หากเป็นโรคในไตรุนแรงถึงขั้นต้องผ่าไตออก จะมีกระบวนการผ่าตัดอย่างไร ต้องเปิดแผลกว้างเท่านั้นหรือไม่ ใช้เวลาฟื้นตัวนานเพียงใด อ่านทุกข้อมูลควรรู้ที่เกี่ยวกับการผ่าตัดไตออกได้ในบทความนี้
สารบัญ
การผ่าตัดไตออก คืออะไร?
การผ่าตัดไตออก (Radical Nephrectomy) คือ การผ่าตัดนำอวัยวะไตออกจากร่างกายเพื่อรักษาอาการผิดปกติ โรคบางประการ รวมถึงใช้ในผู้ที่บริจาคอวัยวะไต
ในผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องผ่าตัดนำไตออกทั้ง 2 ข้างทั้งหมด บางรายนำออกเพียงข้างเดียว หรือบางรายนำออกเพียงบางส่วนของอวัยวะไตเท่านั้น ขึ้นอยู่กับแผนการรักษา โดยกลุ่มผู้ป่วยที่มักต้องผ่าตัดนำไตออก ได้แก่
- กลุ่มผู้ป่วยโรคเนื้องอกในไต และโรคมะเร็งไต
- กลุ่มผู้ป่วยที่ไตหยุดการทำงาน หรือถูกทำลายจากโรคบางอย่าง เช่น โรคนิ่วในไต ติดเชื้อในไตเรื้อรัง ภาวะอุดตันที่ทางเดินปัสสาวะ
- กลุ่มผู้ป่วยที่ต้องผ่าตัดเปลี่ยนไต
- กลุ่มผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุอย่างรุนแรงจนไตฉีกหรือได้รับบาดเจ็บจนต้องผ่าตัดนำออก
เทคนิคการผ่าตัดไตออกในปัจจุบันสามารถแบ่งออกได้ 3 เทคนิคหลักๆ ได้แก่
- การผ่าตัดไตออกแบบเปิด เป็นการกรีดเปิดแผลขนาดใหญ่ประมาณ 30 เซนติเมตร เพื่อนำไตออกมา ในปัจจุบันไม่ค่อยเป็นที่นิยมนัก เนื่องจากให้แผลผ่าตัดที่ใหญ่ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยมีโอกาสเสียเลือดและเจ็บแผลได้มาก รวมถึงมีกระบวนการฟื้นตัวหลังผ่าตัดที่นาน
- การผ่าตัดไตแบบส่องกล้อง เป็นการผ่าเปิดแผลเป็นรูไม่เกิน 1 เซนติเมตร ประมาณ 3-4 รู เพื่อให้แพทย์สอดกล้องผ่าตัดกำลังขยายสูง และอุปกรณ์ผ่าตัดเข้าไปตัดนำไตออกมา เป็นการผ่าตัดที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เนื่องจากมีขนาดแผลผ่าตัดที่เล็กกว่า ทำให้ผู้ป่วยเจ็บแผลและเสียเลือดน้อย มีการฟื้นตัวหลังผ่าตัดที่เร็วกว่า
- การผ่าตัดไตแบบส่องกล้องด้วยหุ่นยนต์ เป็นการผ่าตัดแผลเล็กคล้ายกับการผ่าตัดแบบส่องกล้อง แต่แพทย์จะมีหุ่นยนต์หรือแขนกลเป็นผู้ช่วยเสริมในการผ่าตัดด้วย
ข้อจำกัดของการผ่าตัดไตออก
การผ่าตัดไตออกมักเป็นตัวเลือกการรักษาสุดท้าย ในกรณีที่ไตของผู้ป่วยได้รับความเสียหายหรือผิดปกติจนไม่สามารถเก็บไว้ในร่างกายได้อีก
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยยังสามารถมีสุขภาพที่แข็งแรงยืนยาวได้ ถึงแม้จะต้องผ่าตัดนำไตข้างหนึ่งออก แต่ในบางรายก็อาจมีปัญหาด้านสุขภาพเกิดขึ้นหลังผ่าตัดนำไตออกได้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไตเรื้อรัง ทั้งนี้ต้องปรึกษาแพทย์ รวมทั้งเข้ารับคำแนะนำถึงผลข้างเคียงโดยละเอียด
ขั้นตอนการผ่าตัดไตออกแบบส่องกล้อง
- วิสัญญีแพทย์วางยาสลบผู้ป่วย
- แพทย์ผ่าเปิดรูแผลขนาดเล็กบริเวณหน้าท้อง หรือเอวผู้ป่วย
- แพทย์สอดกล้องผ่าตัดเข้าไปด้านในแผล ตามด้วยท่อขนาดเล็กสำหรับปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อขยายช่องท้องผู้ป่วย เปิดพื้นที่ในการผ่าตัดให้แพทย์ผ่าตัดได้สะดวกยิ่งขึ้น
- แพทย์สอดครื่องมือผ่าตัดเข้าไปในรูแผลเพื่อผ่านำไตออกจากร่างกาย
- ในบางกรณี แพทย์อาจผ่าตัดนำต่อมหมวกไต ท่อไต ต่อมน้ำเหลือง หรือเนื้อเยื่อ อวัยวะอื่นๆ ข้างเคียงที่ได้รับผลกระทบจากโรคเกี่ยวกับไตที่ผู้ป่วยเป็นออกมาด้วย
- ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากช่องท้อง และเย็บปิดแผล
- แพทย์จะคาสายสวนปัสสาวะไว้ให้ผู้ป่วยอีกประมาณ 2 วัน รวมถึงใส่สายระบายของเหลวในแผลเอาไว้
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดไตออก
- ผู้ป่วยแจ้งประวัติสุขภาพ ประวัติโรคประจำตัว ยาประจำตัว รวมถึงวิตามินเสริม สมุนไพรเสริมสุขภาพทุกชนิดให้แพทย์ทราบล่วงหน้า
- ผู้ป่วยต้องตรวจสุขภาพ ตรวจดูค่าไตตามที่แพทย์สั่งให้เรียบร้อยเสียก่อน
- งดยาที่อยู่ในกลุ่มยาละลายลิ่มเลือด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ตามระยะเวลาที่แพทย์สั่ง
- งดน้ำและงดอาหารล่วงหน้าอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด
- งดทาเล็บ ทำเล็บ งดทาผลิตภัณฑ์บำรุงผิว งดแต่งหน้าก่อนเข้ารับการผ่าตัด
- พาญาติมาด้วยในวันผ่าตัด เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกระหว่างพักฟื้นที่โรงพยาบาล
การดูแลตนเองหลังผ่าตัดไตออก
- แพทย์จะให้ผู้ป่วยนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลต่ออีกปรมาณ 1-2 วัน
- ในวันถัดมาหลังผ่าตัด แพทย์จะพยายามให้ผู้ป่วยลุกเดินโดยเร็วที่สุด เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด รวมถึงป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
- หลีกเลี่ยงไม่ให้แผลโดนน้ำ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ส่วนการอาบน้ำ ในกรณีที่ทางสถานพยาบาลปิดแผลแบบกันน้ำให้ ผู้ป่วยสามารถอาบน้ำได้ แต่ต้องรีบซับให้แห้งหลังอาบเสร็จ และยังต้องระวังอย่าให้แผลเปียกชื้น
- งดยกของหนัก งดออกกำลังกายอย่างหนักเป็นเวลาอย่างน้อย 4-6 สัปดาห์ หรือตามระยะเวลาที่แพทย์แนะนำ
- งดว่ายน้ำ งดแช่น้ำจนกว่าแพทย์จะอนุญาต
- งดการเล่นกีฬาที่มีการกระแทก เช่น ฟุตบอล เทควันโด ชกมวย ฮ็อกกี้ เนื่องจากอาจทำให้ไตส่วนที่เหลืออยู่ได้รับบาดเจ็บได้
- กินอาหารรสเค็ม รสจัด และที่มีโซเดียมสูงในปริมาณน้อย รวมถึงดื่มน้ำให้เพียงพอทุกวัน
- โดยส่วนมากผู้ป่วยมักจะใช้ระยะเวลาฟื้นตัวประมาณ 1-2 เดือน หลังจากนั้นแพทย์จะพิจารณาให้สามารถกลับไปดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
- กินยาตามที่แพทย์สั่งจ่ายอย่างเคร่งครัด
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัดไตออก
หากเลือกผ่าตัดไตออกแบบส่องกล้อง โอากาสเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายหลังผ่าตัดมักจะมีน้อย อย่างไรก็ตาม ในทุกการผ่าตัดย่อมมีความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงบางประการได้ โดยกรณีที่อาจพบได้ ได้แก่
- อาการปวดเจ็บแผล
- ภาวะแผลติดเชื้อ
- ภาวะเลือดออกจากแผล
- ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
- ภาวะไส้เลื่อน
- เซลล์มะเร็งกลับมาโตเพิ่ม ในกรณีที่ผ่าตัดเนื่องจากโรคมะเร็งไต
- ภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้เมื่อไตลดประสิทธิภาพการทำงานลง
- อัตราการกรองของเสียของไตลดประสิทธิภาพลง
- สารโปรตีนในปัสสาวะมีปริมาณสูง
ราคาการผ่าตัดไตออก
ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดไตออกจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการให้บริการในแต่ละสถานพยาบาล รวมถึงเทคนิคการผ่าตัดที่เลือกใช้
เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เป็นโรคเกี่ยวกับไตจนถึงขั้นต้องผ่านำไตออก เราควรดูแลรักษาสุขภาพไตตั้งแต่วันนี้ ด้วยการดื่มน้ำให้เพียงพอ งดการกินอาหารรสเค็มหรือที่มีโซเดียมสูงในปริมาณมาก รักษาน้ำหนักตัวไม่ให้เกินเกณฑ์
หากเมื่อไรที่รู้สึกถึงความผิดปกติเกี่ยวข้องกับการปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะมีเลือดปน ปัสสาวะแสบขัด ปวดปัสสาวะบ่อยอย่างผิดสังเกต ร่วมกับมีอาการปวดเอว บั้นเอว มีไข้ อ่อนเพลียง่าย เบื่ออาหาร คลำพบก้อนนูนที่เอว ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและวางแผนการรักษาต่อไป
เป็นโรคเกี่ยวกับไต โรคในทางเดินปัสสาวะ อยากปรึกษาวิธีรักษาที่เห็นผล ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคไต จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย