เมื่อเกิดฟันคุดขึ้นในช่องปาก หลายคนมักเผชิญกับอาการปวด หรือเจ็บเหงือกอย่างรุนแรง เนื่องจากฟันคุดเป็นฟันที่ไม่ได้ขึ้นตามแถวฟันปกติ แต่ไปเบียดฟันซี่ข้างเคียง หรือฟันคุดบางซี่อาจไปฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกร ทำให้ยิ่งมีอาการเจ็บปวดเหงือกมากกว่าเดิม บางครั้งถึงขั้นปวดจนนอนไม่หลับ
วิธีบรรเทาอาการปวดฟันคุดแบ่งออกได้หลายวิธี โดยวิธีแรกที่หลายคนมักเลือกปฏิบัติเมื่อมีอาการปวดฟันคุดก็คือ การรับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการชั่วคราวก่อน
สารบัญ
ปวดฟันคุด เหงือกบวม ควรกินยาอะไร
ยาแก้ปวดฟันคุดที่นิยมรับประทานกันเมื่อเกิดอาการปวด เพื่อบรรเทาอาการชั่วคราว
1. ยาไอบูโฟรเฟน
ยาไอบูโฟรเฟน (Ibuprofen) เป็นยาในกลุ่มยาแก้ปวดที่ไม่ใช่สเตรียรอยด์ หรือยา NSAIDs ซึ่งจะออกฤทธิ์บรรเทาอาการอักเสบ และลดอาการปวด โดยสองอาการนี้เป็นอาการที่เกิดขึ้นบ่อยในผู้ที่มีฟันคุดขึ้น
2. ยาแอสไพริน
ยาแอสไพริน (Aspirin) เป็นอีกชนิดของยาลดอาการอักเสบ รวมถึงอาการปวด บวม แดง ลดไข้ได้ดี
อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มผู้ป่วย หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่างที่มีอาการแพ้ยาแอสไพริน ผู้ที่ใช้ยานี้จึงควรใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์ และควรรับประทานหลังอาหาร เพราะยาชนิดนี้มีผลข้างเคียงทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหาร
3. ยาพาราเซตามอล
มีคุณสมบัติช่วยต้านการอักเสบ ลดอาการปวดได้ มีผลน้อยกว่ายาแก้ปวดชนิดอื่น แต่ผลข้างเคียงน้อยกว่าชนิดอื่น
ข้อควรระวังในการทานยาแก้ปวดฟันคุด
- การทานยาแก้ปวดฟันคุด มีผลในการบรรเทาอาการก็จริง แต่ตัวยาอาจทีผลแรง ไม่ควรทานต่อเนื่องหลายวัน และอาจไม่เหมาะสมกับผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง
- ก่อนใช้ยาแก้ปวดฟันคุด ควรปรึกษาทันตแพทย์ก่อนใช้ หรือสอบถามเภสัชกรประจำร้านขายยาใกล้บ้าน เพื่อขอรับคำแนะนำในการทานต่อเนื่องในระยะเวลาที่เหมาะสม และไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
วิธีอื่นๆ สำหรับแก้ปวดฟันคุด
นอกจากรับประทานยาแก้ปวด ยังมีวิธีบรรเทาอาการปวดฟันคุดอื่นๆ อีกที่สามารถทำได้ไม่ยาก เช่น
- งดดื่มเครื่องดื่มร้อนจัด หรือเย็นจัด
- งดรับประทานอาหารร้อนจัด หรือเย็นจัด รวมถึงอาการที่มีรสหวานมาก เพราะจะทำให้เสียวฟันได้
- งดใช้ไหมขัดฟันบริเวณฟันคุดชั่วคราว และแปรงฟันเบาๆ เพื่อลดการกระทบกระเทือน และสัมผัสฟันกับเหงือกบริเวณดังกล่าว จนเกิดอาการปวด หรือเจ็บกว่าเดิม
- กลั้วปาก หรือบ้วนปากด้วยน้ำเกลือบ่อยๆ เพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่อาจนำไปสู่อาการเหงือกอักเสบ ซึ่งจะยิ่งทำให้อาการปวดฟันคุดรุนแรงมากขึ้น
- ประคบเย็นบริเวณที่ปวดฟันคุด เพื่อให้หลอดเลือดหดตัว และทำให้อาการปวดให้ทุเลาลง โดยควรประคบอย่างน้อย 15 นาที
- นอนหมอนสูงเพื่อลดการกดทับและแรงดันของฟันคุดที่กำลังดันเหงือกอยู่
- ทาเจลลดอาการปวด (Numbing gel) หรือเจลเบนโซเคน (Benzocaine Gel) ซึ่งเป็นเจลสำหรับรักษาอาการปวดฟันโดยเฉพาะ แต่ควรใช้ภายใต้คำแนะนำของทันตแพทย์ว่า สามารถทาลงไปที่บริเวณเหงือกใกล้ฟันคุดโดยตรงได้หรือไม่
- ทาเจลว่านหางจระเข้ ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยลดการอักเสบ และลดการเสียดสีของเหงือก และฟันบริเวณดังกล่าว นอกจากนี้เจลว่านหางจระเข้บางยี่ห้อยังมีสารเพิ่มความเย็น ทำให้รู้สึกปวดเหงือกน้อยลงด้วย
- ทาน้ำมันกานพลู (Clove oil) บริเวณเหงือกที่ปวดฟันคุด เพราะน้ำมันกานพลูมีส่วนผสมของสารยูเจนอล (Eugenol) ซึ่งเป็นสารต้านเชื้อแบคทีเรีย และกานพลูยังเป็นสมุนไพรที่ออกฤทธิ์เป็นยาชาได้ ทำให้บรรเทาอาการปวดได้
- ดื่มน้ำให้มากๆ เพื่อให้ภายในช่องปากชุ่มชื้น มีน้ำหล่อลื่น ลดอาการเหงือกแห้งจนทำให้เสียดสีกันจนเกิดอาการเจ็บมากกว่าเดิม
หากไปพบทันตแพทย์โดยมากแล้วแพทย์มักแนะนำให้ผ่า หรือถอนฟันคุดออก เพื่อแก้ปัญหาปวดฟันคุดอย่างยั่งยืน และป้องกันไม่ให้ฟันข้างเคียง ขากรรไกร และเหงือกบริเวณดังกล่าวเสียหายหนักกว่าเดิม
ฟันคุดเป็นฟันที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน และมักจะซ่อนตัวอยู่ใต้เหงือกโดยที่คุณไม่รู้ตัวว่า มันกำลังเบียดรากฟัน หรือกำลังดันเหงือกขึ้นมาในลักษณะที่ผิดปกติ เราทุกคนจึงควรเข้ารับการตรวจฟัน ทุกๆ 6 เดือน เพื่อที่หากรู้ว่า มีฟันคุดขึ้น จะได้ปรึกษากับทันตแพทย์เพื่อจัดการกับฟันคุดต่อไป