9 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการตรวจถุงน้ำรังไข่ เนื้องอกรังไข่ ท่อนำไข่ scaled

9 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการตรวจถุงน้ำรังไข่ เนื้องอกรังไข่ ท่อนำไข่

คุณกำลังกังวลว่าจะป่วยเป็นโรคถุงน้ำรังไข่ เนื้องอกรังไข่ และท่อนำไข่อยู่หรือเปล่า? สงสัยใช่ไหมว่าการตรวจมีกี่วิธี เจ็บไหม ควรเลือกวิธีไหนดี ชวนคุณมาคลายความสงสัยกันในบทความนี้

1. ตรวจภาวะถุงน้ำในรังไข่ เมื่อไร่ควรตรวจ การตรวจมีกี่วิธี?

ตอบ: หากพบอาการผิดปกติ เช่น มีอาการปวดท้องน้อยและมักปวดช่วงมีประจำเดือน หน้าท้องโตขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือคลำพบก้อนบริเวณหน้าท้อง อาจเป็นสัญญาณของโรคถุงร้ำรังไข่ ซึ่งแพทย์สามารถตรวจได้ 3 วิธีหลักๆ ได้แก่ 

การตรวจภายใน เป็นการตรวจพื้นฐาน สามารถสังเกตความผิดปกติทั้งบริเวณปากมดลูก โพรงมดลูก ท่อนำไข่ รวมทั้งรังไข่ด้วย แต่ไม่สามารถระบุรายละเอียดความผิดปกติของก้อนหรือถุงน้ำได้ชัดเจนนัก

การตรวจอัลตราซาวด์หน้าท้องส่วนล่าง จะช่วยให้เห็นความผิดปกติ รวมทั้งประเมินลักษณะรวมทั้งขนาดของก้อนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น วิธีนี้มักใช้ในการตรวจสุขภาพทั่วไป หรือในผู้ป่วยเด็กหรือยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ 

การตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอดหรือทางทวารหนัก เป็นวิธีที่สามารถทำให้เห็นภาพภายในได้ชัดเจนที่สุด ส่วนใหญ่จะใช้ในกรณีที่แพทย์ต้องการผลตรวจที่ชัดเจน และแม่นยำยิ่งขึ้น เนื่องจากหัวตรวจสามารถเข้าไปใกล้บริเวณมดลูกและรังไข่ได้มากกว่าการตรวจผ่านทางหน้าท้อง

ถุงน้ำในรังไข่ คืออะไร สาเหตุ อาการ ความผิดปกติ วิธีรักษา ป้องกัน ครบ จบในที่เดียว อ่านพิ่มเติม คลิก 

2. การตรวจถุงน้ำรังไข่ด้วยการตรวจอัลตราซาวด์ เจ็บไหม?

ตอบ: การตรวจภาวะถุงน้ำที่รังไข่ มี 2 วิธี คือ การตรวจอัลตราซาวด์หน้าท้องส่วนล่างและการตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอดหรือทางทวารหนัก ซึ่งทั้ง 2 วิธีไม่ได้ทำให้รู้สึกเจ็บ แต่อาจระคายเคืองเล็กน้อย มีรายละเอียดดังนี้

การตรวจอัลตราซาวด์หน้าท้องส่วนล่าง ก่อนตรวจผู้รับบริการควรดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อย 500 มิลลิลิตรและกลั้นปัสสาวะไว้ ซึ่งจะช่วยให้เห็นมดลูกและรังไข่ได้ชัดเจน จากนั้นเจ้าหน้าที่หรือแพทย์จะทาเจลเย็นๆ บริเวณหน้าท้องส่วนล่าง และใช้หัวตรวจอัลตราซาวด์ แนบกับหน้าท้องและเคลื่อนหัวตรวจไปเรื่อยๆ เพื่อค้นหาความผิดปกติ ซึ่งระหว่างตรวจจะรู้สึกเย็นๆ บริเวณที่หัวตรวจสัมผัสเท่านั้น

การตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอดหรือทางทวารหนัก แพทย์จะให้ผู้รับบริการนอนหงายบนเตียงขาหยั่ง จากนั้นจะสอดหัวตรวจเข้าไปทางช่องคลอด เพื่อถ่ายภาพอวัยวะภายใน ซึ่งหัวตรวจนี้มีขนาดค่อนข้างเล็ก ประมาณนิ้วหัวแม่มือ คลุมด้วยถุงยางอนามัยและทาเจลหล่อลื่น 

ระหว่างตรวจจะไม่ได้รู้สึกเจ็บปวด บางรายอาจจะรู้สึกไม่สบายตัวเล็กน้อยขณะที่หัวตรวจอยู่ด้านใน

ในกรณีที่ผู้รับบริการยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ แพทย์จะแนะนำให้ตรวจผ่านทางทวารหนักแทน ซึ่งจะมีขั้นตอนที่คล้ายคลึงกัน

3. ตรวจอัลตราซาวด์รังไข่ ตรวจในช่วงมีประจำเดือนได้ไหม?

ตอบ: ไม่ได้ ควรตรวจก่อนหรือหลังมีประจำเดือนอย่างน้อย 7 วัน

4. ตรวจอัลตราซาวด์รังไข่ ต้องงดอาหารไหม?

ตอบ: ก่อนการตรวจอัลตราซาวด์รังไข่ ควรงดอาหารประมาณ 6-8 ชั่วโมง และควรดื่มน้ำอย่างน้อย 500 มิลลิลิตร แล้วกลั้นปัสสาวะไว้ เพื่อจะได้มองเห็นมดลูกและรังไข่ได้ชัดเจน

5. ตรวจอัลตราซาวด์รังไข่อันตรายไหม จะมีอาการแทรกซ้อนหรือไม่?

ตอบ: การตรวจอัลตราซาวด์ คือการใช้คลื่นเสียงความถี่สูง ซึ่งมีความปลอดภัยสำหรับผู้รับบริการ หลังตรวจเสร็จสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ

อยากตรวจอัลตราซาวด์รังไข่ราคาดี ทักหา HDcare ค้นหาแพ็กเกจตรวจอัลตราซาวด์ จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

6. ตรวจเนื้องอกในรังไข่มีกี่วิธี? 

ตอบ: การตรวจเนื้องอกรังไข่ มีหลายวิธี แต่ไม่จำเป็นต้องใช้ทุกวิธี ขึ้นอยู่กับแพทย์ประเมิน ว่าใช้วิธีไหนจึงจะเหมาะสมกับอาการและความรุนแรงของโรคมากที่สุด โดยการตรวจเนื้องอกในรังไข่ มี 7 วิธีหลักๆ ดังนี้

    1. การตรวจโดยใช้มือคลำบริเวณท้องน้อย เป็นการตรวจพื้นฐาน ใช้กรณีการตรวจสุขภาพทั่วไป หรือผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดท้องน้อย ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
    2. การตรวจภายใน ใช้ในการตรวจสุขภาพพื้นฐาน ตรวจสุขภาพประจำปี หรือแพทย์สงสัยว่าอาจมีความผิดปกติเกิดขึ้น
  • การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง ใช้ในการตรวจสุขภาพพื้นฐาน ตรวจสุขภาพประจำปี หรือกรณีที่แพทย์พบความผิดปกติจากการคลำหน้าท้อง หรือการตรวจภายในและต้องการทราบรายละเอียดที่ชัดเจนขึ้น เช่น พบก้อนที่สงสัยว่าเป็นเนื้องอก หรือถุงน้ำ
  • การตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอดหรือทางทวารหนัก ใช้ในกรณีที่แพทย์ต้องการผลตรวจที่ชัดเจน และแม่นยำ ซึ่งวิธีนี้จะเห็นภาพได้ชัดเจนกว่าการตรวจผ่านหน้าท้อง
  • การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) ส่วนใหญ่ใช้ในกรณีที่มีข้อบ่งชี้ เช่น พบว่ามีก้อนเนื้องอก จากการตรวจอัลตราซาวด์ แล้วต้องการเห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อนำมาวิเคราะห์ว่าเป็นก้อนเนื้อชนิดใด หรือใช้สำหรับตรวจติดตามอาการ โดยการทำ CT Scan สามารถเห็นรายละเอียดได้ชัดเจน สามารถสร้างเป็นภาพ 3 มิติ ได้ด้วย 
  • การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging : MRI) วิธีนี้จะช่วยให้เห็นภาพที่ละเอียด ชัดเจนที่สุด โดยจะทราบทั้ง จำนวนก้อน ขนาด ตำแหน่ง ลักษณะของก้อนและหลอดเลือดที่มาเลี้ยง ซึ่งจะช่วยทำให้การวางแผนการรักษาแม่นยำยิ่งขึ้น
  • การตรวจชิ้นเนื้อ หากพบว่ามีก้อนเนื้องอกในรังไข่จริง แพทย์จะเจาะชิ้นเนื้อออกมาตรวจวินิจฉัยว่ามีเซลล์มะเร็งหรือไม่ เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสม มักเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จะทำเพื่อยืนยันผลการวินิจฉัย

นอกจากนี้ยังสามารถตรวจคัดกรองมะเร็งรังไข่เบื้องต้น ด้วยการตรวจเลือดเพื่อดูสารมะเร็งรังไข่ CA-125 ได้ด้วย ซึ่งเป็นวิธีคัดกรองพื้นฐานที่สะดวก ไม่ยุ่งยาก และตรวจได้ทั้งคลินิกและ รพ. ทั่วไป

สอบถามแพ็กเกจตรวจเลือดเพื่อเช็กค่ามะเร็งได้ที่นี่ 

7. การตรวจท่อนำไข่ มีวิธีไหนบ้าง?

ตอบ: การตรวจความผิดปกติเกี่ยวกับท่อนำไข่นั้น ใช้วิธีการตรวจที่คล้ายคลึงกับการตรวจรังไข่ได้ เช่น การตรวจภายใน การตรวจอัลตราซาวด์ เป็นต้น

ส่วนใหญ่หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้องน้อย ประจำเดือนมาไม่ปกติ โดยมากแพทย์จะตรวจทั้งมดลูก รังไข่ และท่อนำไข่ไปพร้อมกันเพื่อดูความผิดปกติโดยภาพรวม

แต่การตรวจท่อนำไข่จะมีอีกหนึ่งวิธีที่เพิ่มเติมเข้ามาคือ การฉีดสีตรวจท่อนำไข่ (Hysterosalpingography: HSG) เพื่อตรวจประเมินลักษณะและความผิดปกติของโพรงมดลูก ภาวะท่อนำไข่ตีบตัน และความผิดปกติอื่นๆ ของท่อนำไข่

อยากตรวจท่อนำไข่ ว่าปกติดีไหม ตรวจที่ไหนได้บ้าง? ทักหาทีม HDcare ช่วยเลือกแพ็กเกจที่เหมาะกับคุณที่สุด คลิกเลย

8. การฉีดสีตรวจท่อนำไข่ คืออะไร เจ็บไหม ต้องทำเมื่อไหร่?

ตอบ: การฉีดสีตรวจท่อนำไข่ (HSG) คือการฉีดสารประกอบไอโอดีนเข้าทางปากมดลูก เข้าสู่โพรงมดลูก และท่อนำไข่ทั้งสองข้าง จากนั้นจะถ่ายภาพเอกซเรย์ เพื่อดูการไหลของสี ทำให้เห็นลักษณะมดลูก และท่อรังไข่ได้อย่างชัดเจน ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เช่น มีภาวะท่อนำไข่ตีบตัน เป็นต้น

การฉีดสีตรวจท่อนำไข่ ในผู้ที่ไม่มีความผิดปกติใดๆ จะไม่รู้สึกเจ็บ แต่ขณะที่แพทย์ฉีดสีอาจมีอาการปวดหน่วงๆ จากแรงดันภายในมดลูกได้ แต่หากมีภาวะท่อนำไข่ตีบตัน อาจจะรู้สึกปวดท้องได้ แต่ไม่นานก็จะหายไปเอง

โดยทั่วไปวิธีนี้ใช้สำหรับตรวจภาวะมีบุตรยาก ทำให้ทราบว่าต้นเหตุคืออะไร ซึ่งจะช่วยให้วางแผนรักษาได้อย่างตรงจุดที่สุด 

9. การฉีดสีตรวจท่อนำไข่ ต้องเตรียมตัวอย่างไร?

ตอบ: ข้อสำคัญของการฉีดสีตรวจท่อนำไข่คือ ผู้รับบริการต้องมั่นใจว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ เพราะการฉีดสีอาจทำให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้

ทั้งนี้ช่วงเวลาที่เหมาะสมมากที่สุดคือ หลังมีประจำเดือน 7-12 วัน โดยเริ่มนับจากวันที่ประจำเดือนมาวันแรก และควรงดการมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่วันที่ประจำเดือนหมดจนถึงวันที่ไปตรวจ

แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาแก้ปวดกลุ่ม NSAID เช่น lbuprofen (Brufen) ก่อนการตรวจ 30-60 นาที เพราะอาจจะรู้สึกปวดหน่วงๆ ระหว่างตรวจได้

ยังมีข้อสงสัยเพิ่มเติมใช่ไหม? ไม่รู้จะถามใครดี ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรค จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top