesthetic ที่มีประสบการณ์ในการปลูกผมกว่า 10 ปี จะมาแชร์ประสบการณ์การปลูกผมกับเคสที่ประทับใจถึง 2 เคส
ใครที่มีปัญหาผมร่วง ผมบาง ศีรษะล้าน แล้วกำลังสนใจการปลูกผมอยู่ต้องไม่พลาดบทความนี้! ตามมาอ่านประสบการณ์ดีๆ ไปพร้อมกันเลย
สารบัญ
- เคสเคยปลูกผมมาแล้ว แต่ต้องการปลูกแนวไรผมเพิ่ม
- ความรู้สึกตอนประเมินเคสนี้ครั้งแรก
- ใช้เทคนิคอะไรในการปลูกผม
- เคสรู้สึกอย่างไรบ้างระหว่างปลูกผม
- ขั้นตอนการปลูกผม
- ผลลัพธ์ที่ได้หลังปลูกผม
- เคสปลูกผมแก้ปัญหาผมบาง
- เคสนี้ใช้เทคนิคอะไรในการปลูกผม
- ผลลัพธ์ที่ได้หลังปลูกผม
- การปลูกผมสำหรับผู้ที่อายุยังน้อยมีข้อจำกัดอย่างไร?
เคสเคยปลูกผมมาแล้ว แต่ต้องการปลูกแนวไรผมเพิ่ม
สำหรับเคสแรกที่หมอเจินประทับใจ เป็นเคสที่คนไข้เคยได้รับการปลูกผมจากคลินิกอื่นมาแล้วค่ะ แต่แนวไรผมยังไม่เป็นที่น่าพอใจ เลยตัดสินใจเข้ามาปรึกษากับหมอเพื่อทำการปลูกผมเพิ่ม
โดยทั่วไปแล้ว การปลูกผมสามารถทำได้โดยการย้ายเซลล์รากผมจากบริเวณท้ายทอยหรือหลังหูมาปลูก ทำให้เคสที่เคยเข้ารับการปลูกผมแล้ว ผมด้านหลังจะมีเซลล์รากผมให้เก็บมาใช้ได้น้อยมาก ถ้าจะกลับมาปลูกผมเพิ่มอีกครั้งจะต้องให้หมอประเมินปัญหาอย่างละเอียดก่อน
อย่างในเคสนี้ หมอก็จะประเมินดูว่า แนวไรผมใหม่ที่คนไข้ต้องการเป็นยังไง ต้องใช้จำนวนกราฟต์ผมมากเท่าไหร่ และผมด้านหลังมีจำนวนเพียงพอต่อความต้องการหรือไม่ ซึ่งจะต้องคำนึงถึงความสวยงามของผมด้านหลังไม่ให้ผมบางจนเกินไปด้วย
การประเมินจำนวนกราฟต์ผมทำอย่างไร?
สำหรับการประเมินจำนวนกราฟต์ผมในแต่ละเคส เริ่มแรกหมอจะออกแบบแนวไรผมร่วมกับคนไข้ก่อน เพื่อให้ได้แนวไรผมที่เหมาะกับรูปหน้าและความต้องการของคนไข้มากที่สุด
จากนั้นหมอจะทำการวัดพื้นที่ที่ต้องการปลูกผมและนำมาคำนวณจำนวนกราฟต์ตามความหนาแน่นที่กำหนด ในขั้นตอนนี้จะทำให้ทราบจำนวนกราฟต์ผมที่ต้องใช้ในการปลูก ซึ่งส่วนมากแล้วจะใช้ความหนาแน่นครึ่งนึงของผมธรรมชาติ ขึ้นอยู่กับการประเมินในแต่ละเคสค่ะ
ต่อมาหมอจะประเมินผมบริเวณด้านหลังของศีรษะว่ามีเพียงพอต่อการปลูกผมมั้ย ซึ่งขั้นตอนนี้หมอสามารถประเมินคร่าวๆ ได้เลยโดยที่คนไข้ไม่จำเป็นจะต้องโกนผม
ความรู้สึกตอนประเมินเคสนี้ครั้งแรก
ถ้าให้คะแนนความยากของการปลูกผมเต็ม 10 คะแนน หมอขอให้เคสนี้ไปเลย 7 คะแนนค่ะ เพราะว่าในเคสที่เคยปลูกผมมาแล้วแบบนี้เราจะต้องปลูกผมโดยอิงจากแนวผมเดิมที่เคยปลูกมาก่อน รวมถึงผิวบริเวณแนวไรผมมักจะมีพังผืดแข็งๆ จากการปลูกผมครั้งก่อนมายึดเกาะ ทำให้ปลูกยากและต้องระมัดระวังกว่าเคสที่ปลูกครั้งแรกพอสมควร
แต่ข้อดีของเคสนี้ คือ ตอนที่คนไข้ปลูกผมครั้งแรกยังใช้จำนวนกราฟต์ในการปลูกผมไปไม่มากนัก ทำให้ผมด้านหลังมีปริมาณเพียงพอที่จะเก็บมาใช้สำหรับปลูกผมเพิ่มเติมได้ และที่สำคัญยังสามารถนำมาสร้างแนวไรผมใหม่ได้ตามความต้องการของคนไข้อีกด้วย เคสนี้เลยไม่ยากมากค่ะ
ใช้เทคนิคอะไรในการปลูกผม
สำหรับเคสนี้หมอเลือกใช้เทคนิคปลูกผมแบบ FUE (Follicular Unit Extraction/Excision) หรือ การปลูกผมแบบไม่ต้องผ่าตัดค่ะ ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้เครื่องเจาะรากผมเจาะเอาเฉพาะกราฟต์ผมที่ต้องการออกมาจากบริเวณท้ายทอยหรือหลังกกหู ก่อนจะนำกอผมนั้นไปปลูกลงบริเวณที่ต้องการ
โดยหมอจะทำการปลูกผมแบบ FUE ร่วมกับเทคนิคพิเศษอย่าง “Advance FUE” ซึ่งเทคนิคนี้มีจุดเด่นตรงที่สามารถเลือกเก็บกราฟต์ผมให้ใกล้เคียงกับจำนวนที่ประเมินไว้ก่อนหน้าได้ ไม่จำเป็นต้องเก็บครบกับจำนวนกราฟต์ที่วางแผนไว้เป๊ะๆ เพราะเทคนิคนี้จะแบ่งกราฟต์ผมที่เก็บมาส่วนหนึ่งไปใช้ในการตกแต่งให้ผมดูหนาขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องเจาะกอผมเพิ่ม
นอกจากนี้หมอจะวาดแนวไรผมออกเป็น 2 เส้น คือ ช่องว่างบริเวณแนวไรผมเดิมมาจนถึงเส้นแนวไรผมที่วาดไว้ด้านใน หมอจะเลือกปลูกโดยใช้กอผมที่มี 2-3 เส้นเลียนแบบธรรมชาติ ในขณะที่แนวไรผมเส้นด้านหน้า จะเลือกกอผมที่มีความสวยงามมาแบ่งออกเป็นผมเส้นเดี่ยวและปลูกตามแนวไรผมเลียนแบบผมตามธรรมชาติ
เทคนิค Advance FUE จึงเหมาะสำหรับผู้ที่เคยปลูกผมมาแล้วและมีจำนวนกอผมด้านหลังให้เก็บอย่างจำกัด เพราะวิธีนี้จะทำให้หมอสามารถบริหารกราฟต์ผมที่สามารถเก็บได้กับจำนวนกราฟต์ผมที่ต้องใช้ได้อย่างเหมาะสม
เคสรู้สึกอย่างไรบ้างระหว่างปลูกผม
เนื่องจากการปลูกผมเป็นการผ่าตัดที่ใช้ระยะเวลาค่อนข้างนานประมาณ 6-8 ชั่วโมง ทำให้ก่อนผ่าตัดคนไข้จะได้รับยาชาร่วมกับยานอนหลับ โดยหลังจากฉีดยาชาไปแล้วอาจรู้สึกตึงๆ และหนักที่บริเวณศีรษะได้ แต่เมื่อได้รับยานอนหลับแล้ว ในระหว่างทำการปลูกผม คนไข้จะไม่เกิดความรู้สึกเจ็บปวดใดๆ แต่ทั้งนี้ความรู้สึกเจ็บก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลด้วยนะคะ
ขั้นตอนการปลูกผม
ก่อนการปลูกผมคนไข้จะต้องเข้ามาพบหมอเพื่อทำการประเมินก่อนค่ะ ถ้าหมอประเมินแล้วว่าสามารถปลูกผมได้ ก็จะทำการนัดหมายเพื่อให้คนไข้เข้ามารับบริการอีกครั้ง โดยขั้นตอนการปลูกผมสามารถทำได้ดังนี้
- วาดแนวผมตามที่เคยพูดคุยกับคนไข้ไว้ในขั้นตอนการประเมิน
- ทำการตัดผมบางส่วนของคนไข้ออก เพื่อให้พร้อมต่อการย้ายกราฟต์ผม
- ก่อนผ่าตัดคนไข้จะต้องฉีดยาชาและได้รับยานอนหลับ เพื่อป้องกันอาการเจ็บปวดขณะรับบริการ
- แพทย์เริ่มเจาะหนังศีรษะเพื่อเก็บเซลล์รากผมในจำนวนที่ต้องการออกมา
- ผู้เชี่ยวชาญจะนำกราฟต์ผมที่ได้ไปคัดเลือกกราฟต์ที่เหมาะสมมากที่สุด โดยใช้กล้องจุลทรรศน์กำลังสูง
- แพทย์ทำการปลูกผมลงไปในบริเวณที่กำหนดไว้ โดยอ้างอิงจากทิศทางเดิมของผมคนไข้ตามธรรมชาติจนครบ
ผลลัพธ์ที่ได้หลังปลูกผม
ปกติหลังจากปลูกผมเสร็จแล้ว ผมจะงอกอย่างเต็มที่ภายใน 9-12 เดือนค่ะ หรือในบางรายอาจใช้เวลานานถึง 1 ปี 6 เดือน แต่ในเคสนี้หลังจากผ่านไปแค่ 8 เดือน ก็สามารถเห็นแนวไรผมขึ้นใหม่เกือบหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ได้แล้ว หมอเลยค่อนข้างพอใจมากๆ กับผลลัพธ์ของเคสนี้ รวมถึงต้องชื่นชมคนไข้ด้วย เพราะว่าคนไข้ดูแลตัวเองได้ดีมากๆ ยิ่งทำให้ผลลัพธ์หลังทำสังเกตเห็นได้อย่างรวดเร็วขึ้นไปอีก
หมอก็อยากให้เคสนี้เป็นหนึ่งในตัวอย่างว่า ก่อนที่เราจะเลือกปลูกผมกับคลินิกไหน ควรหาข้อมูลของคลินิกนั้นๆ อย่างละเอียด รวมถึงควรเลือกคลินิกที่เหมาะสมและสามารถแก้ไขปัญหาเส้นผมของเราได้จริงๆ เพราะไม่อย่างนั้นนอกจากจะเสียเงินหลายรอบแล้ว คนไข้ยังต้องเจ็บตัวหลายรอบอีกด้วย การปลูกผมสามารถทำซ้ำได้ แต่หมออยากให้เป็นเรื่องของอนาคตที่ไกลมากๆ ดีกว่าค่ะ
เคสปลูกผมแก้ปัญหาผมบาง
เคสต่อมาคนไข้มีอายุแค่ 24 ปีเท่านั้นค่ะ แต่กลับมีปัญหาผมบางเป็นวงค่อนข้างกว้าง เกิดจากกรรมพันธุ์และการไวต่อฮอร์โมน DHT (Dihydrotestosterone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนยับยั้งการเจริญเติบโตของเส้นผม ทำให้พอเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นเต็มตัว ผมจึงเริ่มร่วงและบางลง
โดยเคสนี้จะมีผมหนาแค่บริเวณกลางศีรษะและบริเวณด้านข้างเท่านั้น ทำให้ความยากของเคสนี้คือจะคำนวณความหนาแน่นของกราฟต์ผมอย่างไรให้หลังทำผมกลับมาดูหนา เกิดผมใหม่เต็มพื้นที่ และมีความกลมกลืนระหว่างผมเดิมและผมที่เพิ่งปลูกขึ้นมาใหม่
ซึ่งวิธีที่หมอใช้ในการออกแบบความหนาแน่นของกราฟต์ผม คือ หมอจะวาดแนวไรผมไว้หลายวง เพื่อแบ่งบริเวณที่มีปัญหาแตกต่างกันออกจากกัน เช่น บริเวณใดพอจะมีผมอยู่แล้ว หมอจะปลูกผมแซมๆ เข้าไปเท่านั้น ส่วนบริเวณที่แทบจะไม่มีผมอยู่เลย หมอจะปลูกเข้าไปตามความหนาแน่นที่เหมาะสม และสุดท้ายในบริเวณที่พอมีผมเดิมอยู่บ้าง หมอจะปลูกโดยลดความหนาแน่นลงเล็กน้อย
การวาดแนวไรผมแบบนี้ จะช่วยให้เมื่อผมงอกเต็มที่แล้ว ผลลัพธ์จะดูเป็นธรรมชาติ ผมด้านหน้าที่เคยบางมากๆ จะกลมกลืนกับผมด้านหลัง จนไม่สามารถสังเกตเห็นบริเวณที่เคยมีปัญหาผมบาง ศีรษะล้านได้
เคสนี้ใช้เทคนิคอะไรในการปลูกผม
ด้วยข้อจำกัดทางด้านงบประมาณของคนไข้ ทำให้เคสนี้หมอจึงเลือกปลูกผมด้วยวิธี FUE โดยไม่ใช้เทคนิคพิเศษอื่นๆ
สำหรับขั้นตอนการปลูกผมแบบ FUE จะเหมือนกับการปลูกผมด้วยเทคนิค Advance FUE เพียงแค่ในขั้นตอนการเตรียมกราฟต์ผมจะไม่มีการแยกกอผมออกมาเป็นผมเส้นเดี่ยวเพื่อทำการตกแต่ง
ทำให้หากแพทย์ประเมินออกมาแล้วว่าต้องใช้กราฟต์ผมจำนวนเท่าไหร่ ก็จะต้องเก็บกราฟต์ผมมาให้เพียงพอ เพราะไม่อย่างนั้นอาจไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่วางแผนไว้
การปลูกผมแบบ FUE เป็นวิธีที่เหมาะกับทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยมีประวัติการปลูกผมมาก่อน ทำให้มีผมด้านหลังที่เพียงพอ สามารถนำมาปลูกได้ รวมถึงการปลูกผมแบบ FUE ยังให้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจใกล้เคียงกับการปลูกผมด้วยเทคนิคพิเศษอื่นๆ
ผลลัพธ์ที่ได้หลังปลูกผม
ผลลัพธ์ที่ได้ของเคสนี้น่าพอใจมากค่ะ เป็นไปตามที่หมอคาดหวังและประเมินไว้เลย ผ่านไปเพียงแค่ประมาณ 6-7 เดือน ผมของคนไข้ก็ขึ้นเต็มพื้นที่ รวมถึงมีความกลมกลืนไปกับแนวผมเดิมด้วย อีกอย่างที่สังเกตเห็นได้ชัดคือหลังทำคนไข้มีความมั่นใจมากขึ้น หน้าตาดูสดใสขึ้นเยอะเลยค่ะ
การปลูกผมสำหรับผู้ที่อายุยังน้อยมีข้อจำกัดอย่างไร?
สำหรับการปลูกผมในผู้ที่อายุยังน้อย สิ่งที่คนไข้ต้องคำนึงถึงและต้องทำความเข้าใจก่อนปลูกผม คือ แนวไรผมจะยังมีโอกาสร่นถอยลงได้ เพราะร่างกายยังสามารถผลิตฮอร์โมนได้อย่างเต็มที่ ซึ่งรวมถึงฮอร์โมน DHT ที่มีผลทำให้วงจรชีวิตของผมสั้นลง
หลังปลูกผมที่ Vital Glow Skin & Aesthetic คนไข้ที่อายุยังน้อย หมอจะแนะนำให้มีการทานยาป้องกันผมร่วงจากฮอร์โมน เพื่อชะลอการร่นถอยของแนวไรผมตามธรรมชาติ ทำให้ผลลัพธ์หลังการปลูกผมอยู่ได้นานขึ้น รวมถึงทำให้ผมธรรมชาติร่วงน้อยลง
สำหรับใครที่ยังลังเล ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะปลูกผมที่ไหนดี สามารถนัดคิวปรึกษาหมอหรือส่งรูปมาให้หมอประเมินก่อนทางไลน์ @HDcare ฟรี! ไม่เสียค่าใช้จ่าย