ภาวะเหงื่อออกมือมากเป็นสิ่งที่สร้างความรำคาญใจ รวมทั้งเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตและการทำงานของใครหลายๆ คน ปัจจุบันมีวิธีการรักษาอาการเหงื่อออกมือมากที่เห็นผลจริง มาดูกันว่า มีวิธีไหนบ้างที่ใช้ในการรักษาภาวะเหงื่อออกมือมาก
1. ทายาลดเหงื่อ
วิธีแรกใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการน้อย นั่นคือ การทายาในกลุ่มอลูมิเนียมคลอไรด์ (Aluminum Chloride) 20-30 เปอร์เซ็นต์ เพื่อระงับเหงื่อ ตัวยาจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการขับเหงื่อมากเกินไป
วิธีการใช้ยาคือ ทาผิวบริเวณที่มักมีเหงื่อออก โดยทาตอนผิวยังแห้ง เวลาก่อนนอน แล้วล้างออกเมื่อตื่นนอน ยาจะช่วยระงับเหงื่อไม่ให้ออกในวันถัดไป
อย่างไรก็ตาม วิธีนี้เป็นเพียงการรักษาชั่วคราว เมื่อหยุดยาจะกลับมามีเหงื่อออกเยอะเหมือนเดิม และอาจมีผลข้างเคียงคือ ทำให้ระคายเคืองผิวหนังและดวงตา การใช้ยานี้ต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และหากมีอาการแพ้ ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
2. กินยาลดเหงื่อ
วิธีต่อมาคือ การกินยาในกลุ่มแอนตีโคลิเนอร์จิก (Anticholinergic) เพื่อช่วยต้านการทำงานของต่อมเหงื่อ ช่วยให้เหงื่ออกน้อยลง โดยยาที่ใช้คือ ยาที่ใช้คือ Oxybutynin ในปริมาณ 5-10 มิลลิกรัมต่อวัน
อย่างไรก็ตาม ยากินอาจมีผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปากแห้ง และท้องผูก ดังนั้น จึงต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
3. ฉีดโบท็อกซ์
การฉีดโบท็อกซ์ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยรักษาภาวะเหงื่อออกมือมากได้ โดยแพทย์จะฉีดโบท็อกซ์มากกว่า 1 เข็ม ลงบนผิวหนัง บริเวณที่มีอาการเหงื่อออกมาก เพื่อลดการทำงานของประสาทอัตโนมัติที่จะสั่งการให้ต่อมเหงื่อทำงาน หลังจากฉีด 2-3 วัน จะเริ่มเห็นผล
อย่างไรก็ตาม การฉีดโบท็อกซ์มักจะคุมอาการได้ประมาณ 3-6 เดือน ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคน หลังจากนั้นอาจต้องมาฉีดซ้ำ ส่วนผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้คือ กล้ามเนื้ออ่อนแรงชั่วคราวตรงจุดที่ฉีดโบท็อกซ์
4. ผ่าตัดส่องกล้อง
การผ่าตัดรักษาเหงื่อออกมือ เป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุดในปัจจุบัน ช่วยรักษาภาวะเหงื่อออกมือมากให้หายขาดได้ นอกจากนี้ยังมีข้อดีคือ เจ็บน้อย มีแผลขนาดเล็ก และฟื้นตัวไว มีขั้นตอนดังนี้
- แพทย์จะเปิดแผลใต้รักแร้ 2 ข้าง ขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร
- แพทย์จะผ่าตัด ด้วยวิธีส่องกล้อง เพื่อเข้าไปจี้ทำลายปมประสาทอัตโนมัติซิมพาเทติก (Sympathetic Nervour System) บริเวณซี่โครงที่ 3-5 ออก
- เย็บปิดแผล เป็นอันเสร็จ
กระบวนการผ่าตัดทั้งหมดใช้ระยะเวลาในการผ่าตัดประมาณ 40-60 นาที
อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดรักษาเหงื่อออกมืออาจมีผลข้างเคียงคือ อาจจะมีเหงื่อออกชดเชยส่วนอื่นของร่างกาย นอกเหนือจากฝ่ามือ เช่น หลัง ท้อง ต้นขา อาจมีอาการจุก หายใจไม่สะดวก เนื่องจากการผ่าตัดจะต้องทำการยุบปอด เพื่อให้มีพื้นที่ในการตัดปมประสาท แต่อาการนี้จะหายได้ภายใน 1-2 วัน
นอกจากนี้อาจพบอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจพบได้เหมือนกับการผ่าตัดทั่วไป เช่น เลือดออกบริเวณที่ผ่าตัด หรืออาการแผลติดเชื้อ
จะเห็นได้ว่า การรักษาภาวะเหงื่อออกมือมาก มีด้วยกันหลากหลายวิธี ซึ่งการจะตัดสินใจเลือกวิธีไหนนั้น ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโดยตรง เพื่อเลือกวิธีที่เหมาะกับอาการที่เป็นอยู่มากที่สุด
ยังลังเลใช่ไหม ไม่รู้ว่าควรเลือกวิธีไหนดี? วิธีไหนเหมาะกับเราที่สุด? ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจรักษาภาวะเหงื่อออกมือมาก จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย