Default fallback image

ต้อกระจก สาเหตุ อาการ ใครบ้างเสี่ยง วิธีรักษา การป้องกัน

โรคต้อกระจก เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย พบได้บ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ หากเป็นในระยะเริ่มต้น สามารถรักษาให้หายได้ แต่หากไม่รีบรักษา ก็อาจทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็นได้เลยทีเดียว 

โรคต้อกระจกเกิดจากอะไร มีกี่ระยะ อาการเป็นอย่างไร ถ้าเป็นแล้วรักษาอย่างไรได้บ้าง รวมถึงมีวิธีป้องกันหรือไม่ อ่านข้อมูลสรุปใจความสำคัญเกี่ยวกับโรคต้อกระจกได้ในบทความนี้

โรคต้อกระจกคืออะไร?

โรคต้อกระจก (Cataract) คือ ภาวะความขุ่นมัวของเลนส์ตา ซึ่งโดยปกติจะมีลักษณะใส ทำหน้าที่รวมแสงที่ผ่านเข้าดวงตาให้ตกที่จอประสาทตาพอดี แต่เมื่อเลนส์ตาเริ่มขุ่นมัว จึงทำให้แสงที่ผ่านเข้ามาตกลงที่จอประสาทตาได้น้อยลง ทำให้ผู้ป่วยมองเห็นภาพได้ไม่ชัดเจน เกิดภาพซ้อน มีอาการคล้ายกับตามัว หรือคล้ายกับสายตาสั้น

โรคต้อกระจกสามารถแบ่งออกได้ 4 ระยะ ได้แก่

  • ระยะเริ่มแรก (Early Cataract): ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการตาล้าง่ายขึ้น เริ่มรู้สึกถึงการมองเห็นระยะใกล้และไกลที่ไม่ชัดเจนได้เล็กน้อย หรือบางรายอาจยังไม่ทันสังเกต และมีอาการตามัวเมื่อมองภาพแสงไฟสะท้อน 
  • ระยะก่อนต้อสุก (Immature Cataract): ผู้ป่วยเริ่มมองเห็นภาพมัวคล้ายกับมีหมอกหรือฝ้ามาบดบังมากขึ้น ค่าสายตาสั้นขึ้น การมองเห็นในที่สว่างลดลง หากไปพบแพทย์ในระยะนี้ แพทย์ก็มักจะแนะนำให้ใส่แว่นสายตาที่ช่วยตัดแสงหรือใช้แว่นกันแดดเพื่อให้การมองเห็นใกล้เคียงกับปกติ
  • ระยะต้อสุก (Mature Cataract): เป็นระยะที่ความขุ่นมัวกระจายไปทั่วเลนส์ตา นอกจากนี้ยังมักจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ ผู้ป่วยจะขับรถในเวลากลางคืนได้ลำบาก หากไปพบแพทย์ในระยะนี้ก็มักได้รับคำแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัด
  • ระยะต้อสุกงอม (Hypermature Cataract): เป็นระยะที่เลนส์ตาจะขุ่นจนเป็นสีขาวและเป็นก้อนแข็ง รวมถึงอาจมีอาการบวม หรือเลนส์ตารั่วอักเสบ ผู้ป่วยบางรายในระยะนี้จะไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติอีก และหากไม่รีบรักษาก็มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนทางตาอื่นๆ ได้ เช่น โรคต้อหิน หรือสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร

ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือ โรคต้อกระจก จะมีการพัฒนาของโรคอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ผู้ป่วยบางรายรู้สึกคุ้นชินกับการมองเห็นที่เสื่อมสภาพไปเรื่อยๆ และอาจเข้าใจว่าเป็นระดับการมองเห็นที่ปกติ หรือเข้าใจว่าสายตาสั้นขึ้นเท่านั้น กว่าจะทราบว่าเป็นต้อกระจก โรคก็ลุกลามไปมากแล้ว

ดังนั้นการเข้ารับการตรวจสุขภาพตา โดยจักษุแพทย์เป็นประจำจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ที่จะช่วยให้สามารถตรวจติดตามระยะของโรคได้อย่างแม่นยำ

สาเหตุของโรคต้อกระจก

โรคต้อกระจกเกิดจากโครงสร้างของโปรตีนในเลนส์ตาที่เปลี่ยนไปจนทำให้เลนส์ตาเกิดความขุ่นมัว โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดซึ่งพบได้บ่อย มีดังต่อไปนี้

  • ความเสื่อมตามอายุ โรคต้อกระจกจึงมักพบได้บ่อยในช่วงอายุ 45 ปีขึ้นไป
  • ความผิดปกติแต่กำเนิด อาจเกิดจากการเจริญเติบโตผิดปกติตั้งแต่อยู่ในครรภ์ โรคทางกรรมพันธุ์ หรือการติดเชื้อบางชนิด เช่น ไวรัสเริม หัดเยอรมัน
  • การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นยาแบบกินหรือยาแบบใช้หยอดตา
  • การประสบอุบัติเหตุ หรือการได้รับบาดเจ็บที่ดวงตา
  • การอักเสบ หรือการติดเชื้อที่ดวงตา
  • โรคประจำตัวบางชนิด ที่เพิ่มความเสี่ยงการเป็นต้อกระจก เช่น 
    • โรคเบาหวาน 
    • โรคความดันโลหิตสูง 
    • ภาวะอักเสบที่ลูกตา 
    • ภาวะน้ำหนักเกินเกณฑ์ การเป็นโรคอ้วน 
    • โรควิลสัน ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากตับไม่สามารถกำจัดแร่ธาตุทองแดงที่เป็นส่วนเกินออกจากร่างกายได้ ทำให้เกิด “ภาวะทองแดงคั่งในร่างกาย” และเป็นปัจจัยทำให้เกิดโรคต้อกระจกได้ง่ายขึ้นด้วย
    • โรคกาแล็กโทซีเมีย ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากร่างกายขาดเอนไซม์ที่ช่วยเปลี่ยนน้ำตาลกาแล็กโทสให้เป็นน้ำตาลกลูโคส ทำให้ปริมาณน้ำตาลกาแล็กโทสในเลือดสูงกว่าปกติ และคั่งอยู่ในเลือดจนทำให้เกิดโรคต้อกระจกตามมาได้
  • การทำงานกลางแจ้งและดวงตาต้องสัมผัสแสงแดดจัดๆ เป็นระยะเวลานาน
  • พฤติกรรมการสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • ประวัติเคยรักษาโรคด้วยการฉายรังสีที่บริเวณศีรษะหรือดวงตา รวมถึงการผ่าตัดที่ตา

ใครเสี่ยงเป็นโรคต้อกระจก

จากปัจจัยการเกิดโรคต้อหินดังที่กล่าวไปในข้างต้น ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเกิดโรคต้อกระจก โดยหลักๆ ได้แก่

  • ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป จะเริ่มพบโรคต้อกระจกได้มากขึ้น
  • ผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุ ได้รับบาดเจ็บที่ดวงตา รวมถึงเคยผ่าตัดที่ดวงตา
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง 
  • ผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ หรือเป็นโรคอ้วน
  • ผู้ที่ทำงานในที่กลางแจ้ง หรือทำกิจกรรมที่ดวงตาต้องสัมผัสโดนแสงแดดบ่อยๆ 
  • ผู้ที่มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • ผู้ที่เคยรักษาโรคด้วยการฉายรังสีที่ศีรษะหรือดวงตา

อาการของโรคต้อกระจก

แม้โรคต้อกระจกในระยะเริ่มต้น อาจสังเกตได้ค่อนข้างยาก แต่ก็มีสัญญาณบางอย่างที่บ่งชี้อาการของโรคได้ ดังนี้

  • มองเห็นไม่ชัด เห็นภาพมัวคล้ายกับมองภาพผ่านหมอกหรือฝ้า
  • มองเห็นไม่ชัดในที่กลางแจ้ง หรือที่ที่มีแสงแดดจัด
  • มองเห็นภาพซ้อนเมื่อมองภาพด้วยตาข้างเดียว
  • เวลาขับรถตอนกลางคืนจะเห็นแสงแตกกระจายจากไฟหน้ารถที่ขับสวนกัน 
  • สายตาสั้นขึ้นมากผิดปกติ ต้องเปลี่ยนแว่นสายตาบ่อยขึ้น
  • ตาไวต่อแสง ตาสู้แสงสว่างมากๆ ไม่ได้
  • มองเห็นสีต่างๆ ผิดเพี้ยนไปจากเดิม
  • มองเห็นฝ้าขาวบริเวณตรงรูม่านตา

มองเห็นเริ่มเบลอๆ แบบนี้ จ้องอะไรแล้วเหมือนมีหมอกมาบัง หมายถึงสัญญาณของโรคต้อกระจกหรือเปล่า ทักหาแอดมิน HDcare เพื่อนัดปรึกษากับแพทย์เฉพาะทางได้ที่นี่เลย

วิธีรักษาโรคต้อกระจก

วิธีรักษาโรคต้อกระจกที่ได้รับการยอมรับในปัจจุบันจะเป็นวิธีการผ่าตัดเท่านั้น โดยในปัจจุบันได้แบ่งเทคนิคการผ่าตัดออกได้ 2 เทคนิคหลักๆ ได้แก่ 

  • การผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลกว้าง มีขนาดแผลประมาณ 10 มิลลิเมตร นิยมใช้ผ่าตัดในผู้ป่วยที่ต้อกระจกสุกมากๆ แล้ว โดยแพทย์จะผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตาธรรมชาติของผู้ป่วยที่ขุ่นมัว เป็นเลนส์แก้วตาเทียมชนิดแข็ง มีจุดเด่นตรงที่ใส่ลงไปในถุงรองเลนส์ได้ง่าย แต่มีจุดด้อยคือ ปรับระยะการมองเห็นได้เพียงระยะเดียว
  • การผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลเล็ก มีขนาดแผลประมาณ 3 มิลลิเมตร เป็นการผ่าตัดโดยใช้เลเซอร์ และคลื่นอัลตราซาวด์เป็นตัวช่วยสลายเลนส์ตาธรรมชาติออกเป็นชิ้นเล็กๆ ก่อน จากนั้นดูดออก แล้วแพทย์จะใส่เลนส์แก้วตาเทียมชนิดพับได้เข้าไปแทน เป็นการผ่าตัดแบบใหม่ที่ให้แผลเล็ก ทำให้ไม่ต้องเย็บแผล และเจ็บแผลน้อย

นอกจากนี้เลนส์แก้วตาเทียมแบบพับได้ยังแบ่งออกได้อีกหลายชนิด เพื่อตอบสนองต่อปัญหาค่าสายตาในผู้ป่วยแต่ละรายที่ไม่เหมือนกัน และทำให้ชนิดของการผ่าตัดแบ่งย่อยลงไปตามชนิดของเลนส์แก้วตาเทียมที่ผู้ป่วยเลือกใช้ ได้แก่

  • การผ่าตัดสลายต้อกระจกและเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียมแบบโฟกัสระยะเดียว (Monofocal IOL) เป็นการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียมเป็นชนิดมองเห็นระยะไกลชัด แต่หากผู้ป่วยมีปัญหาในการมองระยะใกล้ด้วยก็จำเป็นต้องพึ่งพาแว่นสายตาอยู่
    การผ่าตัดสลายต้อกระจกและเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียมแบบโฟกัสระยะเดียวแก้ไขสายตาเอียง (Monofocal Toric IOL) เป็นการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียมชนิดมองเห็นระยะไกลชัด และช่วยแก้ปัญหาสายตาเอียง แต่ในส่วนการมองเห็นระยะใกล้ยังต้องพึ่งการใช้แว่นสายตาอยู่
  • การผ่าตัดสลายต้อกระจกและเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียมแบบโฟกัสหลายระยะ (Multifocal IOL) เป็นการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียมชนิดที่สามารถแก้ปัญหาการมองเห็นได้ทั้งระยะใกล้ กลาง ไกล เป็นจำนวน 2 หรือ 3 ระยะ ขึ้นอยู่กับการเลือกชนิดเลนส์แก้วตาเทียมจากจักษุแพทย์ซึ่งจะจำแนกแยกย่อยได้ดังต่อไปนี้
    • เลนส์แก้วตาเทียมแบบโฟกัส 2 ระยะ ได้แก่ 
      • ระยะใกล้กับไกล 
      • ระยะกลางกับไกล 
    • เลนส์แก้วตาเทียมแบบโฟกัส 3 ระยะ ช่วยแก้ไขปัญหาการมองเห็นทั้งใกล้ กลาง และไกลได้ทั้งหมด
  • การผ่าตัดสลายต้อกระจกและเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียมแบบโฟกัสหลายระยะแก้ไขสายตาเอียง (Multifocal Toric IOL) เป็นการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียมที่แก้ระยะการมองเห็นได้ 2 หรือ 3 ระยะ ร่วมกับแก้ไขปัญหาสายตาเอียง สามารถจำแนกแยกย่อยชนิดเลนส์ออกได้ 2 ชนิด ได้แก่
    • เลนส์แก้วตาเทียมแบบโฟกัส 2 ระยะ และแก้ไขสายตาเอียง ได้แก่ 
      • ระยะใกล้และไกล พร้อมแก้ไขสายตาเอียง 
      • ระยะกลางและไกล พร้อมแก้ไขสายตาเอียง
    • เลนส์แก้วตาเทียมแบบโฟกัส 3 ระยะ และแก้ไขสายตาเอียง ช่วยแก้ไขปัญหาการมองเห็นทั้งใกล้ กลาง และไกลได้ทั้งหมด พร้อมแก้ไขสายตาเอียง จัดเป็นชนิดเลนส์แก้วตาเทียมที่แก้ปัญหาค่าสายตาได้ครอบคลุมที่สุด

ทั้งนี้การเลือกชนิดเลนส์แก้วตาเทียมนั้น ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางถึงความเหมาะสมต่อค่าสายตา แลวิถีชีวิตของผู้ป่วยด้วย เพราะเลนส์แก้วตาแต่ละชนิด มีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน รวมทั้งมีราคาที่แตกต่างกันด้วย

วิธีป้องกันโรคต้อกระจก

โรคต้อกระจกนั้น เป็นหนึ่งในโรคที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย ซึ่งแม้จะไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่สามารถช่วยชะลอความเสื่อม หรือลดปัจจัยกระตุ้นที่ก่อให้เกิดโรคต้อกระจกได้ ดังนี้

  • สวมแว่นกันแดดเมื่อต้องออกไปทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแจ้งเสมอ
  • งดการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องแอลกอฮอล์
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนอย่างเพียงพอ
  • หากอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรหมั่นตรวจสุขภาพและสุขภาพตาเป็นประจำทุกปี
  • กินอาหารที่มีประโยชน์และมีสารอาหารบำรุงด้วยตา โดยเฉพาะอาหารที่มีวิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี  อย่างไรก็ตาม การกินอาหารที่มีประโยชน์เป็นปัจจัยช่วยลดการเกิดโรคต้อกระจกได้ แต่จะไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคได้
  • หากมีโรคประจำตัวที่เพิ่มโอกาสเป็นโรคต้อกระจก ให้หาทางรักษา กินยารักษาโรคอย่างเคร่งครัด หรือประคองอาการของโรคให้อยู่ในระดับควบคุมได้ 
  • ระมัดระวังอย่าให้ดวงตาเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ

หากรู้สึกว่าการมองเห็นเริ่มไม่ชัดเจน ตาขุ่นมัวผิดปกติ หรือสายตาสั้นเร็วจนผิดสังเกต ควรรีบไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม เพราะหากตรวจพบเร็ว ก็มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้สูง รวมทั้งมีทางเลือกในการรักษามากขึ้นด้วย

ไม่แน่ใจว่าการมองเห็นมีปัญหารึเปล่า มองเห็นมัวๆ แบบนี้เพราะเป็นโรคต้อกระจกหรือไม่ ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคต้อกระจก จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top