การรักษาโรคเนื้องอกในสมองมีหลากหลายวิธี โดยขึ้นอยู่กับลักษณะของเนื้องอก ตำแหน่ง ขนาด และสุขภาพทั่วไปของผู้ป่วย บทความนี้จะพามาเจาะลึกถึงวิธีการรักษาเนื้องอกในสมอง มาดูกันว่า มีวิธีไหนบ้าง แต่ละวิธีเหมาะกับใคร มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร
สารบัญ
1. การผ่าตัด (Surgery)
การผ่าตัดเป็นวิธีการรักษาหลักที่ใช้ในการรักษาเนื้องอกในสมอง โดยแบ่งออกเป็นหลายประเภท ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและลักษณะของเนื้องอก
1.1 การผ่าตัดแบบเปิด (Craniotomy)
การผ่าตัดแบบเปิดคือการเปิดกระโหลกศีรษะเพื่อเข้าถึงเนื้องอกในสมอง วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีเนื้องอกในตำแหน่งที่เข้าถึงได้ง่าย เช่น เนื้องอกที่อยู่ใกล้พื้นผิวสมอง หรือในตำแหน่งที่ไม่มีความเสี่ยงต่อเนื้อสมองส่วนสำคัญ โดยแพทย์จะพยายามนำเนื้องอกออกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ก่อนทำมักจะมีการทำ CT Scan หรือ MRI เพื่อระบุตำแหน่งเนื้องอกและวางแผนการผ่าตัดให้เหมาะสมที่สุด
สำหรับขั้นตอนการผ่าตัดแบบเปิด ผู้ป่วยจะได้รับยาสลบ เพื่อไม่ให้รู้สึกเจ็บปวดในระหว่างการผ่าตัด จากนั้นแพทย์จะผ่าตัดหนังศีรษะและเปิดกระโหลกศีรษะเพื่อเข้าถึงสมอง จากนั้นจะใช้เครื่องมือพิเศษ เพื่อนำเนื้องอกออกมา แล้วปิดกระโหลกศีรษะและเย็บหนังศีรษะกลับเข้าที่
ข้อดี
- สามารถนำเนื้องอกออกได้อย่างตรงจุด ลดอาการที่เกิดขึ้นจากเนื้องอก เช่น อาการปวดศีรษะหรือการเปลี่ยนแปลงในการทำงานของสมอง
- เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับเนื้องอกที่อยู่ในตำแหน่งที่เข้าถึงได้ง่าย ซึ่งสามารถทำได้อย่างปลอดภัย
ข้อเสีย
- มีความเสี่ยงจากการผ่าตัด เช่น การติดเชื้อ เลือดออก หรือผลกระทบต่อการทำงานของสมอง เช่น อาการชัก หรือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
- ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บปวดหลังการผ่าตัด และต้องใช้เวลาฟื้นตัว อาจต้องเข้ารับการฟื้นฟูเพื่อกลับมาทำกิจกรรมปกติ
1.2 การผ่าตัดด้วยเทคนิค Minimally Invasive Neurosurgery
เทคนิคนี้เป็นการใช้กล้อง Microscope และกล้อง Endoscope ในการผ่าตัด เนื่องจากมีกำลังขยายสูงทำให้มองเห็นภาพได้ชัดเจน ช่วยลดขนาดของแผลผ่าตัดและเพิ่มความแม่นยำในการเข้าถึงเนื้องอก เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีเนื้องอกในตำแหน่งที่เข้าถึงยากหรือมีขนาดเล็ก
สำหรับขั้นตอนการผ่าตัดแพทย์จะสอดกล้องขนาดเล็กและเครื่องมือผ่าตัดลงไป ซึ่งรอยแผลจะมีขนาดเล็กเพียง 2-3 เซนติเมตร บนหนังศีรษะ
จากนั้นใช้เครื่องมือพิเศษ เช่น CUSA (Calvitron Ultrasonic Surgical Aspiration) ที่ช่วยในการสลายและดูดเนื้องอกออก โดยใช้พลังงานจากคลื่นเสียง แล้วเย็บหรือปิดแผลอย่างระมัดระวัง โดยปกติจะมีขนาดเล็กกว่าการผ่าตัดแบบเปิด
ข้อดี
- แผลเล็ก ฟื้นตัวเร็ว และเจ็บปวดน้อยกว่า
- ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและปัญหาจากการผ่าตัดแบบเปิด
ข้อเสีย
- อาจไม่สามารถนำเนื้องอกออกได้ทั้งหมดในบางกรณี
- ต้องใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายสูง
2. การรักษาด้วยรังสี (Radiation Therapy)
การรักษาด้วยรังสีมักจะถูกใช้หลังการผ่าตัด หรือในกรณีที่ไม่สามารถทำการผ่าตัดได้
2.1 การฉายรังสีร่วมพิกัด (Stereotactic Radiation Therapy)
วิธีนี้เป็นการใช้รังสีที่มีความแม่นยำสูงเพื่อทำลายเซลล์เนื้องอก โดยไม่ทำลายเนื้อสมองปกติ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีเนื้องอกขนาดเล็กและอยู่ในตำแหน่งที่ยากต่อการเข้าถึง
สำหรับขั้นตอนการรักษา เริ่มจากการทำ MRI หรือ CT Scan เพื่อระบุตำแหน่งของเนื้องอก จากนั้นแพทย์จะคำนวณปริมาณและมุมของรังสีที่ต้องการใช้ แล้วฉายรังสีไปยังเนื้องอก หลังการรักษาแพทย์จะติดตามผลและประเมินการตอบสนองต่อการรักษา
ข้อดี
- มีความแม่นยำสูง ช่วยรักษาเซลล์สมองที่ดีไว้ให้ได้มากที่สุด
- ไม่มีความเจ็บปวดในระหว่างการรักษา และไม่ต้องเข้ารับการผ่าตัด
ข้อเสีย
- อาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือหลายครั้งในการรักษา เพื่อให้ได้ผลที่ดีที่สุด
- อาจเกิดผลข้างเคียงระยะยาว เช่น ความเสียหายต่อเนื้อเยื่อสมอง หรืออาการอื่นๆ เช่น อ่อนเพลียหรือปวดศีรษะ
2.2 การฉายรังสีทั้งสมอง (Whole Brain Radiation Therapy)
การฉายรังสีทั้งสมองเป็นวิธีการรักษาที่ใช้ในการส่งรังสีไปยังสมองทั้งหมด โดยมักใช้ในกรณีที่มีเนื้องอกหลายจุดหรือมะเร็งที่แพร่กระจายจากอวัยวะอื่นมายังสมอง เช่น มะเร็งเต้านม หรือมะเร็งปอดที่กระจายเข้ามาในสมอง
สำหรับขั้นตอนการรักษา เริ่มจากการทำ MRI หรือ CT Scan เพื่อตรวจสอบการแพร่กระจายของเนื้องอก จากนั้นแพทย์จะคำนวณปริมาณรังสีที่จำเป็นและการกระจายของรังสี เพื่อให้แน่ใจว่ารังสีจะเข้าถึงเนื้องอกในทุกจุดที่จำเป็น แล้วจึงฉายรังสีไปยังสมองทั้งหมด ต่อมาแพทย์จะตรวจสอบอาการข้างเคียงและประเมินการตอบสนองต่อการรักษา
ข้อดี
- สามารถจัดการกับเนื้องอกหลายจุดได้ในครั้งเดียว
- ไม่มีการผ่าตัดจึงไม่มีความเสี่ยงจากการติดเชื้อ
ข้อเสีย
- อาจมีผลข้างเคียงรุนแรง เช่น อาการอ่อนเพลีย การสูญเสียความจำ เนื่องจากรังสีสามารถมีผลกระทบต่อเซลล์สมองที่แข็งแรงได้
- อาจต้องใช้เวลานานในการเห็นผลของการรักษา ทำให้ผู้ป่วยอาจรู้สึกวิตกกังวลระหว่างรอผล
3. การรักษาด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy)
เคมีบำบัดคือการใช้ยาเพื่อทำลายเซลล์เนื้องอก เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีเนื้องอกในสมองที่มีลักษณะร้ายแรง เช่น ก้อนมะเร็งที่มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ หรือผู้ป่วยที่มีเนื้องอกที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ ผู้ที่มีประวัติครอบครัวของมะเร็งหรือมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ รวมทั้งผู้ที่ได้รับการฉายรังสีหรือผ่าตัด เพื่อเพิ่มโอกาสในการกำจัดเซลล์มะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับขั้นตอนการรักษา แพทย์จะประเมินลักษณะของเนื้องอกด้วยการใช้ MRI หรือ CT Scan หรือการตรวจชิ้นเนื้อ (Biopsy) เพื่อที่จะเลือกยาให้เหมาะสม
จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการให้ยา โดยการให้ยาเคมีบำบัดทำได้ทั้งการฉีดเข้าเส้นเลือด และการให้ยาทางปาก การให้ยาอาจทำเป็นรอบ โดยขึ้นอยู่กับประเภทของยาและแผนการรักษาที่แพทย์กำหนด จากนั้นแพทย์จะนัดติดตามอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น รวมถึงการตอบสนองต่อการรักษา
ข้อดี
- สามารถรักษาเนื้องอกที่แพร่กระจายได้ดี ควบคุมการเติบโตของมะเร็งได้
- มีทางเลือกในการใช้ยาหลายชนิด เพื่อปรับให้เข้ากับผู้ป่วยแต่ละคน
ข้อเสีย
- อาจเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ เช่น คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เบื่ออาหาร และความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เนื่องจากการลดลงของจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาว
- อาจใช้เวลานานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและการตอบสนองต่อยา
4. การรักษาแบบประคับประคอง (Palliative Care)
การรักษาแบบประคับประคองมุ่งเน้นที่การบรรเทาอาการและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่มีเนื้องอกในสมอง โดยเฉพาะในกรณีที่เนื้องอกไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ วิธีการนี้ไม่ได้มุ่งหวังที่จะรักษาเนื้องอกให้หายไป แต่จะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายใจและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
สำหรับขั้นตอนการรักษา ทีมแพทย์จะประเมินอาการและความต้องการของผู้ป่วยอย่างละเอียด จากนั้นจะให้ยาเพื่อบรรเทาอาการ เช่น ยาแก้ปวด ยาต้านอาการซึมเศร้า หรือยาต้านอาการวิตกกังวล และอาจให้คำปรึกษาทางใจ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยและครอบครัวจัดการกับความรู้สึกที่เกิดขึ้น พร้อมวางแผนการดูแลในระยะยาว เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่เหมาะสมตลอดช่วงเวลาที่เหลือ
ข้อดี
- ช่วยให้ผู้ป่วยมีความสบายมากขึ้น ลดความเครียดและความวิตกกังวลที่เกิดจากโรค
- ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย โดยไม่ให้ความสำคัญเพียงแค่การรักษาเนื้องอก
ข้อเสีย
- ไม่สามารถรักษาเนื้องอกให้หายขาดได้ ทำให้ผู้ป่วยต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอนาคต
จะเห็นได้ว่า การรักษาเนื้องอกในสมองมีหลายวิธี แต่ละวิธีมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันไป สิ่งสำคัญคือ การเลือกแนวทางการรักษาที่เหมาะสมที่สุดกับผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดในทุกช่วงของการรักษาและฟื้นฟู …หากจะเลือกวิธีไหน ควรปรึกษาแพทย์ผู้เฉพาะทาง เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากที่สุด
รักษาเนื้องอกในสมองด้วยวิธีไหนดี? วิธีไหนเสี่ยงน้อย แต่ได้ผลลัพธ์ดีที่สุดสำหรับเรา? นัดคุยกับคุณหมอเฉพาะทาง ผ่านทีม HDcare สะดวกรวดเร็ว ทันใจ หรือค้นหาแพ็กเกจรักษาโรคเนื้องอกในสมอง จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย