Default fallback image

โรคเนื้องอกไขสันหลังคืออะไร มีกี่ประเภท สาเหตุ อาการ วิธีตรวจ การรักษา

ปวดต้นคอ ปวดหลัง ปวดเอว อย่าชะล่าใจคิดว่าเป็นแค่ออฟฟิศซินโดรม แต่อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคเนื้องอกไขสันหลัง บทความนี้จะพาคุณรู้จักโรคร้ายเงียบที่ซ่อนอยู่ในแนวกระดูกสันหลัง พร้อมปัจจัยที่ทำให้เกิด แนวทางวินิจฉัย และรักษาอย่างถูกต้อง

โรคเนื้องอกไขสันหลังคืออะไร? มีกี่ประเภท?

โรคเนื้องอกไขสันหลัง (Spinal Cord Tumors) คือ โรคที่เกิดจากการแบ่งเซลล์ที่ผิดปกติบริเวณไขสันหลังหรือบริเวณใกล้เคียงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างระบบประสาทส่วนกลาง ได้แก่ เนื้อไขสันหลัง รากประสาท เยื่อหุ้มไขสันหลัง ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท

การจำแนกชนิดของเนื้องอกที่ไขสันหลังจะใช้ได้หลายหลักเกณฑ์

หากจำแนกตามตำแหน่งที่เกิดจะจำแนกออกได้ 2 ชนิด ได้แก่

  • ก้อนเนื้องอกที่เกิดขึ้นภายในเนื้อไขสันหลัง (Intramedullary Tumors)
  • ก้อนเนื้องอกที่เกิดขึ้นภายนอกเนื้อไขสันหลัง (Extramedullary Tumors) แบ่งย่อยออกได้ 2 ชนิด ได้แก่
    • ก้อนเนื้องอกที่เกิดขึ้นภายนอกเนื้อไขสันหลัง แต่อยู่ใต้ชั้นเยื่อหุ้มไขสันหลังชั้นนอก (Intradural Extramedullary Tumors)
    • ก้อนเนื้องอกที่เป็นเซลล์มะเร็งซึ่งลุกลามมาจากอวัยวะอื่น เช่น ปอด เต้านม ไต ไทรอยด์ ต่อมลูกหมาก ต่อมน้ำเหลือง (Extradural Tumors)

หรือหากจำแนกตามเกณฑ์ชนิดของก้อนเนื้อก็สามารถแบ่งออกได้ 2 ชนิด ได้แก่

  • ก้อนเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง เป็นก้อนเนื้องอกชนิดธรรมดา มีอัตราการเจริญเติบโตช้า และไม่พัฒนากลายเป็นเซลล์มะเร็งในภายหลัง เป็นชนิดก้อนเนื้องอกที่สามารถรักษาให้หายได้
  • ก้อนเนื้องอกชนิดร้ายแรง เป็นก้อนเนื้องอกชนิดที่มีอัตราการเจริญเติบโตเร็ว และพัฒนากลายเป็นเซลล์มะเร็ง สามารถแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อและอวัยวะอื่นๆ ได้ ต้องผ่าตัดนำออกโดยเร็ว

สาเหตุของโรคเนื้องอกไขสันหลัง

โรคเนื้องอกไขสันหลังเป็นชนิดของเนื้องอกที่พบได้ค่อนข้างน้อย และปัจจุบันก็ยังไม่สามารถระบุถึงสาเหตุของการเกิดได้แน่ชัด แต่สาเหตุหลักที่พบได้บ่อยที่สุด คือ เกิดจากการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งที่อวัยวะอื่นๆ เช่น ปอด ไต เต้านม และลุกลามจนเกิดเป็นก้อนเนื้องอกบริเวณไขสันหลังด้วย

อาการจากโรคเนื้องอกไขสันหลัง

อาการปวด เป็นอาการบ่งชี้หลักเมื่อเกิดโรคเนื้องอกไขสันหลัง โดยตำแหน่งและลักษณะของอาการปวดที่มักเกิดขึ้น รวมถึงอาการร่วมอื่นๆ ที่มักพบได้ มีดังต่อไปนี้

  • ปวดต้นคอ และมักปวดถึงขั้นร้าวลงถึงแขน
  • ปวดหลัง โดยมักจะปวดอย่างต่อเนื่อง และทวีความรุนแรงขึ้นไม่เว้นแม้แต่เวลาพักผ่อนอยู่เฉยๆ หรือเข้านอน ลักษณะอาการปวดที่พบได้มักมี 2 แบบ ได้แก่
    • ปวดแบบหน่วงๆ จนทำให้รู้สึกอึดอัด 
    • ปวดแบบร้าวเหมือนถูกแทงหรือรู้สึกแปลบๆ 
  • ปวดร้าวชายโครง
  • ปวดเอว โดยอาจปวดข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง
  • มีอาการชาตั้งแต่ที่มือ แขน ขา 
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง และสามารถรุนแรงได้ถึงขั้นทำให้มีปัญหาด้านระบบขับถ่าย ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระได้

การตรวจวินิจฉัยโรคเนื้องอกไขสันหลัง

การตรวจวินิจฉัยโรคเนื้องอกไขสันหลังมักจะประกอบไปด้วยการตรวจหลายรายการ เพื่อให้แพทย์สามารถวินิจฉัยทั้งขนาด ชนิด รายละเอียดความเสียหายของระบบประสาทไขสันหลังทั้งหมดได้อย่างละเอียด เช่น

  • การตรวจร่างกายอย่างละเอียด
  • การเจาะตรวจเลือด
  • การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือการทำ MRI
  • การตรวจเอกซเรย์
  • การทำ CT Scan
  • การฉีดสารทึบรังสีเพื่อดูการกดทับของระบบประสาทไขสันหลัง (Myelogram)
  • การตรวจชิ้นเนื้อเพื่อหาชนิดของก้อนเนื้อ

การรักษาโรคเนื้องอกไขสันหลัง

การรักษาโรคเนื้องอกไขสันหลังแบ่งออกได้หลายวิธี แพทย์จะประเมินวิธีรักษาที่เหมาะสมจากหลายปัจจัย เช่น ตำแหน่ง ขนาด ชนิดของเนื้องอก รวมถึงเงื่อนไขสุขภาพอื่นๆ ของผู้ป่วย โดยจำแนกวิธีได้ดังต่อไปนี้

  • การเฝ้าติดตามอาการ ในกรณีที่เนื้องอกไม่ใช่ชนิดมะเร็ง มีอัตราการเติบโตช้า มีขนาดเล็ก และอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เป็นอันตรายต่อระบบประสาทไขสันหลัง แพทย์มักประเมินให้ผู้ป่วยยังไม่ต้องรับการรักษา แต่จะนัดหมายให้กลับมาตรวจติดตามการเปลี่ยนแปลงของเนื้องอกเป็นระยะๆ 
  • การผ่าตัด จัดเป็นวิธีรักษาหลักของโรคเนื้องอกไขสันหลัง โดยเฉพาะหากก้อนเนื้อเป็นชนิดมะเร็ง หรือได้ไปกดทับไขสันหลัง เส้นประสาท หรือทางเดินน้ำเลี้ยงไขสันหลัง โดยเทคนิคการผ่าตัดที่นิยมในปัจจุบันจะเป็นการผ่าตัดส่องกล้องแผลเล็กผ่านกล้องกำลังขยายสูง Microscope หรือ Endoscope
    รายละเอียดการผ่าตัดรักษาเนื้องอกไขสันหลังจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย แพทย์อาจมีการใช้เครื่องมือ หรือเทคโนโลยีช่วยผ่าตัดอื่นๆ เข้ามาเสริมให้การผ่าตัดแม่นยำและให้ผลลัพธ์ในการรักษาที่ดียิ่งขึ้น เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์นำวิถีตำแหน่งของเนื้องอก การใช้แท่งเหล็กและสกรูช่วยเสริมความแข็งแรงให้โครงสร้างกระดูกสันหลัง การฉีดซีเมนต์เสริมความแข็งแรงให้โครงสร้างกระดูกสันหลังหลังผ่าตัด
  • การฉายรังสีรักษา เป็นการใช้รังสีพลังงานสูงหยุดการเจริญเติบโตและทำลายเซลล์มะเร็ง นิยมใช้เป็นวิธีรักษาเสริมในกรณีที่เนื้องอกเป็นชนิดมะเร็ง และแพทย์ไม่สามารถผ่าตัดนำออกได้หมด หรือผู้ป่วยมีโอกาสพบก้อนมะเร็งซ้ำได้อีก 
  • การทำเคมีบำบัด เป็นการใช้ยาที่ออกฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็ง มีทั้งรูปแบบยากินและยาฉีด นิยมใช้เป็นวิธีรักษาเสริมเช่นกัน โดยอาจใช้เพื่อลดขนาดเนื้องอกให้เล็กลงก่อนการผ่าตัด หรือใช้เพื่อประคับประคองอาการให้ผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดนำเนื้องอกชนิดมะเร็งออกได้จนหมด

แม้โรคเนื้องอกไขสันหลังจะพบได้น้อยเมื่อเทียบกับโรคอื่นๆ แต่หากเกิดขึ้นแล้ว อาการปวดที่ตามมามักรุนแรงจนกระทบชีวิตประจำวันอย่างมาก และอาจส่งผลร้ายแรงต่อคุณภาพชีวิตได้

ดังนั้นหากมีอาการปวดต้นคอ ปวดหลัง ปวดชายโครง หรือปวดเอวอย่างผิดปกติ ไม่ได้เกิดจากการออกกำลังกายหรือใช้ชีวิตประจำวัน ควรรีบตรวจเพื่อหาสาเหตุการปวดที่แน่ชัด และวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม

อยากคุยและตรวจกับแพทย์เกี่ยวกับอาการปวดหลัง ปวดคอที่ไม่ทราบสาเหตุ ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคโรคเนื้องอกไขสันหลัง จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top