หลอดเลือดแดงคาโรติด คือ หลอดเลือดแดงใหญ่ที่มีอยู่สองข้างของลำคอ เป็นทางที่เลือดจะไหลเวียนนำพาสารอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงใบหน้า ศีรษะ และสมอง
ถ้าหลอดเลือดส่วนนี้เกิดการตีบตัน เลือดอาจไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้ไม่ดี รวมถึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดลิ่มเลือดหลุดออกไปอุดตันในหลอดเลือดสมองได้ นำไปสู่ ภาวะสมองขาดเลือด หรือ พัฒนากลายเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ซึ่งมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ในที่สุด
อย่างไรก็ตาม ถ้าตรวจพบโรคหลอดเลือดแดงคาโรติดตีบตันตั้งแต่เนิ่นๆ ผู้ป่วยจะยังมีทางเลือกในการรักษาที่หลากหลาย เช่น ปรับพฤติกรรม รับประทานยา ไปจนถึงการผ่าตัด ซึ่งปัจจุบันมีเทคนิคผ่าตัดเล็กช่วยให้ผู้ป่วยเจ็บตัวน้อย ระยะเวลาพักฟื้นสั้น และสามารถกลับไปประกอบกิจวัตรประจำวันตามปกติได้ไวกว่าผ่าตัดแบบดั้งเดิมหรือผ่าตัดแบบเปิดแผลที่คอ
สารบัญ
หลอดเลือดแดงคาโรติดตีบตัน คืออะไร?
หลอดเลือดแดงคาโรติดตีบตัน คือ โรคที่หลอดเลือดแดงใหญ่บริเวณคอตีบแคบจนเลือดไม่สามารถไหลเวียนได้ตามปกติ มักเกิดจากสารการสะสมของคอเลสเตอรอล ไขมัน และเซลล์เม็ดเลือดที่สะสมกันกลายเป็นก้อนแข็ง เรียกว่า พลาก (Plaque)
ผู้ป่วยอาจเป็นหลอดเลือดแดงคาโรติดตีบตันเพียงเส้นเดียวหรือสองเส้นพร้อมกันก็ได้
สาเหตุของหลอดเลือดแดงคาโรติดตีบตัน
เลือดแดงคาโรติดตีบตันเกิดได้จากปัจจัยใดๆ ที่ทำให้มีการสะสมของไขมันในหลอดเลือดจนมีลักษณะแข็ง เช่น
- พฤติกรรมสูบบุหรี่ ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ธรรมดาหรือบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากนิโคตินในบุหรี่มีก่อความระคายเคืองที่เยื่อบุด้านในของหลอดเลือดแดง นอกจากนี้ยังเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและเพิ่มความดันเลือด
- พฤติกรรมอยู่นิ่งๆ เป็นเวลานาน ไม่ค่อยออกกำลังกาย พฤติกรรมนี้สามารถนำไปสู่การเกิดหลายโรคที่เป็นอันตรายต่อหลอดเลือด เช่น หลอดเลือดแข็งตัว เบาหวาน
- ความดันโลหิตสูง เนื่องจากแรงดันเลือดจะทำให้ผนังหลอดเลือดอ่อนแอ เสียหายได้ง่าย
- โรคเบาหวาน เนื่องจากโรคนี้ทำให้ร่างกายเผาผลาญไขมันได้น้อยลง จึงมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดความดันโลหิตสูงหรือภาวะหลอดเลือดแข็งตัวได้มากขึ้น
- ไขมันในเลือดสูง ถ้ามีไขมันเลว (LDL) ปริมาณสูง และไตรกลีเซอร์ไรด์สูง หลอดเลือดจะยิ่งสะสมคราบไขมันแข็งหรือคราบพลากได้มากขึ้น
- โรคอ้วน เป็นโรคที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นความดันโลหิตสูง หลอดเลือดแข็งตัว เบาหวาน
- อายุ ตามธรรมชาติ เมื่ออายุมากขึ้น หลอดเลือดของคนเราจะมีความยืดหยุ่นน้อยลงและบาดเจ็บได้ง่ายขึ้น
อาการหลอดเลือดแดงคาโรติดตีบตัน
ถ้าหลอดเลือดแดงคาโรติดยังตีบตันไม่มาก อาจไม่มีอาการแสดงใดๆ เลย ถ้าไม่มีการตรวจพบ หลอดเลือดแดงจึงยังค่อยๆ สะสมคราบพลากต่อไปอย่างช้า กว่าจะสังเกตเห็นได้ก็เมื่อมีอาการโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) หรือสมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient Ischemic Attack: TIA) โดยทั้งสองโรคมักแสดงอาการอย่างเฉียบพลัน
อาการ โรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่
- มีปัญหาด้านการพูด เช่น พูดไม่เป็นคำ หรือฟังคำพูดคนอื่นๆ ไม่เข้าใจ
- รู้สึกชาหรืออ่อนแรงที่ใบหน้า ขา หรือแขน ข้างใดข้างหนึ่งของร่างกาย สังเกตได้เมื่อพยายามยกแขนขึ้นทั้งสองข้าง หรือยิ้ม แต่กลับยกได้/ยิ้มได้เพียงข้างเดียว
- มีปัญหาด้านการมองเห็น เช่น มองไม่เห็น เห็นภาพเบลอ เห็นภาพซ้อน โดยอาจเป็นที่ตาข้างใดข้างหนึ่งหรือเป็นทั้งสองข้าง
- ปวดศีรษะ ร่วมกับวิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน
- มีปัญหาด้านการเดินหรือการทรงตัว
ภาวะ สมองขาดเลือดชั่วคราว ก็มีอาการคล้ายกับอาการโรคหลอดเลือดสมอง ต่างกันที่ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราวมักมีอาการเด่นคือปวดศีรษะเฉียบพลัน รุนแรง อย่างที่ผู้ป่วยไม่เคยรู้สึกมาก่อน อาจเกิดร่วมกับอาการอื่นๆ ของโรคหลอดเลือดสมองข้างต้น แต่จะเป็นอยู่เพียงชั่วขณะแล้วดีขึ้นได้เอง
อย่างไรก็ตาม แม้มีอาการที่น่าสงสัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองแล้วอาการดีขึ้น แต่ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย เนื่องจากอาการสมองขาดเลือดชั่วคราวอาจพัฒนากลายเป็นโรคหลอดเลือดสมองในที่สุดในเวลาไม่นาน
กลุ่มเสี่ยงเป็นหลอดเลือดแดงคาโรติดตีบตัน
ผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นหลอดเลือดแดงคาโรติดตีบตัน หรือเป็นโรคอื่นๆ เกี่ยวกับหลอดเลือด มักมีความเสี่ยงเป็นหลอดเลือดแดงคาโรติดตีบตันมากกว่าคนที่ไม่มีคนในครอบครัวมีประวัติโรคนี้
ปัจจัยอื่นที่เพิ่มความเสี่ยงเป็นหลอดเลือดแดงคาโรติดตีบตันมากขึ้น ได้แก่ อายุมาก เป็นโรคบางอย่าง หรือมีพฤติกรรมที่ทำให้หลอดเลือดยืดหยุ่นน้อย หรือมีการสะสมคราบพลากในหลอดเลือดง่ายขึ้น นอกจากนี้ เพศชายยังเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดแดงคาโรติดตีบตันมากกว่าเพศหญิง
วิธีตรวจวินิจฉัยหลอดเลือดแดงคาโรติดตีบตัน
การตรวจเพื่อวินิจฉัยหลอดเลือดแดงคาโรติดตีบตันมีหลายวิธี เช่น
1. ตรวจวินิจฉัยหลอดเลือดแดงคาโรติดตีบตันด้วยการอัลตราซาวด์
การอัลตราซาวนด์เป็นเทคนิคถ่ายภาพอวัยวะภายใน ซึ่งจะให้ภาพแบบเคลื่อนไหวเรียลไทม์ การตรวจอัลตราซาวนด์หลอดเลือดแดงคาโรติดช่วยให้แพทย์เห็นการไหลเวียนของเลือด เห็นคราบพลากที่ผนังด้านในของหลอดเลือด และรู้ปริมาณของคราบพลากว่ามีมากน้อยแค่ไหน
2. ตรวจวินิจฉัยหลอดเลือดแดงคาโรติดด้วยวิธีการทำ MRA
MRA เป็นการตรวจ MRI แบบหนึ่ง ซึ่งเจาะจงตรวจเฉพาะหลอดเลือด หลักตรวจคือจะใช้สนามแม่เหล็กกำลังสูงร่วมกับคลื่นความถี่วิทยุสร้างภาพโครงสร้างภายในหลอดเลือดขึ้นมา ทำให้เห็นการอุดตันของหลอดเลือดแดงแคโรติดได้
เนื่องจากการตรวจใช้สนามแม่เหล็กไฟฟ้า การทำ MRI จึงมีข้อจำกัด ไม่สามารถทำได้ในผู้ที่มีโลหะฝังอยู่ในร่างกาย เพราะโลหะอาจเคลื่อนออกจากตำแหน่งเดิมได้
3. ตรวจวินิจฉัยหลอดเลือดแดงคาโรติดตีบตับด้วยการทำ CT Scan
การทำ CT Scan เป็นเทคนิคการถ่ายภาพอวัยวะภายในร่างกายด้วยรังสีเอกซ์ ทำให้ได้เห็นภาพหลอดเลือดและเนื้อเยื่อแนวตัดขวาง ภาพจากการตรวจช่วยให้แพทย์สามารถระบุตำแหน่งที่มีการอุดตันของหลอดเลือดแดงคาโรติด
การตรวจ CT Scan สามารถใช้ได้แม้ว่าผู้ป่วยใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจหรือมีการใส่ขดลวดในหลอดเลือดอยู่แล้ว
4. ฉีดสีตรวจหลอดเลือดแดงคาโรติด
การฉีดสีตรวจหลอดเลือดแดงคาโรติด เป็นเทคนิคการตรวจโดยใช้สายสวนหลอดเลือดสวนเข้าไปจนถึงหลอดเลือดแดงที่คอ แล้วฉีดสารทึบรังสี ร่วมกับถ่ายภาพด้วยรังสีเอกซ์ เพื่อให้ได้ตำแหน่งของหลอดเลือดที่ตีบตัน ให้ภาพ 3 มิติที่คมชัด
วิธีรักษาหลอดเลือดแดงคาโรติดตีบตัน
วิธีรักษาหลอดเลือดคาโรติดตีบตันมีทั้งแบบใช้ยาและผ่าตัด แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าผู้ป่วยควรรับการรักษาด้วยวิธีใด โดยพิจารณาจากปัจจัยต่อไปนี้
- อายุ
- ภาวะสุขภาพโดยรวม
- ประวัติทางการแพทย์
- ความรุนแรงของโรคหลอดเลือดแดงคาโรติดตีบตันที่ผู้ป่วยเป็นอยู่
- ความสามารถในการดูแลตนเองของผู้ป่วย สำหรับการรักษาแต่ละวิธี
- ความต้องการของผู้ป่วย
ถ้าหลอดเลือดแดงคาโรติดตีบตันน้อยกว่า 50% แพทย์อาจแนะนำให้ปรับพฤติกรรม เช่น เลิกบุหรี่ เลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมเพื่อให้คอเลสเตอรอล น้ำตาลในเลือด และความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปกติ ออกกำลังกายมากขึ้น หรือแพทย์อาจจ่ายยาให้ผู้ป่วยรับประทาน โดยมักเป็นยาที่มีฤทธิ์ช่วยลดการแข็งตัวของเลือด ลดคอเลสเตอรอล หรือลดความดันโลหิต
ถ้าหลอดเลือดแดงคาโรติดตีบตันอยู่ระหว่าง 50-69% แนวทางการรักษาโรคที่แพทย์แนะนำให้อาจเข้มข้นขึ้นกว่าการให้ปรับพฤติกรรมหรือกินยา
กรณีที่หลอดเลือดแดงคาโรติดตีบตันเกินกว่า 70% ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องรับการผ่าตัดเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) หรือสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA)
แนวทางการผ่าตัดหลักๆ สำหรับรักษาหลอดเลือดแดงคาโรติดตีบตัน ได้แก่ ผ่าตัดแบบเปิดแผลที่คอผู้ป่วย เพื่อเข้าถึงหลอดเลือดแดงบริเวณที่อุดตัน ระหว่างการผ่าตัดนี้จะมีการใช้อุปกรณ์เพื่อช่วยสูบเลือดไปเลี้ยงสมอง จากนั้นแพทย์จึงเข้าทำความสะอาดคราบพลากที่อุดตันหลอดเลือด
ถ้าผู้ป่วยไม่สามารถรับการผ่าตัดแบบเปิดแผลที่คอได้ แพทย์มักแนะนำให้รักษาด้วยการ ผ่าตัดเล็กแล้วใส่สายสวนหลอดเลือด โดยจะใช้ 2 เทคนิคร่วมกัน ได้แก่ การทำบอลลูนหลอดเลือด และใส่ขดลวดค้ำยันหลอดเลือด
หลังผ่าตัดรักษาหลอดเลือดแดงคาโรติดตีบตัน เลือดจะกลับมาไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้ดี
หลอดเลือดแดงคาโรติดตีบตัน เป็นโรคที่สามารถก่ออันตรายร้ายแรงถึงแก่ชีวิตได้ ถ้าตรวจพบช้า หรือพบว่ามีโรคนี้แล้วแต่ไม่ได้รักษาอย่างทันท่วงที เนื่องจากอาจมีลิ่มเลือดหลุดขึ้นไปอุดตันเส้นเลือดในสมอง ทำให้สมองขาดออกซิเจนไปเลี้ยง กลายเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
อย่างไรก็ตาม ถ้าตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ ก็มีทางเลือกหลายทางในการรักษา รวมถึงวิธีที่ไม่ต้องผ่าตัด หรือแม้กระทั่งถ้าอาการของโรครุนแรงขึ้น จำเป็นต้องผ่าตัด ก็ยังมีแนวทางที่ไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ แต่ให้ผลการรักษาที่ดี
กลัวเป็นโรคหลอดเลือดแดงคาโรติดตีบตัน เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ แต่ที่ผ่านมาทำเพียงควบคุมอาการ ปรับพฤติกรรม อยากรู้ว่าผ่าตัดรักษาที่ต้นเหตุไปเสียเลยจะดีไหม? ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคหลอดเลือดสมอง จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย