วัคซีน dtp คืออะไร? ป้องกันโรคอะไร? วัคซีน dtp ผลข้างเคียง เป็นยังไง? ต่างกับ dt ยังไง? อ่านข้อมูลครบถ้วนได้ที่นี่ HDmall
สารบัญ
วัคซีน DTP คืออะไร ป้องกันโรคอะไรบ้าง?
วัคซีน DTP นั้นมาจากคำว่า Diphtheria, Tetanus และ Pertussis ใช้สำหรับป้องกันโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคคอตีบ บาดทะยัก และไอกรนน
- โรคคอตีบ (Diphtheria) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ โครินแวคทีเรียม ดิฟทีเรีย (Corynevacterium diphtheriae) เป็นเชื้อที่ทำให้เกิดความผิดปกติในระบบทางเดินหายใจ เช่น หายใจลำบาก กลืนลำบาก รวมถึงส่งผลต่ออวัยวะภายในหลายส่วน เช่น ไต หัวใจ กรณีรุนแรงอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ โรคคอตีบสามารถแพร่กระจายได้ผ่านการไอ จาม
- โรคบาดทะยัก (Telanus) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย คลอสติเดียม เตตานี่ (Clostridium tetani) เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดพิษต่อระบบประสาท เช่น ทำให้กล้ามเนื้อกระตุก กระทบการหายใจ และการทำงานของหัวใจผิดปกติ หากไม่ได้รับการรักษาอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้เช่นกัน
- โรคไอกรน (Pertussis) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย บอร์เดเทลลา เพอร์ทัสซิส (Bordetella pertussis) สามารถติดต่อได้ และมีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อติดในเด็กทารก ผู้ที่ติดเชื้อจะไอเยอะจนไม่สามารถควบคุมได้ กินอาหารลำบาก หายใจลำบาก และอาจนำไปสู่อาการทรกซ้อนต่างๆ เช่น ปอดอักเสบ ชัก หรือเสียชีวิต
วัคซีน DTP, DT, Td และ Tdap ต่างกันอย่างไร?
หลายคนอาจทราบว่าวัคซีน DTP ต้องฉีดในเด็กเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีวัคซีนที่แตกต่างกันหลายชนิด เพื่อให้ครอบคลุมคนจำนวนมากที่สุด ดังนี้
1. วัคซีน DTP
วัคซีน DTP เป็นวัคซีนคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรค สามารถแบ่งย่อยได้ 2 ชนิดหลักๆ คือ
- DTwP เป็นวัคซีนชนิดทั้งเซลล์ ประกอบด้วยพิษของเชื้อคอตีบ บาดทะยัก และเชื้อตายของโรคไอกรน
- DTaP เป็นวัคซีนชนิดไร้เซลล์ มีเชื้อของคอตีบและบาดทะยักเช่นเดียวกับ DTwP แต่ใช้ส่วนประกอบเพียงบางส่วนของเชื้อไอกรนเท่านั้น มีผลข้างเคียงน้อยกว่า DTwP และเป็นวัคซีนที่ให้บริการในระบบเอกชน
อย่างไรก็ตาม วัคซีนทั้ง 2 ชนิดนี้สามารถป้องกันคอตีบ บาดทะยัก และไอกรนได้เช่นเดียวกัน
2. วัคซีน Tdap
วัคซีน Tdap เป็นวัคซีนคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน เช่นเดียวกับ DTP แต่ลดปริมาณเชื้อคอตีบและไอกรนลง สามารถจำได้จากตัวอักษร d (Diphtheria) และ p (Pertussis) ที่เป็นตัวพิมพ์เล็กนั่นเอง
จุดประสงค์ในการลดปริมาณเชื้อลงก็เพื่อให้เหมาะสำหรับฉีดกระตุ้นให้เด็กอายุ 7 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่ เพราะผู้ใหญ่จะไวต่อวัคซีนคอตีบและไอกรนมากกว่าเด็ก หากไม่ลดปริมาณเชื้อลงอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงมากขึ้น
ผู้ที่เหมาะกับวัคซีน Tdap มีดังนี้
- คนที่อายุ 7 ปีขึ้นไปที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีน Tdap มาก่อน
- วัยรุ่นที่อายุ 11-18 ปี ทุกคนควรได้รับ Tdap เพราะภูมิคุ้มกันจาก DTP ที่ได้รับตอนเด็กอาจหมดลงในช่วงนี้
- ผู้หญิงที่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ 27-38 สัปดาห์ เพื่อให้ภูมิคุ้มกันส่งต่อไปยังทารกเพียงพอก่อนที่จะฉีดตอนอายุ 2 เดือน
- ผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ชิดกับเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่มีคำแนะนำให้ฉีด Tdap มากกว่า 1 ครั้ง จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนฉีดวัคซีนชนิดซ้ำ
3. วัคซีน DT
วัคซีน DT ใช้สำหรับป้องกันโรคคอตีบและบาดทะยัก แต่ไม่ได้ป้องกันโรคไอกรน แพทย์จะให้วัคซีนชนิดนี้กับเด็กที่ไม่สามารถ หรือไม่ควรรับวัคซีนไอกรน เช่น มีอาการแพ้วัคซีนไอกรน โดยให้ทั้งหมด 5 เข็มในช่วงระหว่างอายุ 6 สัปดาห์ ถึง 6 ปี
4. วัคซีน Td
วัคซีน Td ใช้สำหรับป้องกันโรคคอตีบและบาดทะยัก แต่ไม่ได้ป้องกันโรคไอกรน แพทย์อาจให้วัคซีนชนิดนี้เพื่อ “กระตุ้น” ภูมิคุ้มกันในผู้ที่อายุ 7 ปีขึ้นไปในทุกๆ 10 ปี
วัคซีน DTP ฉีดเมื่อไร?
วัคซีน DTP ให้ทั้งหมด 5 เข็ม ในเด็กควรรับวัคซีนเข็มแรกเมื่ออายุ 2 เดือน จากนั้นรับอีก 4 เข็มเพื่อกระตุ้น รายละเอียดอายุที่รับวัคซีนกระตุ้น มีดังนี้
- เข็มที่ 1 ตอนอายุ 2 เดือน
- เข็มที่ 2 ตอนอายุ 4 เดือน
- เข็มที่ 3 ตอนอายุ 6 เดือน
- เข็มที่ 4 ตอนอายุระหว่าง 15-18 เดือน
- เข็มที่ 5 ตอนอายุระหว่าง 4-6 ปี
ผลข้างเคียงของวัคซีน DTP
แม้วัคซีน DTP จะมีความปลอดภัยสูง แต่ก็ผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์เล็กน้อย ดังนี้
- รอยแดง หรือบวมบริเวณที่ฉีด
- อาจเกิดความระคายเคือง
- อาจมีไข้
- อาจรู้สึกอ่อนเพลีย
- อาจรู้สึกเบื่ออาหาร
หากหลังจากฉีดวัคซีนแล้วมีไข้ หรืออาการปวด สามารถใช้ อะเซตามีโนเฟน (Acetaminophen) หรือ ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ได้ แต่หากเป็นเด็กควรปรึกษาแพทย์ถึงขนาดยาที่เหมาะสมก่อน
หากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบแจ้งกับแพทย์ทันที
- มีไข้สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส
- เด็กไม่หยุดร้องไห้นานเกินกว่า 3 ชั่วโมง
- มีอาการชัก
- มีอาการแพ้ เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก ใบหน้าบวม
นอกจากนี้ยังสามารถประคบอุ่นด้วยผ้าชุบน้ำบริเวณที่ฉีดยาเพื่อลดความรุนแรง
ข้อควรระวังในการรับวัคซีน DTaP
แม้วัคซีน DTaP จะปลอดภัยกับเด็ก แต่ในบางคนที่มีอาการเฉพาะ อาจต้องปรึกษาแพทย์ก่อน ดังนี้
- เด็กที่เคยมีประวัติผลข้างเคียงรุนแรงหลังฉีดวัคซีน DTP ครั้งก่อน เช่น ชัก ปวดหรือบวมรุนแรง
- เด็กที่มีอาการเกี่ยวกับระบบประสาท เช่น อาการชัก
- เด็กที่มีกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร (Guillain-Barré syndrome) หรืออาการอักเสบของปลอกหุ้มเส้นประสาทเฉียบพลัน
- แม้สตรีมีครรภ์จะควรได้รับวัคซีนในช่วงสัปดาห์ที่ 27-36 ของการตั้งครรภ์ เพราะทารกจะได้รับวัคซีนเข็มแรกตอนอายุ 2 เดือน ดังนั้นจึงอาจมีความเสี่ยงที่จะรับเชื้อในระยะก่อน 2 เดือนแรก แต่อย่างไรก็ตาม การให้วัคซีนในช่วงตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ (Tdap)
สำหรับผู้ที่เข้ากับเงื่อนไขดังกล่าว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนฉีดวัคซีน DTaP แพทย์อาจพิจารณาให้วัคซีนทางเลือก เช่น วัคซีนบาดทะยักและคอตีบ (DT Vaccine)
แต่หากมีอาการของหวัดเล็กน้อย ก็ยังคงสามารถรับวัคซีนได้ เว้นแต่จะมีอาการป่วยหนัก อาจต้องรักษาอาการป่วยให้หายก่อนรับวัคซีน
โดยสรุปแล้ว ทุกคนควรได้รับวัคซีนป้องกันคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน ในวัยเด็กตั้งแต่ยังอายุไม่เกิน 6 ขวบ และฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี
ส่วนผู้ใหญ่ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีน ก็ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนเช่นกัน เพราะปัจจุบันมีวัคซีนหลายประเภทที่ปรับให้เหมาะสมกับวัยผู้ใหญ่มากขึ้น