มะเร็งท่อน้ำดี เป็นโรคที่เกิดจากการเติบโตผิดปกติของเซลล์ในท่อน้ำดี การรักษาจะขึ้นอยู่กับระยะของโรค ตำแหน่งของมะเร็ง และสุขภาพของผู้ป่วย…บทความนี้จะพามาเจาะลึกเกี่ยวกับการรักษามะเร็งท่อน้ำดี เพื่อให้คุณวางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้อง
สารบัญ
วิธีรักษาโรคมะเร็งท่อน้ำดี มีกี่วิธี
ปัจจุบันวิธีการรักษาโรคมะเร็งท่อน้ำดีมีหลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับอาการ ความรุนแรง ระยะของโรค ซึ่งแพทย์จะต้องตรวจวินิจฉัย และประเมินความเป็นไปได้ในการรักษา ซึ่งบางครั้งอาจต้องใช้การรักษาหลากหลายรูปแบบควบคู่กันไป
แต่โดยทั่วไป สามารถแบ่งการรักษาได้ 2 รูปแบบหลักๆ คือ
1. การรักษาโรคมะเร็งท่อน้ำดี ด้วยวิธีผ่าตัด
การผ่าตัดเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในการรักษามะเร็ง และเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วย ในรายที่ประเมินแล้วว่ามีโอกาสที่จะสามารถตัดเอาก้อนมะเร็งออกจากร่างกายได้อย่างสมบูรณ์ โดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยระยะ 0-2 ที่มะเร็งยังไม่มีการแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย รวมทั้งระยะที่ 3 ในบางราย แต่ก็ต้องประเมินปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น ตำแหน่งของก้อนมะเร็ง สุขภาพของผู้ป่วย
ทั้งนี้การผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งท่อน้ำดี ก็ยังมีหลากวิธีอีกเช่นกัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ดังนี้
-
- ผ่าตัดเฉพาะส่วนของท่อน้ำดี เหมาะกับผู้ป่วยระยะแรกๆ ที่มะเร็งยังไม่ลุกลามไปยังส่วนอื่น โดยแพทย์จะต้องผ่าตัดท่อน้ำดีในส่วนที่เป็นมะเร็งออกและเชื่อมต่อส่วนที่เหลือระหว่างตับและลำไส้เล็กเพื่อให้น้ำดีกลับมาไหลอีกครั้ง
- ผ่าตัดท่อน้ำดี และอวัยวะบางส่วน หากพบว่ามะเร็งลุกลามไปเนื้อเยื่อรอบๆ เช่น ตับ กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็กส่วนต้น ตับอ่อน หรือต่อมน้ำเหลือง แพทย์ก็จำเป็นต้องตัดส่วนที่มะเร็งลุกลามไปออกด้วย เพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งซ้ำในอนาคต
ทั้งนี้หลังผ่าตัดเสร็จสิ้น ผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การฉายแสง หรือให้เคมียำบัด เพื่อประสิทธิภาพการรักษาสูงสุด ลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำ
นอกจากการผ่าตัด 2 รูปแบบหลักๆ ที่กล่าวมาแล้ว หากพบว่าก้อนมะเร็งอุดกั้นท่อน้ำดี จนผู้ป่วยเกิดภาวะตัวเหลือง ตาเหลือง หรือดีซ่าน แต่ไม่สามารถตัดก้อนมะเร็งออกมาได้ แพทย์อาจจำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อสร้างทางเดินน้ำดีใหม่
2. การรักษาโรคมะเร็งท่อน้ำดีด้วยวิธีไม่ผ่าตัด
การรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัดนี้ มีวัตถุประสงค์การรักษาค่อนข้างหลากหลาย และเหมาะกับอาการของผู้ป่วยที่แตกต่างกัน รายละเอียดดังนี้
- ก้อนมะเร็งมีการแพร่กระจายไปค่อนข้างมาก ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ มักอยู่ในระยะที่ 3-4
- ก้อนมะเร็งเกิดในตำแหน่งที่ไม่สามารถผ่าตัดได้
- กรณีที่ร่างกายผู้ป่วยไม่แข็งแรงเพียงพอในการผ่าตัด
- ใช้รักษาก่อนเข้ารับการผ่าตัด เพื่อลดขนาดก้อน ให้การผ่าตัดทำได้ง่าย และมีประสิทธิภาพขึ้น
- ใช้รักษาหลังเข้ารับการผ่าตัด เพื่อลดโอกาสการกลับมาเป็นมะเร็งซ้ำ
- ใช้รักษาในกรณีที่กลับมาเป็นซ้ำ และไม่สามารถผ่าตัดได้อีก
การรักษาโรคมะเร็งท่อน้ำดี ด้วยวิธีไม่ผ่าตัด แบ่งการรักษาได้ดังนี้
2.1 รังสีรักษา หรือการฉายแสง (Radiation therapy) เป็นการใช้รังสีพลังงานสูงทำลายเซลล์มะเร็ง ช่วยลดการแพร่กระจาย ทำให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลง ซึ่งการฉายรังสี ก็จะมีเทคนิคที่แตกต่างกันไปอีก แพทย์จะเป็นผู้ประเมินตามความเหมาะสม
การรักษาวิธีนี้อาจเกิดผลข้างเคียงได้บ้าง เช่น ผิวหนังบริเวณที่ฉายรังสีเปลี่ยนเป้นสีเข้มขึ้น แดงพอง อ่อนเพลีย วิงเวียน แต่อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นหลังการรักษาเสร็จสิ้น
2.2 เคมีบำบัด หรือคีโม (Chemotherapy) เป็นการใช้ยาในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง มักใช้ร่วมกับการผ่าตัดหรือรังสีรักษา เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด
แต่การให้เคมีบำบัดนั้นมีผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย เช่น ผมร่วง น้ำหนักลดลง อาเจียน วิงเวียนศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หายใจลำบาก แผลในปาก ท้องเสีย เป็นไข้ ฯลฯ แต่หลังจากการรักษาเสร็จสิ้น อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นเอง
2.3 การรักษาด้วยยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) เป็นทางเลือกใหม่ในการรักษามะเร็ง โดยการใช้ยาที่มุ่งโจมตีเฉพาะเซลล์มะเร็ง โดยไม่ทำลายเซลล์ปกติ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีการตรวจพบความผิดปกติของยีนที่เฉพาะเจาะจง ลดผลข้างเคียงจากการรักษาลงได้ค่อนข้างมาก
โรคมะเร็งท่อน้ำดีรักษาหายไหม?
โรคมะเร็งท่อน้ำดี ในกรณีที่ตรวจพบในระยะแรกๆ และได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม มีโอกาสรักษาหายได้ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค สุขภาพของผู้ป่วยเอง และปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย
ฉะนั้นสิ่งสำคัญคือหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย และตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสให้หายขาดและกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ
แต่ขณะเดียวกันหากตรวจพบโรคในระยะลุกลาม ก็ยังมีวิธีในการรักษาอื่นๆ ที่จะช่วยบรรเทาความรุนแรงของโรค ลดความเจ็บปวด และเพิ่มโอกาสรักษาให้สำเร็จอีกหลายวิธี ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสมที่สุด
การรักษาโรคมะเร็งท่อน้ำดี ราคาเท่าไหร่?
การรักษามะเร็งท่อน้ำดีมีราคาแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับวิธีการรักษาและโรงพยาบาล โดยส่วนใหญ่มีราคา ดังนี้
- การผ่าตัด: 100,000-500,000 บาท ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนและโรงพยาบาล
- รังสีรักษา: 50,000-200,000 บาท
- เคมีบำบัด: 20,000-100,000 บาท ต่อรอบ
- การรักษาแบบมุ่งเป้า: 50,000-200,000 บาท ต่อเดือน
การเลือกวิธีการรักษามะเร็งท่อน้ำดีที่เหมาะสมจะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาและฟื้นตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น การวางแผนการรักษาที่ดีและการติดตามผลอย่างใกล้ชิดจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมามีชีวิตที่ดีขึ้นและสุขภาพแข็งแรงได้ในที่สุด
รักษามะเร็งท่อน้ำดีด้วยวิธีไหนดี? วิธีไหนเหมาะกับอาการของเรา? นัดคุยกับคุณหมอเฉพาะทาง ผ่านทีม HDcare สะดวกรวดเร็ว ทันใจ หรือค้นหาแพ็กเกจรักษามะเร็งท่อน้ำดี จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย