เมื่อร่างกายเกิดบาดแผล ไม่ว่าจะเป็นแผลจากการผ่าตัด แผลอุบัติเหตุ หรือแผลติดเชื้อ การดูแลตัวเองอย่างถูกวิธีมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเรื่องอาหาร เพราะบางประเภทอาจส่งผลให้แผลหายช้าหรือมีการอักเสบมากขึ้น มาดูกันว่าเมื่อเป็นแผล อาหารประเภทใดบ้างที่ควรหลีกเลี่ยง เพื่อให้แผลฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วและลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน แล้วของสแลงไม่ดีจริงไหม
สารบัญ
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงเพื่อการฟื้นตัวที่รวดเร็ว
1. อาหารหมักดองและเค็มจัด
- เหตุผล: อาหารรสเค็มมีเกลือในปริมาณสูงเกินระดับมาตรฐาน ทำให้ร่างกายกักเก็บน้ำ ส่งผลให้เกิดการบวมและการอักเสบบริเวณแผล
- ตัวอย่าง: ปลาร้า ผักดอง ไข่เค็ม กะปิ
2. อาหารทะเลบางชนิด
- เหตุผล: อาหารทะเล เช่น กุ้ง ปู หรือปลาหมึก อาจกระตุ้นการเกิดอาการแพ้หรือคันบริเวณแผล ทำให้เสี่ยงต่อการอักเสบมากขึ้น
- ตัวอย่าง: กุ้ง ปู หอย ปลาหมึก
3. ของหวานและน้ำตาลสูง
- เหตุผล: น้ำตาลในปริมาณมากทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง และส่งผลให้ร่างกายฟื้นตัวได้ช้าลง อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
- ตัวอย่าง: ขนมหวาน เค้ก น้ำอัดลม
4. อาหารมันและทอดกรอบ
- เหตุผล: อาหารที่มีไขมันสูงอาจทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่ดี และส่งผลให้การซ่อมแซมเนื้อเยื่อช้าลง นอกจากนี้ยังเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อ
- ตัวอย่าง: ไก่ทอด ขาหมู มันฝรั่งทอด ขนมขบเคี้ยวทอดน้ำมัน
5. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน
- เหตุผล: แอลกอฮอล์และคาเฟอีนทำให้ร่างกายขาดน้ำ ซึ่งส่งผลให้การสมานแผลช้าลง และยังลดประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
- ตัวอย่าง: เบียร์ เหล้า กาแฟ ชาเขียว
ของแสลงทำให้แผลหายช้าไหม ?
ความเชื่อเรื่อง “ของแสลง” ทำให้แผลหายช้า เป็นความเชื่อที่สืบทอดกันมานาน แต่ในทางวิทยาศาสตร์ยังไม่มีหลักฐานยืนยันที่ชัดเจนว่าอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการสมานแผล อย่างไรก็ตาม มีของกินบางอย่างที่มีผลทำให้แผลหายช้าได้ทางอ้อม เช่น อาหารหมักดองและเค็มจัด อาหารทะเลบางชนิด ของหวาน อาหารมัน เครื่องดื่มคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ เพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูได้เต็มที่
การหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิดตามความเชื่อเรื่องของแสลงจึงไม่ถือว่าผิดเสียทีเดียว แต่ก็ไม่ใช่ข้อบังคับ หากอยากทาน สามารถกินได้ในปริมาณที่เหมาะสม และกลับมาทานได้ตามปกติหลังแผลหายดี
สิ่งสำคัญที่สุดคือการดูแลสุขภาพโดยรวม รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ และดูแลแผลอย่างถูกวิธี เพื่อให้แผลหายได้เร็วยิ่งขึ้น
อาหารแสลงที่ไม่มีผลกับแผล
ในทางความเชื่ออาหารบางอย่างห้ามกิน แต่บางอย่างกินได้โดยไม่ส่งผลทำให้แผลหายช้า
- ไข่ทุกชนิด
- เนื้อสัตว์ เช่น หมู ไก่ วัว
โปรตีนชั้นดีจะช่วยให้ร่างกายฟื้นฟู ช่วยซ่อมแซมร่างกาย บาดแผลหายไว แข็งแรงเร็วขึ้น ไม่มีผลให้แผลหายช้า ในทางกลับกันหากโปรตีนน้อยเกินไปอาจจะทำให้แผลหายช้าลง ที่ต้องระวัง คือ เน้นความสะอาดและปรุงสุกก่อน
หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาหารอื่น ควรสอบถามแพทย์ที่ดูแลการรักษา
อาหารที่ช่วยให้แผลหายเร็ว
นอกจากการหลีกเลี่ยงอาหารที่กล่าวมาแล้ว ควรเน้นรับประทานอาหารที่ช่วยฟื้นฟูร่างกาย เช่น
- โปรตีนสูง: เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ และปลา
- วิตามินซี: ส้ม ฝรั่ง และพริกหวาน เพื่อกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน
- สังกะสี (Zinc): เมล็ดฟักทองและถั่ว เพื่อช่วยในกระบวนการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ
การดูแลอาหารเมื่อมีบาดแผลเป็นเรื่องสำคัญ เพราะอาหารบางชนิดอาจทำให้แผลหายช้าหรือเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ควรหลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง อาหารทะเล ของหวาน ของมัน และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงเน้นอาหารที่มีโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุ เพื่อช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูอย่างมีประสิทธิภาพ
ที่มาของข้อมูล
- Wound Healing and your Diet (https://www.drugs.com/cg/wound-healing-and-your-diet.html)
- 4 Foods To Avoid During Wound Healing & Why (https://www.oneskin.co/blogs/reference-lab/foods-to-avoid-during-wound-healing)