โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า (Trigeminal Neuralgia) เป็นโรคที่พบไม่บ่อยนัก แม้ไม่ได้มีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต แต่รบกวนการใช้ชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก แม้กระทั่งการเคี้ยวอาหาร แปรงฟัน ล้างหน้า ก็อาจกระตุ้นให้เจ็บปวดที่รุนแรง
แต่หลายคนที่เริ่มมีอาการเจ็บ ปวดบริเวณใบหน้า อาจจะไม่ทราบว่าตัวเองกำลังป่วยเป็นโรคปวดเส้นประสาทใบหน้าหรือไม่ หรืออาจสับสนกับโรคอื่นๆ บทความนี้จะช่วยให้คุณแยกอาการ และความต่างของโรคได้ในเบื้องต้น และพบแพทย์ได้ทันท่วงที
สารบัญ
เมื่อไหร่ที่ต้องพบแพทย์เพื่อตรวจโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า?
แม้ว่าอาการบางประการของโรคปวดประสาทใบหน้าจะมีความใกล้เคียงกับโรคอื่นๆ แต่ถ้ามีอาการเหล่านี้ ควรพบแพทย์ด้านระบบประสาท เพื่อตรวจโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า
- มีอาการเจ็บ ปวด ที่ใบหน้า ลักษณะคล้ายไฟช็อต หรือถูกเข็มแทง
- อาการเจ็บปวดเกิดบ่อยขึ้นกว่าเดิม หรือการเจ็บปวดแต่ละครั้งกินเวลายาวนานเป็นชั่วโมง
- เจ็บปวดใบหน้าแม้จะถูกกระตุ้นเพียงเล็กน้อย เช่น ลมเย็นพัดผ่าน ล้างหน้า เช็ดหน้า
- อาการเจ็บปวดนั้นรบกวนการนอน
- ความเจ็บปวดรุนแรงจนแม้ในช่วงที่ไม่เจ็บก็รู้สึกกังวลว่าความเจ็บปวดจะกลับมาอีก
- รู้สึกปวดฟัน แต่เมื่อพบทันตแพทย์แล้วกลับหาสาเหตุไม่พบ
อย่างไรก็ตาม โรคปวดเส้นประสาทใบหน้าอาจใช้เวลาหลายปีกว่าจะตรวจยืนยันโรคได้ ทำให้คนส่วนใหญ่อาจสับสนว่าป่วยเป็นโรคอื่นๆ ที่มีบางอาการใกล้เคียงกัน ดังนี้
โรคปวดเส้นประสาทใบหน้าถูกเข้าใจผิดว่าเป็นโรคอะไรได้บ้าง?
1. โรคเกี่ยวกับฟัน
ความเจ็บปวดที่เกิดจากเส้นประสาทใบหน้ามีปัญหา อาจรู้สึกเหมือนเวลาปวดฟัน ฟันผุ มีภาวะติดเชื้อในช่องปาก
ข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือ อาการปวดฟันหรือปวดใบหน้า มักเกิดขึ้นขณะรับประทานอาหาร ดื่มน้ำ และหายไปหลังรับประทานอาหารเสร็จ ในขณะที่อาการปวดจากโรคปวดเส้นประสาทใบหน้านั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทุกช่วงเวลา ไม่จำเป็นต้องขณะรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำเท่านั้น
2. ความผิดปกติเกี่ยวกับกรามหรือขากรรไกรค้าง
อาการกรามค้าง หรือ ขากรรไกรค้าง ทำให้เกิดความเจ็บปวดบริเวณกราม คล้ายกับโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า
อาการกรามค้างเกิดได้กับทุกคน มาจากหลายสาเหตุ เช่น ข้อต่อกระดูกขากรรไกรเสื่อม ข้อต่อขากรรไกรเคลื่อน นอนกัดฟันต่อเนื่องเป็นเวลานานจนกล้ามเนื้อรอบขากรรไกรอักเสบ อ้าปากกว้างเกินไปเป็นเวลานาน หรือมาจากกล้ามเนื้อกรามเกร็งจากความเครียดก็ได้
อย่างไรก็ตาม โรคปวดเส้นประสาทใบหน้าไม่ทำให้อ้าปากไม่ได้หรือหุบปากไม่ลง และกรามค้างมักเป็นเพียงชั่วคราว เมื่อขากรรไกรเข้าล็อกตามปกติความเจ็บปวดก็จะหายไปได้
3. โรคปวดเส้นประสาทใบหน้าอาจถูกเข้าใจผิดว่าเป็นโรคไมเกรน
อาการปวดศีรษะไมเกรนอาจสร้างความเจ็บปวดอย่างต่อเนื่อง เป็นๆ หายๆ คล้ายกับโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า ความต่างสำคัญอย่างหนึ่งคือ ไมเกรนไม่ทำให้ผู้ป่วยเจ็บปวดจากการยิ้มหรือเคี้ยวอาหาร และมักมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย
โดยไมเกรน อาการปวดมักมีลักษณะเป็นจังหวะ ตุบๆ และอาจทวีความรุนแรงขึ้นได้หากมีการเคลื่อนไหว เช่น เดิน หรือขึ้นบันได ในบางกรณีอาจรู้สึกปวดทั่วทั้งศีรษะ หรือสลับข้างกันไปมา
ปวดหัวไมเกรน คืออะไร สาเหตุ อาการ วิธีแก้ รักษา ป้องกัน คลิกอ่านต่อ
4. โรคปวดเส้นประสาทใบหน้าอาจถูกเข้าใจผิดว่าเป็นโรคไซนัสอักเสบ
ไซนัสอักเสบก่อให้เกิดอาการปวดหรือรู้สึกหนักๆ ที่ศีรษะ ปวดขมับ ปวดแก้ม ปวดท้ายทอย คล้ายกับอาการของโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า
แต่ไซนัสอักเสบจะมีอาการเพิ่มเติมที่บ่งชี้ได้คือ คัดจมูก มีน้ำมูกข้นเขียวหรือเหลือง หายใจมีกลิ่นเหม็น ไอบ่อย ถ้าเป็นรุนแรงอาจมีไข้สูงและตาบวมอักเสบร่วมด้วย ซึ่งโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า จะไม่พบอาการเหล่านี้
โดยส่วนใหญ่อาการไซนัสอักเสบจะดีขึ้นเมื่อได้รับยาแก้อักเสบ ส่วนโรคปวดเส้นประสาทใบหน้าสร้างความเจ็บปวดอย่างเรื้อรัง
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้เป็นโรคปวดเส้นประสาทใบหน้าอยู่แล้ว ถ้ามีภาวะไซนัสอักเสบเกิดขึ้นก็อาจยิ่งกระตุ้นความเจ็บปวดของโรคปวดเส้นประสาทใบหน้าได้
5. โรคปวดเส้นประสาทใบหน้าอาจถูกเข้าใจผิดว่าเป็นโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis: MS) เป็นอีกโรคที่ก่อให้เกิดอาการใกล้เคียงโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า และทั้งสองโรคยังเกี่ยวกับระบบประสาทเช่นเดียวกัน
อาการโรค MS จะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับระบบประสาทที่เกิดการอักเสบทำลาย โดยอาการที่พบได้บ่อยในโรค MS แต่ไม่พบในโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า คือ อาการมองเห็นผิดปกติ เช่น ตามัว เห็นภาพไม่ชัด เห็นภาพซ้อน โดยอาจเป็นร่วมกับอาการปวดบริเวณหลังกระบอกตาเวลากลอกตา
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรค MS บางรายอาจไม่มีอาการอะไรเลยก็ได้ หรือบางรายอาจมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งโดยอาการดังกล่าวนั้นกำเริบขึ้นสลับกับทุเลา อาการหนึ่งที่พบได้คือ รู้สึกแสบร้อน เจ็บแปลบๆ เหมือนถูกไฟฟ้าช็อต หรือเหมือนถูกเข็มทิ่ม ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นโรคปวดเส้นประสาทใบหน้าได้
ถ้ามีอาการผิดปกติกับร่างกายเกิดขึ้น สามารถพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาได้เลย ไม่จำเป็นต้องรอให้เป็นมากก่อนค่อยเริ่มรักษา
สำหรับโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า ถ้าอาการยังอยู่ในระยะเริ่มแรก แพทย์อาจจ่ายยาบรรเทาความเจ็บปวดให้ หรือแนะนำแนวทางปฏิบัติเพื่อให้อยู่กับโรคได้โดยยังมีคุณภาพชีวิตที่ดี ถ้าอาการหนักขึ้นจนไม่สามารถบรรเทาอาการด้วยยาอีกต่อไป ก็ยังมีวิธีรักษาวิธีอื่น เช่น การทำลายเส้นประสาท การผ่าตัดสมองเพื่อแก้ไขปัญหาเส้นเลือดเสียดสีกับเส้นประสาท
รู้สึกเจ็บ ปวดบริเวณกราม แต่หาสาเหตุไม่พบ อยู่ดีๆ ก็รู้สึกเจ็บแปลบที่ใบหน้า แค่โดนลมเย็นๆ ก็เจ็บ อยากเช็กว่าเป็นโรคปวดเส้นประสาทใบหน้าหรือเปล่า? ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย