จมูก อวัยวะหนึ่งของร่างกาย เป็นเสมือนประตูทางผ่านแรกของอากาศและสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ที่มากับอากาศ เข้าสู่ทางเดินหายใจ เช่น ดอกไม้ สารเคมี ฝุ่นละออง เกสร มลพิษทางอากาศต่างๆ
สิ่งต่างๆ เหล่านี้สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการคันจมูก (Itchy nose) ขึ้นมาได้ หรือเรียกได้ว่าโดยส่วนใหญ่แล้วอาการคันจมูก คันจมูกยุบยิบนี้เป็นอาการของการแพ้ แต่ก็สามารถพบอาการคันจมูกได้จากสาเหตุอื่นด้วย
อาการคันจมูกพบได้ทั่วไปในทุกช่วงอายุ เป็นอาการที่ก่อให้เกิดความรำคาญ หากมีอาการมากๆ อาจทำให้จามและมีน้ำมูกไหลร่วมด้วยได้
หากกำลังสงสัยเกี่ยวกับอาการคันจมูก สาเหตุ แนวทางการรักษารวมถึงการป้องกัน และข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สามารถศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากบทความต่อไปนี้
สารบัญ
สาเหตุที่มักทำให้เกิดอาการคันจมูก
อาการคันจมูกสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยที่พบบ่อยที่สุดคือการแพ้ (Allergy) อาการแพ้เกิดจากการที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นต่างๆ โดยกระบวนการเกิดจะกล่าวถึงในหัวข้อต่อไป
สาเหตุที่พบทำให้เกิดอาการคันจมูกอื่นๆ ได้แก่
1. โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic rhinitis)
เป็นโรคที่มีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายรูปแบบหนึ่ง โดยเป็นปฏิกิริยาภูมิแพ้ชนิดที่ 1 (IgE mediated type I hypersensitivity reaction) การเป็นโรคนี้จะทำให้มีอาการคันจมูก น้ำมูกไหล คัดจมูก และจามได้
2. ไข้หวัด (Common cold)
เมื่อร่างกายติดเชื้อไวรัสที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน จะมีการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ร่างกายหลั่งสารเคมีต่างๆ และสร้างน้ำมูกเพื่อขจัดเชื้อออกไปให้เร็วที่สุด การกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายนี้มีผลทำให้เกิดอาการคันจมูก น้ำมูกไหล และการจามขึ้นมาได้
3. โรคจมูกอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการแพ้ (Nonallergic rhinitis)
อาการที่เกิดขึ้นจะเป็นคล้ายกับโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ คือ มีอาการคันจมูก จาม คัดจมูก และน้ำมูกไหล
โดยอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เกิดจากการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย แต่เกิดจากการอยู่หรือทำงานในสิ่งแวดล้อมที่มีสิ่งกระตุ้นเป็นประจำ เช่น ฝุ่นละออง ควันจากโรงงานอุตสาหกรรม ควันจากการเผาไหม้ เป็นต้น
4. ภายในโพรงจมูกแห้ง
จะพบได้ในผู้ที่ชอบสั่งน้ำมูกบ่อยๆ หรือรับประทานยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูกมากๆ ผู้อยู่ในอากาศเย็น รวมถึงคนที่ใช้เครื่องช่วยหายใจตอนนอน ที่เรียกว่า ซีแพพ (CPAP: Continuous positive airway pressure) เมื่อภายในจมูกแห้งจะทำให้เกิดอาการคันจมูก และเจ็บจมูกได้
5. โรคไซนัสอักเสบ (Sinusitis)
อาการที่อาจจะพบในโรคนี้ได้ คือ อาการคันจมูก คัดจมูก มีเสมหะข้นสีเหลืองหรือสีเขียว หายใจมีกลิ่นเหม็น ได้รับกลิ่นลดลง เป็นต้น
6. ริดสีดวงจมูก (Nasal polyp)
เป็นติ่งเนื้อที่อยู่ภายในจมูก เป็นเนื้อดีที่ไม่ใช่มะเร็ง แต่สามารถขัดขวางทางเดินหายใจทำให้เกิดอาการหายใจไม่สะดวก คันจมูก และคัดจมูกได้
อาการคันจมูกเกิดขึ้นได้อย่างไร?
มีสาเหตุมากมายที่ทำให้เกิดอาการคันจมูก แต่ในบทความนี้จะขออธิบายถึงกระบวนการเกิดอาการคันจมูกที่มีสาเหตุมาจากอาการแพ้ ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด
กระบวนการเกิดอาการแพ้จนนำไปสู่การคันจมูก เริ่มจากร่างกายได้รับสิ่งกระตุ้นจากภายนอก เช่น สัตว์เลี้ยง ฝุ่นละออง ไรฝุ่น เกสรดอกไม้ เมื่อสิ่งกระตุ้นเข้าสู่ร่างกายแล้วจะไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายขึ้น
ท้ายที่สุดแล้วจะมีการปล่อยสารออกจากเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง คือ สารตัวกลางที่กระตุ้นการอักเสบ (Inflammatory mediators) ขึ้นมา หนึ่งในสารนี้ที่สำคัญและรู้จักกันในชื่อว่า ฮิสตามีน (Histamine) จะไปกระตุ้นอวัยวะต่างๆ ทำให้เกิดอาการคันจมูก จาม คัดจมูก และน้ำมูกไหลได้
ทำอย่างไรอาการคันจมูกถึงดีขึ้น?
มีหลากหลายวิธีที่สามารถป้องกันและบรรเทาอาการคันจมูกด้วยตัวเองที่บ้านได้ เช่น
- ล้างจมูก วิธีนี้เป็นวิธีที่ช่วยลดอาการต่างๆ ที่เกิดจากการแพ้ซึ่งได้ผลดีที่สุด เพราะจะช่วยล้างสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ที่อยู่ในโพรงจมูก จึงช่วยลดอาการคันจมูกได้ การล้างจมูกทำได้โดยใช้ไซริงค์ (Syringe) ดูดน้ำเกลือ แล้วสอดปลายไซริงค์เข้าไปในรูจมูกข้างใดข้างหนึ่ง ก้มศีรษะลงเล็กน้อย กลั้นหายใจแล้วฉีดน้ำเกลือเข้าไปในจมูกจนน้ำเกลือออกมาทางรูจมูกอีกข้างหนึ่งหรือออกทางปาก จากนั้นสั่งน้ำมูกและน้ำเกลือออกทางจมูกทั้งสองข้าง บ้วนน้ำเกลือที่ไหลลงคอทิ้ง ทำตามขั้นตอนดังกล่าวซ้ำสลับกันทั้งสองข้าง 2-3 ครั้ง
- หลีกเลี่ยงการสั่งน้ำมูกบ่อยๆ เนื่องจากจะทำให้ภายในโพรงจมูกแห้ง
- การเพิ่มความชื้นในอากาศ เนื่องจากสาเหตุของอาการคันจมูกอาจเกิดจากภายในโพรงจมูกแห้ง การเพิ่มความชื้นในอากาศจึงช่วยบรรเทาอาการคันจมูกที่เกิดจากสาเหตุนี้ได้ นอกจากนี้ยังช่วยให้ร่างกายสลายเสมหะและกำจัดสิ่งแปลกปลอมภายในโพรงจมูกได้ดีขึ้นด้วย
- ใช้สเปรย์น้ำเกลือ เพื่อช่วยไม่ให้โพรงจมูกแห้ง
- ดื่มน้ำมากๆ เพื่อเพิ่มปริมาณของเหลวในร่างกายในการช่วยกำจัดสิ่งแปลกปลอมภายในโพรงจมูก
การรักษาอาการคันจมูกที่ถูกต้องเป็นอย่างไร?
ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงการรักษาอาการคันจมูกที่มีสาเหตุมาจากอาการแพ้ ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด การรักษาอาการนี้ต้องอาศัยหลายๆ วิธีประกอบกัน ได้แก่
- กำจัดและหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ (Avoidance) หากทราบว่าสารใดที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ การหลีกเลี่ยงจึงเป็นการช่วยป้องกันและแก้ปัญหาการแพ้จากสารที่กระตุ้นนั้นได้
- รักษาโดยการใช้ยา (Medications) เช่น ยาสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ในรูปแบบพ่นจมูก ยาแก้แพ้ (Antihistamine drugs)
- รักษาโดยการผ่าตัด (Surgery) จะพิจารณาผ่าตัดรักษาในผู้ป่วยที่มีอาการมาก หรือเคยได้รับการรักษาด้วยยาอย่างเต็มที่แล้วอาการไม่ดีขึ้น การผ่าตัดอาจช่วยให้อาการดีขึ้นได้
- รักษาด้วยวัคซีนภูมิแพ้ (Allergen immunotherapy) เป็นวิธีการรักษาที่ช่วยให้ผู้ป่วยแพ้สารที่ก่อภูมิแพ้ชนิดนั้นๆ ลดน้อยลง โดยการให้สารก่อภูมิแพ้ที่ผู้ป่วยแพ้นั้นเข้าสู่ร่างกายทีละน้อย ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
โดยสรุปแล้ว การรักษาอาการคันจมูกที่ถูกวิธีนั้นจะเป็นการรักษาที่สาเหตุ หากเป็นปัญหานี้เรื้อรังควรที่จะได้รับการตรวจเพิ่มเติมโดยแพทย์ซึ่งแพทย์เฉพาะทางที่ดูแลรักษาอาการนี้โดยเฉพาะคือแพทย์เฉพาะทางหู คอ จมูก (Otolaryngologist) เพื่อที่จะได้ทราบสาเหตุ การรักษา และวิธีป้องกันอย่างถูกวิธีตามภาวะหรือโรคที่เป็นในอนาคต