หลายคนน่าจะรู้จัก เส้นเลือดขอด ว่าคือภาวะที่เส้นเลือดใต้ผิวหนังบริเวณขาขยายขนาดจนดูโป่ง นูน คด แต่ความจริงเส้นเลือดขอดสามารถเกิดในที่บริเวณอื่นๆ ของร่างกายด้วย โดยแต่ละคนมีความเสี่ยงที่จะมีภาวะนี้ไม่เท่ากัน
ผู้ที่เป็นเส้นเลือดขอดอยู่ อาจสงสัยว่าจะรักษาภาวะนี้ได้ด้วยวิธีใดบ้าง นอกจากผ่าตัดรักษาเส้นเลือดขอดแล้วยังมีอะไรอีก ถ้าไม่ผ่าตัด จะมีทางเลือกอื่นๆ อีกไหม หรือถ้าต้องการบรรเทาอาการด้วยตนเอง จะทำได้หรือไม่
บทความนี้จะตอบคำถามข้างต้นให้คุณ โดยเน้นที่เส้นเลือดขอดบริเวณขาเป็นหลัก เนื่องจากเป็นส่วนที่พบเส้นเลือดขอดบ่อยที่สุด
สารบัญ
- 1. เส้นเลือดขอด นอกจากที่ขาแล้วเป็นตรงไหนได้อีก?
- 2. ใครเสี่ยงเป็นเส้นเลือดขอดบ้าง?
- 3. เส้นเลือดขอด รักษาด้วยตัวเองได้ไหม?
- 4. ผ่าตัดรักษาเส้นเลือดขอด ทำอย่างไร?
- 5. ถ้าผ่าตัดเอาเส้นเลือดส่วนที่ขอดออกไปแล้ว เลือดที่เคยผ่านเส้นเลือดเส้นนั้นจะไหลไปทางไหนแทน?
- 6. มีวิธีรักษาเส้นเลือดขอดแบบไม่ผ่าตัดหรือไม่?
- 7. ถ้าไม่ได้กังวลเรื่องความสวยงาม ไม่ต้องรักษาเส้นเลือดขอดก็ได้ใช่ไหม?
1. เส้นเลือดขอด นอกจากที่ขาแล้วเป็นตรงไหนได้อีก?
ตอบ: เส้นเลือดขอดที่ขาคือตำแหน่งที่พบเห็นได้ชัดเจนที่สุด แล้วคนทั่วไปรู้จักมากที่สุด จนหลายคนอาจเข้าใจผิดว่าเส้นเลือดขอดเป็นได้เฉพาะที่ขาเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว เส้นเลือดขอดสามารถเกิดได้ในบริเวณอื่นๆ ของร่างกาย เช่น ข้อเท้า อัณฑะ ไปจนถึงเส้นเลือดขอดในทางเดินอาหาร อย่างหลอดอาหาร หรือกระเพาะอาหาร
2. ใครเสี่ยงเป็นเส้นเลือดขอดบ้าง?
ตอบ: ทุกคนสามารถเป็นเส้นเลือดขอดได้ โดยปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นเส้นเลือดขอดให้มากขึ้น ได้แก่
- อายุ โดยกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นเส้นเลือดขอดเพิ่มขึ้นคือ ผู้ที่อายุ 40-80 ปี เนื่องจากผนังเส้นเลือดและลิ้นเปิด-ปิด ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมทิศทางการไหลเวียนของเลือดภายในเส้นเลือดดำในคนกลุ่มนี้ จะเริ่มเสื่อมลง และทำหน้าที่ได้ไม่ดีเหมือนเมื่อในคนอายุน้อย
- เพศหญิง เนื่องจากมีฮอร์โมนที่ทำให้ผนังเส้นเลือดยืดหย่อนมากกว่าเพศชาย ผู้ที่อยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือใช้ยาคุมกำเนิด ซึ่งมีผลเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนก็มีความเสี่ยงเป็นเส้นเลือดขอดมากกว่าคนอื่นๆ เช่นกัน
- ภาวะน้ำหนักเกิน เนื่องจากน้ำหนักตัวมีผลให้ความดันบริเวณขาและความดันในเส้นเลือดที่ขา เพิ่มสูงขึ้น เป็นสาเหตุหลักของการเกิดเส้นเลือดขอด
- ประวัติการบาดเจ็บที่ขา เนื่องจากความบาดเจ็บนั้นๆ อาจไปกระทบกับเส้นเลือดดำหรือลิ้นเปิด-ปิด ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมทิศทางการไหลเวียนเลือดภายในเส้นเลือดดำ ทำให้เลือดไหลย้อนทิศทาง เกิดเลือดสะสมในเฉพาะบริเวณ จนเส้นเลือดขยายขนาดขึ้น
- การสูบบุหรี่ หรือ บุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากในบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้ามีส่วนประกอบของนิโคติน ซึ่งมีฤทธิ์เพิ่มความดันเลือด
- พฤติกรรมส่วนตัวซึ่งส่งผลให้ความดันเลือดสูง เช่น นั่งหรือยืนท่าเดิมต่อเนื่องเป็นเวลานาน สวมใส่ชุดที่มีลักษณะรัดแน่น สวมรองเท้าส้นสูง
3. เส้นเลือดขอด รักษาด้วยตัวเองได้ไหม?
ตอบ: หากยังมีอาการเส้นเลือดขอดไม่มาก ก็สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยตัวเอง ด้วยวิธีต่อไปนี้
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เลือดไหวเวียนได้ดี ลดการสะสมหรือคั่งค้างของเลือดภายในเส้นเลือดดำ นอกจากนี้การออกกำลังกายสม่ำเสมอยังช่วยลดความดันในร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของเส้นเลือดขอด โดยการออกกำลังกายที่ไม่ต้องออกแรงมาก แต่ช่วยบรรเทาอาการเส้นเลือดขอดได้ดี เช่น ว่ายน้ำ เดิน ปั่นจักรยาน โยคะ
- สวมถุงน่องรัดเส้นเลือดขอด ถุงน่องนี้จะช่วยกระชับกล้ามเนื้อและเส้นเลือดดำ เพื่อให้เลือดไหลเวียนตามทิศทางที่ถูกต้อง คือไหลทางเดียวกลับสู่หัวใจ อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาผู้ชำนาญการถึงระยะเวลาที่ควรสวมใส่ถุงน่องรัดเส้นเลือดขอดที่เหมาะสม เพื่อให้การรักษาได้ผล
- ปรับการแต่งตัว เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ดี เช่น สวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่รัดแน่นจนเกินไป ใส่รองเท้าส้นเตี้ยแทนส้นสูง
- พักจากการนั่งนานๆ ด้วยการยกขาสูง โดยควรยกให้อยู่ระดับหัวใจหรือสูงกว่านั้น เพื่อลดความเส้นเลือดที่ขา นอกจากนี้แรงโน้มถ่วงยังช่วยให้เลือดไหลเวียนกลับสู่หัวใจได้ดีขึ้น
- นวดเบาๆ บริเวณที่เป็นเส้นเลือดขอด เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด อาจใช้น้ำมันหอมหรือมอยซ์เจอไรเซอร์ร่วมด้วย ข้อควรระวังสำหรับการนวดเพื่อบรรเทาภาวะเส้นเลือดขอด คือไม่ควรกดที่เส้นเลือดที่ขอดโดยตรง เนื่องจากอาจทำให้เนื้อเยื่อภายในที่อ่อนแอเสียหาย
- หลีกเลี่ยงการนั่งท่าเดิมเป็นเวลานานๆ เนื่องจากทำให้เลือดไหลเวียนได้น้อยลง โดยเฉพาะท่านั่งขัดสมาธิ มีการศึกษาพบว่าท่านั่งขัดสมาธิไม่ทำให้เป็นเส้นเลือดขอด แต่ถ้าเป็นเส้นเลือดขอดอยู่แล้ว ท่านั่งดังกล่าวจะทำให้อาการเส้นเลือดขอดแย่ลง
- ลดน้ำหนัก เพื่อลดความดันในเส้นเลือดดำ ช่วยบรรเทาอาการเส้นเลือดขอดที่ต้นเหตุ
- ปรับการรับประทานอาหารที่มีผลต่อการไหลเวียนเลือด โดยลดเกลือหรือโซเดียมให้น้อยลง แล้วรับประทานอาหารที่มีโพแทสเซียมและฟลาโวนอยด์ให้มากขึ้น โดยอาหารที่มีโพสแทสเซียมสูง ได้แก่ ถั่วอัลมอนด์ ถั่วพิสตาชิโอ ถั่วเลนทิล ผักใบเขียว ปลาทูน่า ปลาแซลมอน ส่วนอาหารที่มีฟลาโวนอยด์สูง ได้แก่ เกาลัด หอมหัวใหญ่ พริกระฆัง บร็อกโคลี่ ผักปวยเล้ง ผลไม้ตระกูลส้ม องุ่น แอปเปิล บลูเบอร์รี โกโก้ กระเทียม
4. ผ่าตัดรักษาเส้นเลือดขอด ทำอย่างไร?
ตอบ: ปัจจุบันการผ่าตัดรักษาเส้นเลือดขอด มี 2 เทคนิค ได้แก่
- ผ่าตัดเส้นเลือดขอดแบบเปิดผิวหนังแล้วลอกเส้นเลือดขอดออก
เทคนิคนี้แพทย์จะฉีดยาชาเข้าที่ไขสันหลังผู้ป่วย (บล็อกหลัง) หรือให้ยาสลบ จากนั้นกรีดเปิดแผลที่ขาหนีบผู้ป่วย ขนาดแผลประมาณ 4-5 เซนติเมตร กับอีกแผลบริเวณใต้เข่าขนาดประมาณ 1-2 เซนติเมตร จากนั้นทำการผูกและตัดหลอดเลือดที่ขอดออก วิธีนี้ผู้ป่วยต้องพักฟื้นหลังผ่าตัดภายในโรงพยาบาลประมาณ 1-2 คืน แล้วจึงกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้าน
- ผ่าตัดเส้นเลือดขอดแบบเจาะผิวหนังแล้วใช้เครื่องมือดูดเส้นเลือดขอดออก
เทคนิคนี้แพทย์จะให้ยาชาเฉพาะที่แก่ผู้ป่วย จากนั้นเจาะเปิดแผลที่ผิวหนังผู้ป่วยขนาดประมาณ 1-2 มิลลิเมตร ก่อนจะดึงเส้นเลือดขอดออก วิธีนี้ไม่ต้องมีการเย็บแผลหรือตัดไหม หลังผ่าตัดผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้เลย
การผ่าตัดรักษาเส้นเลือดขอด เป็นวิธีกำจัดเส้นเลือดที่มีปัญหาออกไปในครั้งเดียว ต่างจากการรักษาเส้นเลือดขอดด้วยวิธีอื่นที่อาจต้องทำหลายครั้ง หรือใช้เวลาให้เส้นเลือดที่ขอดปิดทางไหลเวียนแล้วยุบหายไป
หลังจากผ่าตัด แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยสวมใส่ถุงน่องรัดกล้ามเนื้อเป็นระยะเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์
5. ถ้าผ่าตัดเอาเส้นเลือดส่วนที่ขอดออกไปแล้ว เลือดที่เคยผ่านเส้นเลือดเส้นนั้นจะไหลไปทางไหนแทน?
ตอบ: หลังผ่าตัดเส้นเลือดขอด เลือดที่เคยไหลผ่านเส้นเลือดเส้นที่ขอดนั้น จะไปใช้เส้นเลือดเส้นอื่นที่ยังทำงานได้ดีแทน ดังนั้นเลือดจึงยังไหลเวียนอย่างปกติ ไม่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย
6. มีวิธีรักษาเส้นเลือดขอดแบบไม่ผ่าตัดหรือไม่?
ตอบ: ปัจจุบันมีหลายทางเลือกเพื่อรักษาเส้นเลือดขอด วิธีที่ไม่ผ่าตัด มีดังนี้
- ฉีดยารักษาเส้นเลือดขอด
- รักษาเส้นเลือดขอดด้วยคลื่นวิทยุ RFA
- รักษาเส้นเลือดขอดด้วยเลเซอร์
- ฉีดโฟมรักษาเส้นเลือดขอด
- รักษาเส้นเลือดขอดด้วยกาวทางการแพทย์
วิธีเหล่านี้ทำให้เส้นเลือดขอดสลายตัวหรือปิดแฟบติดกัน ทำให้เลือดไม่เข้ามาไหลเวียนในบริเวณนี้อีกต่อไป จากนั้นเส้นเลือดขอดจะยุบลง แล้วเปลี่ยนเป็นเนื้อเยื่อแผลเป็นไปในที่สุด
7. ถ้าไม่ได้กังวลเรื่องความสวยงาม ไม่ต้องรักษาเส้นเลือดขอดก็ได้ใช่ไหม?
ตอบ: แม้โดยทั่วไปแล้วเส้นเลือดขอดมักไม่ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรง แต่ถ้าสังเกตพบว่าเส้นเลือดที่ขอดมีขนาดใหญ่ เป็นแล้วรู้สึกไม่สบายตัว หรือรู้สึกเจ็บเมื่อสัมผัสบริเวณที่เป็นเส้นเลือดขอด ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณารับการรักษา เนื่องจากภาวะเส้นเลือดขอดที่เป็นนี้อาจพัฒนาไปสู่ภาวะที่อันตรายขึ้นได้ เช่น
- อาการขาหรือข้อเท้าบวม
- ผิวหนังบริเวณที่เป็นเส้นเลือดขอดเปลี่ยนสี เนื่องจากมีเลือดรั่วซึมออกสู่เนื้อเยื่อใกล้เคียงบริเวณที่เป็นเส้นเลือดขอด
- เกิดลิ่มเลือดสะสม ทำให้เกิดการอุดกั้นทางไหลเวียนเลือด ภาวะนี้จะเป็นอันตรายมากขึ้นถ้าลิ่มเลือดหลุดออกไปอุดตันอวัยวะสำคัญอื่นๆ เช่น ปอด
- เกิดแผลเรื้อรังจากหลอดเลือดดำบกพร่อง โดยมักเป็นบริเวณตาตุ่มแผลนี้มักรักษาให้หายยาก อาจหายแล้วกลับมาเป็นอีก หรือเป็นแล้วขยายขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ มีโอกาสติดเชื้อและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
เส้นเลือดขอดเกิดได้หลายบริเวณ โดยทั่วไปไม่ใช่ภาวะที่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพ แต่ถ้าเส้นเลือดขอดนั้นมีขนาดใหญ่ ก่อให้เกิดความเจ็บปวดหรือความรู้สึกไม่สบายตัว ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้ชำนาญการให้แน่ใจว่าเส้นเลือดขอดที่เป็นอยู่นั้นจะไม่พัฒนาไปเป็นภาวะอันตรายอื่นๆ
ถ้ามีเส้นเลือดขอด แต่ยังไม่แน่ใจว่าจำเป็นต้องรักษาหรือยัง และอยากรู้ว่าทางเลือกในการรักษามีอะไรบ้าง ราคาประมาณเท่าไหร่
ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจรักษาเส้นเลือดขอด จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย