หลายคนอาจทราบอยู่แล้วว่าการศัลยกรรมขากรรไกรนั้นช่วยปรับรูปหน้าส่วนล่าง แต่ความจริงการศัลยกรรมนี้ไม่ได้ให้เพียงความสวยงามเท่านั้น แต่ยังสามารถแก้ไขปัญหาสุขภาพบางอย่างที่อาจอันตรายถึงชีวิตได้ด้วย
สารบัญ
ศัลยกรรมขากรรไกร คืออะไร?
การศัลยกรรมขากรรไกร (Jaw surgery) หรือที่หลายคนเรียกว่าผ่าตัดขากรรไกร คือการผ่าตัดแก้ไขปัญหาความผิดปกติของขากรรไกร เช่น มีปัญหาฟันสบไม่พอดีกัน จนคางยื่นหรือสั้นกว่าปกติ และไม่สามารถแก้ได้ด้วยการจัดฟันอย่างเดียว
บางกรณีอาจต้องดูแลโดยทันตแพทย์และศัลยแพทย์ช่องปากร่วมกันจนจบกระบวนการ
ศัลยกรรมขากรรไกร เหมาะกับใคร?
ศัลยกรรมขากรรไกรสามารถแก้ไขปัญหาสุขภาพและความงามสำหรับคนที่มีอาการหรือภาวะดังต่อไปนี้
- ผู้ที่มีปัญหาฟันสบกันไม่พอดี เวลาปิดปากแล้วสังเกตเห็นได้ชัด
- ผู้ที่มีปัญหากระดูกในช่องปากผิดปกติ ทำให้เคี้ยวอาหารไม่สะดวก กลืนลำบาก หรือมีปัญหาการกัดอาหาร
- ผู้ที่ช่องปากผิดรูปจนอาจส่งผลต่อรูปทรงของใบหน้า
- ผู้ที่มีอาการปวดหรือเจ็บร้าวขากรรไกรเวลาเคี้ยวอาหาร จากภาวะความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร (Temporomandibular joint disorder: TMD)
- ผู้ที่มีปัญหาหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้
แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่กล่าวมาด้านบนต้องอาศัยคำแนะนำจากแพทย์ เพราะบางอาการสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย ไม่ใช่เพราะความผิดปกติของขากรรไกรเพียงอย่างเดียว
ศัลยกรรมขากรรไกร แล้วต้องพักฟื้นกี่วัน?
ผู้ที่ทำศัลยกรรมขากรรไกรมักต้องพักฟื้นในโรงพยาบาล 1-4 วัน ขึ้นอยู่กับแต่ละคน
หลังจากแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ ยังคงต้องดูแลความสะอาดในช่องปากมากเป็นพิเศษ และกินยาที่แพทย์ให้อย่างต่อเนื่องอีกประมาณ 6-12 สัปดาห์ จึงจะหายเป็นปกติ
ศัลยกรรมขากรรไกร เจ็บไหม?
ระหว่างทำศัลยกรรมขากรรไกรแพทย์จะให้ยาชาเพื่อระงับอาการเจ็บ แต่ในบางคนอาจได้รับผลกระทบอื่น เช่น เสียเลือดมาก
หลังผ่าตัดขากรรไกรแล้วอาจมีอาการปวด บวม และระคายเคืองบริเวณขากรรไกรได้ แพทย์ก็อาจสั่งจ่ายยาแก้ปวด บวม มาให้เช่นกัน
ศัลยกรรมขากรรไกรบน ล่าง ต่างกันอย่างไร?
การศัลยกรรมขากรรไกรนั้นสามารถทำได้ 2 ตำแหน่งหลักๆ ดังนี้
1. ขากรรไกรส่วนบน (Maxillary osteotomy)
การศัลยกรรมขากรรไกรส่วนบน เป็นการตัดกระดูกขากรรไกรบนที่ระดับ เลอร์ ฟอร์ท 1 (Le fort 1) ซึ่งอยู่บริเวณปลายจมูกทั้งสองข้างลากยาวไปถึงบริเวณใกล้มุมปาก
เมื่อตัดแยกกระดูกออกมาเป็นอีกชิ้นแล้ว จะสามารถเคลื่อนกระดูกมายังตำแหน่งที่ต้องการได้ และทำการยึดด้วยสกรูเพื่อให้กระดูกอยู่ไม่เคลื่อนย้ายอีก
2. ขากรรไกรส่วนล่าง (Mandibular osteotomy)
การศัลยกรรมขากรรไกรส่วนล่าง เป็นการตัดขากรรไกรส่วนล่าง (Mandible) หรือสังเกตง่ายๆ คือกระดูกตัวยูตามแนวคาง มีวิธีการคล้ายกันกับการผ่าตัดขากรรไกรส่วนบน คือเมื่อศัลยแพทย์ตัดกระดูกขากรรไกรแล้วเลื่อนมายังตำแหน่งที่ต้องการแล้วจะยึดด้วยสกรู
แต่ละตำแหน่งอาจมีรายละเอียดการผ่าที่แตกต่างกัน ซึ่งศัลยแพทย์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำเป็นรายบุคคล
สิ่งที่อาจเกี่ยวข้องกับการเลือกตำแหน่งผ่าตัดนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยดังต่อไปนี้
- ตำแหน่งขากรรไกรที่ผิดปกติ (ส่วนล่างหรือส่วนบน)
- ตำแหน่งของฟันกราม (Molars) ที่ผิดปกติ