Default fallback image

ทำบอลลูนหัวใจ วิธีดูแลตัวเอง ข้อห้าม ผลข้างเคียง ราคา

ทำบอลลูนหัวใจที่ขา ใส่ Stent หัวใจ ต่างจากการบายพาสหัวใจอย่างไร ก่อนและหลังผ่าตัดต้องดูแลตัวเองอย่างไร มีเพศสัมพันธ์ได้ไหม ตั้งครรภ์ได้หรือเปล่า สารพัดคำถามเกี่ยวกับการทำบอลลูนหัวใจ บทความนี้มีตอบให้คุณ

สารบัญ

1. การทำบอลลูนหัวใจ กับ บายพาสหัวใจต่างกันอย่างไร

ตอบ: การทำบอลลูนหัวใจ (PCI) และการผ่าตัดบายพาสหัวใจเป็นวิธีรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่มีความแตกต่างกันในแง่ของวิธีการและการฟื้นตัว

  1. การทำบอลลูนหัวใจ (PCI) เป็นวิธีการขยายหลอดเลือดหัวใจที่ตีบ โดยการใส่สายสวนผ่านหลอดเลือดที่ขาหนีบหรือข้อมือ แล้วใช้บอลลูนขยายหลอดเลือด จากนั้นใส่ขดลวด (Stent) เพื่อช่วยให้หลอดเลือดเปิดกว้างและไหลเวียนของเลือดดีขึ้น วิธีนี้มีความสะดวกและฟื้นตัวได้เร็ว ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถกลับไปทำกิจกรรมปกติภายใน 1-2 สัปดาห์
  2. การผ่าตัดบายพาสหัวใจ เป็นการผ่าตัดใหญ่ที่ใช้การต่อหลอดเลือดจากส่วนอื่นของร่างกายมาเชื่อมต่อหลอดเลือดหัวใจที่ตีบหรืออุดตัน เพื่อให้เลือดไหลเวียนไปยังหัวใจได้ดีขึ้น วิธีนี้มักใช้ในผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดตีบมากหรือหลายตำแหน่ง โดยการฟื้นตัวอาจใช้เวลานานกว่าการทำบอลลูนหัวใจ โดยปกติแล้วใช้เวลาประมาณ 6-12 สัปดาห์ในการฟื้นฟู

2. การทำบอลลูนหัวใจเหมาะกับใคร

ตอบ: การทำบอลลูนหัวใจและใส่ขดลวด เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการดังต่อไปนี้

  • ผู้ที่มีอาการเจ็บหน้าอกบ่อยๆ มักเกิดจากการขาดออกซิเจนไปยังกล้ามเนื้อหัวใจ
  • ผู้ที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดภาวะหัวใจวาย
  • ผู้ที่ตรวจพบการตีบของหลอดเลือดหัวใจ 
  • ผู้ที่รักษาด้วยยาแล้วไม่เห็นผล ผู้ป่วยบางราย แม้จะได้รับการรักษาด้วยยาแล้ว แต่ยังคงมีอาการเจ็บหน้าอก หรือมีความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจวาย ที่ไม่สามารถควบคุมได้ด้วยการใช้ยาเพียงอย่างเดียว แพทย์อาจแนะนำให้ทำบอลลูนหัวใจ
  • ผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อนจากหลอดเลือดหัวใจตีบ เช่น ภาวะหัวใจวายที่เกิดจากการตีบของหลอดเลือดหัวใจที่สำคัญ ซึ่งไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีการอื่น

3. ทำบอลลูนหัวใจราคาเท่าไหร่

ตอบ: การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและการใส่ขดลวด ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 100,000 บาท ขึ้นอยู่กับสถานพยาบาลและจำนวนขดลวดที่ใช้

ทำบอลลูนหัวใจต้องเตรียมตัวอย่างไร มีความเสี่ยงไหม? ขอความเห็นจากแพทย์ผู้เฉพาะทาง เพื่อเลือกวิธีที่เหมาะกับเรามากที่สุด ติดต่อทีม HDcare ช่วยทำนัดเข้าปรึกษาคุณหมอ  หาแพ็กเกจราคาดีใกล้คุณได้ ที่นี่

4. ก่อนทำบอลลูนหัวใจ ต้องเตรียมตัวอย่างไร

ตอบ: การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการรักษาเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. ตรวจประเมินความเสี่ยงตามแพทย์แนะนำ 
  2. แจ้งประวัติโรคประจำตัว ยาที่รับประทานเป็นประจำ การแพ้ยา แพ้อาหาร และผลการตรวจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้แพทย์ทราบโดยละเอียด 
  3. งดการสูบบุหรี่อย่างน้อย 3-6 สัปดาห์ก่อนทำบอลลูนหัวใจ
  4. แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด เช่น แอสไพริน หรือ โคลพิโดเกรล 5-7 วันก่อนเข้ารับการรักษา
  5. งดรับประทานอาหารและดื่มน้ำอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง ก่อนทำบอลลูนหัวใจ

5. การทำบอลลูนหัวใจมีขั้นตอนหรือวิธีการอย่างไร

ตอบ: ขั้นตอนการทำบอลลูนหัวใจและใส่ขดลวด PCI มีดังนี้

  1. แพทย์หรือพยาบาล ทำความสะอาดผิวหนังบริเวณขาหนีบหรือข้อมือ ที่จะทำการสอดสายสวนหัวใจ
  2. แพทย์จะให้ยาชาเฉพาะที่ เมื่อยาชาออกฤทธิ์ จึงเปิดแผลขนาดเล็กบริเวณขาหนีบหรือข้อมือ 
  3. ใส่สายสวนหัวใจชนิดพิเศษเข้าไปในหลอดเลือด แล้วฉีดสารทึบรังสี เพื่อดูว่าหลอดเลือดส่วนไหนที่ตีบแคบ พร้อมประเมินความรุนแรง
  4. จากนั้นแพทย์จะสอดสายสวนหัวใจที่มีบอลลูนติดปลายเข้าไปตรงจุดที่ตีบแคบ ซึ่งบอลลูนจะถูกหุ้มด้วยขดลวดตาข่าย (Stent) ที่เคลือบตัวยาช่วยป้องกันการตีบซ้ำของหลอดเลือดหัวใจไว้ 
  5. เมื่อได้ตำแหน่งที่ต้องการ จึงใช้เครื่องมือขยายบอลลูนให้พองขึ้น เพื่อเปิดหลอดเลือดที่ตีบแคบให้กว้างขึ้น 
  6. จากนั้นทำบอลลูนให้แฟ่บเหมือนเดิม แล้วดึงสายสวนออกมาพร้อมกับบอลลูน แต่ขดลวดตาข่ายจะยังคงทำหน้าที่ค้ำยันหลอดเลือดเอาไว้อยู่ 
  7. จากนั้นฉีดสารทึบรังสี เพื่อประเมินผลการขยายหลอดเลือดหัวใจอีกครั้ง

ตลอดกระบวนการทำบอลลูน ใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง และหลังทำเสร็จผู้ป่วยจะต้องพักฟื้นในโรงพยาบาลประมาณ 1-2 วัน เพื่อติดตามอาการ

6. หลังผ่าตัดทำบอลลูนหัวใจ มีวิธีดูแลตัวเองอย่างไร

ตอบ: หลังจากทำบอลลูนหัวใจแล้ว แพทย์มักจะแนะนำให้ดูแลตัวเอง ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการยกของหนัก การออกแรงมาก และการนั่งงอข้อสะโพก ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก
  • รับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะยาต้านเกร็ดเลือด (Clopidogrel) ซึ่งต้องรับประทานอย่างน้อย 1 เดือน เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในขดลวด
  • พกยาอมใต้ลิ้นติดตัวตลอดเวลา เมื่อเกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอกให้หยิบมาอมทันที หากอมแล้วอาการไม่ดีขึ้น ให้ไปพบแพทย์ทันที
  • ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต เช่น หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง อาหารรสเค็ม และแอลกอฮอล์ หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ และลดความเครียด
  • ตรวจสุขภาพตามนัดและรายงานอาการผิดปกติให้แพทย์ทราบทันที

7. ผลลัพธ์ระยะยาวจากการทำบอลลูนหัวใจเป็นอย่างไร

ตอบ: หลังการทำบอลลูนหัวใจและใส่ขดลวด หากผู้ป่วยดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม ผลลัพธ์ระยะยาวจะดีขึ้น ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่จำเป็นต้องติดตามอาการ และเข้ารับการตรวจสุขภาพตามคำแนะนำของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

8. ผลข้างเคียงจากการทำบอลลูนหัวใจ มีอะไรบ้าง

ตอบ: การทำบอลลูนหัวใจมีผลข้างเคียงที่พบได้ ดังนี้

  • ความเสี่ยงทั่วไปที่พบได้จากการผ่าตัด เช่น การติดเชื้อ อักเสบ แพ้ยาชา เลือดออก
  • รู้สึกปวดบริเวณที่ใส่สายสวนหัวใจ
  • อาการแทรกซ้อนอื่นๆ ซึ่งพบได้น้อยมาก ได้แก่ แพ้สารทึบแสง อาจส่งผลให้เกิดภาวะช็อกได้ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหลอดเลือดหัวใจ หรือกล้ามเนื้อหัวใจทะลุระหว่างสอดสายสวนหัวใจ หรือภาวะลิ่มเลือดอุดตันสมอง

9. หลังทำบอลลูนหัวใจออกกำลังกายได้เมื่อไหร่

ตอบ: หลังการทำบอลลูนหัวใจ ผู้ป่วยควรงดการออกกำลังกายหนักในช่วง 2 สัปดาห์แรก ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายยังคงฟื้นตัว แพทย์อาจแนะนำให้ออกกำลังกายเบาๆ เช่น การเดิน เพื่อกระตุ้นระบบไหลเวียนเลือด โดยควรเลี่ยงการยกของหนัก หรือการออกกำลังอย่างหักโหมในช่วงนี้

หลังจาก 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยสามารถเริ่มออกกำลังกายในระดับเหนื่อยพอควรได้ โดยการออกกำลังกายที่เหมาะสม เช่น การเดินเร็ว ว่ายน้ำ หรือปั่นจักรยาน เป็นเวลา 30 นาทีต่อวัน และ อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มโปรแกรมการออกกำลังกาย แพทย์อาจแนะนำการทดสอบสมรรถภาพหัวใจ (Stress Test) ก่อน เพื่อความปลอดภัย

10. หลังทำบอลลูนหัวใจ ขับรถเองได้เมื่อไหร่

ตอบ:  หลังจากการทำบอลลูนหัวใจ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการขับรถด้วยตัวเอง รวมทั้งการเดินทางไกลในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน หากจำเป็นต้องนั่งรถเพื่อเดินทางไกล ควรปรึกษาแพทย์ และพักเป็นระยะ เพื่อหลีกเลี่ยงการนั่งนานเกินไป

11. หลังทำบอลลูนหัวใจกลับไปทำงานได้เมื่อไหร่

ตอบ: หลังการทำบอลลูนหัวใจ ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถกลับไปทำงานได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับลักษณะของงานและการฟื้นตัวของร่างกาย หากเป็นงานเบาหรือไม่ต้องใช้แรงมาก สามารถเริ่มทำงานได้เร็วขึ้น แต่หากเป็นงานที่ต้องใช้แรงหรือมีความเครียดสูง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินความพร้อมของร่างกายก่อนกลับไปทำงาน

12. หลังทำบอลลูนหัวใจ มีเพศสัมพันธ์ได้ไหม

ตอบ: หลังจากการทำบอลลูนหัวใจ ผู้ป่วยสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ แต่ควรให้ร่างกายฟื้นตัวเต็มที่ก่อน โดยทั่วไปแล้วสามารถกลับมามีเพศสัมพันธ์ได้ภายใน 2-4 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของแต่ละคน และคำแนะนำจากแพทย์

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการผิดปกติ เช่น เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะในขณะมีเพศสัมพันธ์ ผู้ป่วยควรนอนพักนิ่งๆ บนเตียง หากจำเป็นต้องเคลื่อนไหว ให้ทำอย่างช้าๆ หากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบพบแพทย์ทันที

13. หลังทำบอลลูนหัวใจสามารถตั้งครรภ์ได้ไหม

ตอบ: การตั้งครรภ์หลังทำบอลลูนหัวใจสามารถทำได้ แต่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ เนื่องจากผู้ป่วยที่ผ่านการรักษาหลอดเลือดหัวใจ อาจต้องใช้ยาต้านเกล็ดเลือด ซึ่งอาจมีผลต่อทารก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการตั้งครรภ์ และตรวจสอบความพร้อมของร่างกาย รวมทั้งปรับยาที่ใช้ให้เหมาะสม

นอกจากนี้ ระหว่างการตั้งครรภ์ ควรเฝ้าระวังอาการและตรวจเช็กหัวใจอย่างสม่ำเสมอ 

14. หลังทำบอลลูนหัวใจควรกินอาหารแบบไหน

ตอบ: หลังทำบอลลูนหัวใจ ควรเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวและป้องกันการตีบซ้ำของหลอดเลือด ควรเน้นการรับประทานผักและผลไม้หลากสี โปรตีนไขมันต่ำจากปลาและไก่ และธัญพืชเต็มเมล็ด เช่น ข้าวกล้องและขนมปังโฮลเกรน เพื่อเพิ่มเส้นใยอาหาร

นอกจากนี้ ควรลดการบริโภคไขมันอิ่มตัว น้ำตาล และเกลือ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ รวมทั้งดื่มน้ำให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยเสริมสร้างสุขภาพหัวใจให้ดีขึ้น

15. หลังทำบอลลูนหัวใจต้องหยุดสูบบุหรี่ไหม

ตอบ: ผู้ป่วยควรหยุดสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด เนื่องจากการสูบบุหรี่ทำให้เส้นเลือดตีบซ้ำได้เร็วขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจซ้ำอีกครั้ง นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั่วไปอย่างรุนแรง

เชื่อว่าข้อมูลเกี่ยวกับการทำบอลลูนหัวใจที่นำมาฝากในบทความนี้ น่าจะช่วยให้หลายคนหายคาใจและหมดกังวลเกี่ยวกับการรักษาโรคหัวใจแล้ว

ทำบอลลูนหัวใจที่ไหนดี? มีขั้นตอนอย่างไร? นัดคุยกับคุณหมอเฉพาะทาง ผ่านทีม HDcare สะดวกรวดเร็ว ทันใจ หรือค้นหาแพ็กเกจรักษาโรคหัวใจ จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top