Default fallback image

รักษาหลอดเลือดสมองโป่งพอง ด้วยการใส่ขดลวด

การใส่ขดลวด เป็นเทคนิคที่ใช้บ่อยที่สุดในการรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพอง หลักการคือนำลวดชนิดพิเศษเข้าไปขดในกระเปาะหลอดเลือดที่โป่งพอง เพื่ออุดการไหลเวียนเลือด ลดความเสี่ยงของการเกิดหลอดเลือดในสมองแตก ซึ่งถ้าเกิดขึ้นอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตผู้ป่วยได้

การรักษานี้ไม่ต้องมีการผ่าเปิดกะโหลกศีรษะ เพียงแค่ใช้สายสวนหลอดเลือด ส่วนใหญ่เพียงต้องกรีดเปิดแผลเล็กๆ บริเวณขาหนีบ ทำเสร็จไม่ต้องเย็บ เมื่อรักษาเสร็จสิ้นจึงแทบไม่หลงเหลือรอยแผลใดๆ เลย

การรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพอง ด้วยการใส่ขดลวด คืออะไร

การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ด้วยการใส่ขดลวด (Coiling Ambolizations) เป็นการรักษาภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพอง โดยใช้วัสดุที่ทำจากโลหะแพลตทินัมลักษณะอ่อน ยืดหยุ่น ขนาดเล็กมาก ประมาณเส้นผมของมนุษย์ เข้าไปขดแล้วอุดในกระเปาะหลอดเลือดที่โป่งพอง

เมื่อทิ้งขดลวดนี้ไว้ ขดลวดจะเหนี่ยวนำให้เกิดลิ่มเลือด ทำให้เกิดการอุดตัน จนในที่สุดเลือดไม่ไหลเวียนเข้ามาเลี้ยงกระเปาะเลือดนี้อีก

โดยทั่วไปจัดว่าเป็นเทคนิคการรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพองที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าการผ่าตัดแบบเปิดกะโหลกศีรษะ

การรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพอง ด้วยการใส่ขดลวด เหมาะกับใคร

การรักษาด้วยเทคนิคนี้ให้ผลดีกับผู้ป่วยที่มีลักษณะกระเปาะเลือดในสมองไม่ใหญ่เกินไป ลักษณะคอกระเปาะเลือดแคบ ไม่มีประวัติการแพ้สารทึบรังสี ไม่แพ้โลหะ

อย่างไรก็ตาม แพทย์จะเป็นผู้ตรวจประเมินทั้งภาวะของโรคและภาวะสุขภาพของผู้ป่วยอย่างละเอียด ก่อนให้คำแนะนำว่าเทคนิคการรักษาด้วยการใส่ขดลวดนี้เหมาะสมหรือไม่

ข้อดีของการรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพอง ด้วยการใส่ขดลวด

ข้อดีของการรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพอง ด้วยการใส่ขดลวด มาจากเทคนิคที่ใช้วิธีใส่สายสวนหลอดเลือด ไม่ต้องมีการผ่าตัดใหญ่หรือผ่าเปิดกะโหลกศีรษะ ทำให้ผู้ป่วยเจ็บตัวน้อย โอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนจากการผ่าตัดมีน้อย ไม่ต้องวางยาสลบเป็นเวลานาน ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว สามารถกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้เร็ว

ข้อจำกัดของการการรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพอง ด้วยการใส่ขดลวด

แม้การรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพองด้วยการใส่ขดลวด จะเป็นเทคนิคที่ใช้กันบ่อยที่สุด แต่ยังมีข้อจำกัดสำหรับการรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพองที่มีขนาดใหญ่มาก หรือคอของกระเปาะเลือดมีลักษณะกว้าง

ความเสี่ยงจากการรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพอง ด้วยการใส่ขดลวด

ผู้ป่วยที่รับการรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพอง ด้วยการใส่ขดลวด มีความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์อยู่บ้าง

ความเสี่ยงจากสารทึบรังสี เช่น

  • อาการแพ้สารทึบรังสี โดยอาจเกิดในผู้ที่มีประวัติแพ้ยา เคยฉีดสีเพื่อทำหัตถการอื่นๆ แล้วมีอาการแพ้ หรือมีประวัติแพ้ไอโอดีน
  • ผลข้างเคียงต่อไต อาจเกิดในผู้ที่มีประวัติไตวาย ผู้เป็นโรคไต

ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการทำหัตถการที่หลอดเลือดสมอง เช่น

  • ขดลวดแทงทะลุหลอดเลือด ทำให้เส้นเลือดสมองแตก
  • เกิดลิ่มเลือด
  • มีเลือดออก
  • ติดเชื้อ

เพื่อความปลอดภัย ควรให้ข้อมูลสุขภาพ เช่น โรคประจำตัว (โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือด) ภาวะตั้งครรภ์ ประวัติการใช้ยา ประวัติการผ่าตัด แก่แพทย์ผู้รักษาอย่างครบถ้วน และควรสอบถามถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้จากแพทย์อย่างละเอียด รวมถึงทางเลือกอื่นๆ หรือข้อปฏิบัติที่จำเป็น เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงนั้นๆ

ขั้นตอนการรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพอง ด้วยการใส่ขดลวด

การรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพอง ด้วยการใส่ขดลวด มีขั้นตอนดังนี้

  1. แพทย์หรือเจ้าหน้าที่จะให้ผู้ป่วยนอนบนเตียงเอกซเรย์ แล้วติดชุดให้สารน้ำทางหลอดเลือด เข้าที่บริเวณแขนผู้ป่วย จะมีการติดตั้งอุปกรณ์ ECG เพื่อตรวจวัดสัญญาณชีพระหว่างรักษา อาจมีการใส่สายสวนปัสสาวะเพื่อระบายน้ำปัสสาวะออกให้หมดก่อนด้วย
  2. เมื่อจะเริ่มฉีดสี เจ้าหน้าที่จะทำความสะอาดผิวหนังที่ขาหนีบของผู้ป่วยและบริเวณโดยรอบเพื่อเตรียมใส่สายสวนหลอดเลือด
  3. แพทย์ฉีดยาชาเฉพาะที่เพื่อระงับความรู้สึกผู้ป่วย ก่อนกรีดเปิดแผลเล็กๆ ที่ขาหนีบ เพื่อเตรียมสายสวนเข้าทางหลอดเลือดแดง แล้วสอดสายพลาสติกขนาดเล็กเข้าไปในหลอดเลือด โดยใช้ลวดนำการสอดท่อ ร่วมกับการใช้เครื่องฉายภาพรังสีระหว่างการรักษา (Fluoroscopy) เพื่อให้สายสวนเข้าไปยังตำแหน่งที่ถูกต้อง จนหยุดที่หลอดเลือด ณ ตำแหน่งก่อนถึงกระเปาะหลอดเลือดที่โป่งพอง
  4. เมื่อเข้าไปถึงตำแหน่งดังกล่าวแล้ว แพทย์จะทำการฉีดสารทึบรังสี (ที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ฉีดสี) สู่สายสวนหลอดเลือด แล้วถ่ายภาพด้วยรังสีเอกซ์ เพื่อให้ได้ภาพการไหลเวียนเลือดภายในสมองอย่างชัดเจน จากนั้นกระเปาะหลอดเลือดที่โป่งพองจะถูกวัดขนาด รูปร่าง และบันทึกผล
  5. สายสวนเล็กๆ อีกอันจะถูกสอดเข้าด้านในของสายสวนอันแรก เข้าไปจนถึงตำแหน่งกระเปาะหลอดเลือดที่โป่งพอง แล้วแพทย์จึงใส่ลวดผ่านสายสวนนี้เข้าไปยังกระเปาะหลอดเลือดดังกล่าว ก่อนจะทำเป็นขดแล้วทิ้งไว้ที่บริเวณนี้อย่างถาวร ในบางกรณีอาจมีการใช้ตาข่ายค้ำหลอดเลือด หรือใช้บอลลูนขยายหลอดเลือดร่วมด้วย เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ก่อนนำอุปกรณ์ต่างๆ ออกจากร่างกายผู้ป่วย อาจมีการบันทึกภาพหลอดเลือดด้วยรังสีเอกซ์อีกครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าขดลวดได้เข้าไปปิดการไหลเวียนของเลือดเรียบร้อยแล้ว จากนั้นพยาบาลจะปิดแผลด้วยผ้าปิดแผล ไม่มีการเย็บ

การเตรียมตัวก่อนรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพอง ด้วยการใส่ขดลวด

แพทย์หรือพยาบาลจะเป็นผู้แนะนำการเตรียมตัวแก่ผู้ป่วย ก่อนรับการรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพอง ด้วยการใส่ขดลวด โดยทั่วไปแล้วอาจให้ปฏิบัติดังนี้

  • ให้ใช้ยาต้านเกล็ดเลือด 5 วัน ก่อนการรักษา เพื่อลดโอกาสเกิดลิ่มเลือดระหว่างและหลังรักษา
  • ให้งดเครื่องดื่มและอาหารเป็นเวลา 6-8 ชั่วโมง ก่อนการรักษา เพื่อป้องกันการสำลักอาหารระหว่างทำการรักษาซึ่งทำภายใต้ฤทธิ์ยาสลบ

อาจมีคำแนะนำอื่นๆ ตามภาวะสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละรายที่แตกต่างกัน ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

การดูแลตัวเองหลังจากรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพอง ด้วยการใส่ขดลวด

หลังรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพอง ด้วยการใส่ขดลวด แพทย์มักให้พักสังเกตอาการในโรงพยาบาลก่อน ประมาณ 1-2 วัน ช่วง 12-24 ชั่วโมงแรก ควรนอนราบบนเตียง และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ระหว่างนี้ถ้ารู้สึกปวดแผล อาจรับประทานยาแก้ปวดที่แพทย์จ่ายให้เพื่อบรรเทาอาการ

เมื่อแพทย์ให้กลับไปพักฟื้นที่บ้าน ควรหมั่นสังเกตตนเอง เมื่อกลับบ้านใหม่ๆ อาจยังรู้สึกอ่อนเพลีย หรือปวดศีรษะเล็กน้อย เจ็บแผลบริเวณที่สอดสายสวน หรือมีเลือดไหลออกมาบ้าง แต่ตามปกติอาการเหล่านี้มักค่อยๆ ดีขึ้นภายในไม่กี่วันหรือภายใน 2-3 สัปดาห์

ถ้าเกิน 3 สัปดาห์ไปแล้วอาการไม่ดีขึ้นเลย หรือพบความผิดปกติดังต่อไปนี้ ควรรีบติดต่อแพทย์ เนื่องจากอาจบ่งบอกถึงอาการแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย

  • เป็นไข้ หนาวสั่น
  • รู้สึกเจ็บปวดบริเวณที่ใส่สายสวนหลอดเลือดมาก หรือพบว่าผิวหนังบริเวณนั้นแดง บวม หรือมีเลือดหรือของเหล่วอื่นๆ ไหลซึมออกมา
  • รู้สึกหนาว ชา หรือเจ็บแปลบอย่างไม่ทราบสาเหตุ
  • ปวดศีรษะอย่างรุนแรง

สำหรับการกลับมาทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ทำงาน ออกกำลังกาย ควรปรึกษาแพทย์ว่าสามารถทำได้หรือยังเพื่อหลีกเลี่ยงการกระทบกระเทือนต่อการรักษา

นอกจากนี้ จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อตรวจติดตามผลการรักษาตามนัด เพื่อให้แน่ใจว่าการรักษาได้ผลดี

โอกาสหายจากหลอดเลือดสมองโป่งพอง เมื่อรักษาด้วยการใส่ขดลวด

ในปี 2014 มีการศึกษากลุ่มผู้ป่วย 334 คน ที่รักษาหลอดเลือดสมองโป่งพองด้วยการใส่ขดลวด ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีกระเปาะเลือดขนาดใหญ่ (10 มิลลิเมตรขึ้นไป) ผลพบว่า ประมาณ 10.5% ของผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อน และมี 1 รายเสียชีวิต

โดยรวมแล้ว 92% ค่อนข้างพอใจในผลการรักษา อย่างไรก็ตาม พบว่า 39% ของผู้ป่วยนั้น กระเปาะเลือดกลับมาเปิดออกอีก ซึ่งทำให้กระเปาะเลือดอาจขยายขนาดขึ้นอีกครั้ง หรือมีความเสี่ยงที่จะเกิดหลอดเลือดสมองแตกได้ และมีผู้ต้องรักษาซ้ำประมาณ 33%

ส่วนปี 2022 มีการศึกษาประสิทธิภาพการรักษาภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพอง ด้วยวิธีใส่ขดลวด ในผู้ป่วย 1,289 คน ผลพบว่า 29.5% กลับมามีกระเปาะเลือดเปิดซ้ำ

ปัจจัยที่ทำให้กลับมามีกระเปาะเลือดเปิดซ้ำอีก ได้แก่ สูบบุหรี่ มีหลอดเลือดสมองแตก มีกระเปาะเลือดขนาดใหญ่เกิน 10 มิลลิเมตรในสมอง คอกระเปาะเลือดมีลักษณะกว้าง กระเปาะเลือดอยู่ในตำแหน่งที่เรียกว่า Middle Cerebral Artery (MCA)

ปรับพฤติกรรม ป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง อ่านต่อ คลิกเลย!

หลอดเลือดสมองโป่งพอง เป็นภาวะที่ควรได้รับการรักษา แม้จะยังไม่ได้แสดงอาการใดๆ โดยเฉพาะถ้ากระเปาะเลือดมีขนาดใหญ่ เนื่องจากถ้าปล่อยทิ้งไว้ อาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดเลือดออกในสมอง หรือเป็นหลอดเลือดสมองแตก นำไปสู่อันตรายถึงแก่ชีวิตได้

ถ้าเคยตรวจพบหลอดเลือดสมองโป่งพอง แล้วอยากตรวจซ้ำเพื่อขอความเห็นที่สอง หรือต้องการทราบทางเลือกในการรักษา แต่ไม่แน่ใจว่าจะเริ่มตรงไหนดี ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรค จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top