การรักษาโรคใบหน้ากระตุกมักจะเริ่มต้นด้วยการใช้ยาเพื่อควบคุมอาการ หรืออาจใช้การฉีดโบท็อกซ์ในบางกรณี แต่หากอาการยังคงไม่ดีขึ้นและส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การรักษาด้วยการผ่าตัดอาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสม…บทความนี้จะพามาทำความรู้จักกับการผ่าตัดอย่างละเอียด ทั้งขั้นตอน การเตรียมตัว และการดูแลหลังการผ่าตัด
สารบัญ
ผ่าตัดรักษาโรคใบหน้ากระตุก คืออะไร?
การผ่าตัดรักษาโรคใบหน้ากระตุกเรียกว่า Microvascular Decompression (MVD) เป็นวิธีการผ่าตัดที่มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการกดทับของหลอดเลือดที่ไปกดทับเส้นประสาทใบหน้า ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของอาการกระตุก หรือหดเกร็งของกล้ามเนื้อบนใบหน้า
ขั้นตอนการผ่าตัด MVD เริ่มต้นจากกการเปิดกะโหลกศีรษะในบริเวณที่เส้นประสาทถูกกดทับ จากนั้นแพทย์จะหาตำแหน่งที่หลอดเลือดไปกดทับเส้นประสาทใบหน้า และยกหลอดเลือดนั้นออก หรือตัดการสัมผัสระหว่างหลอดเลือดกับเส้นประสาท โดยมักจะใช้วัสดุพิเศษ เช่น ฟองน้ำพิเศษ หรือแผ่นโลหะ เพื่อช่วยแยกหลอดเลือดออกจากเส้นประสาท
การผ่าตัด Microvascular Decompression เป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูง โดยสามารถลดหรือบรรเทาอาการกระตุกได้อย่างถาวรในหลายกรณี
แม้ว่าจะมีความเสี่ยงจากการผ่าตัด เช่น การติดเชื้อ หรือการบาดเจ็บต่อเส้นประสาทในระหว่างการผ่าตัด แต่โดยรวมถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล หรือกรณีที่มีอาการรุนแรงและต่อเนื่อง
การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัด
- ผู้ป่วยจะต้องไปพบแพทย์ แจ้งประวัติโรคประจำตัวโดยละเอียด จากนั้นตรวจสุขภาพ รวมถึงการทดสอบด้วย MRI หรือ CT Scan เพื่อตรวจสอบภาพของเส้นประสาทและหลอดเลือดในบริเวณที่ต้องผ่าตัด เพื่อให้แน่ใจว่าแผนการผ่าตัดจะเป็นไปได้อย่างแม่นยำ
- หากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวอื่นๆ ที่ต้องรับประทานยาประจำ จะต้องแจ้งให้แพทย์ทราบโดยละเอียด และอาจต้องปรึกษาแพทย์ประจำตัว เพื่อหยุดยาบางประเภท เช่น ยาละลายลิ่มเลือด ซึ่งอาจมีผลต่อการหยุดเลือดหรือเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด
- หากผู้ป่วยรับประทานวิตามินหรืออาหารเสริมใดๆ อยู่ จะต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ รวมทั้งต้องงดรับประทานวิตามินหรืออาหารเสริมเหล่านั้น 7-14 วัน หรือตามที่แพทย์แนะนำ
- งดสูบบุหรี่และงดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ล่วงหน้า 2-3 สัปดาห์ก่อนวันผ่าตัด
- งดใส่คอนแทคเลนส์ งดทาเล็บ งดใส่แว่นตา งดใส่ฟันปลอม และควรถอดอุปกรณ์ที่เจาะตามร่างกายออกให้หมด
- ผู้ป่วยต้องงดอาหารและน้ำอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงก่อนการผ่าตัด เพื่อป้องกันการอาเจียน หรือสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่หลอดลมขณะดมยาสลบ
ขั้นตอนการผ่าตัดรักษาโรคใบหน้ากระตุก (MVD)
- เจ้าหน้าที่นำผู้ป่วยเข้าห้องผ่าตัด จากนั้นวิสัญญีแพทย์จะให้ยาสลบเพื่อระงับความรู้สึก โดยผู้ป่วยไม่ต้องกังวลเรื่องความเจ็บปวดระหว่างการผ่าตัด
- แพทย์ผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ เพื่อเข้าถึงเส้นประสาทที่ถูกกดทับ และแยกหลอดเลือดที่ไปกดทับเส้นประสาทออก โดยใช้เครื่องมือที่มีความละเอียดและแม่นยำ หลังจากนั้นจะใช้วัสดุต่างๆ เช่น ฟองน้ำ หรือแผ่นโลหะ เพื่อป้องกันไม่ให้หลอดเลือดกลับมากดทับเส้นประสาทอีก
- เมื่อเสร็จสิ้นการผ่าตัด แพทย์จะปิดแผลด้วยการเย็บแผลอย่างละเอียด จากนั้นผู้ป่วยจะถูกย้ายไปยังห้องพักฟื้น เพื่อเฝ้าระวังอาการ
การดูแลหลังการผ่าตัด
- ผู้ป่วยจะต้องพักฟื้นในโรงพยาบาลประมาณ 1-2 วัน หลังจากการผ่าตัด เพื่อให้แพทย์สามารถดูอาการหลังการผ่าตัดได้อย่างใกล้ชิด
- นอนหมอนสูงชั่วคราวเพื่อลดอาการบวม
- หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดหรือบวมบริเวณแผลผ่าตัด ซึ่งแพทย์จะให้ยาแก้ปวดและยาลดอักเสบ เพื่อบรรเทาอาการ
- หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการขยับคอหรือใบหน้าอย่างรุนแรงในช่วงแรก เพื่อป้องกันการเกิดความเสียหายเพิ่มเติมต่อเนื้อเยื่อหรือเส้นประสาท
การพักฟื้นหลังการผ่าตัด
การพักฟื้นหลังการผ่าตัด MVD อาจใช้เวลาหลายสัปดาห์ โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำกิจกรรมเบาๆ หรือทำงานได้ภายใน 4-6 สัปดาห์หลังการผ่าตัด โดยควรปฏิบัติตัว ดังนี้
- งดยกของหนัก งดการออกกำลังกายหนักๆ หรือทำกิจกรรมที่ใช้แรงมาก รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 2-3 สัปดาห์
- งดสูบบุหรี่และงดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระยะยาว เพราะบุหรี่และแอลกอฮอล์อาจส่งผลกระทบต่อหลอดเลือดและระบบประสาทได้
- งดขับรถด้วยตนเองจนกว่าแพทย์จะอนุญาต
- งดสระผมจนกว่าแผลจะแห้ง หรือแพทย์จะอนุญาต เมื่อแผลแห้งสนิทแล้วให้เริ่มสระผมด้วยแชมพูสูตรอ่อนโยน แต่ห้ามถูหนังศีรษะแรงๆ
- งดการทำสีผม การใช้สารเคมีจัดแต่งทรงผม รวมถึงงดใช้น้ำมัน สเปรย์ หรือครีมบำรุงผมอย่างน้อย 6 สัปดาห์ หรือตามระยะเวลาที่แพทย์แนะนำ
- หากมีอาการเจ็บแผลหรือแผลบวมเล็กน้อย สามารถประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการได้
- หากมีอาการปวดหัว มีไข้ แผลบวมแดง มีเลือดออกมาก ให้รีบมาพบแพทย์ เพราะอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ
- ผู้ป่วยต้องรับประทานทานยาตามที่แพทย์สั่ง เช่น ยาแก้ปวดหรือยาลดอักเสบ เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดและลดการอักเสบ
- หลังการผ่าตัดผู้ป่วยจะต้องกลับไปพบแพทย์ เพื่อติดตามผลการรักษา แลเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อ หรืออาการกระตุกที่กลับมา
- ในบางกรณีผู้ป่วยอาจต้องทำกายภาพบำบัดเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อใบหน้าหลังการผ่าตัด การทำกายภาพบำบัดจะช่วยให้การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้ากลับมาปกติ
ผ่าตัดแล้วหายขาดไหม?
การผ่าตัด MVD มีโอกาสที่จะทำให้โรคใบหน้ากระตุกหายอย่างถาวร โดยหลายๆ กรณีหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้โดยไม่มีอาการกระตุกอีก
อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีอาจพบว่าอาการกระตุกยังคงกลับมาได้บ้าง ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ หรือการติดเชื้อหลังการผ่าตัด
จะเห็นว่า การผ่าตัด MVD เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงในการแก้ไขปัญหาโรคใบหน้ากระตุก ซึ่งมีโอกาสช่วยให้ผู้ป่วยหายขาดจากอาการกระตุกและกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้ แต่ก็ยังต้องให้ความสำคัญกับดูแลหลังการผ่าตัดและการติดตามผล เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยจะฟื้นตัวได้อย่างสมบูรณ์และไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน
อยากตรวจให้แน่ชัด อาการแบบเรา ต้องผ่าตัดหรือเปล่า? ปรึกษาคุณหมอ เพื่อหาวิธีรักษาที่เหมาะสมที่สุด ทักหาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจและรักษาโรคใบหน้ากระตุก จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย