เมื่อพูดถึง “การแปลงเพศ” หลายคนคงจะนึกถึงการผ่าตัดศัลยกรรมรูปแบบหนึ่งที่สามารถสร้างอวัยวะเพศและรูปลักษณ์แสดงเพศขึ้นได้อย่างน่าทึ่ง ทั้งการแปลงเพศจากผู้ชายไปเป็นผู้หญิง และการแปลงเพศจากผู้หญิงไปเป็นผู้ชาย
อย่างไรก็ตาม แท้จริงแล้วการแปลงเพศไม่ใช่สิ่งที่ใครๆ ก็สามารถทำได้ เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของชีวิต และหากภายหลังคิดเปลี่ยนใจก็ยากที่จะเปลี่ยนทุกอย่างให้กลับคืนได้ดังเดิม
ดังนั้นการแปลงเพศจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพิจารณาปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน ทั้งความต้องการของคนๆ นั้น และการพิจารณาตามความเหมาะสมของจิตแพทย์ และศัลยแพทย์
สารบัญ
การแปลงเพศคืออะไร?
ในทางการแพทย์จัดให้ “การแปลงเพศ” เป็นกระบวนการรักษาผู้ที่ไม่มีความสุขกับสรีระทางเพศแต่กำเนิดอย่างรุนแรง หรือ ที่เรียกว่า “Gender dysphoria (GD)”
คนกลุ่มนี้จะเกิดมาพร้อมกับความรู้สึกว่า เหมือนถูกกักขังให้อยู่ในร่างกายที่ไม่ตรงตามเพศที่แท้จริงของตนเอง เช่น เป็นผู้ชายแต่กลับต้องมาอยู่ในร่างผู้หญิง เป็นผู้หญิงแต่กลับต้องมาอยู่ในร่างผู้ชาย
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ทำให้พวกเขาต้องใช้ชีวิตด้วยความเครียด ความอึดอัดใจ จนทุกข์ทรมาน บ้างก็พยายามคิดหาทางแก้ปัญหาเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุข
ใครที่เข้าข่ายแปลงเพศได้บ้าง?
ดอกเตอร์แฮรี่ เบนจามิน (Harry Benjamin) แพทย์ชาวเยอรมันซึ่งได้รับยกย่องเป็น “บิดาแห่งการแปลงเพศ” ได้กำหนดลักษณะสำคัญของผู้ที่ไม่มีความสุขกับสรีระทางเพศแต่กำเนิด หรือ Gender dysphoria (GD) ไว้ดังนี้
- ต้องการเป็นเพศตรงกันข้ามไปตลอดชีวิต เช่น เกิดมาในร่างผู้หญิง แต่อยากเป็นผู้ชาย
- มีบุคลิกลักษณะภายนอกที่ตรงกันข้ามกับเพศทางพันธุกรรม และชอบแต่งตัวเป็นเพศตรงกันข้าม เช่น เกิดมาในร่างผู้ชาย แต่มีลักษณะนุ่มนวลคล้ายผู้หญิง และชอบแต่งตัวเป็นเพศหญิง
- มีความรู้สึกเกลียดชังอวัยวะเพศ และรูปลักษณ์แสดงเพศของตัวเอง เริ่มจากการพยายามปกปิดอวัยวะเหล่านั้นด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ใช้ผ้ารัด ไปจนถึงการพยายามกำจัดอวัยวะเหล่านั้นออกไปจากร่างกาย
- ไม่มีความรู้สึกชอบเพศเดียวกัน
หากมีลักษณะเข้าข่ายดังกล่าว หรือไม่แน่ใจว่า เข้าข่ายจริงหรือไม่ หรือมีความเครียดเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเข้ารับคำปรึกษาจากนักจิตวิทยา หรือปรึกษาสถานพยาบาลที่มีบริการเกี่ยวการแปลงเพศ ก่อนจะตัดสินใจทำสิ่งใดลงไป
เนื่องจากหากตัดสินใจผิดพลาด บางรายอาจไม่มีโอกาสได้แก้ตัวเลย เช่น ข่าวผู้ชายที่ตัดสินใจตัดอวัยวะเพศตนเองทิ้งเพราะต้องการเป็นผู้หญิง แต่กลับเสียเลือดมากจนตกเลือดและเสียชีวิต
ดังนั้นเพื่อให้ได้ผลลัพธ์การแปลงเพศที่ตรงใจ เหมาะสม และปลอดภัยที่สุด จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเข้ากระบวนการรักษาเท่านั้น
การแปลงเพศ มีเกณฑ์การรักษาอย่างไร?
ในทางการแพทย์ถือว่า การแปลงเพศจัดอยู่ในกระบวนการรักษารูปแบบหนึ่งซึ่งมีความละเอียดอ่อนและซับซ้อน หากสนใจสนแปลงเพศจริงๆ ควรเริ่มต้นจากการพบจิตแพทย์เพื่อรับการตรวจประเมินสภาพจิตใจเสียก่อน
จิตแพทย์จะทำการตรวจประเมินและวิเคราะห์ระดับความรุนแรงของอาการ GD เพื่อแนะวิธีรักษาตามอาการ เริ่มตั้งแต่
- อาการระดับต้น รักษาด้วยการลองปรับเปลี่ยนการแต่งกายตามเพศที่ต้องการ ถ้ารับได้ มีความสุขกับชีวิตก็ใช้วิธีนี้ต่อไป
- อาการระดับปานกลาง ไม่อยากเห็นอวัยวะแสดงเพศ อวัยวะเพศของตนเอง รวมทั้งไม่ต้องการให้คนอื่นเห็น รักษาด้วยการให้ปกปิดอวัยวะเกหล่านั้นจากสายตาผู้อื่นอย่างมิดชิดจนเสมือนว่า ไม่มีอวัยวะนั้นๆ อยู่ เช่น การใช้ผ้ารัดหน้าอกให้แบนราบ ถ้ารับได้ มีความสุขก็ใช้วิธีนี้ในการรักษาต่อไป
- อาการระดับรุนแรง อยากมีรูปร่างและมีอวัยวะแสดงเพศตามเพศที่ต้องการ จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการผ่าตัดแปลงเพศ
- อาการระดับรุนแรงมาก อยากมีอวัยวะเพศตามเพศที่ต้องการ หากอยู่ในขั้นนี้จะเรียกว่า “การข้ามเพศ (Transsexual)” จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการผ่าตัดแปลงเพศ
จะเห็นได้ว่า การรักษาในแต่ละขั้นตอนจะสอดคล้องกับความรุนแรงของอาการ ความต้องการของผู้เข้ารับคำปรึกษา และเมื่อตัดสินใจใช้วิธีใดแล้วก็ต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป
กระบวนการแปลงเพศมีกี่วิธี?
เมื่อจิตแพทย์วิเคราะห์แล้วว่า ผู้รับคำปรึกษามีอาการไม่พึงพอใจในเพศกำเนิดอย่างรุนแรงจริงและต้องการแปลงเพศจริงๆ จะเริ่มให้เข้าสู่กระบวนการตามวิธีต่อไปนี้
วิธีที่ 1 ลองใช้ชีวิตแบบเพศตรงกันข้ามในแบบที่ต้องการ
เริ่มจากการปรับเปลี่ยนลักษณะภายนอก เริ่มจากเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ทรงผม กิริยาท่าทาง การพูดจา วิธีนี้เพื่อยืนยันการมีความสุขในภาวะนี้ และแยกจากความผิดปกติอื่นที่ใกล้เคียงกัน แนะนำให้ทำอย่างน้อย 1 ปี
วิธีที่ 2 การรักษาด้วยฮอร์โมนเพศ
ในบางรายหากการใช้ชีวิตที่ผ่านมาเป็นการใช้ชีวิตแบบเพศตรงข้ามแล้ว อาจเริ่มรักษาด้วยฮอร์โมนเพศตรงข้ามได้ วิธีนี้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสรีระ ให้คล้ายคลึงกับเพศตรงข้าม
ทั้งนี้ต้องได้รับคำปรึกษาจากสูตินรีแพทย์เพื่อความปลอดภัย ไม่ควรหาซื้อฮอร์โมนเพศมาใช้เองโดยเด็ดขาด แนะนำให้ทำอย่างน้อย 1 ปี
วิธีที่ 3 การผ่าตัดแปลงเพศ
เป็นขั้นตอนต่อจากการรับฮอร์โมนเพศตรงข้ามมา 1 ปี มีการเปลี่ยนแปลงสรีระไปใกล้เคียงเพศตรงข้าม เช่น มีหนวดเครา ขนยาวขึ้น ผิวหนังหยาบขึ้น กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น แต่ผู้เข้ารับคำปรึกษายังคงต้องการเปลี่ยนแปลงมากไปกว่านั้น คือ ต้องการข้ามเพศ หรือผ่าตัดแปลงเพศ
การผ่าตัดแปลงเพศ มี 2 แบบ คือ จากชายเป็นหญิงและจากหญิงเป็นชาย ซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างกันไป
- การผ่าตัดแปลงเพศจากชายเป็นหญิง ประกอบด้วยการผ่าตัดเสริมหน้าอก การผ่าตัดสร้างอวัยวะเพศหญิง
- การผ่าตัดแปลงเพศจากหญิงเป็นชาย ประกอบด้วยการผ่าตัดเต้านมออก การเย็บปิดช่องคลอด การผ่าตัดสร้างอวัยวะเพศชาย
ก่อนเริ่มการผ่าตัดแปลงเพศ ผู้เข้ารับคำปรึกษาต้องได้รับปรึกษาจิตแพทย์ สูตินรีแพทย์ และศัลยแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อรับฟังรายละเอียด ขั้นตอนต่างๆ ในการผ่าตัดแต่ละแบบ ข้อดี ข้อเสีย หรือความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น การดูแลหลังการผ่าตัด การใช้ชีวิตต่อจากนั้น
ทั้งนี้เพื่อประกอบการตัดสินใจ เพราะไม่จำเป็นว่าทุกคนจะต้องเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศ สร้างอวัยวะเพศเช่นเดียวกันหมดขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้เข้ารับคำปรึกษา ความเหมาะสม และความปลอดภัย
จะเห็นได้ว่า การแปลงเพศไม่ได้หมายความเพียงแค่การผ่าตัดแปลงเพศเท่านั้น แต่ยังมีวิธีแปลงเพศอื่นๆ อีกหลายวิธี ส่วนการที่แต่ละคนจะเหมาะสมกับวิธีใดนั้น จำเป็นอย่างยิ่งต้องเข้ารับคำปรึกษาจากจิตแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญก่อน