สำหรับผู้ป่วยโรคไต ไตวายเรื้อรังระยะท้ายๆ ที่แพทย์ประเมินแล้วว่าจำเป็นต้องฟอกไต หรือล้างไต การฟอกไตที่บ้าน หรือการล้างไตทางช่องท้อง เป็นหนึ่งในวิธีรักษาประคับประคองอาการที่ดีรูปแบบหนึ่ง เหมาะกับผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยที่เคลื่อนไหวลำบาก หรือผู้ที่ไม่สะดวกเดินทางไปโรงพยาบาล
ทั้งนี้การดูแลผู้ป่วยก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะมีโอกาสที่จะติดเชื้อ หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนได้สูงกว่าการฟอกไตที่โรงพยาบาล ฉะนั้นคนใกล้ชิด หรือผู้ดูแล จำเป็นต้องเตรียมตัวให้พร้อม และศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด เพื่อความปลอดภัย และให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด
สารบัญ
การเตรียมตัว – เตรียมสถานที่ให้พร้อมสำหรับผู้ป่วย
การที่ผู้ป่วยต้องล้างไตที่บ้านนั้น จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากสมาชิกในบ้านทุกคน โดยจะต้องศึกษา ทำความเข้าใจถึงขั้นตอนการฟอกไต และให้ความสำคัญกับความสะอาด เพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อให้มากที่สุด
นอกจากนี้ยังต้องจัดเตรียมสถานที่ให้พร้อม โดยควรมีพื้นที่สำหรับให้ผู้ป่วยล้างไตโดยเฉพาะ โดยพื้นที่นั้นจะต้องสะอาดถูกสุขอนามัย แยกเป็นสัดส่วน หากในบ้านมีสัตว์เลี้ยง ควรป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงเข้าไปในบริเวณนั้น เพื่อป้องกันการติดเชื้อ หรือสิ่งแปลกปลอมหรือการปนเปื้อน
การดูแลผู้ป่วยระยะแรก หลังรับการใส่สายท่อล้างไต
ช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัดใส่สายท่อล้างไต ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญ ที่ต้องดูแลผู้ป่วยเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันแผลติดเชื้อ หรือภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว โดยควรปฏิบัติดังนี้
- ห้ามให้แผลโดนน้ำโดยเด็ดขาด เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
- หลังใส่สายท่อล้างไต ประมาณ 7-10 วัน แพทย์จะนัดมาเปิดแผลและตัดไหม โดยควรเปิดและทำความสะอาดแผลที่โรงพยาบาล โดยเจ้าหน้าที่เฉพาะทาง ไม่ควรเปิดแผลหรือทำแผลเองที่บ้าน
- เมื่อแผลเริ่มแห้ง อาจมีอาการคัน หรือมีสะเก็ดเลือด น้ำเหลืองติดแผล หลีกเลี่ยงการเกา หรือดึงสะเก็ดแผล แนะนำให้ใช้ผ้าก๊อซชุบน้ำเกลือ วางแปะไว้ 5-10 นาที ให้สะเก็ดอ่อนตัวแล้วหลุดออกเอง
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดการเสียดสี ดึงรั้ง หรือหมุนบิดของสายยางหน้าท้อง เพราะจะทำให้เกิดการอักเสบหรือติดเชื้อได้
- งดยกของหนัก เบ่งหน้าท้อง เบ่งอุจจาระ ออกกำลังกาย หรือกิจกรรมอื่นใด ที่ส่งผลให้แรงดันในช่องท้องสูงขึ้น เพราะอาจทำให้สายยางหน้าท้องเคลื่อนได้
- หากมีอาการใดๆ ดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เช่น ปวดแผลมากขึ้นเรื่อยๆ มีเลือดออก มีน้ำซึมจากแผล สายยางที่หน้าท้องเลื่อนออกมา หรือมีสัญญาณของการติดเชื้ออื่นๆ
การดูแลผู้ป่วยระยะล้างไตทางหน้าท้อง
หลังจากที่แผลแห้งสนิทและแพทย์ประเมินแล้วว่า สามารถดำเนินการล้างไตทางช่องท้องได้แล้ว ก็จะเข้าสู่ช่วงการล้างไต ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน เพราะผู้ป่วยจะต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำยาอย่างสม่ำเสมอ ทุกวัน วันละ 4-5 ครั้ง ซึ่งก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อได้เช่นกัน จึงมีข้อปฏิบัติดังนี้
- ผู้ดูแลต้องดูแลสุขอนามัยส่วนตัวให้สะอาดอยู่เสมอ เช่น ตัดเล็บให้สั้น งดต่อเล็บ ทาสีเล็บ เพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อโรคและการติดเชื้อ
- ก่อนเปลี่ยนน้ำยา จะต้องถอดเครื่องประดับทุกชิ้น สวมหน้ากากอนามัย และล้างมือตามขั้นตอนที่กำหนดอย่างเคร่งครัด โดยส่วนใหญ่จะมีคู่มือระบุอย่างละเอียดว่ามีขั้นตอนการล้างมืออย่างไร
- รักษาความสะอาดของเครื่องมือ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการเปลี่ยนน้ำยาฟอกไต เช่น ใช้แอลกอฮอล์เช็ดอุปกรณ์ โต๊ะ เก้าอี้ หรือพื้นผิวที่มีโอกาสสัมผัสกับอุปกรณ์ ผ้าเช็ดมือควรเปลี่ยนบ่อยๆ ไม่ควรใช้ผืนเดียวและแขวนไว้ทั้งวัน ทิชชู่ สำลีหรือผ้าก๊อซต้องปลอดเชื้อ
- สังเกตและจดบันทึกข้อมูลที่จำเป็นโดยละเอียด เช่น ความเข้มข้นของน้ำยา เวลาที่เริ่มใส่น้ำยาเข้า เวลาที่น้ำยาหมด เวลาที่เริ่มปล่อยน้ำยาออก เวลาที่น้ำยาไหลออกหมด สังเกตสี ความขุ่น ตะกอน ของน้ำยา อาการและความผิดปกติของผู้ป่วย เป็นต้น โดยข้อมูลเหล่านี้เจ้าหน้าที่จะระบุไว้อย่างชัดเจนว่าต้องจดบันทึกหรือสังเกตอะไรบ้าง เพื่อที่แพทย์จะนำไปประเมินเพื่อประกอบการรักษาต่อไป
การดูแลตัวเองโดยทั่วไปของผู้ป่วย
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- รักษาสุขอนามัยของร่างกายเป็นอย่างดี เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- ดูแลช่องทางออกของท่อล้างให้สะอาดอยู่เสมอ
- ลดปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ และหลีกเลี่ยงการรับประทานผักและผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น ทุเรียน กล้วย ลำไย ขนุน ผลไม้อบแห้ง น้ำผลไม้ ผักใบเขียว แครอท เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด หรือมีผงชูรสเป็นส่วนประกอบ เช่น น้ำพริก น้ำจิ้ม ซอสปรุงรส และอาหารหมักดองต่างๆ
- ลดปริมาณเครื่องดื่ม และงดเครื่องดื่มที่มีฟอสเฟตสูง เช่น ชา กาแฟ โกโก้ เป็นต้น
- การฟอกไตวิธีนี้จะมีน้ำในท้อง และกล้ามเนื้อหน้าท้องอ่อนแรง จึงไม่ควรยกของหนักเพราะจะทำให้ปวดหลังได้ง่ายกว่าปกติ หรือหากจำเป็นต้องยกของ ควรยกของให้ใกล้ตัวมากที่สุด โดยให้กางขาออก ก้าวเท้าใดเท้าหนึ่งไปข้างหน้า และให้ย่อเข่าแทนการก้ม
- อย่ายกของและบิดเอวไปพร้อมกัน
จะเห็นได้ว่าการดูแลผู้ป่วยที่ฟอกไตเองที่บ้านมีรายละเอียดและขั้นตอนที่ค่อนข้างซับซ้อน ต้องอาศัยความละเอียดรอบคอบ และความใส่ใจอย่างมาก ทั้งตัวผู้ป่วยเอง ผู้ดูแล รวมถึงสมาชิกภายในบ้าน เพื่อประคับประคองอาการ ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ และเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด
ฟอกไตแบบไหนเหมาะกับอาการ และข้อจำกัดของเรามาที่สุด อยากคุยกับคุณหมอเฉพาะทางปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคไต จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย