uterine cancer fibroids screening comparison

รวม 8 วิธีตรวจคัดกรองเนื้องอกมดลูก และโรคมะเร็งมดลูก

เนื้องอกมดลูก และมะเร็งมดลูก เป็นโรคทางนรีเวชที่พบได้บ่อยในผู้หญิงไทย ซึ่งบางครั้งอาจไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆ เลย จนทำให้หลายคนไม่ทราบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น กว่าจะรู้อีกที อาการป่วยอาจลุกลามจนรุนแรงแล้ว

การตรวจคัดกรองโรคทางนรีเวชจึงเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจภายใน หรือการอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง เพราะหากพบความผิดปกติจะได้รักษาได้ทัน โดยวิธีการตรวจเนื้องอกมดลูกและมะเร็งมดลูก แบ่งออกได้หลายแนวทาง เพื่อให้แพทย์สามารถมองเห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในมดลูกได้อย่างละเอียด และนำไปสู่การวางแผนการรักษาได้อย่างแม่นยำขึ้น บทความนี้จะพาไปเจาะลึกถึงวิธีการตรวจทุกๆ เทคนิค จะมีอะไรบ้างไปติดตามกันได้เลย

1. การตรวจภายใน

การตรวจภายใน เป็นการตรวจพื้นฐานที่ผู้หญิงอายุ 30 ขึ้นไป หรือผู้หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว ควรเข้ารับการตรวจปีละ 1 ครั้ง โดยวิธีนี้จะช่วยให้แพทย์มองเห็นความผิดปกติเบื้องต้นของระบบสืบพันธุ์ได้อย่างชัดเจน และหากพบความผิดปกติ ก็สามารถเก็บตัวอย่างเซลล์เพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการได้ด้วย โดยมีขั้นตอนหลักๆ ดังต่อไปนี้

  • ผู้รับบริการเปลี่ยนชุดเป็นกางเกงสำหรับตรวจภายใน
  • ผู้รับบริการนอนหงายบนเตียงขาหยั่ง แยกเข่า 2 ข้างออกจากกัน ระหว่างนี้ให้ปล่อยตัวตามสบาย ผ่อนคลาย ไม่ต้องเกร็ง
  • แพทย์ใช้อุปกรณ์ตรวจช่องคลอด หรือที่เรียกว่าสเปคคูลัม (Speculum) ลักษณะคล้ายปากเป็ดสอดเข้าช่องคลอด เพื่อขยายปากช่องคลอดให้เห็นปากมดลูก
  • แพทย์เริ่มตรวจโดยใช้การมองเพื่อสังเกตความผิดปกติเบื้องต้น 
  • แพทย์จะสอดนิ้วมือ 2 นิ้ว เข้าไปคลำตรวจภายในช่องคลอด และใช้มืออีกข้างกดเบาๆ ที่บริเวณท้องน้อย เพื่อตรวจหาความผิดปกติของมดลูก ปีกมดลูกและรังไข่
  • โดยส่วนมากแพทย์จะเก็บตัวอย่างเซลล์ที่ปากมดลูกส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วย หรือที่เรียกว่า การตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear) หรือ การตรวจตินแพร็พ (Thin Prep) เพื่อตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก
  • ผู้รับบริการเปลี่ยนเสื้อผ้า และเดินทางกลับบ้านได้เลย หรือสถานพยาบาลบางแห่งอาจให้รอฟังผลตรวจแปปสเมียร์ได้เลยในวันเดียวกัน

2. การตรวจอัลตราซาวด์

การตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound) เป็นการใช้เครื่องปล่อยพลังงานความถี่สูงในการตรวจและถ่ายภาพภายในอวัยวะสืบพันธุ์ ในกรณีที่เป็นการตรวจอัลตราซาวด์ทางนรีเวชสามารถทำได้ 2 รูปแบบ คือ 

  • การตรวจอัลตราซาวด์ผ่านทางหน้าท้อง มีขั้นตอนดังต่อไปนี้
    • ผู้รับบริการดื่มน้ำมากๆ และให้กลั้นปัสสาวะไว้ เนื่องจากน้ำปัสสาวะจะช่วยดันลำไส้ออกจากอุ้งเชิงกราน ช่วยให้แพทย์มองเห็นภาพมดลูกและรังไข่ได้ชัดเจนขึ้น
    • ผู้รับบริการนอนหงายกับเตียง แพทย์ทาเจลเย็นลงบนผิวหน้าท้อง 
    • แพทย์กดหัวปล่อยพลังงานอัลตราซาวด์เบาๆ ลงบนหน้าท้อง แล้วเคลื่อนไปทั่วๆ ภาพมดลูกและรังไข่จะปรากฎขึ้นบนจอภาพของเครื่องอัลตราซาวด์ แล้วสังเกตความผิดปกติ 
  • การตรวจอัลตราซาวด์ผ่านทางช่องคลอด เป็นการตรวจอัลตราซาวด์ที่ช่วยให้แพทย์ถ่ายภาพอวัยวะและเนื้อเยื่อภายในอุ้งเชิงกรานได้ละเอียดขึ้นกว่าการตรวจทางหน้าท้อง แต่วิธีนี้ต้องทำหลังจากหมดประจำเดือนอย่างน้อย 3 วัน มีขั้นตอนดังต่อไปนี้
    • แพทย์ให้ผู้รับบริการดื่มน้ำมากๆ และกลั้นปัสสาวะไว้เช่นกัน
    • ผู้รับบริการขึ้นนอนหงายบนเตียงขาหยั่ง
    • แพทย์ทาเจลหล่อลื่นบริเวณช่องคลอด และสอดหัวปล่อยพลังงานอัลตราซาวด์เข้าไปด้านในช่องคลอด เพื่อดูภาพมดลูกและรังไข่ผ่านจอเครื่องอัลตราซาวด์

3. การตรวจเลือดเพื่อวัดสารบ่งชี้มะเร็ง

การตรวจเลือดสามารถวัดค่า CA-125 ซึ่งเป็นสารบ่งชี้โรคมะเร็งได้เช่นกัน โดยเฉพาะในโรคมะเร็งรังไข่ ส่วนในกรณีโรคมะเร็งมดลูกนั้นจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ ในบางรายอาจไม่จำเป็นต้องตรวจ

อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจเลือดเพื่อดูค่าอื่นๆ ที่อาจช่วยในการตรวจวินิจฉัยเนื้องอกมดลูก โรคมะเร็งมดลูก หรือโรคทางนรีเวชอื่น ๆ ได้ เช่น 

  • ค่าความสมบูรณ์ของเลือด (Complete Blood Count: CBC) ซึ่งหากมีอาการเลือดออกทางช่องคลอดมากๆ ก็อาจมีอาการซีดหรือโลหิตจาง
  • ค่าสมดุลฮอร์โมนซึ่งสัมพันธ์ต่อการตั้งครรภ์ การเกิดเนื้องอกมดลูก และอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น อาการประจำเดือนมาผิดปกติ ภาวะช่องคลอดแห้ง อาการอ่อนเพลียง่าย 

4. การเก็บชิ้นเนื้อในโพรงมดลูก 

การเก็บชิ้นเนื้อในโพรงมดลูก (Endometrial Biopsy) คือ การเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อจากเยื่อบุโพรงมดลูกเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เป็นอีกแนวทางตรวจโรคมะเร็งมดลูกหรือภาวะเลือดออกผิดปกติที่มีความแม่นยำสูง วิธีนี้พัฒนามาจากการขูดมดลูก โดยการเก็บชิ้นเนื้อในโพรงมดลูกนี้ จะรู้สึกเจ็บน้อยกว่า ใช้เวลาทำสั้นกว่า รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าด้วย มีขั้นตอนหลักๆ ดังนี้

  • ผู้รับบริการขึ้นนอนบนเตียงขาหยั่ง
  • แพทย์สอดอุปกรณ์เพื่อเปิดปากช่องคลอด รวมถึงทำความสะอาดช่องคลอดและปากมดลูก
  • บางราย แพทย์อาจพิจารณาฉีดยาชาให้เพื่อป้องกันอาการเจ็บระหว่างเก็บชิ้นเนื้อ
  • แพทย์ใช้อุปกรณ์ดูดเก็บชิ้นเนื้อที่คล้ายกับหลอดดูดเล็กๆ สอดเข้าไปดูดตัวอย่างชิ้นเนื้อจากเยื่อบุโพรงมดลูก

5. การส่องกล้องโพรงมดลูก

การส่องกล้องโพรงมดลูก (Hysteroscopy) เป็นอีกช่องทางที่ช่วยให้แพทย์มองเห็นความผิดปกติที่ปากมดลูกและภายในโพรงมดลูกได้อย่างชัดเจนขึ้น มีขั้นตอนการตรวจดังต่อไปนี้

  • ผู้รับบริการอมยาใต้ลิ้นประมาณ 2 ชั่วโมงก่อนตรวจ โดยเป็นยาอมเพื่อขยายปากมดลูกให้กว้าง
  • ผู้รับบริการขึ้นนอนบนเตียงขาหยั่ง
  • แพทย์สอดอุปกรณ์เพื่อเปิดปากมดลูก
  • แพทย์สอดกล้องขนาดเล็กชื่อว่า Hysteroscope เข้าทางปากมดลูก จนถึงโพรงมดลูก
  • ในผู้ที่ตรวจพบความผิดปกติ แพทย์ก็อาจพิจารณาเก็บชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติด้วย เพื่อใช้ในการตรวจวินิจฉัยได้แม่นยำขึ้น

6. การขูดมดลูกเพื่อเก็บชิ้นเนื้อ

การขูดมดลูก เป็นการทำหัตถการเพื่อเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อบริเวณโพรงมดลูก มักใช้ในกรณีที่แพทย์ตรวจพบเนื้องอกในโพรงมดลูก และมีการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อด้วยการดูดชิ้นเนื้อแล้ว แต่ให้ผลตรวจที่ไม่ชัดเจนมากพอ 

นอกจากนี้ยังสามารถใช้รักษาผู้ที่มีอาการเลือดออกจากช่องคลอดหรือจากโพรงมดลูก รวมถึงผู้ที่มีการตั้งครรภ์ผิดปกติได้ด้วย

ระหว่างการขูดมดลูก อาจรู้สึกเจ็บปวดได้บ้าง แต่สามารถระงับความรู้สึกด้วยยาชา หรือยาสลบ ขึ้นอยู่กับแพทย์พิจารณาร่วมกับผู้รับบริการ กรณีเลือกใช้การดมยาสลบ ต้องงดน้ำและงดอาหารอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง โดยมีขั้นตอนต่อไปนี้

  • แพทย์จะระงับความรู้สึกด้วยยาสลบหรือยาชา
  • แพทย์ทำความสะอาดอวัยวะเพศและช่องคลอด
  • ใช้อุปกรณ์ถ่างขยายปากมดลูก
  • แพทย์สอดอุปกรณ์เข้าขูดเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อ สามารถเก็บได้ 2 เทคนิค คือ 
    • การเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อบริเวณคอมดลูกและโพรงมดลูก (Fractional And Curettage) 
    • การเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อบริเวณโพรงมดลูกอย่างเดียว (Dilatation And Curettage)
  • แพทย์ห้ามเลือด และนำอุปกรณ์ออก

7. การตรวจด้วย MRI

การตรวจ MRI (Magnetic Resonance Imaging) เป็นการใช้คลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อตรวจดูภาพความผิดปกติภายในร่างกายอย่างละเอียด 

ในกรณีตรวจเนื้องอกมดลูกหรือโรคมะเร็งมดลูก การตรวจ MRI สามารถช่วยให้แพทย์มองเห็นรูปร่างของมดลูก รวมถึงตำแหน่ง ขนาด ประเภทของก้อนเนื้อในมดลูกได้ชัดเจน ส่วนมากนิยมใช้ในผู้ที่มีเนื้องอกขนาดใหญ่ มีขั้นตอนการตรวจดังนี้

  • ผู้รับบริการเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดสำหรับการตรวจ รวมถึงถอดเครื่องประดับ ฟันปลอม นาฬิกา สิ่งของพกพาต่างๆ ออกทั้งหมด
  • ผู้รับบริการใส่อุปกรณ์รับสัญญาณกับร่างกาย และนอนราบลงกับเตียงภายในห้อง MRI 
  • เตียงนอนจะค่อยๆ เคลื่อนเข้าไปอยู่ด้านในกึ่งกลางของเครื่องทำ MRI ซึ่งมีลักษณะเป็นอุโมงค์เจาะรูตรงกลาง
  • ผู้รับบริการนอนราบอยู่เฉยๆ ระยะเวลาในการตรวจจะอยู่ที่ 30-45 นาที

8. การฉีดสีดูท่อนำไข่

การฉีดสีดูท่อนำไข่ (Hysterosalpingography: HSG) เป็นการตรวจทางรังสีวิทยาที่ช่วยให้แพทย์เห็นรูปร่างของมดลูก ปีกมดลูก โพรงมดลูก และท่อนำไข่ได้อย่างชัดเจน โดยส่วนมากนิยมใช้ตรวจในผู้ที่มีภาวะมีบุตรยากหรือแท้งบุตรซ้ำซ้อน ซึ่งเป็นหนึ่งในอาการข้างเคียงจากการมีเนื้องอกที่มดลูก มีขั้นตอนหลัก ๆ ดังต่อไปนี้

  • ผู้รับบริการนอนบนเตียงขาหยั่ง
  • แพทย์สอดอุปกรณ์เปิดขยายปากมดลูก และทำความสะอาดปากมดลูก
  • แพทย์สอดท่อเข้าทางปากมดลูก และฉีดสารทึบรังสีเข้าไปด้านในมดลูก ผ่านทางท่อนำไข่ และไหลเข้าด้านในช่องท้อง
  • แพทย์ทำการตรวจเอกซเรย์เพื่อดูการไหลของสารทึบรังสี

โดยส่วนมากการตรวจวินิจฉัยเนื้องอกมดลูกและโรคมะเร็งมดลูกจะใช้หลายวิธีร่วมกัน เพื่อให้ผลการตรวจออกมาแม่นยำและใช้วางแผนการรักษาได้สะดวกที่สุด 

การตรวจคัดกรองโรคทางนรีเวช เป็นหนึ่งสิ่งที่ผู้หญิงทุกคนไม่ควรมองข้าม เพราะถือเป็นการป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดโรคในอนาคต และยิ่งตรวจพบเร็ว การรักษาก็ทำได้ง่ายกว่า พักฟื้นสั้นกว่า และมีโอกาสหายขาดสูง ซึ่งปัจจุบันมีแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคทางนรีเวชหลากหลายวิธี ให้เลือกตรวจได้ตามความเหมาะสม

อยากเช็กให้ชัวร์ ว่าอาการแบบนี้ผิดปกติหรือเปล่า? ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคทางนรีเวช จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top