เมื่อผู้หญิงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ หรือเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรก ก็เป็นจุดเริ่มต้นของโรคทางนรีเวชได้ และยังไม่นับการมีเพศสัมพันธ์ซึ่งอาจทำให้รับเชื้อมาจากบุคคลอื่น นอกจากป้องกันตัวเองให้ห่างจากโรคด้วยการใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV อีกทางที่ทำได้คือตรวจคัดกรองโรคทางนรีเวชอย่างสม่ำเสมอ
ถ้าเริ่มมีโรคก่อตัวขึ้น จะได้ตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ นำไปสู่การรักษาอย่างทันท่วงที ก่อนโรคนั้นจะพัฒนาเป็นโรคร้ายแรง เช่น มะเร็ง หรือในผู้ที่ต้องการมีบุตร โรคทางนรีเวชที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมอาจทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้
วิธีตรวจโรคทางนรีเวชมีอะไรบ้าง แต่ละวิธีใช้ตรวจโรคอะไรได้บ้าง การตรวจทำอย่างไร HDcare รวบรวมมาให้แล้ว
สารบัญ
1. ตรวจภายใน
การตรวจภายใน เป็นการตรวจดูอวัยวะระบบสืบพันธุ์ภายใน ได้แก่ ปากช่องคลอด ช่องคลอด ปากมดลูก มดลูก รังไข่ หรือดูตกขาวผิดปกติ โดยใช้การสังเกตหรือคลำตรวจเป็นหลัก ทำโดยสูตินรีแพทย์
ก่อนตรวจภายใน เจ้าหน้าที่จะให้ผู้รับการตรวจปัสสาวะทิ้งและทำความสะอาดอวัยวะเพศภายนอกเสียก่อน ไม่ต้องโกนขน รวมถึงให้เปลี่ยนเครื่องแต่งกายเป็นชุดสำหรับตรวจภายใน โดยอาจมีลักษณะคล้ายผ้าถุง หรือเป็นกางเกงแบบพิเศษซึ่งตรงเป้ากางเกงเป็นช่องว่าง
จากนั้นแพทย์จะให้ผู้รับการตรวจนอนบนเตียงที่มีขาหยั่ง จัดท่าให้เหมาะสมและเริ่มตรวจ โดยอาจตรวจดูลักษณะภายนอกช่องคลอด คลำตรวจในช่องคลอด ใช้เครื่องมือปากเป็ดสอดเข้าในช่องคลอดเพื่อดูอวัยวะอื่นๆ ด้านใน หรืออาจมีการใช้อุปกรณ์เก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อหรือสารคัดหลั่งในช่องคลอดออกมาทดสอบต่อไปในห้องปฏิบัติการ
โดยทั่วไปการตรวจภายใน อาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัว แต่มักไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด แพทย์จะเลือกใช้อุปกรณ์ที่มีขนาดขนาดเหมาะสมกับสรีระของผู้หญิงแต่ละคน รวมถึงอาจใช้เจลหล่อลื่นเพื่อให้สอดอุปกรณ์ต่างๆ เข้าสู่ช่องคลอดได้ง่าย
ถ้ารู้สึกไม่สบายใจที่จะตรวจกับคุณหมอผู้ชาย สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่พยาบาลเพื่อขอตรวจกับคุณหมอผู้หญิงได้
2. ตรวจสารบ่งชี้มะเร็ง CA125
CA 125 (Carcinoma Antigen 125) คือสารบ่งชี้มะเร็งรังไข่ ซึ่งสามารถพบได้จากการตรวจเลือด
ค่า CA 125 ของคนปกติจะอยู่ที่ 0-35 ถ้าตรวจแล้วพบว่ามีค่า CA 125 เกินกว่านี้ แพทย์อาจให้ตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผล เนื่องจากผู้ที่มีก้อนเนื้อที่ปีกมดลูกโดยไม่ได้เป็นมะเร็งรังไข่ก็สามารถพบค่า CA 125 สูงๆ ได้เช่นกัน
การตรวจ CA 125 ทำได้ง่าย แต่มีข้อจำกัดคือ อาจตรวจไม่พบมะเร็งรังไข่ระยะเริ่มแรก ปัจจุบันมีอีกการตรวจที่สามารถทำร่วมกับตรวจ CA 125 ได้ คือ HE 4 (Human Epididymis Protein 4) การตรวจนี้สามารถหาสารบ่งชี้มะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิว เมื่อนำผลตรวจทั้งสองมาวิเคราะห์ร่วมกัน จะช่วยให้พบโรคได้เร็วขึ้น
3. ตรวจความผิดปกติของอวัยวะอุ้งเชิงกราน ด้วยการอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง
การอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง เป็นการตรวจดูอวัยวะภายในช่องท้อง โดยไม่ต้องมีการเจาะหรือใส่อุปกรณ์ใดๆ เข้าสู่ร่างกายผู้รับการตรวจ แต่ใช้อุปกรณ์ปล่อยคลื่นวิทยุความถี่สูงเคลื่อนไปบริเวณท้องน้อยของผู้รับการตรวจ คลื่นความถี่นั้นจะสะท้อนกับอวัยวะภายในใต้ผิวหนัง แล้วสร้างภาพขึ้นสู่จอมอนิเตอร์
สิ่งที่สามารถตรวจพบได้จากการอัลตราซาวดน์ช่องท้องส่วนล่าง ได้แก่ ขนาด รูปร่าง ตำแหน่งของมดลูกและรังไข่ ความยาวและความหนาของปากมดลูก การตั้งครรภ์ การเปลี่ยนแปลงรูปร่างของกระเพาะปัสสาวะ ความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูก การไหลเวียนของเลือดของอวัยวะภายในอุ้งเชิงกราน
นอกจากนี้ยังใช้ตรวจสอบว่ามีของเหลวหรือก้อนเนื้อในโพรงมดลูก ในกล้ามเนื้อมดลูก ในกล้ามเนื้อมดลูก หรือบริเวณกระเพาะปัสสาวะหรือไม่
การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่างมักใช้สำหรับตรวจภาวะสุขภาพและตรวจคัดกรองโรคทางนรีเวชเบื้องต้น ถ้าพบความผิดปกติแพทย์อาจสั่งตรวจเฉพาะทางด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม
4. ตรวจอัลตราซาวด์ช่องคลอด
การอัลตราซาวด์ช่องคลอด ใช้หลักการเหมือนกับอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง ต่างกันที่อุปกรณ์ปล่อยคลื่นความถี่วิทยุจะถูกสอดเข้าทางช่องคลอดของผู้รับการตรวจ
สิ่งที่ตรวจพบได้จากการอัลตราซาวด์ช่องคลอด เช่น ซีสต์ เนื้องอกที่ไม่ใช่เนื้อร้าย ติ่งเนื้อในโพรงมดลูก เนื้อร้าย สัญญาณที่บ่งบอกการติดเชื้อ มะเร็ง หรือปัญหามีบุตรยาก การเคลื่อนของห่วงคุมกำเนิด
เนื่องจากอุปกรณ์ตรวจจะถูกสอดเข้าไปทางช่องคลอด จึงเข้าใกล้ตำแหน่งมดลูกและรังไข่ได้มากกว่า แพทย์จึงเห็นรายละเอียดภาพได้ชัดกว่า ทำให้ตรวจพบความผิดปกติที่เล็กน้อย หรือพบการตั้งครรภ์ระยะแรกเริ่มได้ไวกว่าการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง
ในคุณแม่ตั้งครรภ์ช่วงสัปดาห์แรกถึงสัปดาห์ที่ 12 คุณหมอมักสั่งอัลตราซาวด์ทางช่องคลอดเพื่อติดตามการเต้นของหัวใจทารก และใช้ตรวจจับสัญญาณเล็กน้อยที่อาจบอกถึงภาวะแท้งหรือภาวะผิดปกติอื่นๆ เช่น รกเกาะต่ำ
ถ้าพบความผิดปกติใดๆ การอัลตราซาวด์ช่องคลอดยังใช้เพื่อวางแผนการผ่าตัดอีกด้วย
5. ตรวจเชื้อ HPV หรือ ตรวจมะเร็งปากมดลูก
HPV คือเชื้อไวรัสที่สามารถติดต่อกันได้ทางเพศสัมพันธ์ HPV มีหลายสายพันธุ์ บางสายพันธุ์ทำให้เกิดหูดบริเวณมือ เท้า ใบหน้า เชื้อบางสายพันธุ์ทำให้เกิดหูดหงอนไก่ ถ้าร่างกายแข็งแรงจะกำจัดเชื้อนี้ได้เองภายใน 2-3 ปี
ตรวจ HPV เกี่ยวข้องกับการตรวจมะเร็งปากมดลูก ตรงที่มีเชื้อ HPV ชนิดที่เป็นต้นเหตุของรอยโรคที่สามารถพัฒนาไปเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ การตรวจ HPV ถ้าพบเชื้อหรือรอยโรคที่ว่านี้ตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้รักษาหรือบรรเทาอาการได้ก่อนโรคลุกลามเป็นมะเร็ง
การตรวจเชื้อ HPV หรือตรวจมะเร็งปากมดลูก แพทย์จะใช้วิธีตรวจภายในเพื่อสังเกตหารอยโรคที่อวัยวะสืบพันธุ์ ร่วมกับการเก็บตัวอย่างเซลล์ไปตรวจในห้องปฏิบัติการ เทคนิคที่ใช้เป็นหลัก ได้แก่
-
- Pap Smear แพทย์จะใช้เครื่องมือสอดเข้าไปทางช่องคลอด แล้วใช้ไม้พายเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อจากปากมดลูกของผู้รับการตรวจ ก่อนนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการ
- ThinPrep Pap Test เป็นวิธีที่พัฒนามาจาก Pap Smear โดยจะมีการใช้เครื่องมือพิเศษสำหรับเก็บเซลล์บริเวณปากมดลูก แล้วแช่เครื่องมือนั้นลงในน้ำยา ก่อนจะนำส่งไปตรวจในห้องปฏิบัติการ วิธีนี้ช่วยลดการปนเปื้อนในเนื้อเยื่อ และช่วยให้ตรวจเซลล์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้ผลแม่นยำขึ้น
- ตรวจ HPV DNA วิธีนี้เมื่อเก็บตัวอย่างเซลล์บริเวณปากมดลูกไปแล้ว จะมีการตรวจในห้องปฏิบัติการโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ นอกจากจะสามารถบอกได้ว่ามีหรือไม่มีเชื้อ HPV ยังระบุสายพันธุ์เชื้อ HPV ได้ด้วย ช่วยให้รักษาหรือบรรเทาอาการได้ก่อนโรคจะลุกลามเป็นมะเร็ง
เชื้อ HPV หลายสายพันธุ์สามารถป้องกันได้ ด้วยการฉีดวัคซีน ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกัน HPV ชนิด 2 สายพันธุ์ 4 สายพันธุ์ และ 9 สายพันธุ์ ควรฉีดวัคซีนตั้งแต่ก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก จะช่วยป้องกันเชื้อนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
6. ตรวจตัดชิ้นเนื้อ
การตรวจตัดชิ้นเนื้อ คือการตัดเอาเนื้อเยื่อออกจากร่างกายผู้รับการตรวจ เพื่อนำไปตรวจต่อในห้องปฏิบัติการ สำหรับทางนรีเวช การตรวจตัดชิ้นเนื้อมักใช้เพื่อหาโรคบริเวณปากมดลูก เช่น เนื้องอกมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดปกติ หูดหงอนไก่ มะเร็งปากมดลูก
เทคนิคหลักที่ใช้สำหรับตรวจตัดชิ้นเนื้อเพื่อหามะเร็งปากมดลูก ได้แก่
- Punch Biopsy เป็นการใช้เครื่องมือลักณะคล้ายกรรไกร แต่มีลักษณะยาวเข้าไปเจาะตัดชิ้นเนื้อขนาดเล็กที่ปากมดลูก ในการตรวจ 1 ครั้ง อาจมีการเจาะชิ้นเนื้อมากกว่า 1 บริเวณก็ได้
- Cone Biobsy เป็นใช้เลเซอร์หรือจี้ไฟฟ้าตัดปากมดลูกออกเป็นรูปทรงกรวยแล้วนำไปตรวจต่อยังห้องปฏิบัติการ
- Endocervical curettage (ECC) เป็นการใช้เครื่องมือลักษณะแบนๆ ขูดเนื้อเยื่อในโพรงมดลูกไปตรวจ เทคนิคนี้มักรู้จักกันในชื่อ ขูดมดลูก ซึ่งนอกจากจะใช้เพื่อตรวจสอบโรคทางนรีเวชแล้ว ยังเป็นเทคนิคสำหรับรักษาผนังมดลูกเจริญผิดปกติได้อีกด้วย
7. ตรวจ Ultrasound Core Needle Biopsy
Core Needle Biopsy คือการตรวจเฉพาะทางด้วยการเจาะชิ้นเนื้อในร่างกาย โดยใช้คลื่นอัลตราซาวด์นำไปยังตำแหน่งที่ต้องการอย่างแม่นยำ แล้วนำชิ้นเนื้อนั้นออกมาตรวจ ให้ประโยชน์มากในการตรวจต่อมน้ำเหลืองเพื่อหาโรคมะเร็ง หรือตรวจการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง
นอกจาก 7 วิธีการตรวจโรคทางนรีเวชที่กล่าวไปแล้ว บางกรณีแพทย์อาจสั่งทำ CT Scan หรือสั่งตรวจ MRI เพื่อดูภาพอวัยวะระบบสืบพันธุ์ภายใน การทำ CT Scan จะให้ภาพอวัยวะแบบ 3 มิติ สร้างขึ้นมาด้วยรังสีเอกซ์ ส่วน MRI นั้นจะให้ภาพที่รายละเอียดสูงกว่า เวลาตรวจผู้รับการตรวจต้องเข้าไปอยู่ในอุโมงค์แม่เหล็กไฟฟ้าซึ่งปล่อยคลื่นความถี่วิทยุ
สามารถดูข้อมูลเปรียบเทียบวิธีตรวจโรคทางนรีเวช มีวิธีอะไรบ้าง แต่ละวิธีใช้บ่อยสำหรับการตรวจอะไร และใครบ้างที่ควรใช้วิธีตรวจเหล่านี้ ตามตารางด้านล่าง
โรคทางนรีเวชบางโรคอาจมีอาการผิดปกติที่สังเกตเห็นได้ เช่น มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ ตกขาวผิดปกติ ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ เจ็บ-ปวดบริเวณท้องน้อยและเป็นมากเวลามีประจำเดือน แต่บางโรคก็ไม่ก่อให้เกิดอาการใดๆ เลย จะเห็นอาการแสดงก็ต่อเมื่อโรคเข้าสู่ระยะรุนแรงแล้ว เช่น โรคมะเร็งรังไข่ ดังนั้นการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอจึงช่วยได้มาก
ไม่ต่างจากการตรวจโรคอื่นๆ การตรวจโรคทางนรีเวช แพทย์ก็จะเป็นผู้พิจารณาวิธีตรวจที่เหมาะสมสำหรับแต่ละคน แต่ละอาการ แต่ละความเสี่ยงของโรค ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ควรแจ้งข้อมูลแก่แพทย์ให้ครบถ้วนเพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ คือ ภาวะการตั้งครรภ์ หรือ การให้นมบุตร นอกจากนี้ยังควรสอบถามแพทย์ให้แน่ใจว่าการตรวจโรคทางนรีเวชวิธีนั้นๆ (โดยเฉพาะที่ต้องมีการเจาะ ผ่าตัด หรือใช้รังสี) จะมีผลต่อการวางแผนตั้งครรภ์หรือไม่ อย่างไร
อยากเช็กให้ชัวร์ว่าวิธีตรวจทางนรีเวชนี้เหมาะกับอาการของเราใช่ไหม? จะมีผลข้างเคียงอะไรหรือไม่? ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคทางนรีเวช จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย