cervical polyp screening process scaled

ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยติ่งเนื้อที่ปากมดลูก

ติ่งเนื้อที่ปากมดลูก เป็นความผิดปกติที่ไม่มีอาการให้สังเกตได้อย่างแน่ชัด แต่ตรวจพบได้จากการตรวจภายใน หรือในบางคนอาจมีเลือดออกจากช่องคลอดกะปริบกะปรอยโดยไม่ทราบสาเหตุ มีเลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์ค่อนข้างมาก มีประจำเดือนมาก หรือนานผิดปกติ ตกขาวปนเลือด หรือตกขาวมีกลิ่นเหม็น

หากคุณอยากตรวจให้แน่ใจว่า ใช่ติ่งเนื้อที่ปากมดลูกหรือเปล่า ตรวจแล้วเจ็บไหม บทความนี้นำขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยติ่งเนื้อที่ปากมดลูกมาฝาก

ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยติ่งเนื้อที่ปากมดลูก

เมื่อสงสัยว่าเป็นติ่งเนื้อที่ปากมดลูก และมาพบแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติ แพทย์จะมีวิธีการตรวจวินิจฉัย ดังนี้

1. ซักประวัติ 

อันดับแรกแพทย์จะซักประวัติเบื้องต้น เพื่อวินิจฉัยความผิดปกติ ดังนี้

  • ประวัติการมีประจำเดือน รวมถึงความสม่ำเสมอ ปริมาณ และระยะเวลาของประจำเดือน
  • อาการเลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดออกระหว่างรอบเดือนหรือหลังมีเพศสัมพันธ์
  • ประวัติทางการแพทย์และการผ่าตัดที่เกี่ยวข้อง เช่น การผ่าตัดปากมดลูกหรือการติดเชื้อ
  • ข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศและวิธีการคุมกำเนิด
  • ประวัติการตรวจภายใน และผลการตรวจล่าสุด เพื่อเปรียบเทียบกับผลการตรวจปัจจุบัน

2. ตรวจภายใน หรือ Pap Smear (Pap Test)

ขั้นตอนต่อมาคือ การตรวจภายใน ซึ่งถือเป็นขั้นตอนสำคัญในการวินิจฉัยติ่งเนื้อที่ปากมดลูก โดยมีขั้นตอนดังนี้

  • การตรวจภายใน: ผู้ป่วยจะต้องนอนหงายบนเตียงตรวจ แล้วนำขาทั้ง 2 ข้าง วางบนที่พักขา จากนั้นแพทย์จะใช้อุปกรณ์ถ่างขยายช่องคลอด (Speculum) เพื่อเปิดช่องคลอดและตรวจดูภายใน แพทย์จะสังเกตหาติ่งเนื้อที่ปากมดลูก ซึ่งมักมีลักษณะเป็นติ่งสีแดงใสๆ หรือแดงอมม่วงยื่นออกมาจากปากมดลูก
  • การตรวจ Pap Smear: เพื่อตรวจหาเชื้อมะเร็งปากมดลูก โดยแพทย์จะใช้แปรงหรือไม้พายเล็กๆ เก็บตัวอย่างเซลล์จากปากมดลูก จากนั้นส่งตัวอย่างเซลล์ไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการ ผลการตรวจมักจะได้รับภายใน 1-2 สัปดาห์

3. ตรวจอัลตราซาวด์

ในบางกรณีแพทย์อาจใช้การตรวจอัลตราซาวด์ เพื่อช่วยในการวินิจฉัยติ่งเนื้อที่ปากมดลูก เนื่องจากการตรวจอัลตราซาวด์สามารถช่วยให้เห็นภาพของติ่งเนื้อและประเมินขนาดและตำแหน่งได้ชัดเจน

  • การตรวจอัลตราซาวด์หน้าท้อง (Abdominal Ultrasound): ผู้ป่วยจะต้องนอนหงายบนเตียงตรวจ แพทย์จะทาเจลหล่อลื่นบนหน้าท้องเพื่อให้หัวตรวจเคลื่อนที่ได้ง่าย แล้วนำหัวตรวจอัลตราซาวด์เคลื่อนที่ไปมาบนหน้าท้อง โดยเฉพาะบริเวณอุ้งเชิงกรานและมดลูก แพทย์จะตรวจดูภาพที่ปรากฏบนหน้าจอเพื่อประเมินขนาดและตำแหน่งของติ่งเนื้อที่ปากมดลูก
  • การตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอด (Transvaginal Ultrasound): วิธีนี้จะช่วยให้เห็นภาพอวัยวะภายในได้ชัดเจนกว่าการตรวจทางหน้าท้อง โดยแพทย์จะใช้หัวตรวจขนาดเล็ก สอดเข้าไปในช่องคลอด เพื่อตรวจดูอวัยวะในอุ้งเชิงกรานและมดลูก ระหว่างตรวจผู้รับบริการจะไม่รู้สึกเจ็บปวด แต่อาจรู้สึกไม่สบายตัวได้บ้าง จากแรงกดของหัวตรวจ

4. เก็บชิ้นเนื้อ

หากแพทย์สงสัยว่าติ่งเนื้อที่พบอาจเป็นเนื้อร้าย แพทย์จะเก็บชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา โดยเแพทย์จะใช้เครื่องมือพิเศษเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อจากติ่งเนื้อหรือบริเวณที่ผิดปกติ แล้วส่งไปตรวจในห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจหาลักษณะของเนื้อเยื่อ

5. รักษาและติดตามผล

หากแพทย์พบว่า ติ่งเนื้อที่ปากมดลูกเป็นเนื้อร้ายหรือมีความเสี่ยง จะมีขั้นตอน ดังนี้

  • การรักษา: แพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อไป เช่น การผ่าตัดเอาติ่งเนื้อออก อาจใช้เครื่องมือพิเศษหรือการส่องกล้อง
  • การติดตามผล: หลังการผ่าตัด แพทย์จะติดตามผลการรักษาและตรวจสอบว่าไม่มีการกลับมาเป็นซ้ำ โดยอาจต้องทำการตรวจภายในและ Pap Smear ซ้ำตามคำแนะนำของแพทย์

การปฏิบัติตามขั้นตอนทั้ง 5 ข้อนี้ จะช่วยให้สามารถวินิจฉัยและรักษาติ่งเนื้อที่ปากมดลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

อย่างไรก็ตาม อย่าปล่อยให้เริ่มมีอาการผิดปกติแล้วจึงพบแพทย์ ทางที่ดีควรตรวจภายในเป็นประจำทุกปี ยิ่งรู้เร็ว ก็ยิ่งรักษาได้เร็ว

สงสัยว่าเป็นติ่งเนื้อที่ปากมดลูกอยู่หรือเปล่า? ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจรักษาติ่งเนื้อที่ปากมดลูก จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top