Default fallback image

วิธีรักษาโรคหลอดเลือดสมอง มีกี่วิธี ผลข้างเคียง

โรคหลอดเลือดสมอง เป็นโรคที่ต้องรักษาอย่างรวดเร็ว ยิ่งรักษาช้า โอกาสที่สมองจะขาดเลือดจนเสียหายยิ่งมีมากขึ้น

การรักษาโรคหลอดเลือดสมองมีหลายวิธี แพทย์จะพิจารณาเลือกวิธีรักษาจากชนิดโรคหลอดเลือดสมองว่าเป็นชนิดตีบหรือแตก ความรุนแรงของโรค ตำแหน่งเนื้อสมองที่ได้ได้รับผลกระทบจากโรค ร่วมกับภาวะสุขภาพของผู้ป่วย แล้วต้องรีบรักษาอย่างเร่งด่วน เพื่อมุ่งควบคุมความเสียหายต่อเนื้อสมองให้มีน้อยที่สุด

ประสิทธิภาพการรักษาโรคหลอดเลือดสมองขึ้นอยู่กับว่าการตีบหรือแตกนั้นเกิดบริเวณใด ความรุนแรงมาก-น้อยขนาดไหน ที่สำคัญที่สุดคือระยะเวลาการส่งผู้ป่วยถึงมือแพทย์

วิธีรักษาโรคหลอดเลือดสมองชนิดตีบหรืออุดตัน

โรคหลอดเลือดสมองชนิดตีบหรืออุดตัน (Ischemic Stroke) เป็นชนิดโรคหลอดเลือดสมองที่พบบ่อย คือประมาณ 90% ของโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด 

หลอดเลือดที่ตีบหรืออุดตันอาจเกิดนอกบริเวณสมอง แล้วส่งผลให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงเนื้อสมองได้ตามปกติ การรักษาโรคหลอดเลือดสมองชนิดนี้มุ่งเน้นที่การแก้ไขจุดอุดตันเหล่านั้น ให้เลือดไหลเวียนได้ตามเดิม

แนวทางการรักษาโรคหลอดเลือดสมองชนิดตีบหรืออุดตัน ได้แก่

การรักษาโรคหลอดเลือดสมองชนิดตีบหรืออุดตัน ด้วยวิธีใช้ยา

วิธีนี้เป็นแนวทางหลักในการรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน จะใช้ยาที่เรียกว่า tPA ออกฤทธิ์ละลายลิ่มเลือด ให้ยาทางสายน้ำเกลือ ส่งเข้าสู่ร่างกายทางหลอดเลือดดำ

การรักษาจะมีประสิทธิภาพสูงที่สุดเมื่อผู้ป่วยได้รับยาภายใน 3 ชั่วโมงหลังจากแสดงอาการโรคหลอดเลือดสมอง แต่แม้ว่าไม่สามารถส่งผู้ป่วยถึงสถานพยาบาลภายในระยะเวลาดังกล่าวนี้ ก็ยังควรพบแพทย์อย่างให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

กรณีที่แพทย์ไม่สามารถให้ยา tPA แก่ผู้ป่วย อาจจ่ายยาที่มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวเลือด เช่น ยาแอสไพริน ยาโคลพิโดเกรล ให้แทน

ผลข้างเคียงของการใช้ยาเหล่านี้ คือ ทำให้ผู้ป่วยมีเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร เลือดออกตามไรฟัน หรือผู้ป่วยบางรายอาจเกิดอาการแพ้ยา และประมาณ 7% มีโอกาสเกิดเลือดออกในสมองได้ ฉะนั้นต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

การรักษาโรคหลอดเลือดสมองชนิดตีบหรืออุดตัน ด้วยวิธีทำหัตถการ

นอกจากการใช้ยา ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองชนิดตีบหรืออุดตันอาจได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดแก้ไขหลอดเลือดแดง จุดที่มีการอุดตัน เพื่อฟื้นฟูการไหลเวียนเลือดให้กลับมาดีดังเดิม เมื่อรักษาแล้วหลอดเลือดจะสามารถนำพาเลือดและสารอาหารไปเลี้ยงสมองตามปกติ

เทคนิคที่ใช้โดยทั่วไป ได้แก่ ทำบอลลูนเพื่อขยายหลอดเลือด แล้วใส่ตาข่ายลวดดักจับลิ่มเลือดในหลอดเลือดแดงแล้วลากออกจากหลอดเลือด วิธีนี้ใช้การสอดสายสวนและเครื่องมือต่างๆ เข้าทางหลอดเลือดบริเวณขาหนีบ ไม่ต้องผ่าตัดใหญ่

ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้จากการรักษาโรคหลอดเลือดสมองชนิดตีบด้วยการใส่สายสวนเข้าไปลากลิ่มเลือดที่อุดตันออกมา ได้แก่ หลอดเลือดฉีกขาด หรือมีเลือดออกจากสมอง แต่โอกาสเกิดค่อนข้างน้อย อยู่ที่ประมาณ 5%

อีกหัตถการที่แพทย์อาจใช้รักษาโรคหลอดเลือดสมองชนิดตีบหรืออุดตัน คือ การผ่าตัดเข้าไปยังหลอดเลือดแดงคาโรติด (ลิงก์บทความ) บริเวณคอผู้ป่วย แล้วนำคราบไขมันที่เกาะติดออกจากหลอดเลือด

วิธีรักษาโรคหลอดเลือดสมองชนิดแตก

โรคหลอดเลือดสมองชนิดแตก (Hemorrhagic Stroke) พบประมาณ 10% ของโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด โรคนี้มักเกิดอย่างกะทันหันและก่อให้เกิดอันตรายอย่างรุนแรงเฉียบพลัน

การรักษาโรคหลอดเลือดสมองชนิดแตก ด้วยการใช้ยา

ยาสำหรับรักษาโรคหลอดเลือดสมองชนิดแตก แตกต่างจากรักษาโรคหลอดเลือดสมองชนิดตีบตัน โดยที่ใช้รักษาโรคหลอดเลือดสมองชนิดแตกมักเป็นยาออกฤทธิ์ลดความดันโลหิต เพื่อลดความดันในกะโหลกศีรษะ บางกรณีแพทย์อาจให้วิตามินเค เพื่อให้เลือดแข็งตัวได้เร็วขึ้น เลือดหยุดไหลเร็วขึ้น

การรักษาโรคหลอดเลือดสมองชนิดแตก ด้วยการทำหัตถการ

การทำหัตถการเพื่อรักษาโรคหลอดเลือดสมองชนิดแตก มีหลายเทคนิค ได้แก่

  • การผ่าตัดหนีบหลอดเลือดสมอง (Aneurysm Clipping) เป็นการผ่าตัดหยุดเลือดออกในสมองโดยใช้อุปกรณ์ขนาดเล็กหนีบปิดรอยแตกของหลอดเลือด วิธีนี้ช่วยป้องกันไม่ให้มีเลือดออกในสมองซ้ำอีกได้ด้วย
  • การอุดหลอดเลือดสมองด้วยขดลวด (Coil Embolization) วิธีนี้ไม่ต้องผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ แต่จะใช้สายสวนสอดเข้าไปทางหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบผู้ป่วย แล้วใส่ลวดชนิดพิเศษซึ่งมีขนาดเล็กมากและยืดหยุ่น ดันเข้าไปจนถึงตำแหน่งที่มีการแตกของหลอดเลือดสมอง จากนั้นลวดจะถูกทำให้มีลักษณะเป็นขด ทำหน้าที่เหนี่ยวนำให้เกิดลิ่มเลือด ณ ตำแหน่งที่แพทย์วางแผนไว้ เมื่อเลือดแข็งตัว ทางไหลเวียนของเลือด ณ ตำแหน่งนั้นจะถูกปิดในที่สุด
  • ผ่าตัดระบายของเหลวออกจากส่วนเกินออกจากเนื้อสมอง (Draining Excess Fluid) การผ่าตัดนี้จะทำในกรณีที่หลอดเลือดสมองแตกนำไปสู่อาการสมองบวม จนกระทั่งเนื้อสมองไปเบียดกะโหลกศีรษะ การระบายของเหลวออกจะช่วยลดความดันภายในกะโหลกศีรษะลง และลดความเสียหายที่จะกิดต่อเนื้อสมอง
  • ผ่าตัดนำชิ้นส่วนของกระโหลกศีรษะออกชั่วคราว วิธีนี้ทำเพื่อเปิดทางให้สมองได้ขยายตัวเพิ่มขึ้น มักทำในกรณีที่ผู้ป่วยสมองบวมมาก

แม้ว่าวิธีรักษาโรคหลอดเลือดสมองจะมีหลากหลายวิธีดังที่กล่าวไปแล้ว แต่อาจไม่ได้เป็นวิธีที่ผู้ป่วยสามารถใช้เวลาทำความเข้าใจ เปรียบเทียบ และตัดสินใจร่วมกับแพทย์ได้ว่าต้องการรักษาด้วยวิธีใด เนื่องจากการรักษาจำเป็นต้องทำให้ทันท่วงทีแข่งกับเวลา และผู้ป่วยอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการหมดสติ ดังนั้นวิธีการรักษาอาจถูกเลือกโดยแพทย์เป็นหลัก โดยแพทย์จะพิจารณาจากผลการตรวจสมองของผู้ป่วย

การฟื้นฟูร่างกายและจิตใจสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

ไม่เฉพาะแต่การรักษาฉุกเฉิน รับการรักษาด้วยยา หรือผ่าตัดอย่างทันท่วงทีก่อนเนื้อสมองเสียหาย การฟื้นฟูร่างกายและจิตใจหลังรักษาโรคก็เป็นอีกส่วนที่สำคัญของการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง

การฟื้นฟูที่ว่านี้อาจต้องใช้เวลายาวนาน การปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญอย่างเคร่งครัดและสม่ำเสมอ เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีดังเดิม หรือใกล้เคียงเดิมมากที่สุด

ตัวอย่างการฟื้นฟูร่างกายสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่

  • ฝึกการสื่อสาร เป็นการฟื้นฟูความสามารถในการพูด ฝึกควบคุมกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการออกเสียง หายใจ
  • กายภาพบำบัด เป็นการฟื้นฟูความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ฝึกการทรงตัว และฝึกการใช้แขนและขา
  • ฟื้นฟูการประกอบกิจวัตรประจำวัน เป็นการฝึกให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัย โดยอาจต้องเปลี่ยนวิธีการ หรือมีอุปกรณ์ช่วย เช่น ทำกิจกรรมต่างๆ ช้าลง เปลี่ยนจากท่ายืนเป็นท่านั่ง ใช้อุปกรณ์ช่วยทรงตัว เป็นต้น
  • ฟื้นฟูความสามารถด้านการคิด รวมถึงความสามารถด้านการจดจำและการมีสมาธิจดจ่อ
  • บำบัดสุขภาพจิตใจ ไม่ใช่เพียงแต่สุขภาพกาย การเป็นโรคหลอดเลือดสมองยังส่งผลต่อสุขภาพจิต ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการซึมเศร้าหรือวิตกกังวลหลังเป็นโรคหลอดเลือดสมอง การขอความช่วยเหลือจากผู้ชำนาญเฉพาะทาง และเข้ารับการบำบัดตามนัด จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย

โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่เกิดอย่างเฉียบพลัน สามารถก่ออันตรายร้ายแรงถึงชีวิตหรือทำให้เป็นอัมพฤกษ์-อัมพาด ปัจจัยสำคัญที่สุดต่อประสิทธิภาพการรักษาคือ เวลา ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง หรือมีอาการน่าสงสัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ควรได้รับการนำส่งสถานพยาบาลอย่างรวดเร็วที่สุด ไม่ควรเกิน 3 ชั่วโมงหลังจากมีอาการ หรืออย่างช้าที่สุดคือไม่เกิน 4.5 ชั่วโมง

เมื่อถึงสถานพยาบาลแล้ว แพทย์จะเป็นผู้ตรวจวินิจฉัยและเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละคนโดยเฉพาะ โดยพิจารณาจากชนิดโรคหลอดเลือดสมองที่เป็น ตำแหน่งของสมองที่ขาดเลือด ความรุนแรงของโรค รวมถึงภาวะสุขภาพของผู้ป่วย

ไม่อยากเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ตรวจคัดกรองได้ไหม? ป้องกันยังไงดี? ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรค จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top