สำหรับผู้ป่วยโรคไตระยะท้าย การฟอกไต หรือการล้างไต คือหนึ่งในวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ โดยหนึ่งในวิธีรักษามาตรฐานคือ การฟอกไตทางหลอดเลือด แต่หลายคนก็อาจกังวลว่าจะต้องเตรียมตัวยังไง ต้องไป โรงพยาบาลสัปดาห์ละกี่วัน การดูแลตัวเองมีขั้นตอนยังไง การทำเส้นฟอกไตจำเป็นไหม ดูแลยากหรือเปล่า ฯลฯ และคำถามอื่นๆ อีกมากมาย บทความนี้รวบรวมคำตอบมาให้คุณแล้ว
สารบัญ
- 1. การฟอกไตทางหลอดเลือด คืออะไร?
- 2. การฟอกไตทางหลอดเลือด ต้องทำสัปดาห์ละกี่วัน ใช้เวลานานแค่ไหน
- 3. เมื่อเริ่มฟอกไตแล้ว ต้องฟอกตลอดชีวิตไหม
- 4. เส้นฟอกไตคืออะไร จำเป็นต้องทำไหม
- 5. เส้นฟอกไตมีกี่แบบ อยู่ได้กี่ปี
- 6. ทำเส้นฟอกไตต้องนอน รพ. ไหม
- 7. ค่าใช้จ่ายฟอกไตทางหลอดเลือด ครั้งละกี่บาท เบิกสิทธิบัตรทอง ราชการ 30 บาท ประกันสังคมได้ไหม
- 8. หลังฟอกไตอยู่ได้กี่ปี
- 8. เส้นฟอกไต ดูแลยังไงไม่ให้ ตีบ บวม ตัน ใช้งานได้นานที่สุด
1. การฟอกไตทางหลอดเลือด คืออะไร?
ตอบ: การฟอกไต หรือ หรือ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) คือการนำเลือดออกจากร่างกายผู้ป่วยโรคไต ผ่านทางหลอดเลือดดำ เข้าสู่เครื่องไตเทียม ซึ่งทำหน้าที่กรองของเสียแทนไตที่เสื่อมสภาพ จากนั้นนำเลือดที่ฟอกแล้ว กลับเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วยอีกครั้ง
2. การฟอกไตทางหลอดเลือด ต้องทำสัปดาห์ละกี่วัน ใช้เวลานานแค่ไหน
ตอบ: การฟอกไตทางหลอดเลือด จะต้องทำอย่างสม่ำเสมอ แต่ความถี่จะขึ้นอยู่กับระยะของโรค โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยต้องเดินทางไปโรงพยาบาลเพื่อฟอกไต ประมาณสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง แต่ละครั้งต้องใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง
3. เมื่อเริ่มฟอกไตแล้ว ต้องฟอกตลอดชีวิตไหม
ตอบ: สำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะท้าย ที่ไตสูญเสียการทำงานไปมาก จำเป็นต้องฟอกไตต่อเนื่องไปตลอดชีวิต เพื่อขจัดของเสียออกจากร่างกาย รักษาสมดุลของเกลือแร่ต่างๆ
แต่รูปแบบหรือเทคนิคการฟอกไตนั้น สามารถปรับเปลี่ยนได้ ขึ้นอยู่กับระยะของโรค ข้อจำกัดด้านสุขภาพของผู้ป่วย รวมทั้งขึ้นอยู่กับแพทย์พิจารณาด้วย
ทั้งนี้ผู้ป่วยที่เริ่มฟอกไตทางหลอดเลือด เมื่อฟอกไตไปสักพัก อาจเปลี่ยนมาฟอกไตทางช่องท้องก็ได้ หรือในทางกลับกัน ผู้ป่วยที่เคยฟอกไตทางช่องท้อง ก็สามารถเปลี่ยนมาฟอกไตทางหลอดเลือดได้เช่นกัน
แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการปลูกถ่ายไตแล้วนั้น สามารถหยุดฟอกไตได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังคงต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
4. เส้นฟอกไตคืออะไร จำเป็นต้องทำไหม
ตอบ: เส้นฟอกไต (Vascular Access) หรือบางคนอาจจะเรียกว่า เส้นฟอกเลือด คือ เส้นทางเพื่อนำเลือดออกจากร่างกายผู้ป่วยโรคไตไปยังเครื่องไตเทียม ซึ่งทำหน้าที่กรองของเสียแทนไต จากนั้นนำเลือดที่ฟอกแล้ว กลับเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วยอีกครั้ง
สาเหตุที่ต้องทำเส้นฟอกไตนั้น เนื่องจากผู้ป่วยโรคไตจะต้องมีการฟอกไตอย่างสม่ำเสมอ และบางคนต้องทำต่อเนื่องไปตลอดชีวิต
ในทุกๆ ครั้งที่ฟอกไต จะต้องมีการใช้เข็มเจาะเปิดเส้นเลือดอยู่เรื่อยๆ เมื่อฟอกเลือดเสร็จ เส้นเลือดก็จะมีการสมานตัวเองตามธรรมชาติ หากทำซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ เส้นเลือดอาจจะตีบตัน ทำให้เลือดไหลผ่านเข้าสู่เครื่องไตเทียมได้น้อยลง และประสิทธิภาพในการกรองของเสียก็จะน้อยลงด้วย
การทำเส้นฟอกไต ก็เป็นการเตรียมเส้นทางการไหลของเลือด เพื่อรองรับการฟอกเลือดซ้ำๆ อย่างสม่ำเสมอนั่นเอง
5. เส้นฟอกไตมีกี่แบบ อยู่ได้กี่ปี
ตอบ: การผ่าตัดทำเส้นฟอกไต มี 3 รูปแบบหลักๆ ได้แก่
- การผ่าตัดทำเส้นฟอกไตชนิดเส้นเลือดจริง (Arteriovenous Fistula: AVF)
เทคนิคนี้แพทย์จะผ่าตัดเปิดแผลบริเวณแขนของผู้ป่วย อาจเป็นบริเวณข้อมือหรือข้อศอก โดยเปิดแผลประมาณ 3 เซนติเมตร หาตำแหน่งหลอดเลือดแดงและดำ จากนั้นจะผ่าตัดเชื่อมต่อเส้นเลือดทั้งสองเข้าด้วยกัน เพื่อให้เลือดจากหลอดเลือดแดง ไหลเข้าไปยังหลอดเลือดดำ ทำให้เส้นเลือดดำโป่งพอง มีขนาดใหญ่ขึ้น และแข็งแรงเพียงพอที่จะใช้เป็นเส้นทางในการนำเลือดเข้าสู่เครื่องไตเทียม
เส้นฟอกไตชนิดนี้ มีอายุการใช้งานนาน 5-10 ปี ขึ้นอยู่กับการดูแลของแต่ละคน
- การผ่าตัดทำเส้นฟอกไตชนิดเส้นเลือดเทียม (Arteriovenous Graft : AVG)
เทคนิคนี้แพทย์จะผ่าตัดเปิดแผลจำนวน 2 แผลคือ บริเวณข้อศอกประมาณ 2 เซนติเมตร และที่รักแร้ประมาณ 3 เซนติเมตร จากนั้นจะฝังหลอดเลือดเทียมเข้าไปที่แขนของผู้ป่วย ซึ่งหลอดเลือดเทียมนี้ จะทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างหลอดเลือดดำกับหลอดเลือดแดง และเป็นส่วนที่เชื่อมกับเครื่องฟอกไต ทำให้เวลาฟอกไต ไม่ต้องเจาะเส้นเลือดจริง
เส้นฟอกไตชนิดนี้ มีอายุการใช้งานนาน 1-3 ปี ขึ้นอยู่กับการดูแลของแต่ละคน
- การผ่าตัดใส่สายฟอกไตกึ่งถาวรที่คอ (Permanent Catheter)
บางครั้งอาจเรียกว่า Perm Cath แพทย์จะผ่าตัดเปิดแผลจำนวน 2 แผล คือ บริเวณคอ หรือไหปลาร้าประมาณ 1 เซนติเมตร และที่หน้าอกประมาณ 1-2 เซนติเมตร และใส่สายขนาดใหญ่เข้าไปในหลอดเลือดดำใหญ่ของผู้ป่วย เพื่อให้สามารถนำเลือดเข้าเครื่องฟอกเลือดหรือเครื่องไตเทียมได้รวดเร็ว เป็นเทคนิคสำหรับผู้ป่วยที่ผ่าตัดเส้นฟอกไตที่แขนไม่ได้
เส้นฟอกไตชนิดนี้ สามารถใช้งานได้ยาวนานกว่า ประมาณ 1-2 ปี แต่หากดูแลเป็นอย่างดีอาจมีอายุการใช้งานยาวนานถึง 5 ปี
6. ทำเส้นฟอกไตต้องนอน รพ. ไหม
ตอบ: การผ่าตัดเส้นฟอกไตที่แขนนั้น เป็นการผ่าตัดเล็ก แผลมีขนาดเพียง 2-3 เซนติเมตร แพทย์มักใช้เพียงยาชาในการระงับความรู้สึกเท่านั้น หลังผ่าตัดเสร็จ ใช้เวลาพักฟื้นเพียง 1-2 ชั่วโมง หากไม่มีอาการแทรกซ้อน ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้เลย โดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล
7. ค่าใช้จ่ายฟอกไตทางหลอดเลือด ครั้งละกี่บาท เบิกสิทธิบัตรทอง ราชการ 30 บาท ประกันสังคมได้ไหม
ตอบ: ค่าใช้จ่ายในการฟอกไตทางหลอดเลือด เริ่มต้นที่ครั้งละประมาณ 2,000 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับค่าบริการทางการแพทย์ของแต่ละสถานพยาบาล
สำหรับผู้ที่มีสิทธิราชการ สิทธิบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค หรือประกันสังคม ปัจจุบัน (พ.ศ.2567) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่า
ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง ไม่ว่าจะเข้ารับการฟอกไตด้วยวิธีไหนก็ตาม สามารถใช้สิทธิเบิกจาก สปสช. ได้ ซึ่งต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยสามารถตรวจสอบเงื่อนไขได้ที่สปสช.
8. หลังฟอกไตอยู่ได้กี่ปี
ตอบ: หลายคนที่ได้ยินคำว่า ระยะสุดท้าย อาจรู้สึกกังวลใจว่าจะเป็นอันตรายร้ายแรง แต่จริงๆ แล้ว โรคไตระยะสุดท้าย เป็นเพียงคำที่นิยามระยะของโรคเท่านั้น ไม่ได้หมายถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
ผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย ที่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม เช่น การฟอกไตทางหลอดเลือด หรือผ่าตัดปลูกถ่ายไตนั้น สามารถมีอายุที่ยืนยาวได้ใกล้เคียงคนทั่วไป
ทั้งนี้จากการศึกษา พบว่าผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย มีชีวิตโดยเฉลี่ย 5-10 ปี และจำนวนมากมีชีวิตอยู่ได้มากกว่า 20 ปี หลังเข้ารับการฟอกไต ขึ้นอยู่กับวัยของผู้ป่วย ระยะของโรคและการดูแลสุขภาพตัวเองของแต่ละคน
8. เส้นฟอกไต ดูแลยังไงไม่ให้ ตีบ บวม ตัน ใช้งานได้นานที่สุด
ตอบ: การดูแลเส้นฟอกไต อาจมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับชนิดของเส้นฟอกไตนั้นๆ แต่หลักสำคัญคือ การดูแลรักษาความสะอาด รักษาสุขอนามัยของผู้ป่วย เพื่อป้องกันการติดเชื้อ คอยระมัดระวังไม่ให้เส้นฟอกไต กระแทก กระทบกระเทือน รวมทั้งหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักๆ หรือยกของหนักด้วย เพื่อยืดอายุการใช้งานให้นานที่สุด
อ่านเพิ่มเติม เกี่ยวกับการดูแลเส้นฟอกไตแต่ละรูปแบบโดยละเอียด คลิกอ่านต่อ
การฟอกไตทางหลอดเลือด เป็นอีกหนึ่งวิธีการรักษาโรคไตที่มีประสิทธิภาพ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ป่วยและคนใกล้ชิด ในการดูแลสุขภาพผู้ป่วยในด้านอื่นๆ เช่น ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร รักษาความสะอาด สุขอนามัย พาผู้ป่วยไปฟอกไตอย่างสม่ำเสมอ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี และยืนยาวมากที่สุด
หากต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติมเพื่อความมั่นใจ เกี่ยวกับการล้างไต ฟอกไต ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ ทำนัดปรึกษาคุณหมอเฉพาะทางโรคไตได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคไต จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย