การตัดสินใจเสริมหน้าอกไม่ใช่เลือกแค่ “ขนาดซิลิโคน” หรือ “พื้นผิวซิลิโคน” เท่านั้น แต่ต้องให้ความสำคัญกับตำแหน่งในการวางซิลิโคนด้วย เพราะส่งผลต่อรูปร่าง ความรู้สึก และผลลัพธ์ระยะยาว โดยเทคนิคที่นิยมที่สุดมี 2 แบบคือ การวางซิลิโคนเหนือกล้ามเนื้อ และใต้กล้ามเนื้อ นอกจากนี้ยังมีเทคนิคกึ่งใต้กล้ามเนื้อด้วย
หลายคนอาจสงสัยว่าแต่ละวิธีแตกต่างกันอย่างไร แบบไหนเจ็บน้อยกว่า ฟื้นตัวไวกว่า หรือแบบไหนสวยธรรมชาติมากกว่ากัน บทความนี้จะพามาทำความเข้าใจอย่างละเอียด เพื่อให้คุณสามารถตัดสินใจได้อย่างมั่นใจว่า รูปแบบไหนเหมาะกับคุณมากที่สุด
สารบัญ
วางซิลิโคนเหนือกล้ามเนื้อ (Subglandular Placement)
การวางซิลิโคนเหนือกล้ามเนื้อ คือการใส่ซิลิโคนไว้ใต้เนื้อเต้านม แต่ยังอยู่ “เหนือกล้ามเนื้อหน้าอก” ซึ่งเป็นชั้นที่ตื้นกว่า ทำให้เป็นวิธีที่แพทย์สามารถผ่าตัดได้ง่ายกว่า ใช้เวลาน้อย ไม่กระทบโครงสร้างกล้ามเนื้อโดยตรง จึงส่งผลให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วกว่าแบบใต้กล้ามเนื้อ
ข้อดีของการวางซิลิโคนเหนือกล้ามเนื้อ
- ผ่าตัดง่าย ใช้เวลาน้อย เนื่องจากไม่ต้องแหวกผ่านชั้นกล้ามเนื้อ การผ่าตัดจึงรวดเร็วและซับซ้อนน้อยกว่า
- ฟื้นตัวเร็ว เจ็บน้อย ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วกว่าการวางซิลิโคนใต้กล้ามเนื้อ เนื่องจากไม่มีบาดแผลในชั้นกล้ามเนื้อ
- ได้หน้าอกทรงกลมสวย สำหรับผู้ที่มีเนื้อเต้านมอยู่แล้ว จะช่วยให้ซิลิโคนถูกห่อหุ้มอย่างพอดี ทำให้หน้าอกดูเนียนกลืนกับร่างกาย
- เหมาะสำหรับผู้มีเวลาพักฟื้นไม่นาน เช่น ผู้ที่มีงานประจำไม่สามารถลางานได้นาน เป็นต้น
ข้อเสียของการวางซิลิโคนเหนือกล้ามเนื้อ
- เห็นขอบซิลิโคนง่าย โดยเฉพาะในคนที่มีผิวบางหรือเนื้อหน้าอกน้อย ซิลิโคนอาจดูหลอก หรือมีลักษณะเป็นคลื่นๆ
- เสี่ยงพังผืดสูง การวางซิลิโคนตื้น ทำให้ร่างกายมีโอกาสสร้างพังผืดหุ้มถุงซิลิโคนมากกว่า และอาจเกิดการบีบรัดซิลิโคนจนแข็ง หรือผิดรูป
- หย่อนคล้อยเร็วในระยะยาว หากใช้ซิลิโคนขนาดใหญ่โดยไม่มีเนื้อเต้านมมากพอ ซิลิโคนจะขาดแรงพยุง อาจเกิดการคล้อยลงเร็วกว่าปกติ
- ไม่สามารถให้นมบุตรได้ มีโอกาสที่ซิลิโคนจะไปกดหรือปนเปื้อนในบริเวณต่อมน้ำนม ทำให้ไม่เหมาะกับผู้ที่มีแผนมีบุตรในอนาคต
เหมาะกับใคร
- ผู้ที่มีเนื้อหน้าอกอยู่แล้วพอสมควร
- ผู้ที่ต้องการฟื้นตัวเร็ว และเจ็บน้อย
- ผู้ที่ไม่ต้องการเสริมหน้าอกขนาดใหญ่มาก
- ผู้ที่ไม่กังวลเรื่องการให้นมบุตรในอนาคต
วางซิลิโคนใต้กล้ามเนื้อ (Submuscular Placement)
การวางซิลิโคนใต้กล้ามเนื้อ หมายถึง การใส่ซิลิโคนไว้ใต้กล้ามเนื้อหน้าอก ทำให้เนื้อและกล้ามเนื้อช่วยรองรับซิลิโคนเอาไว้ เป็นเทคนิคที่ให้ผลลัพธ์ดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น เหมาะสำหรับผู้ที่มีเนื้อหน้าอกน้อยหรือรูปร่างผอม อย่างไรก็ตาม เทคนิคนี้ถือว่าเป็นเทคนิคที่ซับซ้อน ต้องอาศัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ
ข้อดีของการวางซิลิโคนใต้กล้ามเนื้อ
- หน้าอกดูเป็นธรรมชาติ ซิลิโคนจะถูกกล้ามเนื้อคลุมไว้ ช่วยให้เห็นขอบไม่ชัด และเนินอกไล่ระดับแบบธรรมชาติ
- ลดโอกาสเกิดพังผืด กล้ามเนื้อช่วยลดแรงกดบนผิวหนังที่สัมผัสกับซิลิโคนโดยตรง จึงมีโอกาสเกิดพังผืดน้อยกว่า
- ลดโอกาสเคลื่อนผิดตำแหน่ง กล้ามเนื้อทำหน้าที่พยุงซิลิโคนได้ดี ซิลิโคนจึงไม่เคลื่อนไปจากตำแหน่งเดิมง่ายๆ
- ไม่เห็นขอบซิลิโคนแม้ในคนผอม เหมาะมากสำหรับผู้ที่ไม่มีเนื้อหน้าอก เพราะช่วยซ่อนขอบซิลิโคนได้ดี
ข้อเสียของการวางซิลิโคนใต้กล้ามเนื้อ
- ผ่าตัดซับซ้อน เจ็บมากกว่า แพทย์ต้องมีความชำนาญสูง ใช้เวลาผ่าตัดนาน และการฟื้นตัวจะช้ากว่าแบบเหนือกล้ามเนื้อ อาจต้องรอหน้าอกเข้าที่นานมากถึง 6 เดือน
- เสี่ยงภาวะเต้านมซ้อน หากกล้ามเนื้อรัดแน่นผิดตำแหน่ง หรือแพทย์ไม่มีความชำนาญ อาจเกิดปัญหาเต้านมสองชั้นหรือหัวนมชี้ลงได้
- เจ็บช่วงกล้ามเนื้อขยับ ในบางกรณีเมื่อเกร็งกล้ามเนื้อ ซิลิโคนอาจเคลื่อนเล็กน้อยจนเห็นขอบได้
เหมาะกับใคร
- ผู้ที่มีเนื้อหน้าอกน้อยหรือรูปร่างผอม
- ผู้ที่ต้องการผลลัพธ์ที่ดูเป็นธรรมชาติ
- ผู้ที่ต้องการให้นมบุตรในอนาคต
- ผู้ที่ต้องการลดความเสี่ยงพังผืดและการหย่อนคล้อยในระยะยาว
วางซิลิโคนกึ่งใต้กล้ามเนื้อ (Dual Plane)
สำหรับผู้ที่ยังลังเลระหว่างสองเทคนิค ยังมีอีกหนึ่งทางเลือกคือ การวางซิลิโคนแบบ Dual Plane คือการผ่าตัดเพื่อวางซิลิโคนไว้ในตำแหน่ง “ใต้กล้ามเนื้อส่วนบน” และ “เหนือกล้ามเนื้อส่วนล่าง” ซึ่งเป็นการรวมข้อดีของทั้งสองเทคนิค คือแบบ เหนือกล้ามเนื้อ และ ใต้กล้ามเนื้อ เข้าด้วยกัน หรือเรียกง่ายๆ คือ ส่วนบนซิลิโคนถูกกล้ามเนื้อคลุม ส่วนล่างปล่อยให้พริ้วตามเนื้อเต้านม
เทคนิคนี้เหมาะกับผู้ป่วยมีเนื้อหน้าอกน้อย แต่ยังอยากได้ความพริ้วของหน้าอกที่ดูเป็นธรรมชาติ รวมถึงต้องการลดโอกาสเกิดพังผืดและการเห็นขอบซิลิโคนชัดเกินไป
ข้อดีของการวางซิลิโคนกึ่งใต้กล้ามเนื้อ
- ได้ผลลัพธ์ที่ดูเป็นธรรมชาติ เทคนิคนี้จะช่วยให้หน้าอกมีความพริ้วและเป็นธรรมชาติ เวลาเคลื่อนไหวหรือเปลี่ยนท่า
- ลดการเห็นขอบซิลิโคน ในผู้หญิงที่เนื้อหน้าอกบาง หรือรูปร่างผอม เทคนิคนี้จะช่วยลดโอกาสเห็นขอบซิลิโคนหรือเกิดคลื่นบริเวณเนินอก เพราะกล้ามเนื้อช่วยคลุมด้านบนไว้ ทำให้ไม่เห็นรอยต่อแข็งๆ ที่มักเกิดกับเทคนิคเหนือกล้ามเนื้อ
- ลดโอกาสพังผืดรัดเต้านม พังผืดหรือ “Capsular Contracture” เป็นหนึ่งในภาวะแทรกซ้อนที่ผู้หญิงกลัวมากที่สุด เพราะทำให้หน้าอกแข็ง ผิดรูป และอาจต้องผ่าตัดซ้ำ ซึ่งการวางซิลิโคนใต้กล้ามเนื้อบางส่วน (โดยเฉพาะด้านบน) จะช่วยลดแรงเสียดทานของผิวซิลิโคนกับเนื้อเยื่อโดยตรง จึงลดความเสี่ยงการเกิดพังผืดได้อย่างมีนัยสำคัญ
- ยืดหยุ่นกับสรีระ แพทย์สามารถปรับระดับการแยกชั้นของกล้ามเนื้อได้ตามสรีระของแต่ละคน เช่น หากเนื้อหน้าอกมีน้อยมาก แพทย์อาจคลุมกล้ามเนื้อให้ลึกขึ้น หรือหากมีเนื้อพอสมควร แพทย์อาจปล่อยให้ส่วนล่างของซิลิโคนพริ้วไปตามธรรมชาติ
- สามารถให้นมบุตรได้ในอนาคต เพราะการวางซิลิโคนไม่ได้รบกวนต่อมน้ำนมโดยตรงเหมือนแบบเหนือกล้ามเนื้อ จึงยังสามารถให้นมบุตรได้หากวางอย่างถูกวิธีและอยู่ภายใต้การดูแลของศัลยแพทย์
เหมาะกับใคร
- ผู้ที่มีเนื้อหน้าอกบาง แต่ยังต้องการผลลัพธ์ที่ดูเป็นธรรมชาติ
- ผู้ที่กังวลเรื่องพังผืดในระยะยาว
- ผู้ที่วางแผนมีลูกในอนาคต และต้องการให้นมบุตรได้
- ผู้ที่ไม่อยากพักฟื้นนานแบบใต้กล้ามล้วน แต่ก็ไม่อยากเสี่ยงเรื่องหย่อนคล้อยแบบเหนือกล้ามล้วน
การเลือกตำแหน่งวางซิลิโคนที่เหมาะสมไม่ใช่แค่เรื่องความสวยงามเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงสุขภาพในระยะยาว ความสบายตัว และความมั่นใจในชีวิตประจำวันอีกด้วย หากคุณยังลังเล แนะนำให้ปรึกษาศัลยแพทย์เฉพาะทาง เพื่อประเมินสรีระอย่างละเอียด และเลือกเทคนิคที่ใช่ที่สุดสำหรับคุณ
ผ่าตัดเสริมหน้าอกด้วยเทคนิคไหนดี? วิธีไหนเสี่ยงน้อย แต่ได้ผลลัพธ์ดีที่สุดสำหรับเรา? นัดคุยกับคุณหมอเฉพาะทาง ผ่านทีม HDcare สะดวกรวดเร็ว ทันใจ หรือค้นหาแพ็กเกจผ่าตัดเสริมหน้าอก จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย