เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการที่สงสัยว่าอาจมีสาเหตุมาจากมีเนื้องอกที่ไต เพื่อความแม่นยำในการวินิจฉัยชนิด ลักษณะ ตำแหน่ง รวมถึงภาวะแทรกซ้อนต่างๆ กระบวนการตรวจโรคเนื้องอกในไตจึงมักประกอบไปด้วยรายการตรวจหลายรายการ เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาโรคนี้ได้อย่างเหมาะสม และเห็นผลลัพธ์ชัดเจนที่สุด โดยรายการตรวจวินิจฉัยโรคเนื้องอกในไต มักประกอบไปด้วยรายการตรวจดังต่อไปนี้
1. การตรวจเลือด
การตรวจเลือด แม้เป็นรายการตรวจที่ไม่สามารถช่วยวินิจฉัยโรคเนื้องอกในไตหรือโรคมะเร็งไตโดยตรงได้ อย่างไรก็ตาม การตรวจเลือดก็จัดเป็นรายการตรวจพื้นฐานที่จำเป็น เนื่องจากสามารถช่วยให้แพทย์ประเมินประสิทธิภาพการทำงานของไตได้ รวมถึงตรวจระดับเม็ดเลือดในร่างกายซึ่งสามารถบ่งชี้ถึงภาวะโลหิตจาง อีกภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้จากโรคมะเร็งไต
ขั้นตอนการตรวจเลือดไม่มีความซับซ้อน ไม่ต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้า เพียงผู้ป่วยให้แพทย์หรือเจ้าหน้าที่ใช้เข็มเจาะเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อนำไปส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการก็เพียงพอ
2. การตรวจปัสสาวะ
หนึ่งในอาการบ่งชี้หลักของการเป็นโรคเนื้องอกในไต โรคมะเร็งไต รวมถึงโรคในระบบทางเดินปัสสาวะ คือ ปัสสาวะปนเลือด ซึ่งสามารถตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดได้ผ่านการตรวจปัสสาวะ นอกจากนี้ยังสามารถตรวจเพื่อหาเชื้อแบคทีเรีย รวมถึงเซลล์มะเร็งในปัสสาวะได้อีกด้วย
การตรวจปัสสาวะมีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยากเช่นเดียวกัน เพียงผู้ป่วยเดินทางมาสถานพยาบาล และปัสสาวะใส่กระปุกที่ทางสถานพยาบาลมอบให้ โดยควรเก็บตัวอย่างปัสสาวะในช่วงกลาง หลีกเลี่ยงปัสสาวะในช่วงต้นและช่วงท้ายตอนใกล้ปัสสาวะเสร็จ จากนั้นส่งกระปุกคืนให้เจ้าหน้าที่ก็เป็นอันเสร็จสิ้น
3. การตรวจภาพรังสี
การตรวจภาพรังสี เป็นการตรวจด้วยการใช้พลังงานรังสีหรือคลื่นเพื่อถ่ายภาพลักษณะของไต รวมถึงลักษณะและตำแหน่งของก้อนเนื้อภายในไต มีชนิดของการตรวจอยู่หลายประเภท แต่ประเภทที่นิยมใช้ในการตรวจวินิจฉัยโรคเนื้องอกในไตหรือโรคมะเร็งไต ได้แก่
3.1 การตรวจอัลตราซาวด์ เป็นการตรวจโดยการปล่อยคลื่นเสียงความถี่สูงผ่านชั้นเนื้อเยื่อในร่างกาย แล้วนำมาสร้างภาพลักษณะและตำแหน่งของไตกับเนื้องอกบนจอมอนิเตอร์ของเครื่องตรวจ
ขั้นตอนการตรวจอัลตราซาวด์นิยมตรวจภายในห้องตรวจได้เลย โดยผู้ป่วยจะนอนลงกับเตียง จากนั้นแพทย์จะทาเจลซึ่งช่วยเป็นสื่อนำคลื่นเสียงความถี่สูง แล้วนำหัวปล่อยพลังงานอัลตราซาวด์มาแนบที่ผิว ตรงตำแหน่งของอวัยวะที่ต้องการตรวจ จากนั้นภาพอวัยวะดังกล่าวจะปรากฎบนจอมอนิเตอร์ของเครื่องอัลตราซาวด์
3.2 การตรวจ CT Scan เป็นการตรวจโดยใช้พลังงานรังสีเอกซ์สร้างภาพตัดขวาง ก่อนนำมาสร้างภาพของอวัยวะที่ตรวจในรูปแบบ 3 มิติ นิยมตรวจร่วมกับการฉีดสารทึบรังสี เนื่องจากช่วยให้แพทย์มองเห็นภาพและลักษณะของไตได้ชัดเจนขึ้น แต่ไม่สามารถตรวจได้ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะไตวาย
เครื่อง CT Scan จะมีลักษณะเป็นอุโมงค์ที่มีเตียงนอนสำหรับผู้ป่วยอยู่กึ่งกลาง เมื่อผู้ป่วยนอนลง เตียงจะค่อยๆ เคลื่อนเข้าสู่กึ่งกลางอุโมงค์ และหลอดรังสีเอกซ์ภายในอุโมงค์จะเริ่มหมุนเป็นวงกลมรอบผู้ป่วยเพื่อสร้างภาพถ่ายอวัยวะที่ต้องการตรวจออกมา
3.3 การตรวจ MRI เป็นการตรวจโดยใช้คลื่นวิทยุและพลังงานสนามแม่เหล็กในการสร้างภาพอวัยวะในร่างกาย สามารถช่วยให้แพทย์คัดแยกประเภทของเนื้องอกที่เป็นชนิดมะเร็งกับชนิดก้อนเนื้อธรรมดาได้ และยังช่วยประเมินระยะการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งที่ไตซึ่งอาจลุกลามไปยังหลอดเลือด ต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง หรืออวัยวะอื่นๆ ด้วย
ขั้นตอนการตรวจ MRI จะเป็นการให้ผู้ป่วยนอนลงกับเตียงซึ่งจะค่อยๆ เคลื่อนเข้าไปอยู่กึ่งกลางอุโมงค์เครื่องตรวจ จากนั้นเครื่องตรวจ MRI จะเริ่มปล่อยพลังงานเพื่อถ่ายภาพอวัยวะในร่างกายออกมา ระหว่างนั้นให้ผู้ป่วยนอนนิ่งและทำใจสบายๆ และยังสามารถสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ผ่านอินเตอร์คอมที่ติดตั้งอยู่ในห้องตรวจได้
4. การเจาะเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อ
เป็นรายการตรวจที่นิยมใช้ในกรณีที่การตรวจภาพรังสียังไม่สามารถให้ผลวินิจฉัยที่เพียงพอได้ หรือแพทย์ประเมินว่าควรเจาะเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อร่วมด้วย เพื่อให้ผลการวินิจฉัยแม่นยำขึ้น
ขั้นตอนการเจาะเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อโดยทั่วไปจะเป็นการใช้เข็มขนาดเล็กเจาะผ่านผิวหนังเข้าไปที่ไต หรือตำแหน่งอื่นตามที่แพทย์ประเมิน แล้วเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อออกมาส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม การระบุตำแหน่งที่จะเจาะเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้ออาจใช้เครื่องอัลตราซาวด์ หรือเครื่อง CT Scan เป็นตัวช่วยด้วย
การวินิจฉัยโรคเนื้องอกในไตจำเป็นต้องอาศัยการตรวจที่หลากหลาย ทั้งการตรวจเลือด ปัสสาวะ การถ่ายภาพรังสี และการเจาะชิ้นเนื้อ เพื่อให้แพทย์ได้ข้อมูลความผิดปกติที่แม่นยำครบถ้วน ทำให้วางแผนการรักษาได้อย่างเห็นผลลัพธ์ชัดเจนมากขึ้น
หากคุณเริ่มสังเกตว่ามีอาการผิดปกติเกี่ยวกับระบบปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะปนเลือด เจ็บหลัง เจ็บสีข้าง มีไข้ เหนื่อยง่ายโดยไม่ทราบสาเหตุ ให้รีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยละเอียดโดยเร็ว
เพราะหลายครั้งที่โรคเกี่ยวกับไตนั้นไม่มีสัญญาณอาการเตือนล่วงหน้า ดังนั้นหากเมื่อไรที่มีอาการแสดงออกมาชัดเจนแล้ว นั่นอาจบ่งบอกถึงระยะของโรคที่อาจลุกลามไปมากแล้ว
อยากตรวจสุขภาพไต ตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือด เช็กความแข็งแรงของสุขภาพ ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรค จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย