stroke behavior disease faq scaled

ปรับพฤติกรรม ป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เป็นโรคที่มักแสดงอาการอย่างเฉียบพลัน ถ้ามีอาการแล้วรับการรักษาไม่ทันภายใน 4 ชั่วโมง 30 นาทีสามารถก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต หรือทำให้ผู้ป่วยเป็นอัมพฤกษ์-อัมพาตได้

ก่อนโรคนี้จะแสดงอาการ ร่างกายของผู้ป่วยมักสะสมปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองอยู่ก่อนแล้วเป็นเวลานาน โดยปัจจัยที่มีผลต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมองดังกล่าว มีทั้งปัจจัยที่ควบคุมได้และปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้

ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ได้แก่ กรรมพันธุ์ เพศ อายุที่มากขึ้น และเชื้อชาติ ส่วนปัจจัยที่ควบคุมได้ที่ใหญ่ที่สุด คือ ความดันโลหิต ปัจจัยที่ควบคุมได้อื่นๆ ได้แก่ ระดับน้ำตาลและคอเลสเตอรอลในเลือด การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การควบคุมน้ำหนักตัว การออกกำลังกาย การพักผ่อน การรับประทานอาหาร

การป้องกันโรคหลอดเลือดสมองที่ดีที่สุด คือการหมั่นดูแลปัจจัยที่มีผลต่อการเป็นโรคนี้ ในส่วนที่ควบคุมได้นั่นเอง

ป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง ด้วยการเลือกรับประทานอาหาร

หลักการเลือกรับประทานอาหารเพื่อลดความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่

  • หลีกเลี่ยงอาหารโซเดียมสูง เช่น อาหารที่มีรสเค็ม อาหารหมักดอง เนื้อแปรรูป เพื่อไม่ให้ความดันโลหิตสูง ถ้าตรวจพบความดันโลหิตสูงขึ้นแล้ว อาจต้องลดการรับประทานอาหารกลุ่มนี้ลง
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เลี่ยงไขมันทรานส์ เพื่อป้องกันการสะสมไขมันในหลอดเลือด
  • รับประทานอาหารที่ประกอบด้วยไขมันดี เช่น ปลา น้ำมันมะกอก อะโวคาโด เพื่อให้ระดับคอเลสเตอรอลอยู่ในเกณฑ์ดี ลดความเสี่ยงการเกิดไขมันอุดตันเส้นเลือด
  • ถ้าพบว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินเกณฑ์ ควรลดการบริโภคน้ำตาลและแป้ง โดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคเบาหวานอยู่แล้ว

อาหารที่ควรรับประทานเพื่อให้มีสุขภาพดี ได้แก่ ผักผลไม้สด ถั่ว ธัญพืชไม่ขัดสี ปลา สัตว์ปีก

ป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง ด้วยการออกกำลังกาย

การออกกำลังกายช่วยลดความดันโลหิต ลดระดับน้ำตาลในเลือด และช่วยควบคุมน้ำหนักตัว ผู้ที่ออกกำลังกายมีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองน้อยว่าผู้ที่ไม่ได้ออกกำลังกาย และแม้ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ผู้เป็นโรคนี้ที่ปกติออกกำลังกาย ก็มักมีโอกาสเสียชีวิตน้อยกว่าคนเป็นโรคนี้ที่ไม่ได้ออกกำลังกาย

สำหรับผู้ใหญ่ ใน 1 สัปดาห์ควรออกกำลังกายแบบแอโรบิก (ออกกำลังที่ร่างกายมีการใช้พลังงานโดยอาศัยออกซิเจนเป็นหลัก ส่วนใหญ่เป็นการออกแรงไม่มากแต่มีความต่อเนื่อง เช่น วิ่ง เต้น ปั่นจักรยาน) ระดับปานกลาง (Moderate-Intensity) ให้ได้อย่างน้อย 2 ชั่วโมง 30 นาที 

หรือออกกำลังกายอย่างน้อย 4-5 วันต่อสัปดาห์ วันละ 30 นาที โดยควรออกแรงจนรู้สึกว่าหายใจลำบากแต่ยังสามารถพูดได้ ส่วนเด็กและวัยรุ่นควรออกกำลังกายหรือประกอบกิจกรรมทางกายอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง

ป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง ด้วยการห่างไกลจากบุหรี่

คนที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงเป็นเส้นเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (Ischemic Stroke) สูงกว่าคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่มากถึง 2-4 เท่า

การสูบบุหรี่ทำให้เยื่อบุด้านในของหลอดเลือดแดงเกิดความระคายเคือง ทำให้เลือดข้นหนืดขึ้น จึงมีโอกาสที่หลอดเลือดจะตีบตันได้มากขึ้น

การเลิกบุหรี่ช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้ทันที ทีละน้อย โดยเมื่อเลิกบุหรี่ไปได้ประมาณ 2-4 ปี ความเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดสมองที่มีปัจจัยมาจากบุหรี่จะลดลงจนแทบเหลือศูนย์

ป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง ด้วยการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่พอดี

การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยหนึ่งที่เพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมอง เนื่องจากเครื่องดื่มประเภทนี้สามารถเพิ่มความดันโลหิตให้สูงขึ้นได้

สำหรับผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์อยู่แล้ว ควรจำกัดปริมาณ ดังนี้

  • ผู้ชาย ไม่เกินวันละ 2 แก้ว
  • ผู้หญิง ไม่เกินวันละ 1 แก้ว

แต่ทางที่ดีที่สุดคือการงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็จะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงลงได้มาก

ป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง ด้วยการติดตามภาวะสุขภาพอยู่เสมอ

เนื่องจากอาการโรคหลอดเลือดสมองมักเกิดอย่างเฉียบพลัน หากไม่ได้ติดตามภาวะสุขภาพเป็นประจำ กระทั่งร่างกายเริ่มแสดงอาการ จะทำให้มีความเสี่ยงที่โรคจะรุนแรงจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

การติดตามภาวะสุขภาพ สามารถทำได้ง่ายๆ ที่บ้าน เช่น วัดความดันโลหิต ชั่งน้ำหนักเป็นระยะ เพื่อจะได้รู้ทันปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองที่อาจซ่อนอยู่ และสามารถปรับพฤติกรรมหรือปรึกษาผู้ชำนาญการได้ตั้งแต่เนิ่นๆ

นอกจากนี้อาจพิจารณาการตรวจเลือดติดตามระดับน้ำตาล ไขมัน คอเลสเตอรอล ในสถานพยาบาล ค่าที่ได้สามารถเป็นแนวทางปรับพฤติกรรม หรือรับการรักษาด้วยยาภายใต้คำแนะนำของแพทย์ เพื่อลดความเสี่ยงเป็นหลอดเลือดสมองอย่างมีประสิทธิภาพ

กรณีมีโรคประจำตัวที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ที่จำเป็นต้องตรวจติดตามเป็นระยะ ควรพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง รวมถึงปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

หรือหากตรวจพบโรคอื่นที่เกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดซึ่งสามารถพัฒนากลายเป็นโรคหลอดเลือดสมอง เช่น โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง โรคหลอดเลือดแดงคาโรติดตีบตัน ควรปรึกษาแพทย์ถึงความรุนแรงของโรคที่เป็น และแนวทางการรักษาเพื่อลดความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมอง

ป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง ด้วยการควบคุมน้ำหนัก

การเป็นโรคอ้วนหรือมีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) เกินเกณฑ์มาตรฐาน เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง และโรคอ้วนหรือภาวะน้ำหนักเกินนี้ยังมีความเกี่ยวพันใกล้ชิดกับโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การเป็นโรคหลอดเลือดสมองเช่นกัน

โดยทั่วไป การควบคุมน้ำหนักมักทำได้ด้วยการรับประทานอาหารน้อยลง ปรับชนิดของอาหารให้เหมาะสม และออกกำลังกาย แต่ในผู้ที่พยายามลดน้ำหนักแล้วแต่ไม่ได้ผล หรือมีข้อจำกัดบางอย่างที่ทำให้ไม่สามารถลดน้ำหนักตามปกติได้ ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้ชำนาญการ

ปัจจุบันมีตัวช่วยทางการแพทย์มากมายที่ช่วยลดน้ำหนักได้ เช่น รับประทานยา ใช้ปากกาลดน้ำหนัก ผ่าตัดลดขนาดกระเพาะ อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องอยู่ภายในการดูแลของแพทย์เพื่อความปลอดภัย

ป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ

ปัญหาการนอน เช่น นอนไม่หลับ นอนหลับๆ ตื่นๆ ชอบงีบหลับตอนกลางวัน มีภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นขณะหลับ นอนหลับนานเกินไป (เกิน 9 ชั่วโมงในแต่ละคืน) ก็เป็นปัจจัยหนึ่งให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง เนื่องจากการนอนสัมพันธ์กับการฟื้นฟูสุขภาพร่างกาย น้ำหนักตัว ไปจนถึงสุขภาพจิต

ทุกคนควรให้ความสำคัญกับการนอน ในแต่ละคืน คนเราควรจัดสรรเวลาให้ได้นอนหลับอย่างมีคุณภาพประมาณ 7-8 ชั่วโมง ถ้ามีปัญหาการนอน แต่เมื่อลองปรับที่นอน ห้องนอน ให้นอนสบาย จัดสรรเวลาให้สามารถเข้านอนเป็นเวลา หรือเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมใดๆ ให้เหมาะกับการนอนแล้ว แต่ยังมีปัญหาการนอนอยู่ อาจปรึกษาผู้ชำนาญการ เช่น จิตแพทย์ เพื่อจะได้รักษาอย่างเหมาะสม

การปรับพฤติกรรมต่างๆ ข้างต้นช่วยลดความเสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ แต่อย่าลืมว่ายังมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้อยู่อีก เช่น อายุ เพศ เชื้อชาติ กรรมพันธุ์ ทุกคนจึงควรรู้จักหลักสังเกตอาการโรคหลอดเลือดสมองที่เรียกว่า FAST เพื่อให้จับสังเกตสัญญาณของโรค และรับมือกับโรคนี้ได้อย่างทันท่วงที

F – Face – กล้ามเนื้อใบหน้าข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง

A – Arms – เมื่อยกแขนสองข้างขึ้นพร้อมกัน พบว่ามีข้างในข้างหนึ่งตกลงมาเอง

S – Speech – มีปัญหาด้านการพูด พูดตาไม่รู้เรื่อง สื่อสารไม่เข้าใจ

T – Time – ถ้าพบอาการ 3 ข้อข้างต้น ควรไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที หรือติดต่อสายด่วนสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โทร​. 1669

ยังมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองใช่ไหม? ไม่รู้จะถามใครดี ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคหลอดเลือดสมอง จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top