what is egg freezing scaled

รู้จักการฝากไข่ แช่แข็งไข่ ทางออกของคนอยากมีลูกแต่ยังไม่พร้อม

หากคุณวางแผนจะมีลูกแต่ยังไม่พร้อมในตอนนี้ อาจต้องทำงาน เดินทาง หรือมีปัญหาสุขภาพที่ต้องรับการรักษาก่อน การฝากไข่หรือแช่แข็งไข่เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยคุณได้ ใช้เวลาแค่ประมาณ 3 สัปดาห์เท่านั้น คุณก็สามารถแช่แข็งเซลล์ไข่สภาพสมบูรณ์เตรียมไว้เมื่อพร้อมได้เลย

ฝากไข่หรือแช่แข็งไข่ คืออะไร?

การฝากไข่ (Eggs freezing หรือ Oocyte cryopreservation) เป็นการเก็บรักษาไข่ซึ่งเป็นเซลล์สืบพันธุ์ของผู้หญิง โดยนำไข่ที่สภาพดีและอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ออกมาจากรังไข่มาแช่แข็งในห้องปฏิบัติการ ด้วยการใช้ไนโตรเจนเหลวที่มีอุณหภูมิประมาณ -195 องศาเซลเซียส (Vitrification) มาทำให้เซลล์ทุกเซลล์หยุดการทำงานอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลึกน้ำแข็งมาทำลายเซลล์ ทำให้ยังคงสภาพและประสิทธิภาพของเซลล์ไว้ในสภาพเดิมได้

การใช้ไข่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ จะยิ่งลดความเสี่ยงที่ลูกจะเกิดมาพร้อมความผิดปกติ เพราะยิ่งอายุมากขึ้น ไข่อาจมีโครโมโซมที่ผิดปกติเอาไว้ได้

เมื่อถึงเวลาที่พร้อมที่จะมีบุตรแล้วก็จะนำไข่มาผสมกับอสุจิ เป็นการปฏิสนธิภายนอก จนเมื่อเป็นตัวอ่อนแล้วก็นำกลับไปฝังตัวที่ผนังมดลูก เกิดการปฏิสนธิ และเจริญเป็นตัวอ่อนในครรภ์ได้เมื่อถึงเวลาที่ต้องการ

การฝากไข่เหมาะกับใคร?

การฝากไข่เหมาะกับคนในกลุ่มต่อไปนี้

  • ผู้หญิงที่ยังไม่พร้อมตั้งครรภ์ โดยเฉพาะคนที่อายุมากกว่า 35 ปี
  • กำลังรักษาโรคมะเร็ง กระบวนการรักษามะเร็งอาจส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์เพศหญิง เช่น เคมีบำบัด หรือฉายแสง ที่ส่งผลกระทบต่อจำนวนและคุณภาพของเซลล์ไข่ รวมถึงบางรายที่ต้องตัดรังไข่ออก การฝากไข่ทำให้สามารถวางแผนการมีลูกได้หลังรักษามะเร็งแล้ว
  • ครอบครัวเคยมีประวัติประจำเดือนหมดเร็ว คือเร็วกว่าอายุ 47-50 ปี หากเคยมีประวัติในครอบครัวมาก่อน คุณก็มีโอกาสประจำเดือนหมดเร็วด้วย ทำให้ระยะเวลาที่สามารถตั้งครรภ์สั้นกว่าคนอื่นๆ
  • มีปัญหาพันธุกรรมเกี่ยวกับรังไข่ เป็นปัญหาที่ทำให้รังไข่เสื่อมเร็ว เช่น กลุ่มอาการเทอร์เนอร์ (Turner syndrome) กลุ่มอาการโครโมโซมเอกซ์เปราะบาง (Fragile X syndrome)
  • ต้องเข้ารับการผ่าตัดรังไข่ เช่น การผ่าตัดถุงน้ำรังไข่ เนื้องอกรังไข่ ช็อกโกแลตซีสต์
  • มีปัญหาสุขภาพที่อาจส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ เช่น มีโอกาสเป็นเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) มีช็อกโกแลตซีสต์ (Chocolate cyst) กรณีนี้ควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากแพทย์เกี่ยวกับการฝากไข่
  • ใช้วิธีเด็กหลอดแก้ว (IVF) แล้วไม่ได้ผล กรณีใช้วิธีเด็กหลอดแก้วแล้ว ฝ่ายชายไม่สามารถหลั่งน้ำเชื้อ ไม่มีตัวอสุจิในน้ำเชื้อ หรือจำนวนอสุจิไม่เพียงพอ แพทย์จะแนะนำให้ใช้วิธีฝากไข่แทน

ข้อดีข้อเสียของการฝากไข่

ข้อดีของการฝากไข่ คือ สามารถรักษาเซลล์ไข่ไว้ใช้ในอนาคตได้ เพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ในระยะเวลาที่เหมาะสม เพราะยิ่งอายุมากขึ้น จำนวนและคุณภาพของไข่จะลดลงเรื่อยๆ จากการมีประจำเดือน ส่งผลต่อประสิทธิภาพการตั้งครรภ์ เด็กอาจมีภาวะผิดปกติ หรือโอกาสแท้งเพิ่มขึ้น ดังนั้น ยิ่งเก็บไข่ตั้งแต่อายุยังน้อยจะยิ่งได้ไข่ที่มีคุณภาพสมบูรณ์และปริมาณมาก

อย่างไรก็ตาม การฝากไข่มีราคาค่อนข้างสูง และอาจทำให้ผู้หญิงที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์รู้สึกกังวล เนื่องจากต้องฉีดยากระตุ้นไข่และเก็บไข่ผ่านทางช่องคลอด

นอกจากนี้ การฝากไข่อาจส่งผลข้างเคียงต่อบางคน ฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลให้เกิดอาการท้องอืด น้ำหนักขึ้น ปวดศีรษะ อารมณ์แปรปรวนได้

วิธีฝากไข่

  • เข้าพบแพทย์ตามนัดซึ่งจะเป็นวันไข่ตก
  • แพทย์จะให้ยาสลบระยะสั้นและยาแก้ปวดก่อนเริ่ม
  • แพทย์จะอัลตราซาวด์ฉายภาพรังไข่เพื่อหาตำแหน่งไข่ตก ก่อนจะดูดไข่ออกมาทางช่องคลอด แต่ถ้าอัลตราซาวด์ไม่พบ อาจใช้การผ่าช่องท้องเพื่อนำไข่ออกมา
  • เซลล์ไข่ที่ได้จะถูกนำไปตรวจดูความสมบูรณ์ในห้องปฏิบัติการ ก่อนจะนำเข้าสู่กระบวนการแช่แข็งด้วยไนโตรเจนเหลว

การฝากไข่ เตรียมตัวอย่างไร?

เพื่อให้การฝากไข่ได้ผลดีขึ้น ต้องอาศัยการเตรียมตัวดังนี้

  • พบแพทย์ เพื่อให้แพทย์ซักประวัติทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นประวัติสุขภาพ โรคประจำตัว ความสม่ำเสมอของประจำเดือน และระดับฮอร์โมนในเลือด
  • เพิ่มปริมาณตกไข่ แพทย์จะฉีดฮอร์โมนตามความเหมาะสม เพื่อเพิ่มปริมาณการตกไข่ให้มากกว่า 1 ใบเพื่อให้ได้เซลล์ไข่ที่มาพอ เพิ่มโอกาสความสำเร็จในการฝากไข่ แพทย์อาจให้ฮอร์โมนมาฉีดเองที่บ้านเพิ่มเติม และอาจฉีดต่อเนื่องประมาณ 2 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์

ฝากไข่ มีโอกาสติดลูกเท่าไหร่?

โอกาสในการติดลูกจากการฝากไข่จะยิ่งมีสูงมากขึ้นหากเริ่มฝากไข่ตั้งแต่ในช่วงอายุ 20-30 ปี ที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์และไข่แข็งแรงสมบูรณ์ นอกจากนี้ อัตราการรอดของไข่หลังละลายอยู่ที่ประมาณ 80-90% จำนวนของไข่ที่มากก็ยิ่งเพิ่มโอกาสให้คุณมากขึ้น

จำนวนไข่ที่แนะนำให้แช่แข็งขึ้นกับอายุของผู้หญิง สำหรับการตั้งครรภ์ 1 ครั้งของผู้หญิงอายุน้อยกว่า 35 ปีจะอยู่ที่ประมาณ 10-15 ฟอง ผู้หญิงอายุ 37 ปี ประมาณ 20 ฟอง ผู้หญิงอายุ 42 ปี ประมาณ 61 ฟอง ขึ้นอยู่คำแนะนำของแพทย์ด้วย โอกาสการตั้งครรภ์โดยเฉลี่ยเท่ากับ 7% ต่อไข่ 1 ใบ

อย่างไรก็ตาม การฝากไข่เพื่อตั้งครรภ์ในอนาคตไม่ใช่วิธีที่ได้ผล 100% เพราะต้องอาศัยปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น ความแข็งแรงของผู้หญิง ความแข็งของอสุจิ อายุของฝ่ายชายและฝ่ายหญิง เป็นต้น

ระยะเวลาทำ นานแค่ไหน?

การฝากไข่หนึ่งครั้งจะใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ นับตั้งแต่วันแรกที่พบแพทย์ ฉีดฮอร์โมนกระตุ้นไข่ตก จนถึงวันเก็บไข่

เก็บไข่ไว้ได้นานแค่ไหน?

สามารถเก็บไว้ตราบเท่าที่ยังมีสารรักษาความเย็นเพียงพอ โดยทั่วไปมักแนะนำให้นำไข่ที่แช่แข็งไว้มาใช้ก่อนจะอายุ 50 ปี เพราะหากอายุเกินกว่านี้อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในการตั้งครรภ์ได้

เลือกเพศลูกได้ไหม?

การฝากไข่ แช่แข็งไข่ ไม่สามารถเลือกเพศให้ลูกได้ เพราะโดยปกติแล้วโครโมโซมของผู้หญิงคือ XX ผู้ชายคือ XY เซลล์ไข่ที่ถูกดึงออกมาก็เป็นโครโมโซม X ตัวเดียว และยังไม่สามารถรู้ได้ว่าไข่ฟองนั้นจะกลายเป็นเพศหญิงหรือชาย จนกว่าจะผ่านการปฏิสนธิ หรือได้รับโครโมโซมจากฝ่ายชายก่อน และจะรู้เพศได้จากการตรวจโครโมโซม

อย่างไรก็ตาม การตรวจโครโมโซมหลังปฏิสนธิมักเป็นการตรวจสอบความผิดปกติด้านโรคทางพันธุกรรม เช่น ดาวน์ซินโดรม ธาลัสซีเมีย การรู้เพศคือผลพลอยได้เท่านั้น และไม่สามารถเลือกเพศของตัวอ่อนได้เลย

สามารถเลือกให้เป็นแฝดได้หรือไม่?

ไม่ว่าจะใช้เทคโนโลยีใด หรือใช้วิธีตามธรรมชาติ ก็สามารถมีโอกาสเกิดเด็กแฝดได้ทั้งนั้น แต่เช่นเดียวกับเพศคือไม่สามารถเลือกเจาะจงให้เป็นแฝดได้ เพราะแฝดเกิดจากการแบ่งตัวของเซลล์หลังจากไข่ผสมกับสเปิร์ม หากแบ่งตัวมากกว่าปกติก็มีโอกาสเกิดแฝดสอง จนถึงแฝดสาม และแฝดสี่ได้ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยโดยเฉพาะปัจจัยด้านพันธุกรรม

อย่างไรก็ตาม การตั้งครรภ์แฝดถือเป็นภาวะเสี่ยงในทางการแพทย์ มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนสูงมาก และมีโอกาสที่เด็กจะมีร่างกายไม่สมบูรณ์ การตั้งครรภ์แฝดจึงไม่ใช่ทางเลือกที่แพทย์จะแนะนำ

ฝากไข่ ราคาเท่าไหร่?

โดยทั่วไปแล้ว ค่าใช้จ่ายในการฝากไข่จะอยู่ประมาณ 100,000-150,000 บาท ขึ้นอยู่กับแต่ละสถานพยาบาล

นอกจากนั้น ยังมีค่าฝากไข่รายปี ประมาณ 1,500-5,000 บาทต่อปี ขึ้นอยู่กับสถานพยาบาลและจำนวนไข่ที่ต้องการเก็บ


เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจ IVF, IUI, ICSI, IMSI ฝากไข่ แช่แข็งไข่


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top