Default fallback image

อัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง ตรวจอะไรบ้าง ราคา

อัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง คือหนึ่งในวิธีการตรวจอวัยะสืบพันธุ์ของผู้หญิงที่มีประสิทธิภาพ ช่วยแพทย์ให้ค้นหา และจำแนกโรคทางนรีเวชได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น แต่หลายคนอาจกังวลว่า จะเจ็บปวด มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก หรือมีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้ไม่กล้าตรวจ 

บทความนี้จะมาเจาะลึกทุกแง่มุมเกี่ยวกับการอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่างให้ทราบกัน

อัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง คืออะไร?

การอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง (Ultrasound Lower Abdomen) เป็นหนึ่งในวิธีตรวจโรคทางนรีเวช หลักการคือการปล่อยคลื่นเสียงจากหัวตรวจให้ทะลุผ่านผิวหนัง แล้วให้คลื่นเสียงสะท้อนกับอวัยวะภายใน เช่น มดลูก รังไข่ ท่อนำไข่ กระเพาะปัสสาวะ กลับมายังหัวตรวจ และเครื่องอัลตราวซาวด์จะแปลงสัญญาณคลื่นเสียงออกมาเป็นภาพขึ้นจอมอนิเตอร์แบบเรียลไทม์

แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง เมื่อผู้ป่วยประจำเดือนมาไม่ปกติ มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ มีอาการเจ็บปวดระหว่างมีเพศสัมพันธ์ เจ็บขณะปัสสาวะ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปวดบริเวณอุ้งเชิงกรานหรือท้องน้อย คลำพบก้อนบริเวณอุ้งเชิงกรานหรือท้องน้อย เป็นต้น

นอกจากใช้ตรวจโรคแล้ว การอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่างยังสามารถใช้ตรวจติดตามการตั้งครรภ์ ดูการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ได้ด้วย

อัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง ตรวจอะไรได้บ้าง?

การอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่างช่วยให้แพทย์สามารถตรวจสอบขนาด รูปร่าง และตำแหน่งของมดลูก รังไข่ ปากมดลูก กระเพาะปัสสาวะ ของผู้รับการตรวจได้ นอกจากนี้ยังสามารถดูความหนาของเนื้อเยื่อส่วนต่างๆ รวมถึงของเหลวและการไหลของเลือดหรือของเหลวอื่นใดในอุ้งเชิงกราน

ความผิดปกติที่สามารถพบได้จากการอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง ได้แก่

  • ถุงน้ำในรังไข่
  • ก้อนเนื้อในมดลูก
  • ฝีที่รังไข่ ท่อนำไข่ หรือมดลูก
  • ภาวะต่อมน้ำเหลืองโต
  • ภาวะรังไข่บิดขั้ว
  • สัญญาณมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งมดลูก มะเร็งรังไข่ มะเร็งช่องคลอด หรือมะเร็งที่อวัยวะอื่นๆ ในอุ้งเชิงกราน

แม้การอัลตราซาวด์จะให้ผลดีสำหรับการวัดขนาด ดูรูปร่าง ตำแหน่ง และความหนาแน่นของเนื้อเยื่ออวัยวะหรือก้อนผิดปกติใดๆ ในอุ้งเชิงกรานอย่างที่กล่าวไปแล้ว

แต่การตรวจนี้ยังมีข้อจำกัดคือไม่สามารถใช้วินิจฉัยมะเร็งหรือโรคติดเชื้อบางอย่างได้ กรณีนี้แพทย์อาจสั่งตัดชิ้นเนื้อแล้วนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการเพิ่ม

การอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่างยังมักถูกใช้เพื่อติดตามการตั้งครรภ์ ดูตำแหน่งที่ตัวอ่อนฝังตัวในมดลูก วัดขนาดตัวทารกในช่วงเดือนต่างๆ

กรณีที่มีบุตรยาก การอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่างเพื่อดูความผิดปกติที่อาจซ่อนอยู่ในอวัยวะสืบพันธุ์ก็เป็นหนึ่งในวิธีหาต้นเหตุของปัญหา

ตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง เริ่มตรวจได้ตั้งแต่อายุเท่าไหร่?

โดยทั่วไปการอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่างมักตรวจกันในกลุ่มผู้หญิงอายุ 30 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ หรือสงสัยว่าอาจมีความผิดปกติในระบบสืบพันธุ์ เช่น ปวดท้องประจำเดือนมาก มีประจำเดือนผิดปกติ มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด เป็นต้น

ขั้นตอนการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง

  1. เจ้าหน้าที่จะให้ผู้รับการตรวจเปลี่ยนเครื่องแต่งกายเป็นชุดที่สามารถเปิดบริเวณผิวหน้าท้องส่วนล่างได้ง่าย
  2. แพทย์จะให้ผู้รับการตรวจนอนหงายบนเตียงตรวจ แล้วทาเจลเย็นลงบนผิวหนังหน้าท้องส่วนล่างเพื่อช่วยให้หัวตรวจเคลื่อนที่ได้สะดวก รวมถึงคลื่นอัลตราซาวด์ส่งผ่านผิวหนังได้ดี 
  3. จากนั้นจึงเคลื่อนหัวตรวจบริเวณผิวหนัง ภาพอวัยวะด้านล่างจะถูกแสดงขึ้นทางจอภาพแบบเรียลไทม์ แพทย์และผู้รับการตรวจจะเห็นภาพพร้อมกัน

การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่างใช้ระยะเวลาประมาณ 10-20 นาที

เตรียมตัวตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่างอย่างไร?

ตามปกติแล้วไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวเป็นพิเศษ สำหรับการอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง ไม่ต้องงดน้ำหรืออาหาร ไม่ต้องโกนขน

อย่างไรก็ตาม อาจแนะนำให้ผู้รับการตรวจดื่มน้ำเปล่าประมาณ 500 มล. ก่อนตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่างประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วให้กลั้นปัสสาวะไว้จนกว่าจะตรวจเสร็จ เพื่อให้กระเพาะปัสสาวะขยายตัว เวลาอัลตราซาวด์จะได้เห็นภาพอวัยวะภายในอย่างชัดเจน

ตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง ราคาเท่าไหร่?

ค่าใช้จ่ายในการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่างนั้น เริ่มต้นที่ประมาณ 900 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับค่าบริการทางการแพทย์และโรงพยาบาล

ตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง ใช้สิทธิประกันสังคมได้ไหม?

ถ้าพบข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ให้อัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง ผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 จะสามารถใช้สิทธิประกันสังคมเพื่อตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่างได้ ณ สถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิการรักษา หรือ ณ สถานพยาบาลเครือข่าย โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นการตรวจรักษาภาวะมีบุตรยาก จะไม่สามารถใช้สิทธิประกันสังคมได้

ส่วนผู้ที่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 หรือบุคคลทั่วไปที่ไม่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือ 39 ที่จ่ายเงินสมทบประกันสังคมด้วยตนเอง การรักษาพยาบาลหรือตรวจสุขภาพจะไปใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือที่เรียกกันว่า บัตรทอง 30 บาท 

การใช้สิทธิประกันสังคมหรือ สปสช. ทำได้โดยเข้าไปยังสถานพยาบาลที่ตนเองมีสิทธิ์อยู่ แล้วเตรียมบัตรประชาชนแก่เจ้าหน้าที่เพื่อแสดงสิทธิ์นั้นๆ

การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่างช่วยให้ได้ภาพอวัยวะภายในอุ้งเชิงกราน มีประโยชน์ในการตรวจวินิจฉัยหลายโรค ใช้ติดตามผลการรักษา และยังเป็นหนึ่งในวิธีติดตามการตั้งครรภ์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย อย่างไรก็ตาม แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าผู้ป่วยแต่ละคนควรรับการตรวจด้วยวิธีใด

อยากเช็กให้ชัวร์ว่าการอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่างเหมาะกับอาการของเราไหม? จะมีผลข้างเคียงอะไรหรือไม่? มีวิธีตรวจอื่นใดใช้แทนกันได้หรือเปล่า? ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคทางนรีเวช จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top