ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะติดขัด กลั้นปัสสาวะไม่ได้…หากเกิดอาการเหล่านี้ในเพศชาย นั่นอาจเป็นสัญญาณของ โรคต่อมลูกหมากโต อีกหนึ่งความผิดปกติที่เกิดขึ้นบ่อยกับอวัยวะสืบพันธุ์เพศชาย โดยเฉพาะในกลุ่มชายสูงวัยตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป มาทำความรู้จักโรคนี้กันอย่างละเอียดในบทความนี้เลย
สารบัญ
โรคต่อมลูกหมากโต คืออะไร?
โรคต่อมลูกหมากโต (Benign Prostatic Hyperplasia: BPH) คือ ภาวะที่ต่อมลูกหมากซึ่งเป็นต่อมลักษณะคล้ายลูกเกาลัด อยู่รอบท่อปัสสาวะส่วนต้นมีขนาดโตขึ้นผิดปกติ จนไปเบียดท่อปัสสาวะให้แคบลง จนส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติขึ้น โดยส่วนมากจะเกี่ยวข้องกับการปัสสาวะที่แย่ลง
โรคต่อมลูกหมากโต เกิดจากอะไร?
โดยปกติ ต่อมลูกหมาก เป็นอวัยวะที่จะมีขนาดใหญ่ขึ้นตามอายุ ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ว่าปัจจัยใดที่ทำให้ต่อมลูกหมากมีขนาดโตผิดปกติ แต่ก็มีความเชื่อกันว่า โรคนี้อาจสัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศชายที่ลดลงหรือไม่สมดุลเมื่อผู้ชายอายุมากขึ้น รวมถึงอาจสัมพันธ์กับอายุ เนื่องจากเป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้ชายอายุ 60 ปีขึ้นไป
โรคต่อมลูกหมากโต มีอาการอย่างไร?
อาการของโรคต่อมลูกหมากโตมักมีความเกี่ยวข้องกับการปัสสาวะที่ผิดปกติ โดยอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่
- ปัสสาวะบ่อยขึ้น
- รู้สึกว่าปัสสาวะได้ไม่สุด และต้องปัสสาวะอีกเรื่อยๆ
- ปัสสาวะไหลช้าหรือไหลๆ หยุดๆ
- กลั้นปัสสาวะไม่ได้
- ปัสสาวะไม่ออกเฉียบพลัน
- ต้องเบ่งปัสสาวะแรงขึ้น หรือต้องรอนานขึ้นจนกว่าปัสสาวะจะออก
ปัสสาวะบ่อยหรือปัสสาวะไม่ค่อยออกแบบนี้ ใช่อาการของโรคต่อมลูกหมากโตหรือไม่ อยากตรวจเพิ่มเติมให้มั่นใจ ปรึกษาแอดมิน หาแพ็กเกจราคาดีใกล้คุณได้ ที่นี่
โรคต่อมลูกหมากโต อันตรายหรือไม่?
โรคต่อมลูกหมากโต ไม่ใช่โรคที่ร้ายแรง และไม่สามารถลุกลามจนกลายเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้ แต่มักเป็นโรคที่ทำให้เกิดความรำคาญและทำให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยแย่ลงเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม หากตรวจพบโรคต่อมลูกหมากโตช้าเกินไป หรือคิดว่าไม่ร้ายแรง ไม่จำเป็นต้องรักษาก็ได้ ก็อาจส่งผลทำให้เกิดอาการหรือโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้ เช่น
- การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
- กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- เกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
- เกิดโรคไต ไตเสื่อม หรือไตวาย
โรคต่อมลูกหมากโต กลุ่มเสี่ยงมีใครบ้าง?
โรคต่อมลูกหมากโต เป็นโรคที่พบได้บ่อยในกลุ่มเพศชาย โดยพบได้ตั้งแต่อายุประมาณ 45 ปี แต่จะพบได้บ่อยที่สุดที่ช่วงอายุ 60-70 ปีขึ้นไป
โรคต่อมลูกหมากโต ตรวจอย่างไร?
การตรวจโรคต่อมลูกหมากโต จะขึ้นอยู่กับอาการ และการประเมินของแพทย์ แต่โดยส่วนมากรายการตรวจที่นิยม จะมีดังต่อไปนี้
- การซักประวัติสุขภาพ และลักษณะการปัสสาวะ
- การตรวจต่อมลูกหมากทางทวารหนัก หรือการทำ DRE (Digital Rectal Examination) เพื่อคลำดูขนาดของต่อมลูกหมาก
- การตรวจอัลตราซาวด์ต่อมลูกหมาก
- การตรวจเลือดหาสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก หรือการตรวจ PSA (Prostate-Specific Antigen) เนื่องจากอาการบางอย่างของโรคต่อมลูกหมากโตนั้น คล้ายกับโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
- การตรวจปัสสาวะ อาจรวมถึงทดสอบความเร็วในการไหลของปัสสาวะด้วย (Uroflowmetry)
- การจดบันทึกความถี่ในการปัสสาวะภายใน 24 ชั่วโมง
โรคต่อมลูกหมากโต มีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง?
โรคต่อมลูกหมากโต มีแนวทางการรักษาหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับอาการ การประเมินจากแพทย์ รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น อายุและโรคประจำตัวอื่นๆ ของผู้ป่วย โดยแนวทางการรักษาโรคต่อมลูกหมากโต มีดังนี้
- ลดปริมาณการดื่มน้ำ ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการปัสสาวะบ่อยจากการดื่มน้ำมากเกินไป หรือในผู้ที่อาการของโรคยังไม่ถึงขั้นรุนแรง แต่วิธีนี้ต้องดูองค์ประกอบของโรคประจำตัวอื่นๆ ร่วมด้วย
- การกินยา โดยอาจเป็นยาที่ทำให้ต่อมลูกหมากหดตัว ยาลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อที่ไปบีบรัดท่อปัสสาวะ
- การรักษาต่อมลูกหมากโตด้วยไอน้ำ เพื่อทำลายเซลล์ที่อุดตันอยู่ในทางเดินปัสสาวะ และทำให้ต่อมลูกหมากหดตัว รวมถึงทำให้ท่อปัสสาวะขยายตัวกว้างขึ้น
- การผ่าตัดรักษาต่อมลูกหมากโต ปัจจุบันนิยมใช้เทคนิคการผ่าตัดส่องกล้อง เนื่องจากให้แผลเล็กกว่า ทำให้เจ็บแผลได้น้อยลง รวมถึงระยะเวลาฟื้นตัวเร็วขึ้นด้วย แบ่งเทคนิคย่อยออกได้ 2 เทคนิค ได้แก่
- การผ่าตัดต่อมลูกหมากผ่านกล้องส่องกระเพาะปัสสาวะ เป็นการใช้กล้องผ่าตัด สอดเข้าผ่านทางท่อปัสสาวะ แล้วใช้อุปกรณ์ขดลวดไฟฟ้าแบบประจุเดียวโมโนโพลาร์ ตัดหรือขูดเนื้อเยื่อส่วนเกินที่ต่อมลูกหมากออก
- การผ่าตัดต่อมลูกหมากผ่านกล้องส่องท่อปัสสาวะ เป็นการผ่าตัดที่คล้ายกับแบบแรก แต่ต่างกันตรงที่อุปกรณ์ขดลวดไฟฟ้าซึ่งจะเป็นแบบประจุคู่ไบโพลาร์ มีจุดเด่นในการป้องกันไม่ให้เนื้อเยื่อส่วนที่ถูกตัดหรือจี้ไหม้เกรียมเกินไป
โรคต่อมลูกหมากโตเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วย และอาจเป็นอุปสรรคนการทำงาน การใช้ชีวิตประจำวันได้ นอกจากนี้ยังอาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะสำคัญอื่นๆ เช่น กระเพาะปัสสาวะ ไต ได้ด้วย
ดังนั้นหากสังเกตว่าการปัสสาวะของตนเองผิดปกติไป ก็อย่านิ่งนอนใจ หรือคิดว่าเป็นเรื่องปกติ ควรไปพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจหาสาเหตุความผิดปกติ และหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
ไม่แน่ใจว่าอาการแบบนี้ วิธีปัสสาวะเปลี่ยนไปแบบนี้ ใช่อาการโรคต่อมลูกหมากโตรึเปล่า ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคต่อมลูกหมากโต จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย