น้ำหนักเกิน เป็นโรคอ้วน พยายามลดน้ำหนักหลายวิธี แต่ก็ไม่ได้ผล การผ่าตัดกระเพาะแบบบายพาส อาจเป็นคำตอบสำหรับคุณ การผ่าตัดกระเพาะแบบบายพาส คืออะไร อันตรายไหม ช่วยให้ลดน้ำหนักได้จริงหรือเปล่า หลังผ่าตัดมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง บทความนี้จะพาไปเจาะลึกทุกแง่มุม ช่วยให้คุณตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
สารบัญ
การผ่าตัดกระเพาะแบบบายพาส คืออะไร?
การผ่าตัดกระเพาะแบบบายพาส (Gastric Bypass) หรืออาจพบคำเรียกว่า Roux-en-Y จากภาษาฝรั่งเศส แปลว่า ‘รูปร่างตัว Y’ ซึ่งมาจากรูปร่างทางเดินอาหารหลังจากผ่าตัดเสร็จ เป็นหนึ่งในเทคนิคผ่าตัดกระเพาะอาหาร เพื่อรักษาผู้ป่วยโรคอ้วนหรือผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน
ทั้งนี้ระบบย่อยและดูดซึมอาหาร ตามปกติ จะมีกระบวนการดังนี้ เมื่อรับประทานอาหาร อาหารจะผ่านช่องปาก ไปสู่หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ทำหน้าที่ย่อยอาหาร จากนั้นเคลื่อนตัวสู่ลำไส้เล็กส่วนต้น ซึ่งเป็นส่วนที่มีการดูดซึมสารอาหารมากที่สุด แล้วเคลื่อนไปสู่ลำไส้เล็กส่วนกลางและส่วนปลาย จากนั้นเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ และขับถ่ายออกมา
แต่การผ่าตัดกระเพาะแบบบายพาสนี้ แพทย์จะผ่าตัดปรับเปลี่ยนทางเดินอาหารของผู้ป่วย ทั้งในส่วนของกระเพาะและลำไส้เล็ก เมื่ออาหารเคลื่อนตัวเข้ามาที่กระเพาะอาหารแล้วจะ ข้ามลำไส้เล็กส่วนต้น ไปยังลำไส้เล็กส่วนกลางทันที ทำให้ร่างกายมีพื้นที่รับอาหารบริเวณกระเพาะน้อยลง ลดโอกาสที่ร่างกายจะดูดซึมอาหารลงด้วย
การผ่าตัดวิธีนี้ให้ผลลัพธ์ดี โดยช่วยลดน้ำหนักส่วนเกินของผู้รับการผ่าตัดลงได้ราว 70% ภายใน 2 ปี
การผ่าตัดกระเพาะแบบบายพาสเหมาะกับใคร?
การผ่าตัดกระเพาะแบบบายพาสเหมาะกับผู้เป็นโรคอ้วนระยะรุนแรง ซึ่งพยายามลดน้ำหนักด้วยวิธีอื่นๆ แล้วไม่ได้ผล โดยทั่วไปมักพิจารณาให้ผ่าตัดกระเพาะในผู้ป่วยโรคอ้วนที่มีค่า BMI ตั้งแต่ 40 ขึ้นไป หรือมีค่า BMI ตั้งแต่ 35-39.9 ร่วมกับมีปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวเนื่องกับความอ้วน เช่น เบาหวานชนิดที่ 2 ความดันโลหิตสูง เป็นต้น
ในบางกรณี ผู้ที่มีค่า BMI ระหว่าง 30-34 ก็อาจรับการผ่าตัดกระเพาะแบบบายพาสได้ ถ้ามีปัญหาสุขภาพซึ่งเกี่ยวข้องกับน้ำหนักแทรกซ้อนอย่างรุนแรงขึ้นอยู่กับแพทย์เป็นผู้พิจารณา
ข้อดีของการผ่าตัดกระเพาะแบบบายพาส
การผ่าตัดกระเพาะแบบบายพาส เป็นวิธีที่จะทำให้น้ำหนักลดได้จริง และให้ผลระยะยาว โดยเมื่อผ่าตัดกระเพาะให้เล็กลงแล้ว ร่างกายจะรับอาหารได้น้อยลง และผลจากการตัดต่อทางลำไส้เล็ก ก็ทำให้ทางเดินอาหารสั้นลง สารอาหารจึงถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายน้อยลงไปด้วย
เมื่อเปรียบเทียบกับการผ่าตัดกระเพาะแบบสลีฟ การผ่าตัดกระเพาะแบบบายพาสจะเหลือเนื้อที่ให้อาหารเข้าไปอยู่ในกระเพาะน้อยกว่า และร่างกายจะดูดซึมอาหารให้น้อยกว่า จึงทำให้ผู้ป่วยลดน้ำหนักได้มากกว่าการผ่าตัดกระเพาะแบบสลีฟ
ข้อจำกัดของการผ่าตัดกระเพาะแบบบายพาส
การผ่าตัดกระเพาะแบบบายพาส มักมีข้อจำกัดในผู้ป่วยกลุ่มต่อไปนี้
- ผู้ที่ตั้งครรภ์ หรืออยู่ระหว่างให้นมบุตร หรือมีแผนจะตั้งครรภ์
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว ซึ่งจะทำให้การผ่าตัดมีความเสี่ยงจะเกิดอันตรายได้มากกว่าคนทั่วไป เช่น เป็นโรคหัวใจรุนแรง มีภาวะเลือดแข็งตัวช้า เป็นต้น
- ผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตใจ ซึ่งจำเป็นต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการผ่าตัดกระเพาะจะทำให้การดูดซึมยาเปลี่ยนแปลงไป อาจมีผลต่อการรักษาภาวะสุขภาพที่เป็นอยู่
ผลข้างเคียงของการผ่าตัดกระเพาะแบบบายพาส
โดยทั่วไปการผ่าตัดกระเพาะแบบบายพาสถือเป็นเทคนิคการผ่าตัดกระเพาะที่ปลอดภัย มีการศึกษาและปรับปรุงเทคนิคมาเป็นระยะเวลากว่า 50 ปี ปัจจุบัน 18% ของการผ่าตัดกระเพาะทั้งหมดใช้เทคนิคบายพาส
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการผ่ากระเพาะทำให้ร่างกายผู้ป่วยรับอาหารได้น้อยลง น้ำหนักลดลง อย่างทันทีทันใด ดังนั้นในช่วง 3-6 เดือนแรกหลังจากผ่าตัดจึงอาจเกิดผลข้างเคียงต่อไปนี้
- ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว
- รู้สึกเหนื่อยอ่อน คล้ายเวลาเป็นไข้หวัดใหญ่
- หนาวสั่น
- ผิวแห้ง
- ผมร่วง บาง
- อารมณ์แปรปรวน
ขั้นตอนการรักษาโรคอ้วน ด้วยการผ่าตัดกระเพาะแบบบายพาส
- วิสัญญีแพทย์จะทำการวางยาสลบผู้ป่วย
- เมื่อยาสลบออกฤทธิ์แล้ว แพทย์จะเจาะรูขนาดประมาณ 1-2 เซนติเมตร 1 รู ที่ผิวหนังหน้าท้องผู้ป่วย จากนั้นจะอัดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปในรูนั้น เพื่อขยายพื้นที่ภายในช่องท้อง ทำให้การผ่าตัดสะดวกขึ้น
- แพทย์เจาะรูเพิ่ม 3-4 รู เพื่อเป็นช่องทางใส่เครื่องมือผ่าตัดขนาดเล็ก รวมถึงกล้องส่องอวัยวะภายในที่มีกำลังขยายสูง เข้าไปทำการผ่าตัดกระเพาะ
- แพทย์ผ่าตัดแบ่งพื้นที่กระเพาะออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก จะเป็นกระเพาะอาหารส่วนที่ติดกับหลอดอาหาร ขนาดประมาณไข่ไก่ และส่วนที่สอง คือกระเพาะอาหารส่วนที่ติดกับลำไส้เล็ก
- แพทย์ผ่าตัดบริเวณลำไส้เล็ก เพื่อเลื่อนลำไส้เล็กส่วนกลางขึ้นมาเชื่อมต่อกับกระเพาะส่วนแรก
- แพทย์เชื่อมต่อลำไส้เล็กส่วนต้น (ซึ่งติดอยู่กับกระเพาะอาหารส่วนที่สอง) เข้ากับลำไส้เล็กส่วนกลาง
- เมื่อแน่ใจว่าการผ่าตัดและเย็บปิดกระเพาะเรียบร้อยดีแล้ว แพทย์จะนำเครื่องมือต่างๆ ออกทางรูช่องท้องที่เจาะเปิดไว้ จากนั้นเย็บปิดแผล
การผ่าตัดกระเพาะแบบบายพาส มักใช้เวลาประมาณ 2-4 ชั่วโมง หลังผ่าตัดแพทย์จะให้ผู้ป่วยพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 2 คืน เพื่อสังเกตอาการหรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เมื่อเห็นว่าการผ่าตัดได้ผลดี ไม่มีอาการแทรกซ้อน จึงให้กลับไปพักฟื้นต่อที่บ้าน
การผ่าตัดกระเพาะแบบบายพาส เป็นหนึ่งในเทคนิคการผ่าตัดกระเพาะที่จะช่วยผู้เป็นโรคอ้วนหรือผู้มีน้ำหนักเกินระยะรุนแรง ให้ลดน้ำหนักอย่างได้ผล ไม่กลับมาอ้วนอีก มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เคลื่อนไหวร่างกายได้สะดวกขึ้น ประกอบกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้คล่องแคล่วขึ้น
นอกจากนี้ยังช่วยบรรเทาหรือรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับภาวะน้ำหนักเกินได้ เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง โรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคหลอดเลือดสมอง รวมไปถึงปัญหามีบุตรยากที่มีสาเหตุมาจากน้ำหนักตัว
อย่างไรก็ตาม ผู้รับการผ่าตัดกระเพาะ ไม่ว่าเทคนิคใดก็ตาม จำเป็นต้องได้รับการตรวจพิจารณาจากแพทย์เสียก่อน เนื่องจากเมื่อผ่าตัดลดขนาดกระเพาะด้วยเทคนิคนี้แล้ว จะไม่สามารถซ่อมแซมให้กระเพาะกลับมามีความจุเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นได้
ทั้งยังต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพไปในระยะยาว เช่น อาจต้องเข้าพบแพทย์เพื่อรับการตรวจติดตามเป็นระยะ ต้องรับวิตามินเสริมทดแทนสารอาหารที่รับได้น้อยลง ดังนั้นควรสอบถามแพทย์ถึงผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้น ข้อปฏิบัติที่ต้องทำหลังผ่าตัด และระยะเวลาที่ต้องทำตามข้อปฏิบัติเหล่านั้นอย่างละเอียด เพื่อจะได้ข้อมูลครบถ้วน รอบด้าน ก่อนตัดสินใจผ่าตัด
ผ่าตัดกระเพาะ เป็นวิธีรักษาโรคอ้วนที่ดีที่สุดจริงมั้ย? เทคนิคบายพาสเหมาะกับเราหรือเปล่า หรือควรพิจารณาเทคนิคอื่นๆ อยากขอความเห็นที่สองจากคุณหมอเฉพาะทาง เพื่อเลือกวิธีรักษาที่เหมาะกับเรามากที่สุด ติดต่อทีม HDcare ช่วยทำนัดเข้าปรึกษาคุณหมอ ดูแลกันตั้งแต่ต้นจบ ทำให้การผ่าตัดไม่ยุ่งยากและไม่น่ากลัวอย่างที่คิด คลิกเลย