stomachache bloating screening get check

ปวดท้อง ท้องอืด แบบไหนต้องไปหาหมอ

อาการปวดท้องและท้องอืด อาจดูเหมือนเรื่องเล็กน้อยที่พบได้ทั่วไป แต่ในบางกรณี อาจเป็นสัญญาณของภาวะร้ายแรงที่ต้องรีบพบแพทย์โดยด่วน หากมีอาการดังต่อไปนี้ อย่าละเลย ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างเหมาะสม แล้วอาการปวดท้อง-ท้องอืด แบบไหนต้องไปหาหมอ บทความนี้มีคำตอบ

1. ปวดท้องรุนแรงเฉียบพลัน

อาการปวดท้องรุนแรง ปวดท้องเฉียบพลัน ปวดบิดบริเวณกลางท้อง อาจร้าวไปถึงหลัง จนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ เป็นสัญญาณอันตรายที่ควรไปพบแพทย์ทันที 

โดยโรคที่อาจเป็นสาเหตุของอาการนี้ เช่น ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน สาเหตุมักเกิดจากนิ่วอุดตันในถุงน้ำดี หรือการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป รวมทั้งภาวะไขมันในเลือดสูง

แนวทางการวินิจฉัย: ตรวจเลือดวัดระดับเอนไซม์ตับอ่อน (Amylase, Lipase) และเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)

2. ปวดท้องร้าวไปหลังหรือไหล่

อาการปวดท้องเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ โดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด เกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยโรคที่พบบ่อย เช่น

  • โรคกระเพาะอาหารอักเสบ: อาการปวดจะเริ่มต้นจากบริเวณกลางท้อง หรือใต้ลิ้นปี่ อาจร้าวไปยังหลังหรือไหล่ได้ โดยอาการปวดเกิดขึ้นได้ทั้งก่อน และหลังรับประทานอาหาร โดยเฉพาะอาหารมัน เผ็ด หรืออาหารที่ระคายเคืองกระเพาะอาหาร
  • มะเร็งตับอ่อน: มักพบร่วมกับน้ำหนักลด เบื่ออาหาร และดีซ่าน

แนวทางการวินิจฉัย: ทำ CT Scan, MRI หรือการตรวจค่า CA 19-9

3. ท้องอืดเรื้อรังร่วมกับอาการดีซ่าน

สำหรับผู้ที่มีอาการท้องอืดบ่อยๆ เป็นเรื้อรัง จุกเสียด แน่นท้อง โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหาร ร่วมกับอาการ ตัวเหลือง ตาเหลือง อุจจาระสีซีด ปัสสาวะสีเข้ม น้ำหนักลดลง อ่อนเพลีย ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งท่อน้ำดี

เนื่องจากก้อนมะเร็งอาจไปอุดกั้นการไหลเวียนของน้ำดีและรบกวนการทำงานของระบบย่อยอาหาร ทำให้เกิดความผิดปกติตามมา

แนวทางการวินิจฉัย: อัลตราซาวด์ (Ultrasound) หรือ MRI ระบบท่อน้ำดี (MRCP)

4. ปวดใต้ชายโครงขวาหลังรับประทานอาหารมัน

อาการปวดใต้ชายโครงขวา คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด โดยมักเกิดขึ้นหลังรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง โดยส่วนใหญ่มักเป็นสัญญาณของโรคนิ่วในถุงน้ำดี

นิ่วในถุงน้ำดีเป็นภาวะที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่รับประทานอาหารที่มีไขมันสูง หากมีอาการปวดใต้ชายโครงขวาร่วมกับคลื่นไส้ อาเจียน และท้องอืด ควรรีบพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม

แนวทางการวินิจฉัย: อัลตราซาวด์ช่องท้อง และการตรวจเลือดวัดค่าการอักเสบ

5. น้ำหนักลด เบื่ออาหาร ร่วมกับท้องอืด

การที่ร่างกายเราน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ไม่ได้ออกกำลังกาย หรือไม่ได้ควบคุมอาหาร ร่วมกับ เบื่ออาหาร และท้องอืดเรื้อรัง ไม่ใช่อาการปกติ แต่คุณอาจกำลังป่วยเป็น

  • โรคมะเร็งตับอ่อน: มะเร็งตับอ่อนเป็นโรคที่มักไม่มีอาการเด่นชัดในระยะแรก แต่เมื่อโรคลุกลาม อาจทำให้เกิดอาการ น้ำหนักลด เบื่ออาหาร และ ท้องอืดเรื้อรังได้
  • โรคมะเร็งท่อน้ำดี: เนื้องอกในท่อน้ำดีอาจขัดขวางการไหลของน้ำดี ส่งผลให้เกิด การสะสมของสารพิษ และการย่อยอาหารผิดปกติ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึก ท้องอืดเรื้อรัง และเบื่ออาหาร

แนวทางการวินิจฉัย: CT Scan หรือ MRI เพื่อตรวจหาความผิดปกติ

6. อุจจาระสีซีดและปัสสาวะสีเข้ม

นอกจากอาการท้องอืดหรือปวดท้องที่ควรจะต้องสังเกตลักษณะอาการโดยละเอียดแล้ว อุจจาระและปัสสาวะก็เป็นอีกสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม หากคุณมีอาการปวดท้องบ่อยๆ ร่วมกับอุจจาระมีสีซีด หรือปัสสาวะสีเข้มอาจเป็นอาการของ 2 โรคนี้

  • โรคตับอ่อนอักเสบ: ตับอ่อนอักเสบโดยเฉพาะในกรณีเรื้อรัง อาจทำให้ท่อน้ำดีที่อยู่ใกล้เคียงถูกกดเบียด ส่งผลให้การไหลเวียนของน้ำดีผิดปกติ จนทำให้เกิดอุจจาระสีซีด และปัสสาวะสีเข้ม เนื่องจากน้ำดีไม่ถูกปล่อยออกมาช่วยย่อยไขมันตามปกติ ส่งผลให้สารบิลิรูบินสะสมในกระแสเลือด
  • โรคมะเร็งท่อน้ำดี: ผู้ป่วยอาจมีอุจจาระสีซีด เพราะน้ำดีไม่ถูกขับออกทางลำไส้ และ ปัสสาวะสีเข้ม เนื่องจากบิลิรูบินส่วนหนึ่งถูกขับออกทางไต

แนวทางการวินิจฉัย: ตรวจเลือดวัดการทำงานของตับและการตรวจภาพถ่ายทางรังสี

แม้อาการปวดท้องและท้องอืดจะพบได้บ่อย แต่หากมีลักษณะอาการดังกล่าวข้างต้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายแรงที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน

สงสัยว่าอาการปวดท้อง-ท้องอืดที่เป็นอยู่อันตรายไหม อยากตรวจให้แน่ชัด ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจความผิดปกติบริเวณช่องท้อง จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top