sign sleep apnea screening selfcheck scaled

เช็ก 6 สัญญาณนอนกรน ที่เริ่มอันตราย ต้อง Sleep Test หรือไปพบแพทย์

นอนกรน เป็นพฤติกรรมที่พบได้บ่อยในทั้งผู้หญิงและผู้ชาย จนเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าคุณหรือคนใกล้ชิด มี 1 ใน 6 สัญญาณการกรนตามบทความนี้ อาจบ่งบอกถึงภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งก่อให้เกิดโรคร้ายแรงหรือทำให้โรคที่เป็นอยู่ อย่างเบาหวาน ความดัน หัวใจ โรคอ้วน อาการแย่ลงจนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

เพื่อรักษาสุขภาพให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ควรหมั่นสังเกตอาการ หากพบว่าเข้าข่ายรุนมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ก็ควรตรวจการนอนหรือที่เรียกว่า Sleep Test เพื่อรับการวินิจฉัยว่ามีปัญหาการนอนที่น่าเป็นห่วงหรือไม่ ถ้ามีจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที สัญญาณความเสี่ยงว่าการนอนกรนของคุณน่าจะเป็นปัญหา มีดังนี้

1. กรนเสียงดัง

พฤติกรรมการนอนกรนเสียงดัง นอกจากจะเป็นการรบกวนการนอนของคนใกล้ชิดแล้ว ยังอาจเป็นอันตรายต่อผู้กรนเองด้วย โดยจากการศึกษาพบว่า 80% ของคนนอนกรน มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่เกิดจากทางเดินหายใจถูกอุดกั้น (OSA)

ทั้งนี้การกรน เกิดจากกล้ามเนื้อภายในช่องคอหย่อนคล้อย จนอุดกั้นทางเดินหายใจ กล้ามเนื้อดังกล่าวนี้จะสั่นสะเทือนเมื่อมีอากาศกระทบและเคลื่อนผ่าน ทำให้เกิดเป็นเสียงกรนขึ้น ยิ่งมีการอุดกั้นมาก อาการกรนก็ยิ่งรุนแรง เสียงดังขึ้น และอาจแย่ลงได้อีกจากหลายปัจจัย เช่น น้ำหนักตัว อายุ และการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

2. กรนแล้วสะดุ้งตื่นกลางดึก สำลักขณะหลับ

อาการสะดุ้งตื่นกลางดึก สำลัก ระหว่างนอนหลับ เป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นหลังจากที่ร่างกายหยุดหายใจไปชั่วขณะ สมองจึงสั่งการโดยอัตโนมัติให้ร่างกายหาออกซิเจนเพิ่ม เพื่อไม่ให้ขาดออกซิเจนจนเป็นอันตรายต่อชีวิต จึงกลายเป็นการสะดุ้งตื่นกลางดึก หรือหายใจทางปาก ซึ่งการหายใจทางปากต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดการสำลักได้

อาการดังกล่าวสามารถเกิดได้หลายครั้งระหว่างนอนหลับ ทำให้ผู้ที่เป็นไม่สามารถเข้าสู่ภาวะหลับลึก การนอนจึงไม่มีคุณภาพอย่างที่ควรเป็น

3. นอนไม่หลับ พอหลับก็กรนเสียงดัง

อาการนอนไม่หลับ เป็นได้ 2 กรณีคือ เมื่อเข้านอน จะต้องใช้เวลานานมากกว่าจะหลับ หรือหลับไปแล้ว แต่ไม่สามารถหลับสนิทต่อเนื่องเป็นเวลานานได้ จะรู้สึกตัวตื่นกลางดึกบ่อยๆ 

แม้ว่าอาการที่ว่านี้จะดูเหมือนเป็นเรื่องที่พบเจอได้บ่อยเมื่ออายุมากขึ้น แต่ความจริงแล้วอาการที่ว่านี้มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

มีการศึกษาหนึ่งในปี 2019 พบว่า 38% ของผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับนั้นมีปัญหานอนไม่หลับร่วมด้วย และ 42% ของผู้ที่ไม่สามารถหลับอย่างมีคุณภาพไปได้ตลอดคืนก็มีปัญหาหยุดหายใจขณะหลับ

หลายคนที่มีปัญหานอนไม่หลับ สามารถแก้ปัญหานี้ได้ก็ต่อเมื่อรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับเสียก่อน ซึ่งจะรักษาภาวะนี้ ก็จำเป็นต้องตรวจ Sleep Test เพื่อจะได้ทราบว่ามีภาวะนี้หรือไม่ ถ้ามี มีความรุนแรงระดับไหน

4. ตอนดึกนอนกรน กลางวันง่วง อ่อนเพลีย

ถ้าตอนกลางคืนเข้านอนตามปกติ ไม่ได้อดนอน แต่ตอนกลางวันกลับเหนื่อย อ่อนเพลียมาก หรือถึงกับต้องงีบหลับตอนกลางวันเป็นประจำ นั่นอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าการนอนหลับตอนกลางคืนไม่มีคุณภาพ เช่น อาจมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่เกิดจากลมหายใจอุดกั้น (OSA)

การหยุดหายใจเป็นระยะๆ ตลอดการนอนเช่นนี้จะรบกวนไม่ให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะหลับลึก ทำให้ไม่ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ และสมองก็ไม่ได้รับออกซิเจนเพียงพอ ร่างกายจึงอ่อนเพลีย เป็นต้นเหตุของหลายๆ โรคอันตราย

5. นอนกรน ร่วมกับมีอาการซึมเศร้า

ปัญหาการนอนและอาการซึมเศร้ามักเกิดขึ้นร่วมกัน มีการศึกษาหนึ่งในปี 2014 ให้ผลว่า จากผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับทั้งหมด เกือบ 50% แสดงอาการของภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย

จากการวิจัยนี้ ชี้ให้เห็นว่าการนอนหลับกับอารมณ์นั้นสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในผู้มีปัญหาโรคซึมเศร้า ถ้ามีปัญหาการนอน ไม่ว่าจะเป็นนอนกรน หรือ มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ แล้วไม่ได้รับการรักษา ภาวะโรคซึมเศร้าอาจจะแย่ลง หรือรักษาได้ยากขึ้น

6. กรนตอนกลางคืน กลางวันไม่มีสมาธิจดจ่อ

นอนกรน เป็นสัญญาณที่สังเกตได้ชัดของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ อาการหลงๆ ลืมๆ และไม่สามารถตั้งสมาธิจดจ่อก็เป็นสัญญาณสำคัญเช่นกัน

การปล่อยปละละเลยอาการเหล่านี้จนไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ จะทำให้เนื้อเยื่อสีขาวในสมองค่อยๆ ฝ่อไป โดยเนื้อเยื่อสีขาวที่ว่านี้ทำหน้าที่เชื่อมส่วนต่างๆ ของสมองให้ทำงานประสานกันได้อย่างราบรื่น เมื่อเนื้อเยื่อดังกล่าวฝ่อ ปัญหาความจำและการไม่สามารถตั้งสมาธิจดจ่อจะยิ่งรุนแรงขึ้น

หากคุณลองสังเกตตัวเองแล้วพบว่าตัวเองมีอาการที่ว่ามานี้ แม้มีเพียงอาการเล็กน้อย หรือมีเพียงสัญญาณเดียว ก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจ Sleep Test ไม่จำเป็นต้องรอให้ครบทุกข้อ

การตรวจ Sleep Test ไม่น่ากลัว ไม่เจ็บ และไม่มีการผ่าตัดหรือเสียเลือดใดๆ เพียงให้ผู้รับการตรวจนอนที่โรงพยาบาล 1 คืน ติดอุปกรณ์ตรวจวัดค่าต่างๆ ตามตำแหน่งที่กำหนด และเข้านอนตามปกติ แพทย์ผู้ชำนาญการก็จะอ่านผลตรวจพร้อมแนะนำแนวทางแก้ไขปัญหาการนอนให้ทราบ

ไม่แน่ใจว่าอาการกรนที่เป็นอยู่อันตรายต่อสุขภาพไหม? ถ้าไม่รู้จะถามใครดี ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจ Sleep Test จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top