รีเทนเนอร์ (Retainer) และเรื่องควรรู้สำหรับผู้ที่กำลังจะต้องใส่

“รีเทนเนอร์” เป็นเครื่องมือที่คนจัดฟันรู้จักกันดี เพราะต้องใส่หลังจากที่จัดฟันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการจัดฟันแบบใสหรือจัดฟันแบบลวด เพื่อรักษาสภาพฟันให้สวยงาม ป้องกันไม่ให้ฟันล้มฟันเกจนต้องจัดฟันใหม่อีกครั้ง

รีเทนเนอร์นั้น มีหลายแบบ เช่น รีเทนเนอร์แบบลวด รีเทนเนอร์แบบท่อสี รีเทนเนอร์แบบใส หรือรีเทนเนอร์แบบติดแน่น แต่ละรูปแบบมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน แล้วควรเลือกใส่รีเทนเนอร์แบบไหนดี HDmall.co.th มีคำตอบมาฝาก

รีเทนเนอร์ คืออะไร?

รีเทนเนอร์ หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เครื่องมือคงสภาพฟัน” เป็นเครื่องมือที่ใช้รักษาสภาพฟันหลังจัดฟันเสร็จแล้ว ให้อยู่ในสภาพเดิม เรียงตัวสวย ไม่เคลื่อนที่ไปจากตำแหน่งที่จัดไว้เสร็จแล้ว

รีเทนเนอร์ มีกี่แบบ?

รีเทนเนอร์ มี 3 แบบ ได้แก่ รีเทนเนอร์แบบลวด รีเทนเนอร์แบบใส และรีเทนเนอร์แบบติดแน่น แต่ละแบบมีข้อดี-ข้อเสียแตกต่างกัน ดังนี้

รีเทนเนอร์ คืออะไร? มีกี่แบบ? แบบลวด แบบใส ต่างกันอย่างไร? ใครควรใส่รีเทนเนอร์? ขั้นตอนการทำรีเทนเนอร์เป็นอย่างไร? หลังจัดฟันแล้วไม่ใส่รีเทนเนอร์ได้ไหม? ต้องใส่ตอนนอนไหม? ดูแลรีเทนเนอร์อย่างไร?

1.รีเทนเนอร์แบบลวด

รีเทนเนอร์แบบลวด เป็นรีเทนเนอร์ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ยึดฟันไว้ไม่ให้เคลื่อนที่ไปไหน ทำจากลวดโลหะไร้สนิม และส่วนฐาน ทำจากอะคริลิก สามารถใส่สีลงไปได้

ในผู้ที่เพิ่งจัดฟันเสร็จ แพทย์จะใช้อะคริลิกล้อมทับลวดด้านหน้าเอาไว้เพื่อเพิ่มแรงพยุงฟัน เพราะในช่วงแรกที่จัดฟันเสร็จ กระดูกและเหงือกหุ้มฟันยังปรับสภาพเข้ากับตำแหน่งใหม่ได้ไม่เต็มที่ ทำให้ต้องใช้แรงพยุงฟันมากกว่าปกติ ซึ่งมีให้เลือกทั้งอะคริลิกแบบใสและแบบสีสันต่างๆ

บางคนเรียกรีเทนเนอร์แบบลวดที่มีอะคริลิกล้อมลวดด้านหน้านี้ว่า “รีเทนเนอร์แบบท่อสี”

ข้อดีของรีเทนเนอร์แบบลวด

  • แข็งแรง ทนทานกว่ารีเทนเนอร์ใส
  • ไม่เกิดปัญหาน้ำลายขังเหมือนรีเทนเนอร์ใส
  • อายุการใช้งานนานกว่ารีเทนเนอร์แบบใส สามารถอยู่ได้นาน 5-10 ปี ขึ้นอยู่กับการดูแลของแต่ละคน
  • หากรีเทนเนอร์แน่นเกินไป หลวมเกินไป หรือเกิดการบิดเบี้ยว สามารถให้ทันตแพทย์แก้ไขได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนรีเทนเนอร์ชิ้นใหม่
  • สามารถเลือกสีและเพิ่มลวดลายของอะคริลิกตอนทำรีเทนเนอร์ได้

ข้อเสียของรีเทนเนอร์แบบลวด

  • ขนาดค่อนข้างใหญ่ เทอะทะ ทำให้เวลาใส่จะพูดไม่ชัด
  • มองเห็นรีเทนเนอร์ได้ชัดเจน เวลาพูดหรือยิ้ม
  • อาจมีโอกาสบาดเหงือก หรือกระพุ้งแก้มได้
content retainer 4 1

2.รีเทนเนอร์แบบใส

รีเทนเนอร์แบบใส ทำจากพลาสติกใส ไม่มีส่วนของเพดานปาก มีลักษณะเหมือนกับฟันของผู้ใช้ ความหนาประมาณ 0.8-1.5 มิลลิเมตร สามารถใส่ครอบฟันได้เลย

ข้อดีของรีเทนเนอร์แบบใส

  • มองไม่เห็นรีเทนเนอร์เวลาพูดหรือยิ้ม ทำให้ดูเป็นธรรมชาติมากกว่า
  • ไม่รบกวนการออกเสียงเหมือนกับรีเทนเนอร์แบบลวด
  • ไม่มีปัญหาลวดบาดปากเหมือนกับรีเทนเนอร์ลวด

ข้อเสียของรีเทนเนอร์แบบใส

  • คงทนน้อยกว่ารีเทนเนอร์แบบลวด มีอายุการใช้งานประมาณ 1-2 ปีเท่านั้น
  • อาจเกิดปัญหาน้ำลายขังในรีเทนเนอร์ได้
  • หากขนาดของรีเทนเนอร์ไม่พอดีปาก หลวมหรือแน่นเกินไป จะต้องทำรีเทนเนอร์ชิ้นใหม่เลย ไม่สามารถแก้ไขได้เหมือนรีเทนเนอร์แบบลวด
  • ทำความสะอาดได้ยากกว่ารีเทนเนอร์แบบลวด
  • เมื่อใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน รีเทนเนอร์อาจเปลี่ยนสีได้
  • สามารถบิดงอได้หากสัมผัสความร้อน

3.รีเทนเนอร์แบบติดแน่น

รีเทนเนอร์แบบติดแน่น มีลักษณะเป็นลวดเส้นเดียวยึดอยู่บนฟันด้านใน จะใช้ในกรณีที่ทันตแพทย์พิจารณาแล้วว่าฟันเคลื่อนกลับได้ง่าย เช่น ในผู้ที่ฟันซ้อนเกมาก หรือฟันห่างมากก่อนจัดฟัน

ข้อดีของรีเทนเนอร์แบบติดแน่น

  • ป้องกันฟันเคลื่อนที่ได้ดีมาก เพราะไม่ต้องถอดรีเทนเนอร์ออก

ข้อเสียของรีเทนเนอร์แบบติดแน่น

  • ทำความสะอาดได้ยาก และมีโอกาสหลุดได้
  • จำเป็นต้องเข้าพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน เพื่อตรวจสภาพรีเทนเนอร์
  • ต้องใส่รีเทนเนอร์แบบถอดได้ทับอีกหนึ่งชั้น โดยสามารถเลือกใส่รีเทนเนอร์แบบลวด หรือแบบใสก็ได้

ใครควรใส่รีเทนเนอร์?

ผู้ที่จัดฟันเสร็จแล้วทุกคน ไม่ว่าจะเป็นจัดฟันแบบใสหรือจัดฟันแบบลวด ควรใส่รีเทนเนอร์ตามคำแนะนำของทันตแพทย์อย่างเคร่งครัด

เพราะฟันที่เรียงตัวสวยหลังจัดฟันเสร็จนั้น ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งของฟันที่มีมาแต่เกิด กระดูกและเหงือกหุ้มฟันยังต้องใช้เวลาในการปรับสภาพเข้ากับตำแหน่งใหม่

อีกทั้งฟันยังเป็นอวัยวะที่ใช้บดเคี้ยวอาหาร ต้องได้รับแรงกระแทกจากการเคี้ยวและกัดอาหารอยู่เสมอ หากไม่ใส่รีเทนเนอร์เพื่อคงสภาพฟันไว้ จะทำให้ฟันเคลื่อนกลับสู่ตำแหน่งเดิมก่อนจัดฟัน ส่งผลให้ฟันล้ม ฟันเก ฟันซ้อนจนต้องเข้ารับการจัดฟันใหม่

ต้องใส่รีเทนเนอร์นานแค่ไหน?

ในช่วง 1-2 ปีแรกหลังจัดฟันเสร็จแล้ว ควรใส่รีเทนเนอร์ตลอดเวลา ยกเว้นเวลารับประทานอาหารและแปรงฟัน เพราะในช่วงแรกกระดูกและเหงือกหุ้มฟันยังต้องใช้เวลาในการปรับสภาพ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดฟันล้ม หรือฟันเคลื่อนได้ง่าย

หลังจากผ่านพ้นช่วง 1-2 ปีแรกไปแล้ว สามารถลดความถี่ในการใส่รีเทนเนอร์ลงได้ โดยอาจใส่เฉพาะในช่วงเวลานอนหลับ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการประเมินของทันตแพทย์

สำหรับคำถามที่ว่าต้องใส่รีเทนเนอร์นานแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับว่าต้องการให้ฟันสวยนานแค่ไหน เนื่องจากฟันของคนเราสามารถเคลื่อนที่ได้ตลอดเวลา แต่จะเห็นชัดเจนในผู้ที่จัดฟัน

หากผู้ที่จัดฟันใส่รีเทนเนอร์อย่างสม่ำเสมอก็จะช่วยรักษาสภาพฟันให้คงสภาพสวยได้นานมากขึ้นนั่นเอง

วิธีการใส่และถอดรีเทนเนอร์แบบลวด

วิธีใส่รีเทนเนอร์แบบลวด

  • ดูจุดสังเกตของรีเทนเนอร์ โดยรีเทนเนอร์ลวดจะมีส่วนประกอบหลัก 2 ส่วน คือ ส่วนฐาน และส่วนลวด โดยส่วนฐานต้องอยู่ด้านในของฟัน ในขณะที่ส่วนลวดจะอยู่ด้านนอกของฟัน
  • ดูว่ารีเทนเนอร์สำหรับใส่ด้านบนหรือล่าง รีเทนเนอร์ 1 ชุด จะมี 2 ชิ้น คือ ชิ้นสำหรับใส่ด้านบนและชิ้นสำหรับใส่ด้านล่าง หากหันโค้งตัว U ชี้ออกด้านนอกปาก จะทำให้สังเกตทรงของรีเทนเนอร์ได้ง่ายขึ้น
  • วางรีเทนเนอร์ลงตามแนวฟัน หากเลือกชิ้นรีเทนเนอร์ถูกและหันด้านถูกต้อง รีเทนเนอร์ควรพอดีกับสภาพฟัน จากนั้นค่อยๆ กดลงไปให้รีเทนเนอร์ล็อกเข้ากับสภาพฟันตั้งแต่ด้านในออกมาด้านนอก อาจได้ยินเสียงดัง คลิก!
  • ตรวจเช็กความเรียบร้อย ใช้กระจกช่วยในการดูว่ารีเทนเนอร์เข้าล็อกดีหรือไม่ จากนั้นใช้นิ้วกดด้านในของฟันว่ารีเทนเนอร์พอดีกับด้านในด้วยหรือไม่
  • หากใส่รีเทนเนอร์แล้วรู้สึกเจ็บหรือแน่นเกินไป ควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อหาทางแก้ไข เพราะรีเทนเนอร์ควรจะพอดีกับสภาพฟัน

วิธีถอดรีเทนเนอร์แบบลวด

  • การถอดรีเทนเนอร์ลวดให้เริ่มจากข้างๆ โดยขยับขึ้นสลับกันทั้งฝั่งซ้ายและขวาจนรีเทนเนอร์หลุดออกมาเอง เพราะหากดึงรีเทนเนอร์ขึ้นมาตรงๆ อาจทำให้รีเทนเนอร์บิดเบี้ยวไม่พอดีกับฟัน และต้องทำรีเทนเนอร์ใหม่

วิธีการใส่และถอดรีเทนเนอร์แบบใส

วิธีใส่รีเทนเนอร์ใส

  • ดูว่ารีเทนเนอร์สำหรับใส่ด้านบนหรือล่าง รีเทนเนอร์ใสทำมาจากพลาสติกใสแบบบางสำหรับสวมครอบเข้าไปตามแนวฟันได้เลย เมื่อหันด้านโค้งตัว U ออกด้านนอกปากจะเห็นส่วนที่เว้าสำหรับสวมครอบฟันด้านบนหรือด้านล่างได้ชัดเจน
  • สวมรีเทนเนอร์ตามแนวฟัน เริ่มจากวางให้รีเทนเนอร์อยู่บนแนวฟันพอดี จากนั้นค่อยๆ กดลงรีเทนเนอร์ใสลงไปให้เข้าล็อกกับฟันได้เลย
  • ตรวจสอบความเรียบร้อย หากเลือกชิ้นรีเทนเนอร์ใสได้ถูกต้อง รีเทนเนอร์ใสจะสวมเข้ากับแนวฟันได้พอดีทั้งด้านในและด้านนอก ไม่สามารถขยับไปมาได้

วิธีถอดรีเทนเนอร์ใส

  • การถอดรีเทนเนอร์ใสคล้ายกับการถอดรีเทนเนอร์ลวด ให้เริ่มจากการถอดด้านในแล้วค่อยๆ ขยับออกมาด้านนอก แต่อาจต้องทำด้วยความระมัดระวังเพราะรีเทนเนอร์ใสบอบบางกว่ารีเทนเนอร์ลวด

สำหรับใครที่อยากดูคลิปวิดีโอการสอนใส่และถอดรีเทนเนอร์แบบลวดและรีเทนเนอร์แบบใสโดยละเอียด HDmall.co.th ได้จัดทำคลิปไว้ให้แล้ว สามารถกดดูได้ ที่นี่

รีเทนเนอร์ คืออะไร? มีกี่แบบ? แบบลวด แบบใส ต่างกันอย่างไร? ใครควรใส่รีเทนเนอร์? ขั้นตอนการทำรีเทนเนอร์เป็นอย่างไร? หลังจัดฟันแล้วไม่ใส่รีเทนเนอร์ได้ไหม? ต้องใส่ตอนนอนไหม? ดูแลรีเทนเนอร์อย่างไร?

การดูแลรักษารีเทนเนอร์

หลังจากใส่รีเทนเนอร์แบบลวด หรือแบบใสแล้ว จะต้องทำความสะอาดทันที ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะจะทำให้เกิดการสะสมของคราบสิ่งสกปรก เชื้อรา และเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพฟันตามมาได้ โดยวิธีการทำความสะอาดรีเทนเนอร์ มีดังนี้

  • ล้างรีเทนเนอร์ด้วยน้ำสะอาด อุณหภูมิห้อง
  • ใช้แปรงสีฟันขนนุ่มขัดเบาๆ ด้วยยาสีฟัน
  • ในกรณีที่มีคราบหินปูนสะสม สามารถทำความสะอาดด้วยการแช่รีเทนเนอร์ในเม็ดฟู่ได้
  • หลีกเลี่ยงการล้างรีเทนเนอร์ด้วยน้ำร้อน เพราะอาจทำให้รีเทนเนอร์ผิดรูปได้
  • ทำความสะอาดกล่องรีเทนเนอร์ด้วยสบู่และเช็ดให้แห้งทุกครั้งก่อนเก็บรีเทนเนอร์

นอกจากนี้ ไม่ควรใส่รีเทนเนอร์ขณะรับประทานอาหาร เพราะจะรบกวนการเคี้ยว และทำให้รีเทนเนอร์เกิดการแตกหักได้

และถ้าหากใส่รีเทนเนอร์แล้วแน่น หรือเจ็บ รีเทนเนอร์ผิดรูป หรือแตกหัก ควรรีบนำไปให้ทันตแพทย์ดูว่าสามารถซ่อมแซมได้หรือไม่ หรือจำเป็นจะต้องทำอันใหม่ เพราะรีเทนเนอร์เป็นอุปกรณ์สำคัญที่คนจัดฟันจะต้องใส่อย่างต่อเนื่อง

สามารถใส่รีเทนเนอร์แฟชั่นแทนได้ไหม?

ไม่แนะนำให้ใส่รีเทนเนอร์แฟชั่น เนื่องจากการใส่รีเทนเนอร์ที่ไม่ได้ทำโดยทันตแพทย์ จะไม่มีการตรวจช่องปากก่อน อาจทำให้ใส่รีเทนเนอร์ทับปิดปัญหาฟัน เช่น ฟันผุ หินปูน แล้วทำให้อาการเหล่านี้ลุกลามโดยไม่ทันได้สังเกต

นอกจากนี้ผู้ที่ไม่ได้จัดฟัน อาจมีสภาพฟันที่ไม่เหมาะกับการใส่รีเทนเนอร์ เช่น มีฟันซ้อน ฟันเก หากใส่รีเทนเนอร์เข้าไปกดทับก็อาจทำให้ฟันหัก ฟันแตก หรือกดทับเหงือกจนทำให้เป็นแผลได้

ขั้นตอนการทำรีเทนเนอร์

การทำรีเทนเนอร์แบบใสและรีเทนเนอร์แบบลวด มีขั้นตอนที่เหมือนกัน ดังนี้

  • ตรวจสุขภาพฟันและช่องปากกับทันตแพทย์ หากมีฟันผุหรือมีคราบหินปูน จะต้องเคลียร์ช่องปากให้เรียบร้อยก่อน
  • พิมพ์ฟัน โดยใช้ผงอัลจิเนต หรือที่เรียกว่า “ผงพิมพ์ฟัน” ผสมกับน้ำ มีลักษณะเป็นครีมหนืดคล้ายยาสีฟัน ใส่ลงไปในถาดพิมพ์ฟัน แล้วนำไปใส่ฟัน โดยจะทำทีละด้าน โดยวัสดุจะใช้ระยะเวลาแข็งตัวประมาณ 1-3 นาที
  • นำพิมพ์ฟันที่ได้ไปทำรีเทนเนอร์ โดยทันตแพทย์สามารถทำรีเทนเนอร์แบบลวดเองได้ แต่ถ้าเป็นรีเทนเนอร์แบบใสจะต้องส่งทำที่ห้องปฏิบัติการณ์ ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์
  • รับรีเทนเนอร์ ในขั้นตอนนี้ทันตแพทย์จะให้ทดลองใส่รีเทนเนอร์ด้วย หากรีเทนเนอร์ใส่ได้พอดี ไม่หลวม ไม่แน่น ก็สามารถกลับบ้านได้

หลังจัดฟันแล้วไม่ใส่รีเทนเนอร์ได้ไหม?

ไม่ได้ เพราะการจัดฟันจะทำให้ฟันเคลื่อนไปยังตำแหน่งใหม่ที่ไม่ได้อยู่มาตั้งแต่เกิด กระดูกและเหงือกหุ้มฟันยังต้องใช้เวลาในการปรับสภาพเข้ากับตำแหน่งใหม่อยู่ หากไม่ใส่รีเทนเนอร์จะทำให้ฟันเคลื่อนกลับมาตำแหน่งเดิม ทำให้เกิดฟันล้มฟันเกได้

รีเทนเนอร์ขูดเหงือก ควรทำอย่างไร?

การใส่รีเทนเนอร์แบบลวดอาจทำให้เกิดอาการเจ็บฟันและเจ็บเหงือกได้ โดยอาการเจ็บฟันเกิดจากส่วนลวดไปกดทับฟัน มักหายได้เองภายใน 2-3 วัน ในส่วนของอาการเจ็บเหงือก อาจเกิดจากส่วนฐานกดทับเหงือกหรือแนบเหงือกมากเกินไป สามารถให้ทันตแพทย์แก้ไขดัดแปลงได้

รีเทนเนอร์หลวม เกิดจากอะไร?

รีเทนเนอร์หลวม หรือใส่ได้ไม่พอดี เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • ผลิตรีเทนเนอร์ขนาดไม่พอดีกับสภาพฟัน
  • ไม่ใส่รีเทนเนอร์อย่างต่อเนื่องจนทำให้ฟันเคลื่อนตัวจากตำแหน่งเดิมเล็กน้อย ทำให้รีเทนเนอร์ไม่พอดีกับสภาพฟัน
  • รีเทนเนอร์เกิดความเสียหายจนผิดรูป เช่น ทำหล่น หรือนั่งทับ

รีเทนเนอร์เสียหาย ควรทำอย่างไร?

ในกรณีที่เป็นรีเทนเนอร์แบบลวด สามารถนำไปให้ทันตแพทย์ดูว่าสามารถซ่อมแซมได้หรือไม่ ในขณะที่รีเทนเนอร์แบบใสจะต้องทำชิ้นใหม่ในทุกกรณี ไม่สามารถแก้ไขดัดแปลงได้

รีเทนเนอร์ต้องใส่ตอนนอนไหม?

ในช่วงที่เพิ่งจัดฟันเสร็จใหม่ๆ จะต้องใส่รีเทนเนอร์ 24 ชั่วโมง ยกเว้นช่วงที่รับประทานอาหาร และทำความสะอาดฟัน เพราะกระดูกและเหงือกยังอยู่ในช่วงการปรับตัว ดังนั้นการใส่รีเทนเนอร์จึงสามารถใส่ตอนนอนได้

ใส่รีเทนเนอร์แล้วพูดไม่ชัด ทำอย่างไรดี?

ในช่วงแรกที่ใส่รีเทนเนอร์จะมีน้ำลายมาก ทำให้พูดไม่ชัด แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป ผู้ใส่รีเทนเนอร์สามารถปรับตัวให้เข้ากับรีเทนเนอร์ได้แล้ว ก็จะค่อยๆ กลับมาพูดได้ชัดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่กังวลเรื่องการพูดไม่ชัด สามารถเลือกใส่รีเทนเนอร์แบบใสแทนรีเทนเนอร์แบบลวดได้ เพราะรีเทนเนอร์แบบใสจะส่งผลกระทบต่อการพูดน้อยกว่ารีเทนเนอร์แบบลวด

รีเทนเนอร์ อยู่ได้นานไหม?

รีเทนเนอร์แบบลวด มีอายุการใช้งานประมาณ 2-10 ปี ในขณะที่รีเทนเนอร์แบบใส อายุการใช้งานประมาณ 1-2 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการดูแลรีเทนเนอร์ของแต่ละบุคคลด้วย


เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจทำรีเทนเนอร์

Scroll to Top