Default fallback image

รู้ทันโรคเนื้องอกสมอง อาการ ชนิดร้ายแรง ไม่ร้ายแรง ต่างกันยังไง

เมื่อพูดถึง โรคเนื้องอกสมอง หลายคนก็อาจรู้สึกว่าเป็นโรคที่น่ากลัว และอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อชีวิตได้ แต่จริงๆ แล้วเนื้องอกในสมองมีหลายชนิด ซึ่งมีความรุนแรงที่แตกต่างกัน บทความนี้จะพามาทำความรู้จักโรคเนื้องอกสมองในทุกแง่มุม เพื่อให้คุณรู้ทันความเสี่ยง ทราบปัจจัยเสี่ยงของโรค อาการ และแนวทางการรักษาที่เหมาะสม

โรคเนื้องอกในสมองคืออะไร? มีกี่ประเภท?

โรคเนื้องอกในสมอง (Brain Tumors) คือ โรคที่เกิดจากเนื้อเยื่อในสมองหรือบริเวณใกล้เคียงกับสมองเกิดการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ จนส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบสมอง และระบบประสาท ทำให้เกิดเป็นอาการต่างๆ ตามมา เช่น ปวดศีรษะเรื้อรัง วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน เสียการทรงตัว หูอื้อ หรืออาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้

โรคเนื้องอกสมองสามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภท ได้แก่

  • เนื้องอกในสมองชนิดปฐมภูมิ (Primary Brain Tumor) เป็นเนื้องอกที่เกิดจากการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเนื้อเยื่อภายในสมองเอง สามารถแบ่งย่อยออกได้ 2 ชนิด ได้แก่
    • เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง เป็นเนื้องอกที่เป็นก้อนเนื้อธรรมดา มีอัตราการเจริญเติบโตช้า และไม่พัฒนากลายเป็นเซลล์มะเร็ง เป็นก้อนเนื้อชนิดที่สามารถรักษาให้หายได้
    • เนื้องอกชนิดร้ายแรง เป็นเนื้องอกที่เจริญเติบโตกลายเป็นเซลล์มะเร็ง โดยอาจเกิดจากเนื้อเยื่อภายในสมองเอง หรือเกิดจากการลุกลามของเซลล์มะเร็งที่อวัยวะอื่นมายังสมอง มีอัตราการเติบโตเร็ว และสามารถลุกลามไปสร้างความเสียหายต่อเนื้อเยื่อหรืออวัยวะอื่นๆ ได้ หากไม่รีบรักษาอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต
  • เนื้องอกในสมองชนิดทุติยภูมิ (Secondary Brain Tumor) เป็นเนื้องอกที่เกิดจากเซลล์มะเร็งที่ลุกลามมาจากอวัยวะอื่นและลุกลามมาที่สมอง เช่น ปอด เต้านม ไต ลำไส้

ปัจจัยการเกิดโรคเนื้องอกในสมอง

ปัจจุบันยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดถึงสาเหตุของการเกิดโรคเนื้องอกสมอง แต่มีแนวโน้มที่โรคนี้จะเกิดจากปัจจัยดังต่อไปนี้

  • อายุที่มากขึ้น โดยมีโอกาสพบโรคนี้ในผู้สูงที่อายุประมาณ 85 ปีขึ้นไปได้มากกว่า
  • การสัมผัสสารกัมมันตรังสี 
  • การอักเสบหรือการติดเชื้อบางชนิด 
  • การบาดเจ็บที่สมองอย่างรุนแรง 
  • การถ่ายทอดทางพันธุกรรม

อาการของโรคเนื้องอกในสมอง

อาการจากโรคเนื้องอกในสมองมีตั้งแต่ไม่มีอาการแสดงที่ผิดปกติใดๆ ไปจนถึงมีอาการแสดงอย่างรุนแรงจนกระทบต่อคุณภาพชีวิต โดยอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • ปวดศีรษะเรื้อรัง และมักจะค่อยๆ ทวีความรุนแรงขึ้น
  • หลงลืม ความจำเลอะเลือน
  • สับสน บุคลิกหรือพฤติกรรมเปลี่ยน พูดไม่รู้เรื่องหรือมีปัญหาด้านการพูด
  • วิงเวียนศีรษะ 
  • มองเห็นภาพซ้อน การมองเห็นเลอะเลือน หรือถึงขั้นสูญเสียการมองเห็น
  • หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว
  • สูญเสียการทรงตัว
  • แขนขามีอาการชา 
  • แขนขาอ่อนแรง
  • มีอาการชักเกร็ง 
  • มีปัญหาด้านการได้ยิน อาจรวมถึงการรับรส และการดมกลิ่นด้วย 

ปวดหัวเรื้อรังแบบนี้ เกิดจากอะไร เพราะเป็นเนื้องอกในสมองหรือเปล่า หรือมาจากสาเหตุใดกันแน่ อยากตรวจและปรึกษาคุณหมอให้แน่ใจ ทักไลน์ทำนัดคุยกับคุณหมอผ่านทีมงาน HDcare ได้เลย

การตรวจวินิจฉัยโรคเนื้องอกในสมอง

การตรวจวินิจฉัยโรคเนื้องอกในสมองจะประกอบไปด้วยการตรวจหลายรายการ เพื่อให้แพทย์สามารถตรวจประเมินความผิดปกติ รวมถึงลักษณะและชนิดของเนื้องอกได้อย่างแม่นยำ โดยรายการตรวจหลักๆ ที่มักเกิดขึ้น จะได้แก่

  • ตรวจร่างกายอย่างละเอียด และซักประวัติสุขภาพผู้ป่วย
  • ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือการทำ MRI (Magnetic Resonance Imaging)
  • ตรวจซีทีสแกน (CT Scan)
  • ตรวจด้วยเครื่องเพทซีที (PET/CT) 
  • หากสงสัยว่าก้อนเนื้อเป็นชนิดมะเร็ง แพทย์อาจมีการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อส่งตรวจเพิ่มเติมด้วย

วิธีรักษาโรคเนื้องอกในสมอง

แนวทางการรักษาโรคเนื้องอกในสมองจะขึ้นอยู่กับรายละเอียดของก้อนเนื้องอกที่แพทย์ตรวจวินิจฉัย โดยปัจจุบันวิธีรักษาสามารถแบ่งออกได้ 4 แนวทางหลักๆ ได้แก่

  • การเฝ้าติดตามอาการ ในกรณีที่เนื้องอกมีขนาดเล็ก ไม่ใช่ชนิดมะเร็ง และอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เป็นอันตราย แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเฝ้าติดตามดูการเปลี่ยนแปลงของก้อนเนื้องอกไปก่อน โดยจะนัดให้กลับมาตรวจเนื้องอกกับแพทย์ทุก 6 เดือนหรือ 1 ปี
  • การฉายรังสีรักษา หรือที่นิยมเรียกว่า “การฉายแสง” เป็นการใช้พลังงานรังสีสูงทำลายและหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ปัจจุบันแบ่งรูปแบบการฉายรังสีออกได้หลายประเภท เช่น การฉายรังสีจากภายนอก การฉายรังสีระยะใกล้ การฉายรังสีแบปรับความเข้ม การฉายรังสีแบบระบบนาวิถี การฉายรังสีแบบหมุนรอบตัวผู้ป่วย
  • การให้ยาเคมีบำบัด หรือที่นิยมเรียกว่า “การทำคีโม” เป็นการใช้ยาที่ออกฤทธิ์ทำลายและหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง มีรูปแบบทั้งยากินและยาฉีด ขึ้นอยู่กับการวางแผนการรักษาจากแพทย์
  • การผ่าตัด เป็นวิธีรักษาหลักเมื่อเกิดโรคเนื้องอกสมอง โดยนอกจากจะเพื่อการรักษา แพทย์ยังใช้การผ่าตัดเป็นอีกวิธีการตรวจวินิจฉัยเพื่อเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อไปส่งตรวจเพิ่มเติมอีกด้วย ปัจจุบันแบ่งเทคนิคการผ่าตัดออกได้ 2 รูปแบบหลักๆ ได้แก่
    • การผ่าตัดแบบเปิด เป็นเทคนิคการผ่าตัดแบบดั้งเดิม โดยแพทย์จะผ่าเปิดเนื้อเยื่อและหนังศีรษะออก จากนั้นผ่าเปิดกะโหลกศีรษะเพื่อตัดเนื้องอกในสมองออก 
    • การผ่าตัดส่องกล้อง เช่น กล้อง Endoscope หรือกล้อง Microscpe เป็นการผ่าตัดโดยใช้กล้องผ่าตัดกำลังขยายสูงเป็นเครื่องมือช่วยในการผ่าตัด มีจุดเด่นด้านช่วยให้แผลผ่าตัดเล็ก การผ่าตัดมีความแม่นยำและปลอดภัยขึ้น ส่งผลข้างเคียงต่อเนื้อเยื่อและอวัยวะใกล้เคียงได้น้อยกว่า

แพทย์อาจใช้วิธีรักษามากกว่า 1 วิธีในผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อให้การกำจัดเนื้องอกในสมองเห็นผลลัพธ์อย่างชัดเจน เช่น การฉายรังสีร่วมกับการผ่าตัด การให้ยาเคมีร่วมกับผ่าตัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแผนการรักษาจากแพทย์

โรคเนื้องอกในสมองจัดเป็นโรคที่มีความรุนแรง หากไม่รีบรักษาโดยเร็ว ก็สามารถส่งผลทำให้เกิดอาการผิดปกติที่ทำให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตประจำวันได้ยากขึ้นอย่างมาก เช่น สูญเสียการมองเห็น การดมกลิ่น การรับรส การได้ยิน การทรงตัว รวมถึงระบบความคิดและบุคลิกภาพที่ไม่เหมือนกัน หรืออาจถึงขั้นถึงแก่ชีวิต

นอกจากนี้หลายอาการจากโรคเนื้องอกในสมองยังมีความคล้ายคลึงกับอาการของโรคอีกหลายอย่าง รวมถึงคล้ายกับอาการที่พบได้บ่อยในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ ทำให้ผู้ป่วยเข้าใจผิด คิดว่าเป็นอาการที่ไม่รุนแรง จนไม่ได้เข้ารับการตรวจตั้งแต่เนิ่นๆ 

ดังนั้นเมื่อไรก็ตามที่รู้สึกถึงอาการผิดปกติ เช่น ปวดหัวเรื้อรัง และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แนะนำให้รีบพบแพทย์โดยเร็ว เพราะโรคเนื้องอกในสมองที่ตรวจพบตั้งแต่ระยะแรก ยังมีโอกาสรักษาให้หายได้ง่าย ป้องกันโอกาสเสียชีวิต หรืออาการส่งผลต่อคุณภาพชีวิตอย่างรุนแรงด้วย

ปวดหัวบ่อยๆ รู้สึกกังวลใจว่าจะเป็นเนื้องอกในสมองหรือโรคร้ายแรงหรือเปล่า อยากคุยกับคุณหมอให้สบายใจ ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรค จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top