ผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อรักษาโรคอ้วน กับ นพ. เสฐียรพงษ์ จันทวิบูลย์ ด้วยบริการจาก HDcare

ตีแผ่ประเด็นการผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อรักษาโรคอ้วน มีข้อบ่งชี้ยังไง ลดความอ้วนได้อย่างไร ลดได้นานแค่ไหน พร้อมเจาะลึกประโยชน์ที่ได้รับจากการผ่าตัด ได้แค่น้ำหนักตัวลดลงหรือมีประโยชน์ต่อสุขภาพด้านอื่นๆ อีก

ให้ข้อมูลโดย นพ. เสฐียรพงษ์ จันทวิบูลย์ หรือ “หมอฟง” อาจารย์แพทย์และแพทย์เฉพาะทางด้านการผ่าตัดส่องกล้องชั้นสูง มีความเชี่ยวชาญพิเศษด้านการผ่าตัดรักษาโรคอ้วน หนึ่งในทีมแพทย์จากบริการ HDcare

อ่านประวัติหมอฟงได้ที่นี่ [รู้จัก “หมอฟง” อาจารย์แพทย์ และแพทย์เฉพาะทางด้านการผ่าตัดส่องกล้องขั้นสูง มีประสบการณ์ผ่าตัดรักษาโรคอ้วน โรคเกี่ยวกับช่องท้องที่ซับซ้อนมาแล้วหลายเคส]

สารบัญ

สิ่งที่คนเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคอ้วน

หลายคนคิดว่าโรคอ้วนไม่ใช่โรค แต่ความจริงแล้ว โรคอ้วนจัดเป็นโรคชนิดหนึ่งที่ต้องรักษา ไม่เพียงปัญหาเกี่ยวกับน้ำหนักตัวเท่านั้น 

นอกจากนี้นิยามที่ว่า “อ้วนและสุขภาพดี” นั้นเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะเมื่อไรก็ตามที่เป็นโรคอ้วน คนไข้จะมีความเสี่ยงเกิดโรคอื่นๆ ตามมามากขึ้น เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ โรคมะเร็งเต้านม โรคลำไส้ใหญ่

โรคอ้วนเกิดจากอะไร?

โรคอ้วน มีสาเหตุทางการแพทย์ที่มาจากหลายปัจจัย สามารถแจกแจงได้ดังต่อไปนี้

  • พันธุกรรม หากคนไข้มีบิดาหรือมารดาที่เป็นโรคอ้วน ก็มีโอกาสที่รุ่นลูกจะเป็นโรคอ้วนได้เกินกว่า 50%
  • ผู้ที่มีภาวะฮอร์โมนผิดปกติ เช่น ภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ มีระดับฮอร์โมนความอิ่มที่ต่ำกว่าปกติ
  • พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น กินอาหารไขมันสูง ไม่ค่อยออกกำลังกาย มีกิจวัตรประจำวันที่มักอยู่กับที่นิ่งๆ เช่น นั่งทำงานกับโต๊ะ นั่งรถเดินทางเป็นประจำ ไม่ค่อยขยับร่างกาย
  • รูปแบบอาหารที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน ซึ่งมักเป็นอาหารที่ปรุงเลียนแบบชาติตะวันตกและมีแคลอรีค่อนข้างสูง
  • พฤติกรรมการนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพ ทำให้ร่างกายนอนหลับไม่สนิท จึงทำให้ระบบเผาผลาญเสียสมดุล ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
  • การกินยาประจำตัว โดยเฉพาะกลุ่มยารักษาโรคซึมเศร้าที่มีโอกาสกระตุ้นฮอร์โมนความหิวได้มากขึ้น จนทำให้คนไข้กินบ่อยขึ้น และน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นในที่สุด 

อ้วนเฉยๆ กับโรคอ้วน มีเกณฑ์นิยามความแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร?

ค่าดัชนีมวลกาย หรือ BMI (Body Mass Index) เป็นหลักเกณฑ์ที่สามารถแยกระหว่างปัญหา “อ้วน” กับ “โรคอ้วน” ได้ วิธีการคำนวณ คือ ส่วนสูง (หน่วยเป็นเมตร) ยกกำลังสอง ÷ น้ำหนักตัว (หน่วยเป็นกิโลกรัม) 

  • หากคำนวณได้ค่าระหว่าง 23-25 จัดว่าอยู่ในเกณฑ์น้ำหนักเกินหรืออ้วน
  • หากคำนวณได้ค่าระหว่าง 25-30 จัดว่าอยู่ในเกณฑ์โรคอ้วน
  • หากคำนวณได้ค่าเกินกว่า 30 จัดว่าอยู่ในเกณฑ์โรคอ้วนอันตราย อาจมีผลต่ออายุไขของคนไข้และกระทบต่อคุณภาพชีวิต ต้องรีบทำการรักษา

นอกจากการใช้วิธีคำนวณ BMI คนไข้ยังสามารถใช้วิธีวัดรอบพุงด้วยสายวัดเอวเพื่อประเมินโรคอ้วนได้อีก 

  • ในผู้ชาย หากวัดรอบพุงได้เกิน 90 เซนติเมตร ถือว่าเป็นโรคอ้วน
  • ในผู้หญิง หากวัดรอบพุงได้เกิน 80 เซนติเมตร ถือว่าเป็นโรคอ้วน

เมื่อเป็นโรคอ้วนจะกระทบต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง?

โรคอ้วนสามารถส่งผลกระทบต่อหลายระบบในร่างกาย จนก่อให้เกิดโรคร้ายต่างๆ ได้มากมาย เช่น

  • โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบเมตาบอลิซึม เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันพอกตับ ภาวะไขมันในเลือดสูง ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ 
  • โรคเกี่ยวกับระบบกระดูกและไขข้อ เช่น ภาวะข้อเข่าเสื่อม โรคหมอนรองกระดูกปลิ้น 
  • โรคมะเร็ง เช่น โรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งถุงน้ำดี โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

ทำไมหลายคนลดน้ำหนักด้วยวิธีปกติยาก หรือมักทำไม่ได้?

จากข้อมูลทางการแพทย์ การลดน้ำหนักด้วยวิธีคุมอาหาร ลดการกินอาหาร ออกกำลังกาย หรือใช้ยาบางชนิดเข้ามาช่วย จะทำให้ร่างกายรับรู้ว่าตนเองกำลังอยู่ในภาวะขาดอาหาร และจะมีการลดระดับการเผาผลาญพลังงานน้อยลงไปด้วย ทำให้น้ำหนักลงได้ แต่ไม่สมดุลดีนัก

จนเมื่อเวลาผ่านไปและคนไข้ไม่ได้ลดน้ำหนักต่ออีก รวมถึงกลับมากินอาหารในปริมาณเท่าเดิมอีกครั้ง ร่างกายซึ่งได้ปรับระดับการเผาผลาญให้น้อยลงไปแล้วจึงไม่ได้เพิ่มอัตราการเผาผลาญเพิ่มตามอาหารที่กินมากขึ้น ทำให้น้ำหนักตัวเด้งกลับขึ้นมามากขึ้นกว่าก่อนเริ่มลดน้ำหนัก หรือที่เรียกว่า “น้ำหนักโยโย่” นั่นเอง

ดังนั้นในช่วง 6 เดือนแรกที่เริ่มลดน้ำหนักด้วยวิธีปกติ คนไข้มักจะลดน้ำหนักได้ 6-7% แต่เมื่อผ่านไปครบ 1 ปี โดยส่วนมากน้ำหนักก็มักจะกลับมาเพิ่มเท่าเดิมหรืออาจมากกว่าเดิมได้

การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อรักษาโรคอ้วน มีจุดเริ่มต้นมาจากอะไร?

จริงๆ การรักษาโรคอ้วนด้วยการผ่าตัดนั้นมีมาตั้งแต่สมัยยุคกลาง โดยเกิดจากกษัตริย์ในประเทศแถบยุโรปที่มีน้ำหนักตัวมาก จึงไม่สามารถขี่ม้าออกรบได้ แพทย์ในยุคนั้นจึงใช้วิธีเย็บปากเพื่อให้กษัตริย์กินอาหารได้น้อยลง ทำให้น้ำหนักตัวลดมากพอที่จะขี่ม้าออกสนามรบได้อีกครั้ง

จนเมื่อวิวัฒนาการทางการแพทย์ก้าวหน้ามากขึ้น แพทย์ก็ได้ค้นพบว่า วิธีรักษานี้ทำให้คนไข้ทรมาน และยังทำให้ลดน้ำหนักได้ไม่สม่ำเสมอยาวนานด้วย จึงได้เริ่มพัฒนาเทคนิคการผ่าตัดเพื่อลดน้ำหนักออกมาเรื่อยๆ จนได้พบกับ “การผ่าตัดกระเพาะอาหาร” ซึ่งเป็นการผ่าตัดเพื่อรักษาคนไข้โรคอื่นมาก่อน แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้คนไข้เหล่านั้นลดความอยากอาหารน้อยลงได้ด้วย และทำให้น้ำหนักตัวลดลงได้สำเร็จ 

ด้วยเหตุนี้ จึงได้มีการใช้วิธีผ่าตัดกระเพาะอาหารเข้ามาเป็นวิธีรักษาโรคอ้วนด้วยเช่นกัน

การผ่าตัดกระเพาะอาหารเป็นวิธีลดน้ำหนักอย่างยั่งยืนและดีต่อสุขภาพอย่างไร?

  • การผ่าตัดกระเพาะอาหารไม่ใช่การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารเพื่อให้คนไข้หิวน้อยลงและกินน้อยลง แต่เป็นการผ่าตัดเพื่อแก้ไขฮอร์โมนความหิวของคนไข้ให้ลดลง และทำให้ฮอร์โมนความอิ่มเพิ่มขึ้น ทำให้กระเพาะอาหารไปสั่งการสมองว่า ร่างกายกำลังอยู่ในภาวะอิ่มและไม่อยากอาหารบ่อยอีก จัดเป็นการผ่าตัดเพื่อปรับแก้ฮอร์โมนเป็นหลัก ไม่ใช่เพื่อแก้ขนาดกระเพาะอาหาร จึงช่วยให้ลดน้ำหนักได้ยาวนานและยั่งยืนเป็นหลักหลายปี
  • ช่วยลดน้ำหนักได้ชัดเจนและเห็นผล โดยใน 6-12 เดือนแรกหลังผ่าตัด คนไข้ส่วนมากจะลดน้ำหนักได้ 30-40% ของน้ำหนักตัวเดิม 
  • เห็นผลการรักษาค่อนข้างนาน โดยจากงานวิจัยที่ติดตามผลการรักษาคนไข้ที่ผ่าตัดกระเพาะอาหารมานานเป็นหลัก 10-15 ปีพบว่า คนไข้ยังคงมีน้ำหนักตัวที่ลดลงในระดับที่สม่ำเสมออยู่
  • ช่วยรักษาโรคอื่นๆ ที่เป็นผลกระทบจากโรคอ้วนได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคข้อเข่าเสื่อม โรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งถุงน้ำดี โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

นอกจากผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อรักษาโรคอ้วน สามารถผ่าตัดเพื่อรักษาโรคอื่นๆ ด้วยได้หรือไม่?

สามารถทำได้ แต่ขึ้นอยู่กับข้อบ่งชี้ที่แพทย์ประเมินว่าสามารถใช้การผ่าตัดกระเพาะอาหารรักษาได้ เช่น โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ก้อนเนื้อในกระเพาะอาหาร โรคกรดไหลย้อน

อยากรักษาโรคอ้วนด้วยวิธีไม่ผ่าตัด มีวิธีอะไรบ้าง?

เราสามารถแบ่งวิธีรักษาโรคอ้วนได้ 4 ระดับซึ่งมีทั้งระดับที่ไม่ผ่าตัดและใช้วิธีผ่าตัด ดังนี้

  • ระดับที่หนึ่ง การคุมอาหาร การออกกำลังกาย เป็นวิธีรักษาที่นิยมใช้บ่อยที่สุด แต่มีโอกาสประสบความสำเร็จได้น้อยที่สุด
  • ระดับที่สอง การใช้ยา ในอดีตมักนิยมใช้ยาเร่งการเผาผลาญพลังงานซึ่งมักทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น อาการใจสั่น ในปัจจุบันจึงไม่นิยมใช้นัก และเปลี่ยนเป็นการใช้ยาเสริมฮอร์โมนความอิ่มซึ่งสามารถฉีดผ่านผิวหนังได้ แต่มักเห็นผลดีแค่ในช่วง 1 ปีแรก หากต้องการคงผลลัพธ์ในการรักษาไว้จะต้องฉีดยาไปตลอด หากหยุดยาก็จะทำให้เกิดปัญหาน้ำหนักตัวโยโย่ได้
  • ระดับที่สาม รักษาด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง เช่น ผ่าตัดส่องกล้องใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร ผ่าตัดส่องกล้องเย็บกระเพาะอาหาร ซึ่งมักได้ผลดีในการลดน้ำหนักค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ตาม จากงานวิจัยทางการแพทย์ มีเพียง 1 ใน 4 ของคนไข้ผ่าตัดใส่บอลลูนที่สามารถคุมน้ำหนักตัวต่อได้เอง เนื่องจากการใส่บอลลูนนั้นทำให้คนไข้รู้สึกอิ่มได้ก็จริง แต่ไม่ได้แก้ไขส่วนของฮอร์โมนความหิวและความอิ่มด้วย จึงทำให้คนไข้ยังอยากอาหารบ่อยได้อยู่เช่นเดิม นอกจากนี้ยังอาจมีส่งผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการจุกเสียดท้อง หรือคลื่นไส้อาเจียนได้

  • ระดับที่สี่ รักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคอ้วนโดยเฉพาะ สามารถทำได้ผ่านเทคนิคผ่าตัดส่องกล้องเช่นกัน เช่น ผ่าตัดกระเพาะอาหาร ผ่าตัดลำไส้เล็ก ผ่าตัดทำบายพาสลำไส้ ซึ่งมีจุดเด่นที่สามารถลดน้ำหนักได้มาก และลดได้นานจนเกือบถาวรเป็นหลัก 10 ปี เนื่องจากเป็นการผ่าตัดที่เน้นแก้ไขลึกถึงระดับฮอร์โมนความหิวและความอิ่ม ทำให้คนไข้รู้สึกหิวน้อยลงและอิ่มนานขึ้น

การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อรักษาโรคอ้วนมีกี่แบบ แต่ละแบบแตกต่างกันอย่างไร?

การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อรักษาโรคอ้วนแบ่งออกได้หลักๆ 4 รูปแบบ ได้แก่

  • การผ่าตัดแบบสลีฟ (Sleeve gastrectomy) เป็นการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารให้เล็กลง จัดเป็นเทคนิคการผ่าตัดที่ทำได้ง่าย มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนต่ำ 
  • การผ่าตัดแบบบายพาส (Laparoscopic Gastric Bypass) เป็นการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารและเชื่อมทางเดินอาหารไปยังลำไส้เล็ก เพื่อให้อาหารบางส่วนดูดซึมไปยังลำไส้เล็กได้เลยโดยไม่ผ่านกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น ทำให้คนไข้อิ่มเร็ว และอยากอาหารน้อยลง และยังช่วยรักษากรดไหลย้อนได้ดี
  • การผ่าตัดแบบสลีฟพลัส (Sleeve gastrectomy Plus) เป็นผ่าตัดแบบสลีฟร่วมกับการทำบายพาส แต่มีขั้นตอนการผ่าตัดยุ่งยากน้อยกว่าการผ่าตัดแบบบายพาส และยังช่วยลดน้ำหนักได้เห็นผลไม่ต่างกัน
  • การผ่าตัดส่องกล้องทางปากเพื่อเย็บกระเพาะอาหาร โดยแพทย์จะสอดกล้องผ่าตัดผ่านช่องปากคนไข้เข้าไปเย็บลดขนาดกระเพาะอาหาร มีจุดเด่นตรงที่ไม่มีแผลบริเวณหน้าท้อง แต่มีข้อเสีย คือ เมื่อระยะเวลาผ่านไป ไหมที่เย็บกระเพาะอาหารมีโอกาสจะหลุดออกได้ ทำให้คนไข้ลดน้ำหนักได้ยากขึ้นอีก

ข้อบ่งชี้ของโรคอ้วนที่ต้องผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนัก

ข้อบ่งชี้ที่คนไข้โรคอ้วนควรเริ่มผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนัก ตามหลักเกณฑ์ของชมรมศัลยศาสตร์โรคอ้วนแห่งประเทศไทย ได้แก่

  • ผู้ที่มีดัชนีมวลกายมากกว่า 37.5 
  • ผู้ที่มีดัชนีมวลกายมากกว่า 32.5 ร่วมกับมีโรคประจำตัวอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ภาวะไขมันเกาะตับ โรคถุงน้ำในรังไข่ โรคเส้นเลือดสมองตีบ 
  • ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย 27.5-30 และเป็นโรคเบาหวานในระดับรุนแรง แต่ยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ แพทย์มักแนะนำให้เริ่มทำการรักษาด้วยการผ่าตัด

สิ่งที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคอ้วนและการผ่าตัดกระเพาะอาหาร

  • การผ่าตัดกระเพาะอาหารไม่จำเป็นต้องผ่าตัดในผู้ที่เป็นโรคอ้วนระดับรุนแรงเสมอไป แต่ผู้ที่มีดัชนีมวลกายเกินกว่า 27.5 เป็นต้นไป ซึ่งจัดว่าเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานค่อนข้างมากแล้ว สามารถติดต่อขอปรึกษาเกี่ยวกับการผ่าตัดกระเพาะอาหารได้เลย
  • การผ่าตัดกระเพาะอาหารไม่ได้น่ากลัวอย่างที่หลายคนคิด ปัจจุบันเป็นการผ่าตัดที่นิยมใช้เทคนิคส่องกล้องซึ่งเป็นการเจาะเปิดแผลเล็กๆ ที่หน้าท้องประมาณ 4-5 แผลเท่านั้น และมีเครื่องมือตัดกระเพาะอาหารแบบอัตโนมัติ 3 ชั้นซึ่งมีความปลอดภัย หลังผ่าตัดประมาณ 2-3 วัน คนไข้ก็สามารถเดินทางกลับบ้านได้

ช่วงพักฟื้นหลังผ่าตัดกระเพาะอาหารต้องกินอย่างไร?

ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรกหลังผ่าตัด คนไข้ต้องเน้นกินอาหารอ่อนๆ และมีโปรตีนสูง รวมถึงเป็นอาหารที่สะอาด เช่น นมทางการแพทย์ ไข่ตุ๋น ปลานึ่ง แกงจืดเต้าหู้หมูสับ หลังจากผ่านไป 4 สัปดาห์ ให้ยังคงกินอาหารที่มีโปรตีนสูงอยู่ แต่สามารถปรับเป็นอาหารที่คนทั่วไปกินได้ ส่วนอาหารรสจัด แนะนำให้กินหลังผ่านไป 4 สัปดาห์แล้ว

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหาร

  • คนไข้ต้องปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดก่อน เช่น มีดัชนีมวลกายเข้าข่ายโรคอ้วน พยายามลดน้ำหนักด้วยวิธีอื่นมามากกว่า 3 เดือน แต่ไม่สำเร็จ หรือมีเงื่อนไขสุขภาพที่ทำให้ลดน้ำหนักด้วยวิธีอื่นไม่ได้ ต้องใช้วิธีผ่าตัดเท่านั้น เช่น เป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ทำให้ออกกำลังกายไม่ได้
  • ตรวจสุขภาพตามรายการที่แพทย์แนะนำ ซึ่งโดยทั่วไป ได้แก่ ตรวจเลือด ตรวจฮอร์โมน ตรวจเอกซเรย์ปอด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจอัลตราซาวด์หัวใจ ตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง ส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร 
  • ตรวจการนอนหลับในผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ นอกจากนี้แพทย์ยังอาจแนะนำให้ให้ใส่เครื่องช่วยหายใจระหว่างนอนหลับประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนผ่าตัด
  • หากมีโรคประจำตัวที่ยังควบคุมอาการไม่ได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ต้องรักษาเพื่อให้อาการอยู่ในระดับควบคุมได้เสียก่อน

การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อรักษาโรคอ้วน ต้องใช้แพทย์เฉพาะทางด้านอื่นๆ ด้วยหรือไม่?

ในกรณีที่คนไข้มีปัญหาสุขภาพด้านอื่นๆ เช่น เป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคซึมเศร้า ก็อาจต้องแจ้งให้ทีมสหวิชาชีพด้านอื่นๆ เข้ามาดูแลคนไข้ก่อนผ่าตัดด้วย เช่น อายุรแพทย์ด้านต่อมไร้ท่อ จิตแพทย์ นักกำหนดอาหาร

ขั้นตอนการผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อรักษาโรคอ้วน ปลอดภัยต่อคนไข้อย่างไร?

โดยส่วนมากคนไข้ที่ต้องผ่าตัดกระเพาะอาหารจะมีผนังหน้าท้องที่หนาจากน้ำหนักตัวที่มาก แพทย์จึงใช้เทคนิคผ่าตัดส่องกล้องเพื่อลดอาการเจ็บระหว่างผ่าเปิดแผลที่หน้าท้อง โดยมีขั้นตอนหลักๆ ได้แก่ 

  • วิสัญญีแพทย์วางยาสลบผู้รับบริการ
  • แพทย์ผ่าตัดส่องกล้องเพื่อเปิดแผลผ่านชั้นผนังหน้าท้องลงไปทีละชั้น 
  • แพทย์ปล่อยลมเข้าช่องท้องเพื่อเปิดพื้นที่ผ่าตัดให้กว้างขึ้น 
  • แพทย์วัดขนาดกระเพาะอาหารที่เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้กระเพาะอาหารเล็กหรือใหญ่เกินไป รวมถึงไม่เกิดปัญหากระเพาะเบี้ยว โดยจะใส่ที่วัดขนาดกระเพาะอาหารผ่านทางปากคนไข้
  • แพทย์ผ่าตัดกระเพาะอาหาร จากนั้นตรวจสอบรอยตัดแต่งกระเพาะอาหารให้เรียบร้อย 
  • แพทย์นำกระเพาะอาหารบางส่วนออกผ่านทางปากแผลที่ขนาดเพียง 1.5 เซนติเมตร 
  • เย็บปิดแผลด้วยไหมละลาย
  • หลังจากผ่าตัด ผู้รับบริการสามารถกลับไปพักฟื้นที่ห้องพักพิเศษได้เลย ยกเว้นแต่คนไข้ที่มีน้ำหนักตัวมากเป็นพิเศษ หรือมีความดันโลหิตสูงมาก แพทย์อาจแนะนำให้เฝ้าดูอาการที่ห้องไอซียูก่อน 
  • หลังนอนพักฟื้นประมาณ 3 วันก็สามารถเดินทางกลับบ้านได้

การผ่าตัดกระเพาะอาหารส่งผลกระทบระยะยาวกับร่างกายหรือไม่?

ผลกระทบที่แพทย์มักกังวลหลังผ่าตัดกระเพาะอาหารจะเป็นส่วนของพฤติกรรมการกินที่น้อยเกินไป หรือความผิดปกติในการดูดซึมอาหารหลังผ่าตัด 

ด้วยเหตุนี้ หลังผ่าตัดแพทย์จะแนะนำให้คนไข้กินอาหารมีโปรตีนสูงเป็นประจำ นอกจากนี้ในคนไข้ที่ผ่าตัดด้วยเทคนิคบายพาส แพทย์ยังอาจแนะนำให้คนไข้กินหรือฉีดวิตามินเสริมทุก 6-12 เดือนด้วย

อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ระยะยาวหลังการผ่าตัดกระเพาะอาหารมักเห็นผลได้ค่อนข้างดีและปลอดภัย เมื่อเทียบกับผลกระทบหลังผ่าตัด ดังนั้นแพทย์จึงแนะนำให้ผ่าตัดในคนไข้ที่มีข้อบ่งชี้ควรผ่าตัดทุกราย

ผ่าตัดกระเพาะอาหารจนลดน้ำหนักสำเร็จแล้ว จะทำให้โรคประจำตัวหายด้วยหรือไม่?

ขึ้นอยู่กับระยะของโรค รวมถึงช่วงอายุของคนไข้ โดยโรคที่พบได้บ่อยในคนไทยและคนเอเชีย คือ โรคเบาหวาน ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้เกิดผลข้างเคียงหลายอย่าง เช่น โรคเบาหวานขึ้นตา โรคเบาหวานลงไต โรคไตเสื่อม โรคจอประสาทตาเสื่อม

หากคนไข้ที่ผ่าตัดกระเพาะอาหารมีอายุไม่มาก เป็นโรคเบาหวานได้ไม่นานหรือภายในไม่เกิน 5 ปี ก็มีโอกาสที่จะหายจากโรคนี้ได้สูงถึง 90% 

นอกจากโรคเบาหวาน โรคอื่นๆ ที่มีโอกาสหายได้หรืออาการดีขึ้นหลังผ่าตัดกระเพาะอาหาร ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ โรคข้อเข่าเสื่อมซึ่งมีโอกาสที่ข้อเข่าจะดีขึ้น 30-40% และคนไข้มีโอกาสที่จะไม่ต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมอีก

การดูแลตนเองหลังผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อรักษาโรคอ้วน

การดูแลตนเองหลังผ่าตัดกระเพาะอาหารนั้นค่อนข้างเรียบง่ายและไม่ยุ่งยากซับซ้อน โดยหลักๆ สิ่งที่คนไข้ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ได้แก่

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอย่างน้อยวันละ 1.5-2 ลิตร
  • กินอาหารที่มีโปรตีนสูงตามคำแนะนำของแพทย์
  • งดกินอาหารประเภทแป้ง ข้าว น้ำตาล ผลไม้ อาหารที่ไม่สุกหรือไม่สะอาดประมาณ 1-2 เดือน หลังจากนั้นค่อยๆ ทยอยเริ่มกินได้
  • ดูแลแผลให้สะอาด แต่แพทย์จะเย็บไหมละลายและปิดแผลแบบกันน้ำให้อยู่แล้ว คนไข้สามารถแกะเปิดแผลในวันที่กลับมาตรวจแผลกับแพทย์ได้เลย 

ผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อรักษาโรคอ้วน เห็นผลเมื่อไร?

หลังผ่าตัดกระเพาะอาหารประมาณ 1 เดือน คนไข้จะมีน้ำหนักตัวลดลงประมาณ 10% บวกลบ เมื่อผ่านไป 3 เดือน น้ำหนักจะลดลงไปประมาณ 20% บวกลบ และ 6 เดือนจะลงไป 30% บวกลบ

เมื่อผ่านไปครบ 1 ปี น้ำหนักตัวจะลงไปได้ถึง 35-40% บวกลบของน้ำหนักเดิม อย่างไรก็ตาม หากคนไข้มีการออกกำลังกายหรือคุมอาหารร่วมด้วยหลังการผ่าตัด ก็สามารถลดน้ำหนักลงไปมากกว่านี้ได้อีก 

นพ. เสฐียรพงษ์ ได้ยกตัวอย่างคนไข้เคสเก่าๆ ว่า บางรายมีน้ำหนักตัวก่อนผ่าตัดมากถึง 300 กิโลกรัม จนหลังจากผ่าตัดไปแล้วและมีการออกกำลังกาย มีการกินอาหารที่มีประโยชน์ น้ำหนักตัวก็สามารถลดลงไปได้ถึง 140 กิโลกรัม หรือคนไข้อีกรายที่มีน้ำหนักตัวก่อนผ่าตัด 180 กิโลกรัม เมื่อทำการผ่าตัดและปรับพฤติกรรมดูแลตนเอง ก็สามารถลดน้ำหนักลงไปได้เหลือ 90 กิโลกรัม

จากประสบการณ์ของคุณหมอ เคสคนไข้ที่เป็นโรคอ้วนมากๆ และหลังผ่าตัดมีรูปร่างที่ดี เห็นกล้ามเนื้อได้ชัดเจน หรือมีสุขภาพที่ดีขึ้น มีมากแค่ไหน?

มีเยอะมาก นพ. เสฐียรพงษ์กล่าวว่า ส่วนมากคนไข้ที่ตัดสินใจรับการผ่าตัดกระเพาะอาหารมักจะมีแรงบันดาลใจหรือแรงกระตุ้นบางอย่างที่จะเปลี่ยนแปลงสุขภาพอยู่แล้ว เช่น เป็นโรคเบาหวานและควบคุมอาการไม่ได้อีก มีอาการเหนื่อยง่าย หายใจไม่ออกจนกระทบชีวิตประจำวัน หรือมีครอบครัวและอยากใช้ชีวิตอยู่กับลูกๆ ไปนานๆ 

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พฤติกรรมของคนไข้หลังผ่าตัดเปลี่ยนไป มักมีการดูแลตนเองที่ดีขึ้น จนทำให้สุขภาพดีขึ้นหลายเท่า รวมถึงมีรูปร่างสัดส่วนที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

หลังผ่าตัดกระเพาะอาหาร มีโอกาสกลับมาอ้วนอีกหรือไม่?

จากงานวิจัยทางการแพทย์ คนไข้มีโอกาสกลับมาอ้วนเท่าเดิมน้อยมาก และน้ำหนักตัวมักจะลดลงอย่างน้อย 25-30% เป็นระยะเวลาถึงหลัก 10 ปี อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีกลุ่มคนไข้ประมาณ 2.5% ที่กลับมามีน้ำหนักตัวเท่าเดิม ซึ่งมักมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ผิดปกติ เช่น ติดกินน้ำหวานทุกวัน

หลังผ่าตัด มีความถี่ในการติดตามผลการรักษามากแค่ไหน?

แพทย์จะนัดหมายให้คนไข้มาตรวจแผลครั้งแรกหลังผ่าตัด 1-2 สัปดาห์ ซึ่งในระยะเวลานี้ แผลผ่าตัดมักหายดีเรียบร้อยแล้ว 

หลังจากนั้นในช่วง 1 ปีแรกหลังผ่าตัด แพทย์จะนัดติดตามอาการทุก 3 เดือน โดยจะมีการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง เจาะเลือดเพื่อดูค่าโปรตีนในร่างกาย รวมถึงตรวจโรคประจำตัวอื่นๆ ที่เกิดจากโรคอ้วนด้วย เช่น โรคเบาหวาน โรคไขมันพอกตับ ดูระดับไขมันในหลอดเลือด 

หลังจากนั้นในปีที่สอง แพทย์จะนัดมาติดตามผลการรักษาทุก 6 เดือนแทน และปีที่สามจะนัดห่างออกไปเป็นปีละ 1 ครั้ง

ผ่าตัดกระเพาะอาหารไปแล้ว น้ำหนักตัวขึ้นอีกหรือยังลดได้ไม่เป็นที่พอใจ ผ่าอีกรอบได้ไหม?

แพทย์จะพิจารณาเป็นรายบุคคลไป แต่ทั้งนี้คนไข้จะต้องมีน้ำหนักตัวลดลงมาอยู่ในจุดต่ำสุดเสียก่อน ซึ่งโดยส่วนมากหากต้องการผ่าตัดอีก คนไข้อาจต้องรอ 1-2 สองปีหลังการผ่าตัดครั้งแรก เพื่อให้แพทย์ประเมินว่าควรผ่าตัดกระเพาะอาหารอีกเป็นรอบที่สองหรือไม่ โดยจะประเมินจากทั้งน้ำหนักตัว รวมถึงโรคประจำตัวของคนไข้

นอกจากนี้เทคนิคการผ่าตัดที่จะใช้ในการผ่าตัดรอบสอง แพทย์มักจะพิจารณาไม่ใช้วิธีการผ่าตัดที่ซ้ำกับรอบแรก เช่น หากรอบแรกผ่าตัดแบบสลีฟ ในรอบสองก็อาจพิจารณาผ่าตัดแบบบายพาสหรือแบบสลีฟพลัสแทน

หลังผ่าตัดกระเพาะอาหารและน้ำหนักลงแล้ว จะมีปัญหาผิวหย่อนคล้อยหรือไม่? 

หากคนไข้มีน้ำหนักตัวที่เกินเกณฑ์ไม่มาก และร่างกายมีมวลกล้ามเนื้อประมาณหนึ่งเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็มีโอกาสเกิดผิวหย่อนคล้อยหลังน้ำหนักลงได้ไม่มาก 

แต่หากเป็นคนไข้ที่มีน้ำหนักตัวมากถึงหลัก 200 กิโลกรัมขึ้นไป ก็มีโอกาสเผชิญปัญหานี้ได้มากกว่า แต่ก็สามารถแก้ไขได้ด้วยการออกกำลังกายแบบเวทเทรนนิ่ง ซึ่งช่วยเสริมให้กล้ามเนื้อกระชับขึ้น หรือหากน้ำหนักลดลงมาจนถึงจุดต่ำสุดแล้วและมีปัญหาผิวหย่อนคล้อย ก็สามารถปรึกษารับการผ่าตัดเก็บผิวหนังภายหลังได้เช่นกัน

หลังผ่าตัด คนไข้จะทรมานเวลาหิวเหมือนวิธีคุมหรืออดอาหารไหม?

ไม่เหมือนกัน หลังผ่าตัดกระเพาะอาหารซึ่งเป็นการผ่าตัดเพื่อปรับฮอร์โมนความหิวให้ลดลง และฮอร์โมนความอิ่มเพิ่มขึ้น คนไข้จะรู้สึกหิวน้อยลงไปเอง ต่อให้มีอาหารวางอยู่ตรงหน้า ก็จะรู้สึกอยากอาหารน้อยลง และไม่ได้รู้สึกทรมานที่ไม่ได้กิน 

ต่างจากวิธีการคุมอาหารหรืออดอาหาร ซึ่งคนไข้จะมีระดับฮอร์โมนความหิวเท่าเดิม และจะยิ่งพลุ่งพล่านขึ้นเมื่อไม่ได้กินอาหารในเวลาที่อยากกินได้ จึงเสี่ยงทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้ง่ายกว่า

โรคอ้วน ฮอร์โมนความอิ่ม มีความสัมพันธ์กับโรคเบาหวานอย่างไร?

โรคเบาหวานนั้นเป็นโรคที่มักพ่วงมาจากการเป็นโรคอ้วน ส่วนฮอร์โมนความอิ่มกับโรคเบาหวานมีหลักการทำงานที่ส่งเสริมกันและกันอยู่

กล่าวคือ ฮอร์โมนความอิ่มนั้นผลิตมาจากลำไส้เล็ก ซึ่งหากฮอร์โมนชนิดนี้ผลิตออกมามากขึ้น ก็จะไปสั่งการให้ตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลินซึ่งเป็นต้นตอของโรคเบาหวานออกมาได้สมดุลขึ้นด้วย ทำให้ลดอาการดื้ออินซูลินในคนไข้โรคเบาหวานได้ และช่วยให้อาการของโรคเบาลง 

ด้วยเหตุนี้ ยาที่อยู่ในปากกาฉีดเพื่อรักษาโรคเบาหวานจึงมักบรรจุสารฮอร์โมนความอิ่มเอาไว้ด้วย เพื่อปรับการทำงานของตับอ่อนให้ผลิตฮอร์โมนอินซูลินดีขึ้นนั่นเอง

จากความเชื่อเดิมที่ว่า “โรคเบาหวานไม่มีทางหายขาดได้” การผ่าตัดกระเพาะอาหารสามารถรักษาโรคนี้ให้หายได้หรือไม่?

สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยดังต่อไปนี้

  • อายุของคนไข้ หากคนไข้อายุยังไม่มาก ก็มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้มากกว่า
  • ระยะเวลาที่เป็นโรคเบาหวาน โอกาสจะหายขาดมักพบได้ในคนไข้ที่เป็นโรคเบาหวานน้อยกว่า 5 ปี
  • น้ำหนักตัวที่ลดลงหลังผ่าตัด ยิ่งน้ำหนักตัวลดลงได้มาก ก็มีโอกาสหายขาดได้มากเกินกว่า 80-90%
  • การทำงานของตับอ่อนที่ดีขึ้นหลังผ่าตัด ซึ่งช่วยส่งผลให้หายขาดจากโรคเบาหวานได้เช่นกัน
  • ชนิดของโรคเบาหวาน หากเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม จะมีโอกาสจะหายขาดได้หลังผ่าตัดอย่างแน่นอน แต่หากเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของตับอ่อนที่ไม่ผลิตฮอร์โมนอินซูลิน ในคนไข้ที่อายุมาก เป็นโรคเบาหวานมานานกว่า 5 ปีแล้ว อาจไม่สามารถหายขาดจากโรคนี้ได้ แต่อาการของโรคจะดีขึ้นหลังการผ่าตัดแน่นอน

เทคนิคการผ่าตัดกระเพาะอาหารแบบไหนที่รักษาโรคเบาหวานได้มากที่สุด

ขึ้นอยู่กับระยะและความรุนแรงของโรคเบาหวาน การผ่าตัดแบบสลีฟจะเหมาะกับคนไข้ที่เป็นโรคเบาหวานได้ไม่นานและอายุยังน้อย ในขณะที่การผ่าตัดแบบบายพาสหรือสลีฟพลัสนั้นมีโอกาสรักษาคนไข้ที่เป็นโรคเบาหวานมานานแล้วได้เห็นผลมากกว่า 

เพราะเหตุใดการผ่าตัดกระเพาะในปัจจุบันถึงเสี่ยงน้อยกว่าสมัยก่อน

เนื่องจากการผ่าตัดซ้ำๆ เป็นประจำอยู่เสมอ ทำให้ทั้งทีมแพทย์ ทีมพยาบาล รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัดมีความชำนาญในการผ่าตัดมากขึ้น นอกจากนี้ยังด้วยปัจจัยด้านอุปกรณ์และเครื่องมือผ่าตัดที่ทันสมัยขึ้นด้วย จึงทำให้การผ่าตัดกระเพาะอาหารในปัจจุบันมีความปลอดภัยและเสี่ยงอันตรายน้อยกว่าสมัยก่อน

นอกจากนี้การผ่าตัดกระเพาะอาหารยังเป็นการผ่าตัดที่ต้องกระทำผ่านทีมแพทย์เฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญในการผ่าตัดด้านนี้ และเป็นการผ่าตัดที่มีแพทย์ 2 ท่านช่วยดูแลต่อคนไข้ 1 คน จึงช่วยลดความเสี่ยงจากการผ่าตัดให้น้อยลงไปได้อีก

ยกตัวอย่างเคสคนไข้ผ่าตัดกระเพาะอาหารที่มีน้ำตัวมากที่สุด อายุน้อยที่สุด และอายุมากที่สุดอยู่ที่เท่าไร?

นพ. เสฐียรพงษ์ กล่าวว่าหากนับแค่ปีนี้ คุณหมอก็ได้ผ่าตัดกระเพาะอาหารมาเกือบๆ 500 เคสแล้ว ซึ่งจากประสบการณ์ผ่าตัดที่ผ่านมา เคสคนไข้ที่มีน้ำหนักตัวมากที่สุดจะอยู่ที่ 320 กิโลกรัม รองลงมาก็จะอยู่ที่ 260 กิโลกรัม และ 170 กิโลกรัม 

ซึ่งจากน้ำหนักตัวคนไข้ที่มากเป็นพิเศษ จึงทำให้ต้องมีการเตรียมตัวก่อนผ่าตัดที่มากกว่าคนไข้ทั่วไป รวมถึงต้องประสานงานกับทีมสหวิชาชีพและแพทย์ท่านอื่นๆ ในการช่วยเตรียมความพร้อมคนไข้ก่อนผ่าตัดอีกด้วย

สำหรับคนไข้ที่อายุน้อยที่สุดจะอยู่ที่ช่วงอายุประมาณ 20 ปีต้นๆ ส่วนที่อายุมากที่สุดจะอยู่ที่ประมาณ 65 ปี ซึ่งยิ่งคนไข้อายุมากเท่าไร หรือมีโรคประจำตัวรุมเร้าหลายอย่าง แพทย์ก็ยิ่งต้องมีการตรวจประเมินและวางแผนการผ่าตัดอย่างรอบคอบรัดกุม เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นให้มากที่สุด เนื่องจากการผ่าตัดกระเพาะอาหารเป็นการผ่าตัดที่มีความซับซ้อนสูง

ยกตัวอย่างเคสคนไข้ที่ยาก แต่ประทับใจในมุมมองของแพทย์

นพ. เสฐียรพงษ์ได้ยกตัวอย่างถึงคนไข้ที่เดินทางมารักษาจากจังหวัดระยอง โดยคนไข้ได้รู้จักคุณหมอผ่านข่าวที่คุณหมอช่วยผ่าตัดกระเพาะอาหารจนน้ำหนักตัวคนไข้จาก 220 กิโลกรัมเหลือลงมาที่ 120 กิโลกรัมได้ จึงได้เดินทางมาขอคำปรึกษาในการผ่าตัด

คนไข้คนดังกล่าวมีน้ำหนักตัวอยู่ที่ประมาณ 260-270 กิโลกรัม มีอาชีพเป็นช่างซ่อมกุญแจรถยนต์ และมีลักษณะการทำงานที่จะต้องสไลด์ตัวเข้าไปซ่อมเครื่องยนต์ที่ใต้ท้องรถด้วย แต่ติดปัญหาตรงที่มีก้อนไขมันขนาดใหญ่ที่ขาจนไม่สามารถทำงานได้อย่างสะดวก

ซึ่งหลังจากแพทย์ได้ประเมินให้ทำการผ่าตัดได้ ก็ต้องใช้เวลาเตรียมตัวคนไข้นานอยู่หลายเดือน แพทย์ต้องมีการประสานงานยืมเตียงคนไข้แบบพิเศษที่สามารถรองรับน้ำหนักตัวคนไข้ซึ่งมากกว่า 200 กิโลกรัมได้ รวมถึงต้องปรับระบบการขนย้ายเตียงในห้องผ่าตัดใหม่ มีการเตรียมเครื่องมือผ่าตัดที่มีความยาวมากเป็นพิเศษ 

แต่ในที่สุดแพทย์ก็สามารถผ่าตัดกระเพาะอาหารให้คนไข้ได้เป็นผลสำเร็จ และหลังผ่านไป 2 สัปดาห์หลังผ่าตัด คนไข้ก็เริ่มน้ำหนักตัวลดลง สามารถหายใจได้โล่งขึ้น แต่ความประทับใจในการผ่าตัดไม่ได้มีอยู่เท่านั้น 

นพ. เสฐียรพงษ์เล่าเพิ่มเติมว่า คนไข้คนดังกล่าวยังมีสุขภาพที่ดีและแข็งแรงขึ้นหลังผ่าตัดด้วย สามารถกลับไปทำงานได้อย่างสะดวกคล่องแคล่ว และใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวได้อย่างมีความสุขขึ้น จึงทำให้ทีมแพทย์รู้สึกประทับใจที่ได้มีโอกาสวางแผนการผ่าตัดที่ซับซ้อนกว่าเคสคนไข้ทั่วไป แต่ก็สามารถช่วยคืนคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนไข้ได้อย่างสมบูรณ์

เคยมีคนไข้ที่รักษาโรคอ้วนด้วยวิธีอื่นๆ มาก่อน เช่น ใส่บอลลูน ดูดไขมันหน้าท้อง และเปลี่ยนใจมารักษากับคุณหมอหรือไม่?

มี เช่น คนไข้ที่ใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร หลังเปลี่ยนใจมารักษาด้วยการผ่าตัดกระเพาะอาหารแทนก็จะใช้ชีวิตได้ง่ายและโล่งขึ้น เนื่องจากการใส่บอลลูนมักจะทำให้เกิดผลข้างเคียงทำให้มีอาการกรดไหลย้อน มีอาการจุดเสียดแน่นท้อง ในขณะที่การผ่าตัดกระเพาะอาหารนั้นจะไม่มีอะไรอัดแน่นอยู่ในกระเพาะอาหารเลย 

ส่วนการดูดไขมัน มีคนไข้บางรายที่ดูดไขมันแต่ไม่เห็นผล จึงเปลี่ยนใจมารับการผ่าตัดกระเพาะอาหารแทน ซึ่งแพทย์มักจะอธิบายให้คนไข้เข้าใจเพิ่มเติมว่า การดูดไขมันจัดเป็นการทำหัตถการเพื่อแต่งทรงร่างกายมากกว่า ไม่ใช่การทำหัตถการเพื่อรักษาโรคอ้วนและเพื่อลดน้ำหนักโดยเฉพาะ เหมือนการผ่าตัดกระเพาะอาหาร 

ผ่าตัดกระเพาะอาหารใช้สิทธิ์การรักษาในโรงพยาบาลได้หรือไม่?

สามารถใช้ได้ แต่อาจมีตัวเลือกในไม่กี่โรงพยาบาลนัก เนื่องจากในปัจจุบัน แพทย์เฉพาะทางด้านผ่าตัดกระเพาะอาหารนั้นยังมีจำนวนไม่มากนัก นอกจากนี้การผ่าตัดเพื่อรักษาโรคอ้วนยังไม่ใช่การผ่าตัดฉุกเฉินเหมือนกับการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง โรคถุงน้ำดีอักเสบ ดังนั้นคนไข้ที่สนใจทำการรักษาจึงอาจต้องรอคิวนานประมาณหนึ่ง 

ในคนไข้บางรายอาจมีญาติที่ไม่เข้าใจถึงวัตถุประสงค์ในการผ่าตัด แพทย์มีวิธีพูดทำความเข้าใจกับคนเหล่านั้นอย่างไร?

ขั้นแรก แพทย์จะต้องอธิบายให้ญาติคนไข้เข้าใจก่อนว่า โรคอ้วน คือ โรคชนิดหนึ่งที่ต้องรักษา ไม่ใช่เพียงปัญหาด้านน้ำหนักตัวหรือปัญหารูปกายภายนอกอย่างที่หลายคนเข้าใจ และหากปล่อยปละละเลยต่อไป อายุไขของคนไข้จะสั้นลง 

ส่วนการผ่าตัดกระเพาะอาหารก็คือวิธีรักษาโรคอ้วนที่ไม่ต่างจากวิธีกินยาหรือฉีดยารักษาโรคอื่นๆ ซึ่งสามารถช่วยให้โรคอ้วนอาการดีขึ้น ทำให้คนไข้กลับมามีร่างกายแข็งแรง น้ำหนักไม่เกินเกณฑ์อีก

เมื่อญาติคนไข้เข้าใจนิยามของโรคและการผ่าตัด ก็จะเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ในการผ่าตัดมากขึ้น

ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดกระเพาะอาหารอยู่ที่หลักแสน ซึ่งหลายคนมองว่าแพงเกินไป คุณหมอมีมุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร?

ความจริงแล้วค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดกระเพาะอาหารจัดว่าลดลงกว่าสมัยก่อนมากแล้ว และส่วนมากคนไข้ที่ติดต่อมาขอรับการผ่าตัด มักจะผ่านวิธีลดน้ำหนักอื่นๆ มาก่อนซึ่งล้วนเสียค่าใช้จ่ายสะสมมาแล้วเป็นจำนวนไม่น้อย หลายคนยังมองว่า ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดกระเพาะอาหารยังถูกกว่าค่าใช้จ่ายเพื่อลดน้ำหนักที่ผ่านๆ มาเสียอีก

นอกจากนี้คุณหมอยังแนะนำว่า อยากให้คนไข้มองการผ่าตัดกระเพาะอาหารเป็นการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคชนิดหนึ่ง และนอกจากรักษาโรคอ้วนได้แล้ว คนไข้ยังจะได้รักษาโรคอื่นๆ ที่พ่วงตามมาจากการเป็นโรคอ้วนในการผ่าตัดครั้งเดียวด้วย ทำให้ได้คุณภาพชีวิตที่ดีคืนมาหลายด้าน ไม่ใช่แค่ด้านน้ำหนักตัวที่ลดลงเท่านั้น 

คนไข้หลายคนเคยเก็บตัวออกไปเที่ยวต่างจังหวัดหรือต่างประเทศไม่ได้ เนื่องจากมีปัญหาน้ำหนักตัวซึ่งส่งผลต่อการจองตั๋วเครื่องบิน หรือบางคนสูญเสียความมั่นใจในรูปลักษณ์ของตนเอง ซึ่งการผ่าตัดกระเพาะสามารถช่วยให้คนไข้มีอิสระในการใช้ชีวิตหลังผ่าตัดได้มากขึ้นมาแล้วหลายราย 

ดังนั้นการมองว่าค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดนั้นแพงเกินไปหรือไม่ ขึ้นอยู่กับมุมมองต่อการผ่าตัดในแต่ละบุคคลมากกว่า

ในความเห็นของแพทย์ การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อรักษาโรคอ้วนในปัจจุบันเข้าถึงง่ายกว่าสมัยก่อนหรือไม่?

เข้าถึงได้ง่ายขึ้นกว่าสมัยก่อน ด้วยแพทย์เฉพาะทางที่ทยอยเพิ่มจำนวนขึ้น และด้วยการบอกต่อประสบการณ์ชีวิตที่ดีขึ้นของคนไข้ที่เคยผ่าตัดไปแล้ว จึงทำให้สังคมได้เห็นข้อมูลตัวอย่างที่ดีจากการผ่าตัดกระเพาะอาหารมากขึ้น และติดต่อมารับบริการกันมากขึ้นไปด้วย

ในความเห็นของแพทย์ คนไข้กลุ่มที่ผ่าตัดไปแล้วจนมีรูปร่างที่ดี ถึงขั้นเห็นกล้ามเนื้อชัดเจน มีสัดส่วนเยอะแค่ไหน?

คำว่า “หุ่นดี” ต้องขึ้นอยู่กับระดับน้ำหนักตัวที่เกินเกณฑ์ในคนไข้แต่ละราย ซึ่งน้ำหนักที่ลดลงจนรูปร่างดีขึ้นนั้น คนไข้ทุกคนจะมีน้ำหนักลดลงประมาณ 30% ภายใน 6 เดือนหลังผ่าตัดอยู่แล้ว และส่งผลให้รูปร่างมีการเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นทุกคน

แต่ขณะเดียวกัน ในคนไข้หลายรายนั้นก็ไม่ได้มองเรื่องรูปลักษณ์เป็นประโยชน์สำคัญจากการผ่าตัด แต่จะคำนึงถึงสุขภาพที่ดีขึ้น โรคประจำตัวที่อาการทุเลาลงหรือหายขาดเป็นหลักสำคัญต่างหาก 

การผ่าตัดช่วยเปลี่ยนทัศนคติของคนไข้ด้วยหรือไม่?

เปลี่ยน เนื่องจากคนไข้ทุกรายนั้นได้เห็นผลเสียจากการเป็นโรคอ้วนมาก่อนแล้ว เมื่อได้รับการผ่าตัด ทัศนคติและมุมมองของคนไข้จะเปลี่ยนไป มีการใส่ใจเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้น เริ่มหมั่นออกกำลังกายและควบคุมน้ำหนักตัว ซึ่งแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดก็จะช่วยติดตามการรักษาและช่วยปรับกิจวัตรการใช้ชีวิตของคนไข้ไปด้วย ทำให้สุขภาพดีขึ้นอย่างยั่งยืนถาวร

ผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อรักษาโรคอ้วน กับ นพ. เสฐียรพงษ์ จันทวิบูลย์ ด้วยบริการจาก HDcare

ผู้ที่ดัชนีมวลกายมากกว่า 32.5 หรือเป็นโรคอ้วนแถมมีโรคประจำตัวพ่วงตามมาอีก อยากรักษาให้หายเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ติดต่อแอดมิน HDcare เพื่อนัดปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดกระเพาะโดยไม่มีค่าใช้จ่าย 

และหากสนใจรับการผ่าตัด สามารถนัดจองคิวผ่าตัดในสถานพยาบาลที่สะดวกใช้บริการกับแอดมินได้ทันที 

สอบถามทุกประเด็นเกี่ยวกับการผ่าตัดที่สงสัย กับทางทีมของ HDcare จนกว่าจะมั่นใจ และหากต้องการผู้ช่วยประสานงานด้านใดในโรงพยาบาล หรืออยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับบริการ HDcare สามารถพูดคุยผ่านทางไลน์ @HDcare ได้เลย

Scroll to Top