varicose veins rf surgery treatment comparison scaled

วิธีรักษาเส้นเลือดขอด ผ่าตัด VS คลื่นวิทยุ ข้อดี ข้อจำกัด

ปัจจุบันมีหลายวิธีที่สามารถรักษาเส้นเลือดขอดที่ขาได้ แต่วิธีการรักษาที่เห็นผลลัพธ์ชัดเจนและเป็นที่นิยมค่อนข้างมากมี 2 วิธี คือการรักษาเส้นเลือดขอดด้วยวิธีใช้คลื่นวิทยุ กับ รักษาเส้นเลือดขอดด้วยการผ่าตัด 

มาดูกันว่าแต่ละวิธีมีรายละเอียดอย่างไร ข้อดี-ข้อจำกัดคืออะไร พักฟื้นหลังรักษานานไหม อัตราความสำเร็จในการรักษาเป็นอย่างไร และวิธีไหนจะมีความเสี่ยงมาก-น้อยกว่ากัน

การรักษาเส้นเลือดขอดด้วยคลื่นวิทยุ

การรักษาเส้นเลือดขอดด้วยคลื่นวิทยุ (Radiofrequency Ablation: RFA) วิธีนี้ค่อนข้างได้รับความนิยม เพราะเจ็บน้อยถึงแทบไม่เจ็บเลย ใช้เพียงยาชาเฉพาะที่ในการระงับความรู้สึก ระยะเวลารักษาสั้น เพียง 1 ชั่วโมงก็เสร็จสิ้น และหลังทำแล้วสามารถกลับบ้านได้ทันที อัตราสำเร็จของการรักษาอยู่ที่ประมาณ 95-98%

ขั้นตอนการรักษาไม่ยุ่งยากซับซ้อน โดยแพทย์จะใช้คลื่นอัลตราซาวด์เพื่อหาตำแหน่งเส้นเลือดขอดอย่างแม่นยำ จากนั้นสอดอุปกรณ์ปล่อยคลื่นวิทยุเข้าไปบริเวณนั้น แล้วจึงควบคุมอุปกรณ์ดังกล่าวให้ปล่อยพลังงานความร้อนเข้าไปทำลายผนังเส้นเลือดขอด ส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดในบริเวณนั้นปิดลง เส้นเลือดที่ขอดก็จะฝ่อและยุบไป

การรักษาเส้นเลือดขอดด้วยคลื่นวิทยุ ใกล้เคียงกับการรักษาแบบเลเซอร์ แต่วิธีนี้จะให้ความรู้สึกสบายตัวกว่า เพราะพลังงานความร้อนที่ปล่อยออกมามีอุณหภูมิต่ำกว่าเลเซอร์ สามารถทำที่ขาสองข้างได้ภายในการนัดหมายครั้งเดียว 

เมื่อทำเสร็จแล้วสามารถกลับบ้านได้ ประกอบกิจวัตรประจำวันตามปกติได้ทันที เพียงแต่ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่จะส่งผลต่อความดันเลือดที่ขา เช่น ยืนนานๆ ขึ้นเครื่องบิน เป็นต้น

การรักษาเส้นเลือดขอดด้วยการผ่าตัด

การผ่าตัดช่วยรักษาเส้นเลือดขอดที่มีขนาดใหญ่ ได้ผลรวดเร็วในการรักษาครั้งเดียว แบ่งออกเป็น 2 เทคนิค

1. ผ่าตัดเส้นเลือดขอดแบบ Vein Stripping and Ligation

วิธีนี้แพทย์จะกรีดเปิดผิวหนังผู้ป่วย 2 แห่ง ทำการผูกเส้นเลือดขอดช่วงต้นกับปลายเพื่อปิดทางไหลเวียนเลือด จากนั้นลอกเส้นเลือดขอดเส้นนั้นออก แล้วจึงเย็บปิดแผล

การผ่าตัดเส้นเลือดขอดเทคนิคนี้มักระงับความรู้สึกด้วยวิธีวางยาสลบ ใช้ระยะเวลาผ่าตัดประมาณ 1-3 ชั่วโมง เสร็จแล้วต้องพักฟื้นดูอาการก่อนกลับบ้าน

แพทย์มักแนะนำให้ใช้วิธีนี้ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นเส้นเลือดขอดอย่างรุนแรง เส้นเลือดขอดมีขนาดใหญ่ หรืออยู่ใต้ผิวหนังลึกลงไป

2. ผ่าตัดเส้นเลือดขอดแบบ Ambulatory Phlebectomy

วิธีนี้แพทย์จะผ่าตัดเจาะผิวหนังผู้ป่วยเป็นรูเล็กๆ แล้วใช้เครื่องมือชนิดพิเศษดูดเส้นเลือดขอดออกนอกร่างกาย วิธีนี้เมื่อเสร็จแล้วไม่จำเป็นต้องเย็บปิดแผล ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้เลย ไม่ต้องพักฟื้นในโรงพยาบาล

การผ่าตัดเส้นเลือดขอดเทคนิคนี้มักระงับความรู้สึกด้วยการใช้ยาชาเฉพาะที่ ใช้ระยะเวลาผ่าตัดประมาณ 45-60 นาที แพทย์มักแนะนำวิธีนี้แก่ผู้ป่วยที่รักษาเส้นเลือดขอดด้วยวิธีไม่ผ่าตัดแบบอื่นๆ แล้วไม่ได้ผล

การดูแลตัวเองหลังรักษาเส้นเลือดขอด

หลังการรักษาเส้นเลือดขอด ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวได้ดี และลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย โดยส่วนใหญ่แพทย์มักแนะนำให้ปฏิบัติตัวดังนี้

  • สวมถุงน่องรัดขา
  • นั่งหรือนอนแล้วยกขาให้อยู่ระดับสูงกว่าหัวใจ
  • ประคบน้ำแข็ง
  • ควรออกกำลังกายเบาๆ ด้วยการเดิน เพื่อลดการอักเสบ และช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวเร็วขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการนั่งนานๆ เพราะจะทำให้เกิดความดันเลือดสูงบริเวณขา
  • รับประทานยาแก้ปวดตามที่แพทย์สั่ง เมื่อรู้สึกเจ็บแผล

สำหรับผู้ที่รักษาเส้นเลือดขอดด้วยวิธีผ่าตัด ควรเพิ่มการปฏิบัติตัวเหล่านี้ด้วย

  • ดูแลรักษาแผลให้แห้งและสะอาดอยู่เสมอ
  • งดออกกำลังกายหนักๆ จนกว่าแพทย์จะอนุญาต เพราะอาจทำให้เลือดไหลจากแผลได้

นอกจากนี้ผู้ป่วยหรือผู้ดูแลยังควรสังเกตตัวเอง ว่ามีอาการผิดปกติใดๆ หรือไม่ เช่น มีไข้ วิงเวียนศีรษะ บริเวณที่ทำการรักษามีความเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เช่น ขนาดขา สีผิว รวมถึงสังเกตของเหลวที่อาจไหลออกจากแผลผ่าตัด ถ้าเกิดอาการผิดปกติควรรีบกลับไปพบแพทย์ทันที

รักษาเส้นเลือดขอด ใช้ประกันสังคมได้ไหม?

ผู้ประกันตนมาตรา 33-39 สามารถใช้สิทธิประกันสังคมรักษาเส้นเลือดขอดได้ โดยต้องทำการรักษา ณ โรงพยาบาลที่ตัวเองมีสิทธิประกันสังคมอยู่ ไม่ต้องสำรองจ่าย โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าควรรักษาเส้นเลือดขอดด้วยวิธีใด

สามารถตรวจสอบสิทธิของตนเองได้ทางเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th โทรสายด่วนประกันสังคม 1506 ติดต่อผ่านไลน์ @ssothai หรือที่สำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศ

นอกจากสองวิธีการรักษาที่กล่าวมาแล้ว การรักษาเส้นเลือดขอดยังมีอีกหลายวิธี เช่น การใช้ถุงน่องรัดเส้นเลือดขอด การรักษาเส้นเลือดขอดด้วยยา การรักษาเส้นเลือดขอด ด้วยกาวทางการแพทย์ เป็นต้น 

ทั้งนี้การพิจารณารักษาเส้นเลือดขอดตั้งแต่อาการยังไม่รุนแรง จะช่วยให้ผู้ป่วยมีทางเลือกในการรักษามากขึ้น และลดความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายแทรกซ้อน

ไม่แน่ใจว่าวิธีไหนดีที่สุดสำหรับเรา? เคยตรวจมาแล้วแต่อยากขอความเห็นที่สองจากคุณหมอเฉพาะทาง เพื่อเลือกวิธีรักษาที่เหมาะกับเรามากที่สุด หรือมีสิทธิรักษาพยาบาลอยู่ แต่ไม่แน่ใจว่าควรใช้สิทธิไหนดี ติดต่อทีม HDcare ช่วยทำนัดเข้าปรึกษาคุณหมอ เช็กสิทธิ ดูแลกันตั้งแต่ต้นจบ ทำให้การผ่าตัดไม่ยุ่งยากและไม่น่ากลัวอย่างที่คิด คลิกเลย

Scroll to Top