Default fallback image

ขั้นตอนการตรวจอาการปัสสาวะเล็ด มีกี่วิธี ขั้นตอนเป็นอย่างไร

เริ่มรู้สึกว่ากลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ไอ จาม หัวเราะ แล้วมีปัสสาวะเล็ดออกมา ไม่แน่ใจว่าเป็นอาการผิดปกติหรือไม่ จะตรวจหาสาเหตุได้อย่างไร ขั้นตอนกระบวนการซับซ้อนไหม ใช้เวลานานแค่ไหน มาหาคำตอบพร้อมกันในบทความนี้

อาการปัสสาวะเล็ดคืออะไร?

อาการปัสสาวะเล็ด (Urinary Incontinence) คือ ภาวะที่ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมการกลั้นปัสสาวะได้ จนทำให้เกิดปัญหาปัสสาวะเล็ดหรือปัสสาวะไหลระหว่างที่ยังไม่ต้องการขับถ่าย ส่วนมากมักจะเกิดขึ้นระหว่างทำกิจวัตรที่เกิดแรงดันในช่องท้อง เช่น ไอ จาม หัวเราะ การออกกำลังกาย

หากผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการที่กล่าวมาข้างต้น แพทย์จะมีกระบวนการวินิจฉัยโรคดังนี้

1. การซักประวัติ

การซักประวัติสุขภาพ รวมถึงการถามรายละเอียดเกี่ยวกับกิตวัตรการปัสสาวะที่เปลี่ยนไป จะช่วยตรวจวินิจฉัยอาการปัสสาวะเล็ดได้พอสมควร รวมถึงช่วยคัดแยกประเภทของอาการปัสสาวะเล็ดได้

ในผู้ป่วยบางรายอาจไม่จำเป็นต้องรับการตรวจรายอื่นเพิ่มเติมมากนัก หากสามารถตอบคำถามของแพทย์ได้อย่างชัดเจนและครบถ้วน

โดยผู้ป่วยจะต้องแจ้งประวัติสุขภาพ โรคประจำตัว ประวัติการรับประทานอาหาร การดื่มน้ำ การใช้วิตามินเสริม ยาประจำตัว และตอบคำถามแพทย์เกี่ยวกับอาการปัสสาวะเล็ด เช่น

  • เคยมีประวัติตั้งครรภ์มาก่อนหรือไม่ กี่ครั้ง หรือกำลังตั้งครรภ์อยู่หรือไม่
  • เริ่มมีอาการปัสสาวะเล็ดเมื่อไหร่ เป็นมานานแล้วหรือยัง 
  • มักจะปัสสาวะเล็ดในระหว่างทำกิจกรรมใด
  • ความถี่ที่รู้สึกปวดปัสสาวะอย่างกะทันหันจนกลั้นไม่ได้ ต้องรีบไปเข้าห้องน้ำ
  • แต่ละวันปัสสาวะเล็ดประมาณกี่ครั้ง มีความถี่มากแค่ไหน
  • ปริมาณปัสสาวะที่เล็ดออกมา 
  • ลักษณะปัสสาวะในระหว่างขับถ่าย เช่น เป็นลำพุ่งหรือเป็นหยดเล็กๆ 
  • ขณะปัสสาวะต้องออกแรงเบ่งนานหรือไม่
  • หลังปัสสาวะไปแล้ว ยังปวดปัสสาวะอยู่หรือไม่

2. การตรวจร่างกาย

การตรวจร่างกาย เป็นกระบวนการที่มักทำควบคู่ไปกับการซักประวัติสุขภาพ รวมถึงสามารถตรวจภายในห้องตรวจเดียวกันได้ รายการตรวจร่างกายที่แพทย์เลือกใช้จะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสุขภาพ รวมถึงเพศของผู้ป่วย โดยรายการตรวจที่นิยมใช้เพื่อตรวจอาการปัสสาวะเล็ด ได้แก่

    • การตรวจภายใน เพื่อตรวจประเมินความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ความหย่อนของผนังช่องคลอด หรืออาการผิดปกติอื่นๆ ที่สามารถเป็นต้นเหตุของอาการปัสสาวะเล็ดในผู้หญิงได้ โดยผู้ป่วยจะถอดกางเกงชั้นใน จากนั้นขึ้นนอนบนเตียงขาหยั่ง และแพทย์จะตรวจประเมินอวัยวะต่างๆ ตามขั้นตอน
  • การตรวจทางทวารหนัก เพื่อคลำดูขนาดและลักษณะของต่อมลูกหมาก เพื่อหาความเสี่ยงโรคต่อมลูกหมากโตในผู้ชาย อีกโรคที่เป็นหนึ่งในสาเหตุซึ่งพบได้บ่อยของอาการปัสสาวะเล็ด

3. การตรวจปัสสาวะ

เพื่อหาความเสี่ยงการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ หรืออาการปัสสาวะมีเลือดปน มีขั้นตอนการตรวจง่ายๆ เพียงผู้ป่วยปัสสาวะใส่ภาชนะที่ทางสถานพยาบาลจัดมาให้ จากนั้นนำส่งภาชนะคืนเพื่อให้เจ้าหน้าที่นำไปตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม

4. การตรวจปัสสาวะพลศาสตร์

การตรวจปัสสาวะพลศาสตร์ หรือ “การตรวจ Urodynamic” เป็นการตรวจดูประสิทธิภาพการทำงานของกระเพาะปัสสาวะซึ่งมีอยู่ 2 หน้าที่หลัก ได้แก่ การกักเก็บปัสสาวะ และการขับถ่ายปัสสาวะ 

การตรวจปัสสาวะพลศาสตร์มีชนิดของการตรวจหลายรูปแบบ ผู้ป่วยแต่ละรายก็อาจต้องตรวจมากกว่า 1 รูปแบบเพื่อให้สามารถวินิจฉัยอาการปัสสาวะเล็ดได้อย่างแม่นยำ โดยรายการตรวจหลักๆ ประกอบไปด้วย

  • การตรวจความแรงของปัสสาวะ (Uroflowmetry) 
  • การตรวจวัดความดันภายในกระเพาะปัสสาวะ (Pressure Flow Study)
  • การตรวจปริมาณปัสสาวะที่เหลือค้างหลังปัสสาวะเสร็จ (Post-Void Residual Volume: PVR)
  • การตรวจแรงดันในกระเพาะปัสสาวะในระหว่างกักเก็บน้ำปัสสาวะ (Cystometry) 
  • การตรวจวิดีโอปัสสาวะพลศาสตร์ (Video Urodynamic Tests) 

ถึงแม้จะมีการตรวจที่แบ่งได้หลายประเภท แต่การตรวจปัสสาวะพลศาสตร์แต่ละประเภทจะมีหลักการตรวจแบบเดียวกัน โดยมีขั้นตอนหลักๆ คือ

  • แพทย์ให้ผู้ป่วยบริหารร่างกายในท่าต่างๆ ระหว่างที่มีปัสสาวะเต็มกระเพาะ
  • แพทย์ให้ผู้ป่วยถ่ายปัสสาวะลงในภาชนะหรือโถส้วมเพื่อการตรวจโดยเฉพาะ เพื่อประเมินความเร็วในการถ่ายปัสสาวะ
  • แพทย์สอดสายสวนปัสสาวะเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ และสอดอีก 2 สายเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะและช่องคลอดหรือทวารหนัก เพื่อตรวจวัดและบันทึกความดันภายในกระเพาะปัสสาวะและช่องท้อง
  • แพทย์จะมีการซักถามความรู้สึกที่เกิดขึ้นของผู้ป่วยไปด้วย และจะมีการสั่งให้ทำอิริยาบถบางอย่างเพื่อกระตุ้นให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับอาการปัสสาวะเล็ด และช่วยให้วินิจฉัยได้ถูกจุดขึ้น เช่น ให้ผู้ป่วยไอ จาม ออกแรงเบ่ง วิ่งเหยาะๆ ลุกยืน ฟังเสียงน้ำไหล จากนั้นให้ผู้ป่วยแจ้งแพทย์เมื่อรู้สึกปวดปัสสาวะ
  • แพทย์ให้ผู้ป่วยถ่ายปัสสาวะอีกครั้ง โดยที่ยังคาสายสวนสำหรับวัดความดันในกระเพาะปัสสาวะเอาไว้ จากนั้นเมื่อถ่ายปัสสาวะเสร็จ แพทย์จะดึงสายสวนทั้งหมดออก เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการตรวจ

5. การส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะ

การส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะ (Cystoscopy) เป็นการตรวจดูเยื่อบุภายในกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ ผ่านการสอดลำกล้องซึ่งมีลักษณะเป็นท่อยาวขนาดเล็กชื่อว่า “ซิสโตสโคป (Cystoscope)” เข้าไปในท่อปัสสาวะ ลึกถึงกระเพาะปัสสาวะ โดยลำกล้องซิสโตสโคปยังแบ่งออกได้ 2 ชนิด ได้แก่

  • ลำกล้องแบบอ่อน (Flexible Cystoscope) มีข้อดีด้านการสร้างอาการเจ็บหรือระคายเคืองระหว่างตรวจได้น้อยกว่า นอกจากนี้ยังสามารถบิดโค้งไปตามแนวโค้งของท่อปัสสาวะได้ง่าย 
  • ลำกล้องแบบแข็ง (Rigid Cystoscope) มีข้อดีด้านการใช้งานเพื่อทำหัตถการต่างๆ ได้หลากหลายกว่า และด้วยลำกล้องที่มีความหนากว่า จึงช่วยอำนวยความสะดวกให้แพทย์สามารถสอดอุปกรณ์อื่นๆ เช่น อุปกรณ์ตัดเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อ อุปกรณ์ฉีดยาเข้าไปตามช่องด้านข้างของตัวกล้องได้ด้วย

ขั้นตอนการส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะ โดยหลักๆ มีขั้นตอนดังต่อไปนี้

  • แพทย์ให้ยาสลบหรือทายาชาเฉพาะที่บริเวณท่อปัสสาวะ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
  • แพทย์สอดลำกล้องซิสโคสโคปผ่านทางท่อปัสสาวะเข้าไป โดยที่ปลายลำกล้องจะมีกล้องกำลังขยายสูงกับไฟส่องซึ่งช่วยให้แพทย์มองเห็นเนื้อเยื่อภายในกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะได้อย่างชัดเจน
  • แพทย์ปล่อยน้ำเกลือหรือสารละลายปลอดเชื้อเข้าไปเพื่อให้กระเพาะปัสสาวะโป่งพอง และช่วยให้ภาพจากลำกล้องมีความคมชัดขึ้น
  • ระหว่างตรวจ ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดปัสสาวะอยู่ตลอด แต่จำเป็นต้องอดทนรอจนกว่าการตรวจจะเสร็จสิ้น ซึ่งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 5-15 นาที

6. การตรวจอัลตราซาวด์ระบบทางเดินปัสสาวะ

การตรวจอัลตราซาวด์ระบบทางเดินปัสสาวะ หรือที่เรียกสั้นๆ ได้อีกชื่อว่า การตรวจ KUB (Ultrasound of Kidney, Ureters and Bladder) เป็นการใช้เครื่องปล่อยคลื่นเสียงความถี่สูงตรวจอวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะซึ่งได้แก่ ไต ท่อไต และกระเพาะปัสสาวะ แล้วนำมาสร้างเป็นภาพขาวดำสำหรับตรวจวินิจฉัยความผิดปกติต่างๆ 

กระบวนการตรวจอัลตราซาวด์ยังเป็นกระบวนการตรวจวินิจฉัยที่ไม่เจ็บ ไม่มีการปนเปื้อนรังสี และยังใช้เวลาตรวจไม่นาน โดยมีขั้นตอนหลักๆ ดังต่อไปนี้

  • ผู้ป่วยต้องดื่มน้ำให้เพียงพอ และรอจนกว่าจะรู้สึกปวดปัสสาวะจนสุดกลั้น นั่นหมายถึงมีปัสสาวะเต็มกระเพาะปัสสาวะแล้ว ซึ่งจะช่วยให้แพทย์เห็นภาพไตและกระเพาะปัสสาวะได้ชัดเจนขึ้น
  • ผู้ป่วยนอนหงายลงกับเตียง แพทย์จะทาเจลเย็นซึ่งเป็นตัวสื่อนำคลื่นอัลตราซาวด์ลงบริเวณหน้าท้องหรืออุ้งเชิงกราน
  • แพทย์ใช้หัวปล่อยพลังงานอัลตราซาวด์กดลูบบริเวณที่ต้องการตรวจดูภาพอวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะ ในระหว่างแพทย์อาจให้ผู้ป่วยกลั้นหายใจหรือเปลี่ยนท่าอิริยาบถบ้าง จากนั้นภาพของอวัยวะจะปรากฎขึ้นบนจอของเครื่องอัลตราซาวด์
  • แพทย์อาจให้ผู้ป่วยไปปัสสาวะให้หมดและกลับมาตรวจอัลตราซาวด์ซ้ำ เพื่อตรวจหาปัสสาวะที่อาจยังค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะด้วย

อาการปัสสาวะเล็ด เป็นอาการที่ไม่ได้ส่งผลทำให้เกิดอันตรายรุนแรง แต่เป็นอาการที่มักทำให้ผู้ป่วยรู้สึกรำคาญ ไม่สบายตัว และใช้ชีวิตประจำวันลำบากขึ้น

หากเมื่อไรก็ตามที่สังเกตได้ถึงปัสสาวะที่เล็ดออกมาระหว่างทำกิจกรรมต่างๆ แนะนำให้มาตรวจวินิจฉัยกับแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม

อยากเช็กปัญหาการปัสสาวะ ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคปัสสาวะเล็ด จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top