ทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis) สาเหตุ อาการ วิธีดูแล รักษา

ต่อมทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis)” เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกช่วงอายุทุกเพศทุกวัย แต่พบบ่อยในเด็กอายุก่อน 10 ปี จากนั้นต่อมทอนซิลจะทำงานน้อยลง หรือในบางรายอาจไม่ทำงานเลย

ในคนอายุน้อยกว่า 20 ปี ก็ยังเป็นโรคต่อมทอนซิลอักเสบได้ แต่ส่วนใหญ่มักไม่พบโรคนี้ในคนวัยกลางคนไปแล้ว

รู้จักกับต่อมทอนซิล

ต่อมทอนซิล (Tonsil) มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย จัดอยู่ในกลุ่มของเนื้อเยื่อประเภทน้ำเหลือง ภายในมีเม็ดเลือดขาวหลายชนิด

ต่อมทอนซิลสามารถพบได้หลายตำแหน่ง ตำแหน่งแรกสามารถเห็นได้ชัดเจนบริเวณด้านข้างของช่องปากเรียกว่า “พาลาทีนทอนซิล (Palatine tonsil)” นอกจากนี้ยังพบต่อมทอนซิลได้ที่บริเวณโคนลิ้นและช่องหลังโพรงจมูก

หน้าที่ของต่อมทอนซิล

เนื่องจากภายในต่อมทอนซิลมีเม็ดเลือดขาวอยู่หลากหลายชนิด ต่อมทอนซิลจึงเป็นด่านแรกของร่างกายซึ่งทำหน้าที่ป้องกันเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย ส่วนหน้าที่รองลงมาคือ สร้างภูมิคุ้มกันให้ระบบทางเดินอาหารและระบบทางเดินหายใจ

อย่างไรก็ตาม ต่อมทอนซิลเป็นเนื้อเยื่อที่ไม่มีความสำคัญมากนัก เพราะเมื่อตัดออกไปแล้วก็ยังมีต่อมน้ำเหลืองในช่วงคออีกมากมายที่สามารถทำหน้าที่แทนได้นั่นเอง

สาเหตุการเกิดต่อมทอนซิลอักเสบ

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคต่อมทอนซิลอักเสบกว่า 70 – 80% เกิดจากการติดเชื้อไวรัส และสาเหตุรองลงมาคือ การติดเชื้อแบคทีเรีย ในรายที่มีการอักเสบเรื้อรังมักเกิดตามหลังการอักเสบติดเชื้อของอวัยวะข้างเคียง เช่น ไซนัสอักเสบ ฟันผุ

เชื้อทั้งหมดนั้นอาจจะอยู่ในน้ำลาย เสมหะ และอากาศที่หายใจเข้าไป การสัมผัสกับเชื้อที่ปนเปื้อนอยู่ตามจุดต่างๆ รอบตัว แล้วนำมือ หรือส่วนต่างๆ ของร่างกายที่โดนเชื้อมาสัมผัสปาก หรือจมูก

รวมถึงการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำจากภาชนะเดียวกันกับผู้ติดเชื้อ ก็ทำให้เกิดการติดเชื้อที่ต่อมทอนซิลได้

สรุปแล้วต่อมทอนซิลอักเสบสามารถเกิดจากเชื้อโรคได้ทั้ง 3 ชนิดแตกต่างกันออกไป ดังนี้

  1. เชื้อไวรัส เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่มอะดีโนไวรัส (Adenovirus) และกลุ่มอินฟลูเอนซา (Influenza) ซึ่งเป็นชนิดเดียวกันกับที่ก่อให้เกิดโรคหวัดชนิดธรรมดาและโรคไข้หวัดใหญ่
  2. เชื้อแบคทีเรีย มักจะเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดสเตรปกลุ่มเอ (Group A beta hemolytic streptococcus) หรือที่รู้จักในอีกชื่อว่า “สเตรปโทรธ” (Strep throat)
  3. เชื้อรา มักจะพบในผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ เช่น ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัส HIV

สาเหตุการเกิด ต่อมทอนซิลอักเสบ

อาการของต่อมทอนซิลอักเสบเฉียบพลัน

  • เจ็บคอ อาการที่สังเกตเห็นได้ชัดและพบบ่อยคือ รู้สึกเจ็บคอเวลากลืนอาหาร หรือดื่มน้ำ มีกลิ่นปากไม่พึงประสงค์ กลืนอาหาร หรือน้ำลายลำบาก เพราะมีอาการเจ็บคอร่วมด้วย และจะเจ็บอย่างมากตอนกลืนอาหาร เสียงอาจเปลี่ยนไป เนื่องจากต่อมทอนซิลโต มีน้ำลายมาก นอกจากนี้อาการเจ็บคอมากยังทำให้เพดานอ่อนและลิ้นเคลื่อนไหวได้น้อยลงด้วย
  • ปวดหู มีอาการปวดร้าวไปที่หูซึ่งเกิดจากการอักเสบที่ลำคอ ซึ่งมีผลต่อการอักเสบของหูด้วยเช่นกัน เพราะต่อมทอนซิลเชื่อมต่อถึงกันด้วยท่อจากลำคอถึงหูชั้นกลาง
  • มีไข้ ปวดตามเนื้อตัว อาจจะมีไข้สูง หรือไข้ต่ำ ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อโรค อ่อนเพลีย อาจคัดจมูก มีน้ำมูกใสแต่ไม่มากนัก ถ้าเป็นเชื้อไวรัสจะมีไข้สูงมากกว่าการติดเชื้อแบคทีเรีย หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัว
  • ต่อมทอนซิลบวม สำหรับการติดเชื้อแบคทีเรีย ต่อมทอนซิลเมื่อเกิดอาการอักเสบจะมีขนาดโตขึ้นทั้งสองข้าง มีอาการอักเสบบวมแดง อาจมีของเหลวสีเหลืองคล้ายหนองปกคลุม หรือเป็นหนองกระจายอยู่ทั่วไป เมื่อกดบริเวณคอตรงกับตำแหน่งของต่อมทอนซิลจะรู้สึกเจ็บ แต่ถ้าเป็นการติดเชื้อเชื้อไวรัสจะเกิดขึ้นที่ต่อมน้ำเหลืองด้านหลังลำคอบริเวณใกล้กกหู ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าการติดเชื้อแบคทีเรีย

อาการของต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรัง

ในรายที่มีการอักเสบเรื้อรังอาการเจ็บคอจะเป็นๆ หายๆ และเจ็บไม่มาก และมีไข้ต่ำๆ จากการตรวจจะพบต่อมทอนซิลบวม แดง และมีหนองติดอยู่ในหลืบของต่อม

บางรายอาจพบต่อมทอนซิลแดงเพียงอย่างเดียว รายที่เป็นเรื้อรังจะพบต่อมทอนซิลแดงไม่มาก อาจพบต่อมทอนซิลโตมากจนมีปัญหาในการกลืน

การติดต่อของต่อมทอนซิลอักเสบ

โรคต่อมทอนซิลอักเสบสามารถติดต่อกันได้เหมือนกับโรคหวัดธรรมดาและโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมาจากการสัมผัสเชื้อโรคจากผู้ป่วยที่มีเชื้อโดยตรง เช่น ลมหายใจ การไอ การจาม การสัมผัสสารคัดหลั่งน้ำมูก หรือน้ำลายของผู้ป่วย

รวมถึงการใช้สิ่งของร่วมกันที่สามารถสัมผัสสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยได้ เช่น ช้อน แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า

เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะมีระยะฟักตัวของโรคประมาณ 2 – 4 วัน แต่ถ้าเป็นเชื้อแบคทีเรียสเตรปโธรทจะมีระยะฟักตัวสั้นเพียง 12 ชั่วโมง

การวินิจฉัยต่อมทอนซิลอักเสบ

  • จากประวัติมีอาการเจ็บคอมาก กลืนอาหารแล้วเจ็บมากขึ้น มีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโตกดเจ็บ
  • จากการตรวจจะพบต่อมทอนซิลแดงและโตมีหนอง
  • จากการตรวจเลือดจะพบเม็ดเลือดขาวมากกว่าปกติ ส่งหนองเพาะเชื้อมักพบเชื้อแบคทีเรีย

การดูแลตนเองเมื่อเป็นทอนซิลอักเสบ

หากเป็นโรคต่อมทอนซิลอักเสบควรหยุดทำงาน หรือหยุดเรียนเพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเต็มที่อย่างน้อย 1 วัน และเป็นการป้องกันเชื้อโรคแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น

ถ้ามีไข้ให้รับประทานยาลดไข้ประเภทพาราเซตามอล ดื่มน้ำเปล่ามากๆ แยกของใช้ส่วนตัวจากผู้อื่น โดยเฉพาะช้อนส้อมและแก้วน้ำ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค

3 สิ่งที่ควรทำเมื่อเป็นต่อมทอนซิลอักเสบ

1. บรรเทาอาการปวดและไข้

  • หากมีอาการปวดให้รับประทานยาพาราเซตามอล
  • ถ้ามีไข้สูงให้เลี่ยงการอาบน้ำและเปลี่ยนไปเป็นเช็ดตัวแทน

2. รักษาความสะอาดในช่องปาก

  • บ้วนปากและแปรงฟันหลังรับประทานอาหารเสร็จ เพื่อไม่ให้มีเศษอาหารตกค้างที่จะกลายเป็นสาเหตุให้เกิดการอักเสบมากขึ้น
  • หมั่นบ้วนปากและกลั้วคอด้วยน้ำเกลือ “นอร์มอลซาไลน์” บ่อยๆ เป็นการฆ่าเชื้อโรคในช่องปาก และช่วยทำให้ภายในลำคอชุ่มชื้นมากขึ้น
  • อมยาอมที่ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อและร้านขายยาทั่วไป
  • ไม่สูบบุหรี่ หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

3. รักษาสุขภาพ

  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ดื่มน้ำให้มาก ๆ ไม่น้อยกว่าวันละ 8-10 แก้ว
  • หลีกเลี่ยงการใช้เสียงจนกว่าจะหาย
  • ไม่รับประทานอาหารที่มีรสจัด หรือเผ็ดจัด เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองที่ต่อมทอนซิลได้
  • หากมีอาการเจ็บคอให้รับประทานอาหารอ่อน เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ที่ไม่ร้อนจัดเกินไป

ต่อมทอนซิลอักเสบ บรรเทาอาการ

อาการของต่อมทอนซิลอักเสบที่ต้องพบแพทย์โดยเร็ว

  • รับประทานอาหารได้น้อย หรือไม่ได้เลย เนื่องจากอาการเจ็บคอ
  • อาการต่อมทอนซิลโตเพียงข้างเดียว
  • ไข้ไม่ลดลงภายใน 2 – 3 วัน
  • หายใจลำบาก  เนื่องจากต่อมทอนซิลบวมโตจนส่งผลต่อการหายใจ
  • บริเวณต่อมทอนซิลมีหนอง
  • ต่อมน้ำเหลืองโต
  • ไม่สามารถกลืนอาหาร หรือน้ำได้เลย

วิธีรักษาโดยแพทย์

เมื่อวินิจฉัยแล้วว่า คุณเป็นโรคต่อมทอนซิลอักเสบ แพทย์จะรักษาตามสาเหตุของชนิดเชื้อโรคนั้นๆ ซึ่งมีแนวทางการรักษาที่แตกต่างกันออกไป

หากเป็นเชื้อไวรัสก็จะรักษาประคับประคองตามอาการเท่านั้น แต่หากเป็นเชื้อแบคทีเรียจะรักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ ส่วนเชื้อราก็จะรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อรา นอกจากนี้ยังอาจมีการใช้ยาแก้ปวด หรือยาลดไข้ร่วมด้วย เพื่อรักษาประคับประคองอาการที่เกิดขึ้นตามมา

การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนิซิลลิน มักเริ่มด้วยยาฉีดในรายที่มีอาการรุนแรง เมื่อมีอาการดีขึ้นจะเปลี่ยนเป็นยารับประทาน ส่วนในรายที่แพ้ยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนิซิลลินควรให้อิริโทรมัยชินแทน

นอกจากนี้ยังอาจให้ยาแก้ปวดลดไข้เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายตัวขึ้น ให้ดื่มน้ำมากๆ เพื่อช่วยละลายเสมหะ และสามารถไอออกได้ง่ายขึ้น แนะนำให้ผู้ป่วยใช้น้ำยากลั้วคอเพื่อล้างเอาหนองในคอออก

การตัดต่อมทอนซิล (Tonsillectomy)

แพทย์จะพิจารณาการผ่าตัดต่อมทอนซิลในกรณีต่อไปนี้

  • เมื่อผู้ป่วยมีภาวะต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรัง รักษาด้วยยาไม่ได้ผล ในปีหนึ่งมีการอักเสบหลายครั้งจนกระทบกับชีวิตประจำวัน
  • เมื่อผู้ป่วยมีอาการต่อมทอนซิลโตจนกระทบการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น หายใจไม่ออก นอนกรน มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
  • ผู้ป่วยเคยมีฝีที่ต่อมทอนซิล หรือต่อมทอนซิลโตข้างเดียว
  • ผู้ป่วยที่แพทย์สงสัยว่า จะเป็นโรคมะเร็งต่อมทอนซิล หรือมะเร็งที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ

ผลแทรกซ้อนของการตัดต่อมทอนซิลที่อาจเกิดขึ้น

  • ทางเดินหายใจอุดตัน
  • เสียงเปลี่ยน
  • กลืนลำบาก
  • เลือดออกมาก
  • เกิดโรคแทรกซ้อนจากยาสลบที่ใช้
  • หากอาการรุนแรงมาก อาจเสียเสียชีวิตได้

การป้องกันต่อมทอนซิลอักเสบ

  • ดูแลตัวเองตามลักษณะสุขอนามัยที่ดี
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • ออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อให้สุขภาพแข็งแรง มีภูมิต้านทานโรคที่ดี
  • หมั่นล้างมือด้วยสบู่บ่อยๆ ทั้งก่อนรับประทานอาหารและหลังจากเข้าห้องน้ำ
  • พักผ่อนให้เพียงพอในแต่ละวัน หรืออย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัส หรือคลุกคลีกับผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้

การดูแลผู้ป่วยทอนซิลอักเสบ

  • ให้ยาบรรเทาปวดลดไข้ ยาปฏิชีวนะ ยาละลายเสมหะ ตามแผนการรักษา
  • ให้ผู้ป่วยได้รับยาปฏิชีวนะติดต่อกัน 7-10 วันตามแพทย์สั่ง แม้ว่าอาการต่างๆ จะหายไปแล้วก็ตาม
  • วางกระเป๋าน้ำแข็ง หรือ Ice collar ที่คอ
  • ดูแลให้ผู้ป่วยพักผ่อนอย่างเพียงพอ ไม่ออกแรงมาก
  • เช็ดตัวผู้ป่วยเพื่อลดไข้
  • ดูแลผู้ป่วยให้ได้รับน้ำและอาหารเพียงพอ
  • จัดอาหารอ่อนให้ผู้ป่วยรับประทาน ดื่มน้ำมากๆ ดื่มน้ำหวานบ่อยๆ
  • ขจัดเสมหะและหนองในคอโดยให้ผู้ป่วยกลั้วคอด้วยน้ำเกลืออุ่นๆ และแปรงฟันหลังอาหารทุกมื้อ
  • ให้ผู้ป่วยงดสูบบุหรี่
  • หลีกเลี่ยงสิ่งระคายเคืองที่จะทำให้ไอมากขึ้น หรือทำให้อึดอัด หายใจไม่สะดวก
  • ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ไม่คลุกคลีกับผู้อื่น ใช้ผ้าปิดปากทุกครั้งที่ไอ หรือจาม
  • หลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่แออัด
  • ใช้ช้อนกลางเมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น

ต่อมทอนซิลอักเสบ แม้ไม่ได้เป็นโรคร้ายแรงที่มีอันตรายถึงชีวิตแต่ก็รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้ ดังนั้นควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อห่างไกลจากโรคนี้ เมื่อมีอาการเจ็บป่วยที่น่าสงสัยว่า อาจเป็นทอนซิลอักเสบควรดูแลตนเองตามอาการ หรือไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา


เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจสุขภาพ


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top