โรคเนื้องอกไขสันหลัง เป็นโรคเนื้องอกที่มีโอกาสพบได้ค่อนข้างน้อย แต่หากเกิดขึ้นก็จะส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้ป่วยได้มาก ผู้ป่วยบางรายอาการอาจรุนแรงถึงขั้นเป็นอัมพาตได้ การรู้จักสัญญาณอาการของโรค และเข้ารับการรักษาอย่างทันที จะช่วยลดความรุนแรงของโรคนี้ลงได้
สารบัญ
สัญญาณอาการของโรคเนื้องอกไขสันหลัง
สัญญาณของโรคเนื้องอกไขสันหลังนั้นมีหลากหลาย แต่อาการบ่งชี้หลักคือ อาการปวด โดยตำแหน่งที่ปวดมักจะเกิดขึ้นบริเวณที่มีก้อนเนื้องอก โดยส่วนมากมักเป็นตำแหน่งคอ เอว ชายโครง และหลัง
ลักษณะอาการปวดมักจะเป็นการปวดร้าวลงไปยังตำแหน่งอื่นของร่างกาย เช่น แขน ขา เท้า หรือปวดแบบหน่วง รู้สึกแน่นจนอึดอัด โดยมักจะมีอาการปวดในช่วงกลางคืน หรือระหว่างนอนตะแคง อาจมีอาการปวดที่ร่างกายซีกใดซีกหนึ่ง หรือปวดพร้อมกันทั้ง 2 ซีกซ้ายและขวา
นอกจากอาการปวดแล้ว ยังอาจมีอาการอื่นๆ ดังนี้
- รู้สึกชาตั้งแต่ที่มือ แขน หรือขา
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- มีปัญหาด้านระบบขับถ่าย ทำให้ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระได้
- สูญเสียสมรรถภาพทางเพศ
การตรวจวินิจฉัยโรคเนื้องอกไขสันหลัง
แพทย์จะเป็นผู้ประเมินรายการตรวจวินิจฉันโรคเนื้องอกไขสันหลังเพื่อนำไปวางแผนการรักษาได้แม่นยำที่สุด โดยส่วนมากจะประกอบไปด้วยรายการตรวจดังต่อไปนี้
1. การตรวจร่างกาย
ในขั้นตอนนี้แพทย์จะซักประวัติสุขภาพ สอบถามลักษณะอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น นอกจากนี้จะมีการตรวจหลังเพื่อหาตำแหน่งที่เจ็บหรือปวดอย่างชัดเจน รวมถึงตรวจการทำงานในระบบประสาทของผู้ป่วย เช่น
- ตรวจการทำงานประสานกันของอวัยวะแต่ละส่วน
- ตรวจความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
- ตรวจการทรงตัวของผู้ป่วย
- ตรวจประสิทธิภาพการมองเห็น
- ตรวจปฏิกิริยาตอบสนองหรือรีเฟล็กซ์ (Reflex) ของผู้ป่วย
ขั้นตอนการตรวจร่างกายมักจะเกิดขึ้นในห้องตรวจปกติ แพทย์จะสอบถามข้อมูลและให้ผู้ป่วยทำท่าทางตามที่สั่งเพื่อตรวจความผิดปกติ ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวใดๆ ล่วงหน้า แต่ควรเตรียมประวัติสุขภาพ ประวัติการรักษาโรคประจำตัวในอดีต รายการยาประจำตัวที่กิน ณ ปัจจุบันมาแจ้งให้แพทย์ทราบ
นอกจากกระบวนการตรวจร่างกาย ในบางกรณีแพทย์อาจให้ผู้ป่วยตรวจเลือดด้วย เพื่อประเมินความแข็งแรงของสุขภาพ และโอกาสเกิดโรคประจำตัวอื่นๆ เพิ่มเติม แต่โดยทั่วไปการเจาะเลือดไม่ใช่รายการตรวจหลักของการตรวจโรคเนื้องอกไขสันหลัง
2. ตรวจ MRI
การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือการตรวจ MRI เป็นการตรวจเพื่อสร้างภาพของกระดูกสันหลัง ไขสันหลัง และเส้นประสาทอย่างละเอียด ช่วยให้แพทย์ระบุตำแหน่งของก้อนเนื้องอก รวมถึงการกดทับของเส้นประสาทได้ชัดเจนขึ้น โดยแพทย์อาจพิจารณาให้ผู้ป่วยฉีดสารทึบรังสีก่อนตรวจ เพื่อให้เครื่อง MRI สามารถแสดงภาพของไขสันหลังได้ละเอียดขึ้น
ขั้นตอนการตรวจ MRI จะเป็นการให้ผู้ป่วยนอนนิ่งๆ อยู่บนเตียงที่จะเคลื่อนผ่านอุโมงค์ MRI ในระหว่างนั้นให้ผู้ป่วยนอนนิ่งๆ และปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ที่จะมีการพูดคุยกับผู้ป่วยจากห้องควบคุมที่มีอินเตอร์คอมเชื่อมไปยังห้องตรวจ
3. การตรวจ CT Scan
การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือการทำ CT Scan ไม่ใช่การตรวจหลักของการตรวจวินิจฉัยโรคเนื้องอกไขสันหลัง แต่มักเป็นการตรวจเพิ่มเติมหรือควบคู่ไปกับการตรวจ MRI เพื่อให้แพทย์มองเห็นโครงสร้างความเสียหายในส่วนของเนื้อเยื่อแข็งอย่างกระดูกได้ชัดเจนขึ้น ผ่านการดูภาพเอกซเรย์แบบตัดขวางและ 3 มิติ
โดยเช่นเดียวกับการทำ MRI ก่อนเริ่มการตรวจ แพทย์อาจให้ผู้ป่วยฉีดสารทึบรังสีก่อนเพื่อให้การถ่ายภาพจากเครื่อง CT Scan มีความชัดเจนและง่ายต่อการวินิจฉัยมากขึ้น
ขั้นตอนการตรวจ CT Scan จะคล้ายกับการตรวจ MRI โดยผู้ป่วยจะนอนนิ่งๆ บนเตียงที่จะเคลื่อนผ่านเข้าไปในเครื่อง CT Scan ที่มีลักษณะคล้ายอุโมงค์วงแหวน ในระหว่างนั้นผู้ป่วยจะปฏิบัติตามที่แพทย์หรือเจ้าหน้าที่สั่งผ่านอินเตอร์คอมจากห้องควบคุม เช่น หายใจเข้าออกลึกๆ หรือกลั้นหายใจ
3. การฉีดสารทึบรังสีเพื่อดูการกดทับของเส้นประสาท
การฉีดสารทึบรังสีเพื่อดูการกดทับของเส้นประสาท หรือการทำ Myelogram เป็นกระบวนการตรวจเพื่อตรวจสอบความเสียหายและการอักเสบของเส้นประสาทที่ถูกกดทับจากก้อนเนื้อจนก่อให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ
ขั้นตอนการตรวจหลักๆ จะเริ่มขากแพทย์จะฉีดยาชาที่หลัง ตามด้วยฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในโพรงน้ำไขสันหลัง (Cerebrospinal Fluid: CSF) จากนั้นใช้เครื่อง CT Scan ถ่ายภาพซึ่งสารทึบรังสีที่ฉีดเข้าไปจะช่วยให้แพทย์มองเห็นโพรงไขสันหลัง เส้นประสาทไขสันหลัง และรากประสาทได้อย่างชัดเจน
4. การตรวจตัวอย่างชิ้นเนื้อ
การตรวจตัวอย่างชิ้นเนื้อ หรือการทำ Biopsy เป็นการตรวจเพื่อระบุชนิดของก้อนเนื้อในไขสันหลังซึ่งเป็นอีกข้อมูลสำคัญที่ต้องใช้ในการวางแผนการรักษา
กระบวนการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อที่ไขสันหลังอาจเก็บแยกต่างหาก โดยแพทย์จะเข็มเจาะผ่านผิวหนังเพื่อดูดเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อจากเนื้องอกไขสันหลัง จากนั้นนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมเพื่อใช้ในการวางแผนการรักษาต่อไป หรือในกรณี คือ แพทย์จะเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อในระหว่างการผ่าตัด และนำไปตรวจโดยทันทีเพื่อนำผลกลับมาแจ้งให้ศัลยแพทย์ทราบเพื่อวางแผนการผ่าตัดเนื้องอกต่อไป
การตรวจวินิจฉัยเนื้องอกที่แม่นยำและครอบคลุมตั้งแต่ระยะแรก เป็นกุญแจสำคัญในการป้องกันไม่ให้โรคเนื้องอกไขสันหลังลุกลามจนส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ดังนั้นหากรับรู้สัญญาณเสี่ยงของร่างกาย และเข้ารับการตรวจอย่างทันท่วงที จะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด
ปวดหลัง คอ เอว เรื้อรัง เริ่มมีอาการชา อยากตรวจให้แน่ชัด ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคจาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย