เมื่อพูดถึงโรคข้อเข่าเสื่อม หลายคนอาจมองว่าวิธีเดียวที่จะรักษาโรคนี้ได้คือการผ่าตัด ซึ่งบางคนอาจกังวลว่า จะต้องพักฟื้นนาน เจ็บ มีรอยแผลเป็นขนาดใหญ่ หรืออาจทำให้ไม่สามารถกลับมาเดินได้เป็นปกติ
แต่ความจริงแล้วการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมในปัจจุบันนั้นมีหลากหลายวิธี และไม่จำเป็นต้องผ่าตัดทันทีเสมอไป
มาดูพร้อมกันในบทความนี้ว่า การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมมีกี่วิธีบ้าง แล้วมีข้อดี ข้อจำกัด กลุ่มผู้ป่วยที่เหมาะแตกต่างกันอย่างไร
การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมสามารถจำแนกได้ 2 รูปแบบหลักๆ ได้แก่
- การรักษาแบบไม่ผ่าตัด
- การรักษาแบบผ่าตัด
1. วิธีรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมแบบไม่ผ่าตัด
การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยวิธีไม่ผ่าตัดสามารถใช้ได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับแพทย์ซึ่งจะเป็นผู้ประเมินว่าผู้ป่วยแต่ละรายควรเลือกใช้วิธีรักษาแบบใดจึงจะเหมาะสมที่สุด โดยวิธีในปัจจุบันที่นิยมใช้ ได้แก่
- การออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มความแข็งแรง ความทนทาน ความกระชับ รวมถึงความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อรอบข้อเข่า รวมถึงช่วยลดน้ำหนักและปริมาณไขมันในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่มีสาเหตุมาจากโรคอ้วน
- การทำกายภาพบำบัด เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อรอบหัวเข่า รวมถึงเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด การเกร็งของกล้ามเนื้อ การฝืดติดของข้อเข่า
- การใช้คลื่นอัลตราซาวด์ เป็นวิธีที่มักทำร่วมกับการทำกายภาพบำบัด โดยนักกายภาพบำบัดจะยิงคลื่นอัลตราซาวด์ซึ่งเป็นคลื่นเสียงความถี่สูงเข้าไปช่วยบรรเทาอาการปวด รวมถึงลดอาการการเกร็งและอาการอักเสบของเนื้อเยื่อที่ข้อเข่า
- การใช้ยา ซึ่งมีทั้งยากินและยาฉีดช่วยลดอาการปวด อาการอักเสบที่ข้อเข่า
- การใช้อุปกรณ์เสริม เช่น ผ้ารัดเข่า เฝือกพยุงเข่า เพื่อลดแรงกดและเสียดสีที่ข้อเข่า ทำให้อาการปวดช่วยบรรเทาลง รวมถึงเสริมความมั่นคงในการเดินให้กับผู้ป่วย
- การฉีด PRP (Platelet-Rich Plasma) หรือการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้นจากร่างกายผู้ป่วย สามารถช่วยลดอาการอักเสบ อาการปวด และยังช่วยกระตุ้นการสร้างเซลล์ใหม่ พร้อมซ่อมแซมเนื้อเยื่อส่วนที่บาดเจ็บ
- การฉีดสารน้ำเลี้ยงไขข้อ ซึ่งเป็นการฉีดสารสังเคราะห์กรดไฮยาลูโรนิก (Hyaluronic Acid) ที่สามารถช่วยลดอาการปวด อาการฝืดติดของข้อเข่า และยังช่วยลดการเสียดสี รวมถึงเพิ่มน้ำหล่อลื่นภายข้อเข่าได้
วิธีรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมแบบไม่ผ่าตัด เหมาะกับใคร?
- ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่ยังอายุไม่มาก และระยะของโรคยังอยู่ในระยะเริ่มต้นจนถึงปานกลาง
- ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม แต่อาการยังไม่รุนแรง หรือกระดูกยังไม่สึกหรอจนถึงขั้นต้องผ่าตัด
- ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่มีเงื่อนไขสุขภาพทำให้ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีผ่าตัดได้ หรือจำเป็นต้องเลื่อนการผ่าตัดไปก่อนจนกว่าร่างกายจะพร้อม ในกรณีนี้แพทย์จะใช้วิธีรักษาแบบไม่ผ่าตัดช่วยประคองอาการไปก่อน
ข้อดีของการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมแบบไม่ผ่าตัด
- ไม่มีแผลผ่าตัด เจ็บน้อย แทบไม่ต้องใช้เวลาฟื้นตัวหลังการรักษา
- ราคาถูกกว่าวิธีรักษาแบบผ่าตัด
- บางวิธีสามารถเห็นผลการรักษาอย่างรวดเร็วภายใน 1-2 วัน
- ส่วนมากเป็นวิธีที่สามารถกลับมารักษาซ้ำได้อีกเรื่อยๆ
ข้อจำกัดของการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมแบบไม่ผ่าตัด
- เป็นวิธีรักษาแบบชั่วคราวและช่วยประคองอาการเท่านั้น แต่จะไม่สามารถทำให้อาการของโรคหายขาดอย่างถาวรได้ หรือต้องกลับมารักษาซ้ำเรื่อยๆ จึงจะเห็นผลลัพธ์ชัดเจน
- หลายวิธีต้องมีการรักษาหลายรอบ และอย่างสม่ำเสมอจึงจะเห็นผล เช่น การฉีด PRP ซึ่งต้องฉีดอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ เป็นระยะเวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ การออกกำลังกาย การทำกายภาพบำบัดซึ่งผู้ป่วยต้องมาทำอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงต้องทำเองที่บ้านตามคำแนะนำอย่างต่อเนื่องด้วย
- รักษาได้เฉพาะในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมระยะเริ่มต้นจนถึงปานกลาง ในผู้ป่วยที่ระยะของโรครุนแรงมาก แพทย์มักจะแนะนำให้รักษาด้วยวิธีผ่าตัดมากกว่า
- เงื่อนไขโรคประจำตัวอื่นๆ บางชนิดอาจส่งผลทำให้ผู้ป่วยรักษาด้วยวิธีใช้ยาไม่ได้ เนื่องจากเสี่ยงทำให้เกิดอาการข้างเคียงที่เป็นอันตราย
ผลข้างเคียงของการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมแบบไม่ผ่าตัด
ผลข้างเคียงของวิธีรักษาแบบไม่ผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับวิธีที่ผู้ป่วยแต่ละรายเลือกใช้ เช่น
- อาการแผลบวมจากการฉีดยาหรือฉีดสารเข้าข้อเข่า แต่จะเป็นเพียงชั่วคราว และจะหายดีได้เองภายในเวลาไม่กี่วัน
- อาการติดเชื้อจากวิธีฉีดยาเสตียรอยด์ซึ่งสามารถสร้างผลข้างเคียงด้วยการไปกดภูมิคุ้มกันร่างกาย
- อาการบาดเจ็บจากการออกกำลังกายหรือทำกายภาพบำบัดที่ไม่เหมาะสม หรือไม่อยู่ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ
- อาการกล้ามเนื้อข้อเข่าอ่อนแอลง มักพบจากวิธีรักษาด้วยการใช้อุปกรณ์เสริมนานเกินไป
2. วิธีรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมแบบผ่าตัด
การผ่าตัด เป็นวิธีรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมซึ่งได้รับความนิยม เนื่องจากในปัจจุบันมีเทคนิคการผ่าตัดแบบให้แผลเล็ก และยังเห็นผลการรักษาได้อย่างชัดเจนภายในเวลาอันรวดเร็ว โดยแบ่งออกได้ 2 เทคนิคหลักๆ ได้แก่
- การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งหมด (Total Knee Replacement) เป็นการผ่าตัดเปลี่ยนกระดูกอ่อนผิวข้อเข่าเป็นวัสดุเทียมทั้งหมด ช่วยคืนประสิทธิภาพความแข็งแรงให้กับข้อเข่าของผู้ป่วยได้มากที่สุด
- การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วน (Partial Knee Replacement) เป็นการผ่าตัดเปลี่ยนกระดูกอ่อนผิวข้อเข่าเฉพาะส่วนที่สึกหรอเป็นวัสดุเทียมแทน และยังคงกระดูกข้อเข่าเดิมส่วนที่ยังแข็งแรงเอาไว้
วิธีรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมแบบผ่าตัดเหมาะกับใคร?
- ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมในระยะรุนแรง หรือทำให้มีอาการปวดเข่าอย่างรุนแรงมาก
- ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่ไม่สามารถใช้ข้อเข่าเคลื่อนไหวร่างกายได้ หรือโรคส่งผลต่อคุณภาพชีวิตอย่างรุนแรง ทำให้ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ เช่น ปวดเข่าแม้ในเวลาที่ไม่ได้ใช้ข้อเข่าทำกิจกรรม เหยียดหรืองอเข่าไม่ได้เลย เดินขึ้นลงบันไดไม่ได้ ไม่สามารถออกไปทำธุระนอกบ้านได้
- ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่ตัวโรคทำให้ลักษณะขาโก่งหรือผิดรูปอย่างรุนแรง
- ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่รักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัดมาก่อน แต่อาการยังไม่ดีขึ้น หรืออาการรุนแรงกว่าเดิม
ข้อดีของวิธีรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมแบบผ่าตัด
- ช่วยแก้ไขอาการขาโก่งหรือผิดรูปได้
- ช่วยหยุดอาการปวด และทำให้ข้อเข่ากลับมาแข็งแรงมั่นคงได้อย่างชัดเจนที่สุด
- ปัจจุบันนิยมใช้การผ่าตัดแบบส่องกล้อง ซึ่งเป็นเทคนิคการผ่าตัดที่ให้แผลขนาดเล็ก ทำให้ฟื้นตัวหลังผ่าตัดเร็ว
ข้อจำกัดของวิธีรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมแบบผ่าตัด
- หากเลือกใช้การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วน และข้อเข่าของผู้ป่วยในอนาคตมีการเสื่อมตัวเพิ่มขึ้นอีก ก็อาจต้องกลับมาผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งหมดอีกครั้ง
- ยังต้องมีการทำกายภาพบำบัด รวมถึงฟื้นฟูความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลังผ่าตัดอย่างต่อเนื่องอยู่ตามระยะเวลาที่แพทย์แนะนำ
ผลข้างเคียงของการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมแบบผ่าตัด
- ผลข้างเคียงจากการใช้ยาสลบระหว่างผ่าตัด เช่น อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน
- ภาวะติดเชื้อในข้อเข่าเทียมที่ยังอาจเกิดขึ้นภายใน 1 ปีหลังการผ่าตัด ทำให้มีอาการแผลบวมแดง แผลร้อน มีไข้สูง หรือปวดเข่าข้างที่ผ่าตัดอย่างรุนแรง
- เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ ทำให้มีอาการปวดน่อง ปวดข้อเท้า หรือที่เท้า รวมถึงอาจทำให้เกิดอาการเข่าหรือใต้เข่าบวมแดง ลิ่มเลือดอาจไหลไปติดที่กล้ามเนื้อหัวใจหรือปอด ทำให้ระบบไหลเวียนเลือดล้มเหลว ซึ่งแพทย์จะป้องกันอาการนี้ด้วยการให้ผู้ป่วยรีบขยับขาโดยเร็วที่สุดหลังการผ่าตัดเสร็จสิ้น เพื่อกระตุ้นการทำงานของระบบไหลเวียนเลือด รวมกับจ่ายยาป้องกันการอุดตันของเลือดให้
- หลอดเลือดหรือเส้นประสาทได้รับบาดเจ็บ ทำให้เกิดอาการชา กล้ามเนื้ออ่อนแรงยกขาขึ้นสูงไม่ได้ มีอาการเสียวแปล๊บที่ข้อเข่า
- ภาวะเสียเลือดมาก
- ภาวะข้อเข่าติดแข็ง ทำให้งอหรือเหยียดเข่าได้ไม่เต็มที่
- วัสดุข้อเข่าเทียมแตกหัก หรือเคลื่อนไปจากตำแหน่งเดิม
ราคาของการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมแบบผ่าตัด
การผ่าตัดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมมีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 150,000-180,000 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการให้บริการในแต่ละสถานพยาบาล
แนวทางการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมนั้นมีอยู่หลากหลาย และหากต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัด การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าในยุคปัจจุบันก็ไม่ได้น่ากลัวหรือมีแผลผ่าตัดใหญ่อย่างที่หลายคนคิด
สิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องตระหนัก คือ หากเผชิญกับโรคนี้แล้วก็ควรรีบรักษาโดยเร็วที่สุด เนื่องจากโรคข้อเข่าเสื่อมที่ปล่อยทิ้งไว้นานจนอาการรุนแรง ก็จะยิ่งทำให้กระบวนการรักษาซับซ้อนมากขึ้น ระยะเวลาพักฟื้นนานขึ้น และมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นตาม
อยากเช็กให้ชัวร์ ปวดเข่าแบบนี้เข้าข่ายข้อเข่าเสื่อมหรือยัง ถ้าเป็นแล้วรักษายังไงดี ในเคสแบบเรา ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรค จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย