ฟันกรามเป็นฟันที่มีความแข็งแรง หากเกิดผุ ร้าว หรือแตกขึ้น ควรได้รับการดูอย่างเหมาะสม มิเช่นนั้นอาจเสี่ยงเกิดปัญหาช่องปากร้ายแรงตามมา เช่น การติดเชื้อ ฝีในฟัน หรือสูญเสียฟันซี่นั้นไป
มาทำความเข้าเกี่ยวกับปัญหาฟันกรามแตกกัน ฟันกรามแตกมีอาการไหม สังเกตอาการได้อย่างไร เมื่อฟันกรามแตกควรทำอย่างไร
สารบัญ
ฟันกรามแตกเกิดขึ้นได้อย่างไร
ฟันกรามมีหน้าที่บดเคี้ยวอาหาร จึงมีความแข็งแรงกว่าฟันซี่อื่น แต่ถึงอย่างนั้นก็สามารถเสียหาย ร้าว และแตกได้จากหลายปัจจัย เช่น
- การใช้ฟันกัด งัด ของแข็ง หรือการเคี้ยวอาหารที่มีความแข็งมาก เช่น อย่างน้ำแข็ง ลูกอม ถั่ว และกระดูก
- การปล่อยให้ฟันกรามผุ โดยไม่ได้รักษา
- การสึกของฟันกรามตามอายุที่มากขึ้น ส่วนใหญ่จะพบในคนอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
- การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างกะทันหันในช่องปาก เช่น กินอาหารร้อนมาก ๆ แล้วสลับไปกินเย็นมาก ๆ ทันที
- การนอนกัดฟัน
- การเล่นกีฬาหรืออุบัติเหตุต่าง ๆ ที่อาจกระทบต่อฟัน
- การอุดฟันขนาดใหญ่ ทำให้โครงสร้างของฟันอ่อนแอลง
เมื่อฟันกรามแตก สังเกตอย่างไร
เมื่อฟันกรามแตกส่วนใหญ่จะพบอาการต่อไปนี้
- เสียวฟันมากกว่าปกติเมื่อกินอาหารที่ร้อน เย็น หรือมีรสหวาน
- ปวดฟันขณะเคี้ยวอาหาร ปวดเป็นพัก หรือเป็น ๆ หาย ๆ
- เหงือกบวมแดงบริเวณฟันกรามซี่ที่แตก
- เลือดออกรอบฟันกรามซี่ที่แตก
- เห็นรอยแตกหรือร้าวบนตัวฟัน หากฟันกรามแตกเยอะอาจเห็นเป็นรู มีกลิ่นปาก ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น
ลักษณะและความรุนแรงของฟันกรามแตก
อันตรายของฟันกรามแตกขึ้นอยู่กับบริเวณที่ฟันแตกและความรุนแรงของการแตก เพราะฟันกรามแตกได้หลายลักษณะ คือ
- ฟันกรามแตกเป็นร่องเล็ก ๆ ตื้น ๆ (Craze lines) ที่ผิวเคลือบฟันด้านนอกสุด มักไม่ทำให้รู้สึกเจ็บหรือปวด สามารถใช้การกรอหรือขัดเงาผิวฟันก็แก้ไขได้
- ฟันแตกแบบเสี้ยว (Fractured cusp) มักเป็นรอยแตกลึกไปสู่เนื้อฟัน แต่ไม่ทะลุถึงโพรงประสาทฟัน เลยไม่ได้เจ็บปวดนัก ส่วนใหญ่เกิดกับฟันกรามที่มีรอยอุดฟันขนาดใหญ่ สามารถรักษาด้วยการอุดฟันหรือทำครอบฟัน
- ฟันกรามแตกเป็น 2 ส่วน (Split tooth) จากด้านบนยาวไปจนถึงด้านล่างของแนวเหงือก การรักษาอาจช่วยรักษาฟันไว้ได้เพียงบางส่วน
- ฟันกรามแตกร้าวเป็นแนวดิ่งด้านบนลงมาถึงคอฟัน ถ้าฟันมีรอยแตกขยายไปถึงบริเวณเหงือกอาจจำเป็นต้องถอนฟัน
- ฟันแตกร้าวเฉพาะส่วนรากฟัน (Vertical root fracture) เป็นรอยแตกที่เริ่มต้นจากข้างเหงือกขึ้นไปด้านบน มักไม่แสดงอาการ หากเกิดการติดเชื้ออาจต้องถอนฟันซี่นั้นไป
ฟันกรามแตกทำอย่างไร ต้องรักษาไหม
หากสงสัยว่าฟันกรามแตก ควรไปพบทันตแพทย์ทันที เพื่อป้องกันอาการรุนแรง และลดความเสี่ยงต่อสุขภาพ ซึ่งความเร่งด่วนอาจขึ้นอยู่กับความรุนแรงของฟันที่แตก
หากฟันแตกออกเป็น 2 ส่วน ฟันแตกจากอุบัติเหตุ หรือมีอาการปวดอย่างมาก ควรรีบไปพบทันตแพทย์ทันที หากไม่มีอาการรุนแรง ก็ควรหาเวลาไปพบทันตแพทย์ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีความจำเป็นต้องรักษา
เพราะบางครั้งรอยแตกบนฟันเล็ก ๆ อาจนำไปสู่ปัญหารุนแรงขึ้น เช่น ฝีในฟันที่เป็นผลมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เกิดอาการปวดฟันเรื้อรัง ลมหายใจมีกลิ่น มีไข้ และเหงือกบวม
การรักษาฟันกรามแตก มีวิธีไหนบ้าง
เมื่อฟันกรามแตก ทันตแพทย์จะประเมินสภาพฟันและให้คำแนะนำ พร้อมการรักษาที่เหมาะสม ดังนี้
- สังเกตอาการ คนที่ฟันกรามไม่ได้แตก อาจเป็นเพียงรอยเล็ก ๆ ไม่มีอาการปวด ทันตแพทย์อาจให้สังเกตอาการของฟันซี่นั้นต่อไป
- อุดฟัน กรณีฟันกรามแตกเล็กน้อยสามารถใช้วัสุดอุดฟัน เพื่อให้ฟันกลับมาใช้งานได้ตามปกติ และป้องกันฟันกรามแตกมากขึ้น
- ครอบฟัน กรณีฟันกรามเกิดรอยแตกขนาดใหญ่ หรือเสียเนื้อฟันไปบางส่วน ทันตแพทย์จะใช้อุปกรณ์ครอบฟันสวมทับฟัน เพื่อปิดรอยต่อการแตกของฟันกราม
- รักษารากฟัน กรณีฟันกรามแตกแล้วเกิดการติดเชื้อบริเวณรากฟัน ทันตแพทย์จำเป็นต้องรักษารากฟัน เพื่อยับยั้งการติดเชื้อในโพรงประสาทฟัน และป้องกันการลุกลามไปยังส่วนอื่น
- ถอนฟัน กรณีฟันกรามแตกรุนแรง ฟันและรากฟันเสียหายจนรักษาไม่ได้แล้ว ทันตแพทย์จะแนะนำให้ถอนฟันแล้วสวมใส่ฟันปลอมแทน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ปัญหาช่องปาก และการบดเคี้ยวอื่น ๆ
ฟันกรามแตกเป็นปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม เพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพช่องปากและคุณภาพชีวิต หากคุณมีอาการน่าสงสัยว่าเกิดฟันกรามแตก ควรพบทันตแพทย์ทันที เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม
ที่สำคัญควรดูแลสุขภาพฟันเป็นประจำ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีความแข็งเสี่ยงทำให้ฟันแตก และเข้ารับการตรวจช่องปากทุก 6 เดือน
ฟันกรามแตก กินอาหารไม่อร่อย เสี่ยงปัญหาช่องปากสารพัด ดู โปรครอบฟัน ทำรากฟันเทียม จองผ่าน HDmall.co.th รับราคาพิเศษ ให้คุณหมอประเมินช่องปากก่อนจ่ายตามจริง