เลือดออกทางช่องคลอด สีแดงสดไม่เจ็บ เพราะเหตุใด?

การมีเลือดออกทางช่องคลอดสีแดงสดโดยที่ไม่มีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย อาจทำให้หลายคนรู้สึกกังวลและสงสัยว่าสาเหตุเกิดจากอะไร โดยทั่วไปแล้ว อาการนี้อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น ภาวะประจำเดือนผิดปกติ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การใช้ยาคุมกำเนิด หรือการตั้งครรภ์ระยะแรก อย่างไรก็ตาม หากอาการเลือดออกนี้เกิดขึ้นนอกช่วงเวลาที่ควรมีประจำเดือน หรือมีปริมาณเลือดมากกว่าปกติ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงและรับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพต่อไป

เลือดออกทางช่องคลอด สีแดงสดไม่เจ็บ

มีเลือดออกจากช่องคลอดเล็กน้อยนาน 2 วันแล้วหายไป บางครั้งปัสสาวะแล้วรู้สึกแสบ และมีความรู้สึกปัสสาวะไม่สุดเหมือนเสียว ๆ เมื่อเดือนที่แล้วประจำเดือนหมดไปได้ 2 วัน แต่หลังจากนั้นมีเลือดออกอีก โดยมีทั้งเลือดสีแดงสดและสีดำปนกัน นานประมาณ 10 วัน

ก่อนอื่นต้องแยกอาการทั้งสองอย่างก่อนค่ะ

อย่างแรก คือ อาการปัสสาวะไม่สุดหรือปัสสาวะแสบขัด ซึ่งมักเกิดจากการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ จำเป็นต้องได้รับยาฆ่าเชื้อ และหากมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้ หนาวสั่น อาจต้องได้รับยาฆ่าเชื้อในรูปแบบการฉีด

ประเด็นที่สอง คือ การมีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด ซึ่งต้องพิจารณาสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้

  1. การกระทบกระแทก ซึ่งอาจทำให้เกิดแผลในช่องคลอดหรือปากมดลูก
  2. การติดเชื้อ ซึ่งอาจทำให้มีเลือดออกผิดปกติจากมดลูกหรือช่องคลอด และอาจมีอาการอื่นร่วม เช่น มีไข้ ตกขาวเปลี่ยนสี หรือมีกลิ่นเหม็น
  3. การที่รอบเดือนนี้ไม่มีการตกไข่ ทำให้ฮอร์โมนไม่สมดุล ระดับเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนไม่เท่ากัน การวินิจฉัยภาวะนี้จำเป็นต้องตรวจร่างกายอย่างละเอียด เพื่อแยกแยะภาวะอื่น ๆ เช่น แผลหรือการติดเชื้อก่อน และรักษาด้วยยาคุมกำเนิดเพื่อช่วยปรับรอบการตกไข่ให้สม่ำเสมอ

ดังนั้น อาการทั้งสองนี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาและการตรวจร่างกายเพิ่มเติม คนไข้ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียดค่ะ

ตอบโดย พญ. พิศุทธิกาญจญ์ รังคกูลนุวัฒน์

มีเลือดเป็นลิ่มๆ ไม่ได้เป็นประจำเดือน

มีลิ่มเลิอดเล็กๆ ปนมากับปัสวะแต่ปัสวะไม่เป็นสีเลือดนะคะเป็นปกติ แต่แค่มีเศษลิ่มๆปนมาค่ะ เวลาเอาทิชชู่เช็ดก็จะมีเลือดนิดๆติดมา อาการแบบนี้เป็นหลังหมดประจำเดือนค่ะ ตั้งแต่เป็นประจำเดือนมาก็กินยาคุมไปด้วยคะเพราะว่าฮอร์โมนมาไม่ปกติ ตอนนี้ก็ยังกินอยู่ค่ะ สรุปมันเป็นเพราะอะไรคะ ไม่มีอาการปวดท้องเลยค่ะ

เกิดขึ้นได้ค่ะ เป็นเรื่องปกติ แต่ไม่บ่อยนัก เกิดจากช่วงมีประจำเดือนร่างกายไม่สามารถขับเลือดออกได้ทันที จึงเกิดการค้างสะสมในช่องคลอดแล้วกลายเป็นก้อนลิ่มเลือดค่ะ

ถ้าลิ่มเลือดเป็นหลังประจำเดือนโดยไม่มีอาการอื่นๆ ส่วนมากจะเป็นจากประจำเดือนที่ค้างอยู่ค่ะ ยังไงลองให้สังเกตอาการดูก่อน ถ้าลิ่มเลือดยังออกมาอยู่ หรือมีอาการปัสสาสะแสบขัด ปัสสาวะขุ่น ปัสสาวะบ่อย ปวดท้องน้อย ตกขาวผิดปกติ คันอวัยวะเพศ ให้ไปพบแพทย์ค่ะ

ตอบโดย พญ. นิชดา พงษ์ธัญญกรณ์

เลือดออกทางช่องคลอด ขณะมีเพศสัมพันธ์กับแฟน

ไม่มีเพศสัมพันธ์กับแฟนเป็นเวลานานพอมีแล้วเลือดออกขณะมีเพศสัมพันธ์ ผิดปกติหรือไม่คะ?

อาการเลือดออกระหว่างหรือหลังการมีเพศสัมพันธ์ โดยที่ไม่ใช่ช่วงมีประจำเดือน ถือเป็นอาการผิดปกติที่ต้องหาสาเหตุ โดยสาเหตุที่เป็นไปได้มีดังนี้

  1. บาดแผลขณะมีเพศสัมพันธ์: อาจเกิดจากท่าทาง ความรุนแรง หรือช่องคลอดแห้ง ทำให้เกิดแผลเล็ก ๆ ที่มีเลือดออก หรือในกรณีที่รุนแรง อาจถึงขั้นช่องคลอดหรือปากมดลูกฉีกขาด ซึ่งทำให้มีเลือดออกมากขึ้นได้ สำหรับผู้ที่ไม่ได้มีเพศสัมพันธ์บ่อยครั้ง การเสียดสีหรือกระทบกระเทือนอาจทำให้เกิดแผลเล็ก ๆ ได้ หากเลือดออกเพียงเล็กน้อย ควรสังเกตอาการ 24-48 ชั่วโมง แต่ถ้ามีเลือดออกมากหรือไม่หยุด ควรไปพบแพทย์
  2. การติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์: เช่น การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน หนองในแท้ หนองในเทียม ซิฟิลิส อาจทำให้มีเลือดออกและตกขาวที่ผิดปกติ เช่น ตกขาวสีเขียว เหลือง หรือมีกลิ่นเหม็น อาจมีอาการแสบ คัน หรือปวดท้องน้อยร่วมด้วย
  3. ติ่งเนื้อในช่องคลอดหรือปากมดลูก: เมื่อถูกกระทบกระแทก ติ่งเนื้อเหล่านี้อาจทำให้มีเลือดออกได้ง่าย
  4. เนื้องอก: อาจเป็นเนื้องอกที่ไม่เป็นมะเร็งหรือเป็นมะเร็งในช่องคลอดหรือปากมดลูก ซึ่งอาจทำให้มีเลือดออกผิดปกติ
  5. เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่: อาจทำให้มีเลือดออกระหว่างหรือหลังการมีเพศสัมพันธ์ และบางรายอาจมีอาการปวดประจำเดือนมากกว่าปกติ
  6. ช่องคลอดแห้งหรืออักเสบ: อาจเกิดจากการขาดน้ำหล่อลื่น ความไม่พร้อม หรือการขาดฮอร์โมนเพศ เช่น หลังการผ่าตัดรังไข่ หรือในผู้หญิงที่อายุมากขึ้น

ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการนี้ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการตรวจร่างกายและตรวจภายใน รวมถึงการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม ดังนั้น แนะนำให้ผู้ที่มีอาการไปพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมที่โรงพยาบาลค่ะ

ตอบโดย พญ. พิศุทธิกาญจญ์ รังคกูลนุวัฒน์


บทความที่เกี่ยวข้อง

คำถามสุขภาพที่พบบ่อย

Scroll to Top