irregular periods disease definition

ประจำเดือนมาผิดปกติ ปัญหาที่ผู้หญิงไม่ควรมองข้าม

ประจำเดือนมามาก มาช้า มาน้อย มากะปริบกะปรอย บางเดือนไม่มาเลย หรือปวดท้องมากเวลามีประจำเดือน เสี่ยงโรคร้ายแรงอะไรไหม เพราะอะไรประจำเดือนถึงไม่ปกติ สารพัดปัญหาเกี่ยวกับเมนส์ หรือประจำเดือน บทความนี้มีคำตอบให้คุณแล้ว

ทำความรู้จักรอบเดือน เลือดประจำเดือนมาจากไหน?

เมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ร่างกายของผู้หญิงจะมีการหลั่งฮอร์โมนเพศ ซึ่งก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่างๆ เช่น ไข่จากรังไข่จะเคลื่อนออกจากท่อน้ำไข่ ออกมาอยู่ในมดลูกเพื่อเตรียมผสมกับน้ำเชื้อจากผู้ชาย ถ้ามีเพศสัมพันธุ์ ในช่วงไข่ตก เนื้อเยื่อในโพรงมดลูกจะหนาตัวขึ้นด้วยฤทธิ์จากฮอร์โมน เตรียมไว้สำหรับการฝังตัวของตัวอ่อน ถ้าเกิดการปฏิสนธิขึ้น

แต่เมื่อไม่เกิดการปฏิสนธิ เนื้อเยื่อในโพรงมดลูกที่ว่านี้จะหลุดลอกออก กลายเป็นเลือดประจำเดือนออกมาทางช่องคลอด

โดยทั่วไปแล้วผู้หญิงจะมีประจำเดือนครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ 12-16 ปี ถ้ามีการตั้งครรภ์ ประจำเดือนจะขาดไปตลอดช่วงตั้งครรภ์ หลังคลอดประมาณ 6-8 สัปดาห์ จะกลับมามีประจำเดือนอีกครั้ง และเมื่ออายุประมาณ 45-55 ปีก็จะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน หรือวัยทอง ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อีก

นับรอบเดือน นับจากวันไหนถึงวันไหน?

การนับรอบเดือน เป็นสิ่งสำคัญของผู้หญิง เกี่ยวข้องกับการสังเกตความผิดปกติในระบบสืบพันธุ์ คำนวณวันไข่ตกเพื่อเตรียมมีบุตร หรือใช้อ้างอิงเพื่อคุมกำเนิดแบบนับวัน

การนับรอบเดือนที่ถูกต้อง จะนับจากวันแรกของการมีประจำเดือน ไปถึงวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งถัดไป

โดยปกติแล้วรอบเดือนจะมีระยะห่างประมาณ 28 วัน ครั้งหนึ่งๆ มีประจำเดือนประมาณ 4-6 วัน สำหรับบางคนอาจมาช้า มาเร็ว หรือมานานกว่าที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดปกติ

ทั้งนี้ระยะห่างระหว่างวันแรกของการมีประจำเดือนเดือนที่แล้ว ถึงวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งถัดไป อาจสั้นหรือยาวขึ้นบ้าง ปริมาณเลือดประจำเดือนก็อาจมากหรือน้อยต่างกันเล็กน้อยในแต่ละเดือน ขึ้นอยู่กับฮอร์โมน อายุ พฤติกรรม ภาวะสุขภาพกาย ไปจนถึงสุขภาพจิตใจด้วย

แต่ขณะเดียวกัน หากประจำเดือนมาถี่มากๆ หรือทิ้งระยะเวลาไปนานมากๆ ก็อาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติได้เช่นกัน ซึ่งควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม

ประจำเดือนมาผิดปกติ อาการเป็นอย่างไร?

อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความผิดปกติของการมีประจำเดือน

  • มีประจำเดือนครั้งหนึ่งยาวนานเกิน 7 วัน
  • มีเลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอดระหว่างรอบเดือน หรือหลังจากหมดประจำเดือนแล้ว หรือหลังจากมีเพศสัมพันธ์
  • รอบเดือนสั้นกว่า 21 วัน หรือยาวกว่า 35 วัน
  • รอบเดือนแต่ละครั้งมีระยะเวลาไม่สม่ำเสมอ โดยมีส่วนต่างเกิน 9 วัน เช่น ครั้งหนึ่งรอบเดือนมีระยะเวลา 28 วัน ครั้งต่อไปเป็น 37 วัน ถัดมาอีกเป็น 29 วัน เป็นต้น
  • ประจำเดือนไม่มาต่อเนื่องนานกว่า 3 เดือน
  • เลือดประจำเดือนมีปริมาณน้อยหรือเยอะกว่าที่เคยเป็นมาก
  • มีเลือดประจำเดือนออกมามากจนชุ่มผ้าอนามัยภายใน 1 ชั่วโมง
  • มีประจำเดือนมาพร้อมกับอาการปวดท้องอย่างรุนแรง เป็นตะคริว คลื่นไส้ อาเจียน

ประจำเดือนมาผิดปกติ ไม่จำเป็นว่าจะต้องหมายถึงเป็นโรคร้ายแรง มะเร็ง หรือโรคทางนรีเวชเท่านั้น แม้กระทั่งภาวะเครียด ก็มีผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติได้ ดังนั้นถ้าสังเกตพบความผิดปกติข้อในข้อหนึ่งจากรายการข้างต้น ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางจะดีที่สุด เพื่อทราบสาเหตุที่แน่ชัดตั้งแต่เนิ่นๆ จะได้รักษาอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะถ้าวางแผนตั้งครรภ์ไว้

ตัวอย่างโรคหรืออาการที่ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ

โรคที่อาจมีอาการแสดงคือประจำเดือนมาผิดปกติ เช่น ประจำเดือนมาน้อย ประจำเดือนมามาก ประจำเดือนมากะปริบกะปรอย ปวดท้องเวลามีประจำเดือน มีดังนี้

ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)

ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ คือภาวะที่เยื่อบุโพรงมดลูกไปเจริญเติบโตผิดปกติในบริเวณอื่นนอกเหนือจากในโพรงมดลูก เช่น ในผนังหรือกล้ามเนื้อมดลูก ในเยื่อบุช่องท้อง รังไข่ ผนังลำไส้ ผนังกระเพาะปัสสาวะ กระบังลม ปอด เยื่อหุ้มปอด 

แม้ว่าไปเจริญอยู่ที่บริเวณอื่น แต่ก็ยังทำหน้าที่สร้างประจำเดือน ทำให้เกิดเป็นเลือดขังอยู่ตามอวัยวะเหล่านั้น

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ไม่ใช่เนื้อร้าย แต่เป็นภาวะเรื้อรัง และอาจนำไปสู่ปัญหามีบุตรยากได้

สัญญาณของภาวะนี้ เช่น ปวดท้องประจำเดือนมาก ปวดท้องน้อยเรื้อรัง ประจำเดือนมาเยอะ รอบประจำเดือนสั้นกว่า 27 วัน

ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic Inflammatory Disease: PID)

อุ้งเชิงกรานอักเสบ คือ ภาวะที่ระบบสืบพันธุ์ส่วนบนของผู้หญิงเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น มดลูก ท่อนำไข่ รังไข่ และเยื่อบุช่องท้องในอุ้งเชิงกราน

นอกจากอาการเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ ผู้เป็นอุ้งเชิงกรานอักเสบยังอาจมีอาการปวดท้องน้อย มีตกขาวลักษณะเหมือนหนอง มีไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์หรือปวดแสบเมื่อปัสสาวะ

อุ้งเชิงกรานอักเสบที่เป็นไม่มากสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ ถ้าปล่อยไว้ไม่รักษาอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว

กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome: PCOS)

ถุงน้ำรังไข่หลายใบ หรือที่เรียกกันว่า PCOS คือ กลุ่มอาการผิดปกติในหลายๆ ระบบ ที่ส่งผลให้การตกไข่ไม่สม่ำเสมอ หรือไม่ตกไข่ เกิดเป็นถุงน้ำเล็กๆ ในรังไข่

อาการประจำเดือนมาไม่ปกติที่อาจบ่งชี้ว่าเป็น PCOS ได้แก่ รอบประจำเดือนห่างเกินกว่า 35 วัน ประจำเดือนขาดต่อเนื่องนานเกิน 3 รอบเดือน ประจำเดือนมาแบบกะปริบกะปรอย

ผู้ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น PCOS ควรรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงที่จะมีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัว หรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกในอนาคต

การรักษา PCOS เกี่ยวข้องกับความต้องการที่จะมีบุตร ในผู้ที่ไม่ต้องการมีบุตร แพทย์อาจให้รับประทานยาคุม (ยาฮอร์โมน) เพื่อให้ประจำเดือนมาสม่ำเสมอ ส่วนผู้ที่ต้องการมีบุตร แพทย์อาจให้ยากระตุ้นไข่ หรือรักษาด้วยวิธีผ่าตัด โดยมักทำร่วมกับแพทย์เฉพาะทางด้านการมีบุตรยาก

ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด (Primary Ovarian Insufficiency)

รังไข่เสื่อมก่อนกำหนด คือ ภาวะที่รังไข่หยุดทำงานก่อนอายุ 40 ปี ทำให้ร่างกายมีฮอร์โมนเอสโตรเจนน้อย ส่งผลให้มีบุตรยาก ไข่ไม่ตกตามปกติ หรือมีไข่ตกแต่ไม่มีคุณภาพ ผิวแห้ง กระดูกพรุน อารมณ์แปรปรวน คล้ายกับผู้ที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนหรือวัยทองแล้ว

ผู้มีภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดระยะแรกเริ่ม อาจสังเกตพบว่าประจำเดือนมาน้อยลง หรือรอบประจำเดือนห่างกว่าที่เคย จนอาจไม่มีประจำเดือนเลยก็ได้

มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก (Uterine Cancer)

มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เป็นโรคมะเร็งระบบสืบพันธุ์เพศหญิงที่พบได้บ่อย รองจากมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งรังไข่ สาเหตุหลักมาจากการถูกกระตุ้นด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน

มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกเป็นโรคที่มีอาการแสดงตั้งแต่เนิ่นๆ คือ มีเลือดออกทางช่องคลอด มักเกิดในผู้หญิงที่อายุเกิน 50 ปีขึ้นไป จึงสังเกตความผิดปกติได้ชัด อย่างไรก็ตาม ในผู้ที่อายุต่ำกว่า 50 ปี ถ้าพบเลือดออกทางช่องคลอดที่ไม่ใช่ประจำเดือน หรือมีประจำเดือนเยอะมาก แต่ละครั้งนานเกิน 7 วัน ก็มีความเสี่ยงจะเป็นโรคนี้เช่นกัน

สาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ

สาเหตุอื่นนอกเหนือจากโรคทางนรีเวช ที่มีผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ได้แก่

  • การใช้ยาคุมกำเนิด
  • การรับประทานยาสเตียรอยด์หรือยาละลายลิ่มเลือด
  • อาการแท้งหรือท้องนอกมดลูก
  • การผ่าตัด การมีเนื้อเยื่อแผลเป็นในอวัยวะสืบพันธุ์

จะเห็นได้ว่า มีสาเหตุมากมายที่ทำให้เกิดอาการประจำเดือนมาไม่ปกติได้ การสังเกตลักษณะประจำเดือนไม่สามารถวินิจฉัยโรคอย่างแม่นยำได้ ควรร่วมกันทั้งสังเกตลักษณะสี ปริมาณ จำนวนวันที่เป็นประจำเดือน จดบันทึกรอบเดือน ไม่ละเลยอาการทางร่างกายอื่นๆ ที่มักเป็นขณะมีประจำเดือน และอธิบายข้อมูลแก่แพทย์ให้ครบถ้วน ถ้าข้อมูลยังไม่เพียงพอต่อการวินิจฉัยแยกโรค แพทย์อาจสั่งตรวจเฉพาะทางเพิ่มเติม เช่น ตรวจภายใน เก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งไปตรวจในห้องปฏิบัติการ อัลตราซาวด์ ฯลฯ

ยิ่งตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่เนิ่นๆ ทางเลือกในการรักษายิ่งมีมาก

ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ เป็นเมนส์แบบกะปริบกะปรอย หรือเป็นประจำเดือนแต่ละครั้งเลือดออกเยอะมาก ปวดท้องมาก จนรู้สึกกังวล กลัวจะเป็นอันตราย อยากตรวจให้ชัวร์แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มจากตรงไหน ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคทางนรีเวช จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top