การคุมกำเนิดเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนครอบครัว ซึ่งมีหลากหลายวิธีทั้งแบบชั่วคราวและแบบถาวร โดยการเลือกวิธีการคุมกำเนิดขึ้นกับความต้องการและความเหมาะสม ตลอดจนปัจจัยต่างๆ ซึ่งหนึ่งในวิธีที่ปลอดภัยและได้ผลดีที่สุดคือ การทำหมันชาย เพื่อให้เข้าใจการทำหมันชายดียิ่งขึ้น HDmall.co.th จึงรวบรวมข้อมูลอย่างละเอียดเกี่ยวกับการทำหมันชายมาฝากกัน
สารบัญ
ทำหมันชายคืออะไร?
การทำหมันชาย (Vasectomy) เป็นวิธีคุมกำเนิดแบบถาวรด้วยการตัดท่อนำอสุจิเพื่อไม่ให้มีการลำเลียงอสุจิจากอัณฑะไปยังกระเปาะพักเชื้ออสุจิด้านหลังต่อมลูกหมาก ทำให้น้ำอสุจิที่หลั่งออกมาไม่มีตัวอสุจิเหลืออยู่จึงไม่ทำให้เกิดการปฏิสนธิและการตั้งครรภ์
การทำหมันชายเป็นการคุมกำเนิดแบบถาวร เหมาะสำหรับผู้ที่คิดว่ามีบุตรเพียงพอแล้ว หรือมีความจำเป็นด้วยสาเหตุอื่น เช่น ป่วยเป็นโรคที่ส่งผลต่อทารกในครรภ์ เป็นต้น
ข้อดีของการทำหมันชาย
- ทำได้ง่าย ปลอดภัย ใช้เวลาไม่นาน
- เจ็บน้อย
- ไม่มีข้อห้ามว่าเป็นโรคอะไรห้ามทำหมัน ยกเว้นโรคผิวหนังบริเวณอัณฑะ
- ไม่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล ไม่ต้องพักฟื้น
- สามารถประกอบกิจกรรมหรือทำงานได้ตามปกติ เพียงแต่ระวังไม่ให้แผลกระทบกระเทือนหรือสกปรก
- มีประสิทธิภาพสูง ลดความกังวลใจในการคุมกำเนิด
- ประสิทธิภาพในคุมกำเนิดสูงกว่าการทำหมันหญิง
- ช่วยลดภาระและความเสี่ยงให้กับฝ่ายหญิง
- ค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นๆ
- ความเสี่ยงและผลข้างเคียงน้อย
- สมรรถภาพทางเพศ ความต้องการทางเพศ การแข็งตัวของอวัยวะเพศและการหลั่งน้ำอสุจิเป็นปกติเหมือนก่อนผ่าตัดทำหมัน
- ไม่ทำให้ร่างกายทรุดโทรมหรือแก่ก่อนวัย
- เป็นการทำหมันแบบถาวร
ข้อเสียของทำหมันชาย
- หลังผ่าตัดอาจพบอาการปวด บวม มีเลือดออก อาจมีลิ่มเลือดคั่งบริเวณถุงอัณฑะหรืออาจมีการติดเชื้อบริเวณแผลผ่าตัด
- ไม่เป็นหมันทันทีหลังผ่าตัด ต้องใช้เวลาประมาณ 3 เดือน โดยแพทย์จะนัดตรวจน้ำเชื้อว่าพบตัวอสุจิหรือไม่ เพื่อยืนยันการเป็นหมัน
การเตรียมตัวก่อนทำหมันชาย
ก่อนรับการผ่าตัดทำหมันชาย จะต้องเข้าพบแพทย์เพื่อรับทราบข้อมูล รายละเอียดการทำหมันทั้งสามี และภรรยา แพทย์จะสอบถามเพื่อให้มั่นใจว่าผู้รับการทำหมันไม่ต้องการมีบุตรอีกแล้วจริงๆ เพราะการทำหมันเป็นการคุมกำเนิดแบบถาวร หากตกลงแล้วว่าจะทำหมันจริงๆ ก็อาจมีเตรียมตัวก่อนรับการผ่าตัด ดังนี้
- แพทย์ตรวจร่างกาย ซักประวัติก่อนทำการผ่าตัด
- ในกรณีของผู้ที่กำลังรักษาอาการเจ็บป่วยด้วยการรับประทานยาที่เกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด แพทย์อาจพิจารณาให้งดยาก่อนการผ่าตัด
- ก่อนเข้ารับการผ่าตัดต้องตัดขนบริเวณอัณฑะให้สั้นที่สุด ไม่ควรโกนเพราะอาจเกิดแผลได้
- อาบน้ำสระผมโดยเฉพาะบริเวณขาหนีบและอวัยวะเพศ และงดทาแป้ง
- สวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด หลวมสบายตัวในวันที่เข้ารับการทำหมัน
ขั้นตอนการทำหมันชาย
การทำหมันชายเป็นการผ่าตัดประเภทหนึ่งที่ทำได้ง่าย ใช้เวลาในการผ่าตัดน้อย และปลอดภัยกว่าการทำหมันหญิง โดยขั้นตอนการผ่าตัดทำหมันชายในปัจจุบันจะแบ่งออกเป็น 2 วิธีหลักๆ ดังนี้
ขั้นตอนการทำหมันชายแบบใช้มีดกรีดเปิดผิวหนัง
- ทำความสะอาดและเตรียมบริเวณหนังหุ้มอัณฑะสำหรับการผ่าตัด
- ฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณท่อนำอสุจิซึ่งอยู่เหนืออัณฑะเล็กน้อย
- เมื่อยาชาออกฤทธิ์แพทย์จะใช้มีดกรีดบริเวณถุงอัณฑะเหนือท่อนำอสุจิ 1-2 แผล ขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร
- เมื่อพบท่อนำอสุจิแล้วแพทย์ทำการตัดท่อนำอสุจิและผูกที่ปลายทั้งสองที่ถูกตัดขาดจากกัน แล้วปล่อยให้ท่อนำอสุจิกลับลงไปใต้ผิวหนังเหมือนเดิม
- เย็บปิดผิวหนังที่กรีดด้วยไหมละลาย
ขั้นตอนการทำหมันชายแบบใช้เครื่องมือเจาะบริเวณผิวหนัง
การทำหมันโดยใช้เครื่องมือเจาะอาจเรียกสั้นๆ อีกอย่างว่า “หมันเจาะ” ถือเป็นวิธีที่ใช้กันโดยทั่วไป มีขั้ตอนหลักๆ ดังนี้
- ทำความสะอาดและเตรียมบริเวณหนังหุ้มอัณฑะสำหรับการผ่าตัด
- ฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณท่อนำอสุจิซึ่งอยู่เหนืออัณฑะเล็กน้อย
- เครื่องมือปลายแหลมเจาะรูเล็กๆ บริเวณผิวหนังอัณฑะขนาด 0.5 – 1 ซม.เพื่อหาท่อนำอสุจิ แล้วเกี่ยวออกมาโดยใช้เครื่องมือที่มีลักษณะเป็นห่วงตรงปลายสอดเข้าไปเกี่ยวท่อนำอสุจิออกมา
- แพทย์ทำการตัดท่อนำอสุจิและผูกที่ปลายทั้งสองที่ถูกตัดจากกัน แล้วปล่อยให้ท่อนำอสุจิกลับลงไปใต้ผิวหนังเหมือนเดิม
- เนื่องจากแผลมีขนาดเล็ก จึงไม่จำเป็นต้องเย็บปิดแผล ใช้เพียงพลาสเตอร์ยาปิดแผลเท่านั้น
การดูแลตัวเองหลังทำหมันชาย
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- หากมีอาการปวดบวม สามารถรับประทานยาแก้ปวดและประคบเย็นบริเวณแผลได้
- หลังการผ่าตัดภายใน 24 ชั่วโมงสามารถทำงานเบาๆ ได้
- งดออกกำลังกายหรือยกของหนักหนักเป็นเวลา 3-4 วัน
- ห้ามแผลผ่าตัดถูกน้ำเป็นเวลาอย่างน้อย 3 วัน
- งดมีเพศสัมพันธ์ 7 วันแรกหลังการผ่าตัด เพราะหลังการทำหมันในช่วงนี้อาจมีอสุจิค้างอยู่ในท่อน้ำเชื้อโดยในช่วงในช่วง 2-3 เดือนหลังการผ่าตัดการมีเพศสัมพันธ์ต้องคุมกำเนิด ซึ่งแพทย์จะนัดหมายเพื่อตรวจดูน้ำเชื้ออสุจิอีกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีตัวแล้ว
- ระหว่างที่แพทย์ยังไม่ตรวจดูน้ำเชื้ออสุจิ ควรใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วย เช่น ถุงยางอนามัย หรือจนกว่าได้รับการตรวจน้ำเชื้ออสุจิยืนยันว่าไม่พบตัวอสุจิ
ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นของการทำหมันชาย
แม้การทำหมันชายจะมีความปลอดภัยค่อนข้างมาก แต่ก็เช่นเดียวกับการผ่าตัดทุกประเภทที่อาจมีโอกาสเกิดความเสี่ยงต่างๆ ขึ้นได้ ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการทำหมันชาย
- อาจมีลิ่มเลือดคั่งในบริเวณถุงอัณฑะ ซึ่งพบได้น้อยมากโดยพบเพียง 1% ของผู้รับการทำหมันชาย โดยมีสาเหตุจากการช้ำที่หลอดเลือดรอบๆ ท่อนำอสุจิโดยหากลิ่มเลือดคั่งมีขนาดเล็กจะหายเองภายในระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ แต่หากมีขนาดใหญ่และมีอาการปวดมากควรรีบพบแพทย์
- อาจพบอาการแผลผ่าตัดติดเชื้อ ซึ่งพบได้น้อยมาก มักมีอาการปวด บวม และแดงบริเวณอัณฑะ หรือมีหนองไหลจากแผล หากเกิดอาการดังกล่าว ควรรีบพบแพทย์ด่วน
- ปวดหน่วงๆ แบบเรื้อรังที่บริเวณอัณฑะ ซึ่งพบได้น้อยมากหรือราวๆ 1 ใน 2,000 ราย มักมีสาเหตุจากความดันในท่อนำอสุจิสูงขึ้น เพราะแม้จะตัดท่อนนำอสุจิให้ขาดแล้วแต่อัณฑะยังมีการสร้างอสุจิได้เหมือนเดิม แต่ไม่สามารถถูกปลดปล่อยออกมาได้ อาการนี้จะไม่ปวดมากและมักเป็นๆหายๆ ไปตลอด
- พบก้อนในถุงอัณฑะ ซึ่งเกิดจากก้อนอสุจิที่มาจากการรั่วของแผลผ่าตัดส่วนที่ผูกหลอดนำอสุจิ โดยอสุจิจะเกาะอยู่รอบๆ ปลายท่อนำเกิดการอักเสบโดยรอบ และจับตัวเป็นก้อนเกาะที่ปลายท่อนำอสุจิ แต่ไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด ซึ่งสามารถรักษาโดยการพักผ่อนและให้ยาต้านการอักเสบ
ทำหมันชายแล้วยังมีอารมณ์ทางเพศไหม?
การทำหมันชายไม่มีผลกระทบต่ออารมณ์และสมรรถภาพทางเพศ เนื่องจากลูกอัณฑะมีหน้าที่ 2 อย่างคือสร้างอสุจิ และ ฮอร์โมนเพศชายที่มีผลต่อความต้องการทางเพศ โดยอสุจิจะออกมาทางท่อน้ำเชื้อ ส่วนฮอร์โมนจะออกมาทางหลอดเลือด การทำหมันแพทย์จะผูกและตัดเพียงท่อน้ำเชื้อเท่านั้น ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือดแต่อย่างใด
ทำหมันชายเจ็บไหม?
การทำหมันชายเป็นการผ่าตัดแบบหนึ่งแต่เป็นการผ่าตัดเล็กใช้เวลาน้อย 10-20 นาที และใช้การฉีดยาชาร่วมด้วยจึงไม่เจ็บมาก
ทำหมันชายได้ตอนอายุเท่าไร?
การทำหมันชายสามารถทำได้ในทุกช่วงอายุที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ แต่ผู้ที่มีอายุไม่เกิน 30 ปีและยังไม่มีบุตร แพทย์อาจไม่แนะนำให้ทำหมันเนื่องจากการทำหมันเป็นวิธีการคุมกำเนิดถาวร ดังนั้นจึงควรปรึกษาคู่ครองให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ
ทำหมันชายแล้วแก้ได้ไหม?
ผู้ชายที่ผ่านการทำหมัน แล้วต้องการแก้หมันเพื่อกลับมามีบุตรอีกครั้ง ก็สามารถทำได้ แต่มีค่าใช้จ่ายสูง และผลลัพธ์จะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น
- ความชำนาญและขีดความสามารของแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดแก้ไข
- ระยะเวลาหลังจากการผ่าตัดทำหมันว่านานเกินไปจนยากจะแก้ไขหรือไม่
- อุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้แก้ไข
- อายุและสุขภาพของผู้ทำหมันและคู่ครอง
การคุมกำเนิดมีหลายวิธี การทำหมันชายเป็นวิธีหนึ่งที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง ค่าใช้จ่ายถูก ฟื้นตัวเร็ว และมีความเจ็บปวดเพียงเล็กน้อย จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่เหมาะสมกับผู้ที่มีบุตรเพียงพอแล้ว หรือมีเหตุจำเป็นอื่นๆ